xs
xsm
sm
md
lg

ปิดตำนาน 54 ปี “โคคาสุกี้” สยามสแควร์ เปิด 18 พ.ค.วันสุดท้าย เหตุหมดสัญญาเช่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โคคาสุกี้ สาขาสยามสแควร์ เปิดให้บริการวันสุดท้ายพรุ่งนี้ (18 พ.ค.) ปิดตำนาน 54 ปี เหตุหมดสัญญาเช่ากับจุฬาฯ เตรียมเปิดร้านใหม่ในสไตล์ป๊อบอัพ 30 ที่นั่ง เร็วๆ นี้ ส่วนสาขาที่เหลือ 6 แห่งยังเปิดปกติ

วันนี้ (17 พ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า เฟซบุ๊ก COCA Restaurant ของร้านโคคาสุกี้ โพสต์ข้อความระบุว่า โคคาสุกี้ สาขาสยามสแควร์ เปิดให้บริการวันสุดท้ายในวันที่ 18 พ.ค. 2564 แต่สาขาอื่นยังให้บริการตามปกติ โคคาและพนักงานทุกคนขอขอบคุณลูกค้าตลอดระยะเวลา 54 ปี ที่อยู่เคียงข้างโคคามาตลอด


อย่างไรก็ตาม สำหรับ 6 สาขาที่เหลือ ได้แก่ สาขาสุรวงศ์ สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ สาขาสุขุมวิท 39 สาขาเมกาบางนา สาขากรุงเทพกรีฑา และ สาขาหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ยังเปิดให้บริการตามปกติ

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับสาเหตุที่ปิดสาขาสยามสแควร์ บริเวณสยามสแควร์ ซอย 7 ถนนอังรีดูนังต์ แขวงและเขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เพราะจะหมดสัญญาเช่าพื้นที่กับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต้องการย่อขนาดของร้านให้เล็กลง โดยเตรียมที่จะเปิดร้านโคคาในรูปแบบป๊อบอัพ ขนาด 30 ที่นั่ง จำหน่ายเมนูอาหารจานเดี่ยวและเมนูสุกี้ในราคาที่ถูกกว่า เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งกำลังหาพื้นที่ย่านสยามอยู่


สำหรับร้านโคคาสุกี้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2500 โดย นายศรีชัย และ นางปัทมา พันธุ์เพ็ญโสภณ เริ่มต้นจากห้องอาหารจีนกวางตุ้งขนาด 20 ที่นั่ง ที่ถนนเดโช แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ ก่อนจะย้ายมาที่ ภัตตาคารโคคา ขนาด 800 ที่นั่ง ในซอยทานตะวัน ถนนสุรวงศ์ แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ 

โดยเป็นภัตตาคารแห่งแรกที่นำการปรุงอาหารแบบสุกี้ เข้ามาเผยแพร่และสร้างชื่อเสียงในประเทศไทย โดยที่ลูกค้าสามารถเลือกวัตถุดิบในการปรุงสุกี้ได้หลากหลายชนิดตามใจชอบ เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล และผักสดต่างๆ ที่สามารถแยกเป็นจานเล็กๆ ตามต้องการแทนการจัดจานและเสิร์ฟรวมมาเป็นชุดใหญ่ๆ ในแบบดั้งเดิม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 นายพิทยา พันธุ์เพ็ญโสภณ ทายาทรุ่นที่สองของโคคาเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว ก่อนจะจดทะเบียนเป็นบริษัท โคคา โฮลดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และขยายสาขาไปยังสุขุมวิท 39 ไทม์สแควร์ เซ็นทรัลเวิลด์ พหลโยธิน สยามเซ็นเตอร์ และสาขาชายหาดพัทยา รวมทั้งยังขยายไปสู่สาขาต่างประเทศในปี พ.ศ. 2530 ได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไต้หวัน ลาว พม่า เกาหลีใต้ และจีน

นอกจากนี้ โคคาโฮลดิ้ง ได้เปิดร้านธุรกิจในเครือ เช่น ร้านเบเกอรี่ครัวซองด์เฮ้าส์ (Kroissant House), ร้านอาหารไทยแม็งโกทรี (Mango Tree), ห้องอาหารญี่ปุ่นโบตันเต (Bo Tan Tei), ร้านอาหารญี่ปุ่นนิคา-อิ (Nika-i) และได้ขยายสู่การเปิดโรงงานสำหรับแปรรูปผลิตภัณฑ์แช่แข็งและบรรจุหีบห่อ พร้อมจัดส่งไปยังร้านอาหารทุกสาขาในเครือ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น