นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก เผยความคืบหน้า โรงพยาบาลสนาม (รพ.พลังแผ่นดิน) พร้อมรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนักแล้ว ยืนยัน โรงพยาบาลมีขีดความสามารถทางการแพทย์เฉพาะทางในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนที่ปฏิบัติการได้จริง
วันนี้ (20 พ.ค.) นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ได้ออกมาโพสต์ข้อความอธิบายแผนผังการจัดหน่วยเฉพาะกิจเพื่อปฏิบัติการ รพ.สนาม ขั้นสมบูรณ์ ของ รพ.มงกุฎวัฒนะ ลงในเพจ “เหรียญทอง แน่นหนา” ของตนเอง โดยมีการกำหนดไว้ทั้งหมด 4 ข้อใหญ่ดังนี้
“1. รพ.สนามขั้นสมบูรณ์ ประกอบด้วยขีดความสามารถทางการแพทย์สนาม [Field Medical Services] ครบ 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับ 1 ถึง 3
2. รพ.สนาม ระดับ 3 ในสถานการณ์โควิด-19 จะต้องมีขีดความสามารถทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อที่มีอาการหนัก ดังนั้นจึงต้องมี ไอ ซี ยู สนามที่สามารถรับผู้ป่วยโรคติดเชื้ออาการหนักจำนวนมากๆ และผู้ป่วยอาการปานกลางที่มีแนวโน้มพัฒนาไปสู่อาการหนักจำนวนมากๆเช่นกัน ทั้งนี้ยังจะต้องมีขีดความสามารถทางการแพทย์เฉพาะทางในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน เช่น กรณีผ่าตัด คลอด ตลอดจนการฟอกไต [HEMODIALYSIS] ในสนามได้อย่างรวดเร็วเบ็ดเสร็จ แต่ รพ.สนาม ระดับ 3 ในที่นี้อาศัยหลักการประกบคู่ประชิดติดกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ ซึ่งเป็น รพ.ประจำถิ่นที่มีขีดความสามารถเฉพาะทางด้านการแพทย์ในระดับตติยภูมิ [Tertiary] จึงทำให้ รพ.สนาม ระดับ 3 (รพ.พลังแผ่นดิน) มีขึดความสามารถในระดับ 3 ที่ปฏิบัติการได้จริง
3. รพ.สนาม ระดับ 2 ไม่จำเป็นต้องมีการจัด เพราะมี รพ.สนาม ระดับ 3 รองรับไว้แล้ว
4. รพ.สนาม ระดับ 1 ในโครงสร้างการจัดนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ระดับย่อย ดังนี้
4.1 รพ.สนาม ระดับ 1+ จะเป็น รพ.สนาม กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อที่เริ่มมีอาการแต่ยังน้อย และสำหรับผู้ติดเชื้อที่สูงอายุ หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง เช่น โรคประจำตัว เป็นต้น ในกรณีที่ผู้ป่วยใน รพ.สนาม กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 มีอาการเป็นไปในทางที่ทรุดลงหรือเกินความสามารถก็จะส่งต่อไปยัง รพ.สนาม ระดับ 3 (รพ.พลังแผ่นดิน)โดยตรง รพ.สนาม ระดับ 1+ ณ กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 ยังทำหน้าที่รับการส่งกลับจาก รพ.สนาม ระดับ 3 (รพ.พลังแผ่นดิน) เมื่อผู้ป่วยอาการดีแล้วและรอการกลับบ้าน ทั้งนี้เพื่อให้ รพ.พลังแผ่นดินสามารถหมุนเตียงเพื่อรับการส่งต่อผู้ป่วยได้เร็วขึ้นด้วย ตลอดจน รพ.สนาม ระดับ 1+ ณ กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 ยังทำหน้าที่คัดกรองผู้ติดเชื้อรายใหม่ว่าเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการจริงหรือไม่ ก่อนที่จะส่งต่อไปแยกกัก ณ รพ.สนาม ระดับ 1 ระดับ 1 (ชาย) ณ กรมพลาธิการทหารบก และ ระดับ 1 (หญิง) ณ มณฑลทหารบกที่ 11
4.2 รพ.สนาม ระดับ 1 จะเป็น รพ.สนามจำแนกเพศ สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่มีอาการ โดยระดับ 1(ชาย) จะเป็น รพ.สนาม กรมพลาธิการทหารบก และ ระดับ 1 (หญิง) จะเป็น รพ.สนาม มณฑลทหารบกที่ 11 เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมและแยกกัก ในกรณีที่ผู้ป่วยใน รพ.สนาม กรมพลาธิการทหารบก และ รพ.สนาม มณฑลทหารบกที่ 11 เริ่มมีอาการเป็นไปในทางที่ทรุดลงหรือเกินความสามารถก็จะส่งต่อไปยัง รพ.สนาม ระดับ 3 (รพ.พลังแผ่นดิน) โดยตรง เฉกเช่นเดียวกันกับ รพ.สนาม กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1
การจัดหน่วยเฉพาะกิจเพื่อปฎิบัติการ รพ.สนาม ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว จะต้องแสวงเครื่องจากปัจจัยทรัพยากรที่มีอยู่แล้วผสมผสานให้ปฏิบัติได้จริงบรรลุภารกิจจริง...รพ.สนาม จึงเป็นหน่วยจรยุทธทางการแพทย์ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไร้รูปแบบ...เรียกว่า 'จอมยุทธ์ไร้รูปแบบ' ไงล่ะครับ”