หลังอแมนด้า ชาลิสา ออบดัม เข้ารอบถึง 10 คนสุดท้าย บนเวทีการประกวด Miss universe 2020 ได้สวมชุดราตรีสีน้ำเงิน มีชื่อว่า “อันดามัน” (ANDAMAN) จากแบรนด์ “OAT-COUTURE” ซึ่งเป็นศิษย์เก่าสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตโชติเวช โดยชุดดังกล่าวได้รับคำชมจากแฟนนางงามชาวไทยอย่างล้นหลาม
ทำเอาแฟนนางงามชาวไทยเศร้า หลัง อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม เข้ารอบถึง 10 คนสุดท้าย บนเวทีการประกวด Miss universe 2020 เมื่อช่วงเช้าวันนี้ 17 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา ตามเวลาประเทศไทย โดย “อแมนด้า” ปรากฎกายด้วยชุดราตรีสีน้ำเงิน มีชื่อว่า “อันดามัน” (ANDAMAN) และเดินได้อย่างงดงามน่าประทับใจ เรียกเสียงชื่นชมจากแฟนๆ ในโลกออนไลน์อย่างล้นหลาม
ต่อมา เพจ “คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.พระนคร” เผยถึงที่มาของชุดราตรีสีน้ำเงิน มีชื่อว่า “อันดามัน” (ANDAMAN) ซึ่งเป็นฝีมือของคนไทยอย่าง นายกานต์ กาฬภักดี เจ้าของแบรนด์ “OAT-COUTURE” ศิษย์เก่าสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตโชติเวช สาขาวิชาผ้าและเครื่องกาย โดยทางเพจเผยว่า “OAT-COUTURE ศิษย์ ปวช.โชติเวช รุ่นสุดท้าย ผู้สร้างสรรค์ชุดอแมนด้า บนเวที Miss Universe 2020
คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.พระนคร ขอปรบมือดังๆ ให้กับ นายกานต์ กาฬภักดี ศิษย์เก่าสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตโชติเวช สาขาวิชาผ้าและเครื่องกาย เจ้าของผลงานการออกแบบและตัดเย็บชุดราตรีให้กับอแมนด้า ชาลิสา ออบดัม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ในแนวคิด “อันดามัน” เพื่อสวมใส่ในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2020 และเข้าถึงรอบ Top 10 ณ รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา
นายกานต์ กาฬภักดี หรือ “โอ้ต” เจ้าของแบรนด์ OAT-COUTURE ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกระดับประเทศให้เป็นผู้ออกแบบตัดเย็บชุดราตรีให้กับอแมนด้า ชาลิสา ออบดัม ได้แรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติบ้านเกิดของอแมนดาที่เกิด ณ จังหวัดภูเก็ต ตั้งใจสื่อถึงจิตวิญญาณของสาวชาวเกาะและคลื่นทะเลอันมีชีวิต ในแนวคิด “อันดามัน”
“โอ้ต” กล่าวว่า กระบวนการคิดและการออกแบบ เป็นสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการทำชุด จากนั้นคือการสร้างแพตเทิร์นและเทคนิคการตัดเย็บ “โอ้ต” ได้ใช้ทักษะการสร้างแพทเทิร์นและดีไซน์ มาจากท่านอาจารย์ศิราภรณ์ อาจารย์อัจราวรรณ อาจารย์ลักขณา และอาจารย์จุฑาทิพ ที่สามารถนำมาใช้ในการสร้างผลงานต่างๆ ได้อีกมากมาย
และได้ฝากถึงรุ่นน้องสาขาผ้าและเครื่องแต่งกายซึ่งปัจจุบัน คือ สาขาวิชาออกแบบแฟชั่นผ้าและเครื่องแต่งกาย คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ว่า “ให้รู้จักกับตัวเองก่อน หาตัวเองให้เจอว่าชอบอะไร มีความสนใจทางด้านไหน ที่เหลือคือเดินตามฝันให้สำเร็จ” นับเป็นศิษย์ยอดฝีมือของโชติเวช ที่สามารถสร้างผลงานได้อย่างน่าประทับใจในระดับสากล”