xs
xsm
sm
md
lg

นักธุรกิจใจบุญบุกสวนทุเรียนนนท์เหมาทั้งสวนกว่า 300 ลูก เป็นเงินกว่า 1 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (24 พ.ค.) เมื่อเวลา 14.30 น ที่สวนทุเรียนยายละมัย ตำบลบางกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.ท.อำพล บัวรับพร ผบช.ภ.1 พล.ต.ต.ไพศาล วงศ์วัชรมงคล ผบก.ภ.จว.นนทบุรี ดร.ชัยรัตน์ จํานงค์การ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธาน กต.ตร. จว.นนทบุรี (ภาคประชาชน) พร้อมเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรจังหวัดนนทบุรี คณะนักศึกษา ปปร.รุ่นที่ 24 และคณะ กต.ตร. จังหวัดนนทบุรี เข้าเยี่ยมชมสวนทุเรียนของยายละมัย ซึ่งเป็นสวนทุเรียนเมืองนนท์เก่าแก่ที่ยังคงเหลือเพียงไม่กี่แห่งในจังหวัดนนทบุรี พบว่า ในวันนี้ มีผลิตผลของลูกทุเรียนออกลูกเต็มต้น อยู่ในสวนเป็นจำนวนหลายร้อยต้น ทางคณะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้พูดคุย และให้กำลังใจกับเจ้าของสวน ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้กับเกษตรกรชาวสวนทุเรียนแล้ว ทาง ดร.ชัยรัตน์ ซึ่งเป็นนักธุรกิจชื่อดัง และรู้จักกันดีเพราะทุกปีที่ผ่านมา จะเป็นผู้ที่ประมูลทุเรียนพันธุ์ก้านยาว ราคา 8 แสนบาท แพงที่สุดในโลก โดยนำเงินที่ได้จากการประมูลช่วยเหลือหน่วยงานการกุศลหลายแห่ง ตามที่เป็นข่าวโด่งดังมาแล้ว จึงตัดสินใจเหมาทุเรียนทั้งสวน โดยให้ นางกนกวรรณ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงศึกษาธิการ ปีนบันไดตัดลูกทุเรียนด้วยตัวเองเพื่อเป็นเกียรติแก่คณะที่มาในวันนี้

ดร.ชัยรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันจากปัญหาการแพร่ระบาดของ covid-19 ทำให้ไม่สามารถจัดงานประมูลการกุศลดังกล่าวได้ ในวันนี้เพื่อเป็นการสนับสนุน ผลผลิตทางเกษตร และเป็นการประชาสัมพันธ์ ทุเรียนนนท์ที่มีชื่อเสียงว่าเป็นราชินีของผลไม้ ที่เลื่องลือชื่อมากเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ ในช่วงยุค covid-19 ระบาดอยู่ขณะนี้ ดร.ชัยรัตน์ พร้อมเพื่อนนักธุรกิจ จึงตัดสินใจ เหมาทุเรียนทั้งสวน ประกอบไปด้วยทุเรียนหมอนทอง 300 กว่าลูก ก้านยาวกว่า 10 ลูก เป็นเงินทั้งสิ้น กว่า 1 ล้านบาท เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ รวมทั้งส่งเสริมชาวสวนทุเรียนให้ช่วยกันอนุรักษ์ราชินีผลไม้ที่ลือชื่อของจังหวัดไม่ให้สูญพันธุ์หรือร่อยหรอลงไปมากกว่านี้ ทำให้ นายสำเริง สุนทรแสง อายุ 60 ปี เจ้าของสวนยิ้มแก้มปริดีใจกันทั้งครอบครัว
 
ดร.ชัยรัตน์ หรือที่ชาวนนทบุรี มักเรียกติดปากกันว่า ดร.แก้ว เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ทุกๆ ปี ที่เราช่วยเหลือชาวเกษตรกรชาวจังหวัดนนทบุรี ในปีนี้มีโควิดเข้ามาระบาดใหม่อีกครั้ง ตนจึงเป็นห่วงชาวสวนทุกคนเพราะทำให้การค้าขายยากลำบากขึ้น จึงมีแนวคิดว่าทำอย่างไรให้ผลผลิตขายออกได้หมดและได้ราคา ตนจึงเข้ามาส่งเสริมซึ่งทุเรียนของนนทบุรีเป็นทุเรียนที่อร่อยที่สุดในประเทศ ทำให้เป็นเอกลักษณ์และหาซื้อที่อื่นไม่ได้ และแสดงว่าเป็นของแท้จะมีป้ายจากผู้ว่าจังหวัดนนทบุรีเป็นผู้ติดให้ เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดของปลอมซ้ำขึ้น ซึ่งนนทบุรีเว้นการประมูลมาประมาณ 3 ปีแล้ว เพราะมีโควิดระบาดหนัก ตนจึงเข้ามาเยี่ยมชมที่สวนและอุดหนุนราคาเหมาทั้งหมดประมาณ 1 ล้านกว่าบาท เราจะเอาไปกระจายต่อและถ้ามีปะชาชนอยากลองชิมตนจะจัดการให้ได้ลองชิมกัน ถือเป็นการช่วยเหลือสังคม

นางกนกวรรณ รมช.กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ปีก่อนเกิดน้ำท่วมซึ่งทำให้ทุเรียนเสียหาย แต่ทางผู้ผลิตใช้ภูมิปัญญาในการพัฒนาเกษตกรให้ยั่งยืน กลายเป็นพลิกฟื้นจากการได้รับความเสียหายมาสักพัก จึงทำให้วางใจได้ว่าผู้บริโภคจะได้กินอย่างปลอดภัย วันนี้จึงอยากขอบคุณทาง ดร.แก้ว ที่เชิญตนมาร่วมงานในครั้งนี้ ทำให้ตนรู้สึกภูมิใจมาก และหลักจากนี้ จะนำไปเผยแพร่ให้ชาวเกษตกรที่ทำสวน ซึ่งในสวนนี้มีความปลอดภัยและความสะอาดสูง จะมีการเปิดวิทยุติดตามไว้ที่ต้อนทุเรียนต่างๆเพื่อเป็นการไล่สัตว์ที่เป็นศัตรูของต้นทุเรียน เช่น กระรอก ก่อนเข้ามาจะให้สแกนคิวอาร์โค๊ดเพื่อดูทุเรียนแต่ละลูกว่าเป็นของแท้ไหม ลูกค้าจะได้รับประทานอย่างมีความสุขเอร็ดอร่อย
 
ส่วน นายสำเริง เจ้าของสวน กล่าวว่า จริงๆ แล้ววันนี้เรานัดตัดทุเรียนกัน แต่คนที่จองทุเรียนไว้ท่านเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี และเป็นประธาน กต.ตร.จังหวัดอีกด้วยได้มีการเชิญผู้ใหญ่หลายๆท่านเข้ามาร่วมงาน เราเองเป็นชาวสวนในส่วนนี้ทางเรามีเจ้าหน้าที่ อสม. เข้ามาในการคัดกรองตรวจอุณหภูมิ เพราะมีผู้มาร่วมงานหลายท่านจึงต้องคัดกรองเป็นพิเศษ ซึ่งทุเรียนนนท์จองกันมาข้ามปีแล้วเพราะผลผลิตน้อยมาก มีทั้งหมดเพียง 3,000 ลูก คนที่จองไว้จะจองเป็นต้น จึงทำให้ปริมาณที่ออกมาไม่พอจำหน่ายด้านนอก ปัญหาในการปลูกคือความเค็มของน้ำ และช่วงหน้าแล้ง จะมีปัญหาแบบนี้ทุกปีแต่ทางเราก็แก้ปัญหาได้ จึงอยากฝากถึงชาวสวนทุกคน ว่า สวนหลักๆ อาจจะเหลือเพียงไม่กี่สวนแล้ว เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทำให้ทุเรียนนนท์เจอภาวะการแห้งแล้งเป็นอย่างแรก ผู้ทำสวนจะต้องคำนึงถึงเรื่องปัญหาพวกนี้ด้วย และต้องมีน้ำสำรองไว้ใช้ และขึ้นอยู่กับสถานที่ล้อมรอบด้วย ให้แก้ปัญหาให้ถูกจุด ก็จะได้ผลผลิตตามที่ต้องการ




















กำลังโหลดความคิดเห็น