xs
xsm
sm
md
lg

ส่องหลักเกณฑ์ สปสช.แพ้วัคซีนโควิด ตายจ่าย 4 แสน ใครฉีดวัคซีนทางเลือกไม่ได้ตังค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำรวจหลักเกณฑ์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีแพ้วัคซีนโควิด-19 ตายได้ 4 แสน พิการได้ 2.4 แสน เจ็บป่วยต่อเนื่องไม่เกิน 1 แสน พบต้องฉีดตามแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมการป้องกันและขจัดโควิด 19 จากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้าฉีดวัคซีนทางเลือกกับโรงพยาบาลเอกชนและจ่ายเงินเองจะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือใดๆ

วันนี้ (22 พ.ค.) จากกรณีที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) พ.ศ. 2564 ลงนามโดย นายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมานั้น

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับดังกล่าว คือ ผู้รับบริการจะได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีที่มีความเสียหายที่เกิดจากการรับวัคซีน ตามแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมการป้องกันและขจัดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และให้รวมถึงความเสียหายที่เกิดจากเหตุสุดวิสัยจากการรับวัคซีนดังกล่าวด้วย แต่ไม่รวมถึงวัคซีนทางเลือกที่ให้บริการโดยสถานบริการของเอกชนซึ่งเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้รับบริการ สำหรับอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น แบ่งเป็น

1. เสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ในอัตราไม่เกิน 400,000 บาท

2. สูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ในอัตราไม่เกิน 240,000 บาท

3. บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่องจากการได้รับวัคซีน โดยมีความเห็นของแพทย์ผู้ตรวจรักษาประกอบด้วย จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ในอัตราไม่เกิน 100,000 บาท

ทั้งนี้ ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรับวัคซีน หรือทายาท หรือผู้อุปการะ หรือหน่วยบริการที่ให้บริการ มีสิทธิยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ที่หน่วยบริการ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สาขาเขตพื้นที่ ทั้งนี้ ต้องยื่นคำร้องภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย

พร้อมกันนี้ ยังได้จัดให้มีคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้อง ระดับเขตพื้นที่ จำนวนไม่เกิน 5 คน โดยมีผู้อำนวยการ สปสช.สาขาเขตพื้นที่เป็นประธาน พร้อมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อหรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่ โดยคำนึงถึงความรุนแรงของความเสียหายและเศรษฐานะของผู้เสียหายด้วย หากผลการวินิจฉัยไม่เห็นด้วยให้มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับทราบผลการวินิจฉัย


กำลังโหลดความคิดเห็น