xs
xsm
sm
md
lg

โควิด-19 ฉายภาพ “คนล้นคุก” ความยากด้านสาธารณสุขในเรือนจำ ถ้ายังแก้ปัญหาที่ปลายทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อ โควิด-19 เผยให้เห็นปัญหาใหญ่ “คนล้นคุก” จากจำนวนผู้ถูกคุมขังกว่า 3 แสนคน ถือเป็นความยากด้านสาธารณสุขในเรือนจำ ถ้ายังแก้ปัญหาที่ปลายทาง


รายงานพิเศษ


“ถ้าเรือนจำ ถูกกำหนดเป็นสถานที่ควบคุมตัวอาชญากร” ก็น่าจะต้องกลับมาหาคำตอบกันว่า กว่า 3 แสนคน ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ มีกี่เปอร์เซ็นต์ ที่สามารถยืนยันได้ว่าเป็น “อาชญากร” ควรจะถูกลงโทษด้วยการ “ขัง”

ข้อมูลจนถึงวันที่ 15 พ.ค. 2564 มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำแล้ว 4,562 ราย นับเฉพาะที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทัณฑสถานหญิงกลาง เรือนจำกลางคลองเปรม และเรือนจำพิเศษธนบุรี (ก่อนหน้านี้พบผู้ติดเชื่อที่เรือนจำนราธิสาส และเรือนจำเชียงใหม่ด้วย)

จากแถลงการณ์หลายฉบับ ที่กรมราชทัณฑ์พยายามอธิบาย คือ ช่องทางที่ทำให้เชื้อโควิด-19 เข้ามาแพร่ระบาดในเรือนจำได้ มาจากกลุ่ม “นักโทษใหม่” ที่ถูกส่งเข้ามาสู่เรือนจำ

แม้ว่าทางกรมราชทัณฑ์จะพยายามวางมาตรการป้องกันไว้แล้ว ด้วยการกักตัว “นักโทษใหม่” ไว้ในส่วนที่เรียกว่า “แดนกักโรค” เป็นเวลา 21 วัน ก่อนส่งตัวเข้าไปในพื้นที่คุมขังปกติ รวมกับผู้ต้องขังคนอื่นๆ ที่อยู่มาก่อนแล้วก็ตาม แต่ก็มีข้อมูลจากกลุ่มนักโทษคดีการเมือง ที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว ตั้งข้อสังเกตว่า ความแออัดในเรือนจำ เกิดขึ้นตั้งแต่ในแดนกักโรค เพราะมีนักโทษใหม่เข้ามาเรื่อยๆ

ทำให้บางช่วงต้องกักตัวรวมกันถึงประมาณ 30 คน ใช้ทรัพยากรหลายอย่างร่วมกัน โดยเฉพาะห้องน้ำ คนที่เข้ามากักตัวก่อนอาจได้รับเชื้อจากคนที่เข้ามาใหม่ และเมื่อถูกส่งเข้าพื้นที่คุมขังก็นำเชื้อไปแพร่กระจายในเรือนจำ ซึ่งแน่นอนว่า ปัญหาความแออัดในเรือนจำเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้ว


โควิด-19 จึงกลายเป็นตัวเร่งที่ทำให้เห็นว่า ปัญหาที่แท้จริงของเรือนจำไทย คือ ความแออัด ซึ่งทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมามากมาย

ตั้งแต่ระบบสาธารณสุขพื้นฐาน ที่ยากจะทำให้มีสุขอนามัยที่ดีได้อย่างทั่วถึง ยิ่งเมื่อเกิดภาวะโรคระบาดเช่นนี้ การกักแยกตัวเพื่อควบคุมโรค ยิ่งเป็นสิ่งที่ยากลำบากมาก ถ้าต้องทำภายในพื้นที่ของเรือนจำ และปัญหาความแออัด คนล้นคุก ยังกระทบไปจนถึงปัญหาการจัดการอื่นๆ ภายในเรือนจำ 

ซึ่งทำให้เป้าหมาย “คืนคนดีสู่สังคม” เกิดขึ้นได้น้อยมาก

เมื่อมีจำนวนผู้ต้องขังมากจนล้นความสามารถในการรองรับของเรือนจำ ทำให้งบประมาณเกือบทั้งหมดของกรมราชทัณฑ์ ต้องลงไปที่การใช้เพื่อดูแลผู้ต้องขัง ค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ค่าตอบแทนบุคลากร และเหลืองบประมาณเพียงเล็กน้อย สำหรับการพัฒนาฟื้นฟูเยียวยาผู้ต้องขังให้กลับคืนสู่สังคมได้

และเมื่อบวกกับปัญหาที่องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต่างก็ยังมีนโยบายไม่รับผู้ที่ประวัติเคยต้องโทษเข้าทำงาน ทำให้มี “ผู้พ้นโทษ” ถึงประมาณ 30% ไม่มีหนทางทำมาหากิน ต้องกลับมากระทำความผิดซ้ำ และกลับเข้าสู่เรือนจำอีก


เมื่อพูดถึงปัญหา “คนล้นคุก” หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาคนล้นคุก คือ การ “ขังคนที่ยังไม่ถูกพิสูจน์ว่ามีความผิด”

คนกลุ่มนี้เรียกว่า “ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี” ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ถูกขังเพราะไม่มีเงินประกันตัว แม้ว่าจะมีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็ตาม ซึ่งเป็นที่มาของประโยคที่พูดกันว่า “ติดคุกเพราะจน” เพราะในข้อกล่าวหาแบบเดียวกัน หากผู้ถูกกล่าวหาเป็นคนมีฐานะ มีเงินประกันตัว ก็สามารถออกไปใช้ชีวิตอย่างอิสระได้ ในระหว่างต่อสู่คดี

อีกกลุ่มที่ศาลอาจจะเห็นว่า หากปล่อยตัวชั่วคราวไปจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานในคดี

กลับมาที่คำว่า “เรือนจำเป็นที่คุมขังอาชญากร” จึงมีคำถามว่า คนเหล่านี้เป็นอาชญากรหรือยัง ถ้ายังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด ซึ่งขัดกับหลักการในกระบวนการยุติธรรมที่ท่องกันว่า “หากยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้กระทำความผิด ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์”

ซึ่งปัจจุบันมี “ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี” ที่ควรจะ “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์” อยู่ในเรือนจำกว่า 5 หมื่นคน ถ้าสามารถระบายผู้ถูกกล่าวหาบางส่วน ที่ไม่ใช่กลุ่มที่ก่อคดีอุกฉกรรจ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อสังคมออกไปได้ ก็จะช่วยลดความแออัดในเรือนจำได้มาก เพราะคนกลุ่มนี้ยังไม่ใช่อาชญากร


ก่อนหน้านี้ นายวันชัย รุจนวงศ์ อดีตอธิบดีอัยการ และอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เคยโพสต์บทความที่ชี้ให้เห็นถึง “ผู้ต้องขังกลุมใหญ่ที่สุด” ที่กลายมาเป็นปัญหาคนล้นคุก คือ “นักโทษคดียาเสพติด” ซึ่งมีอยู่ถึงประมาณ 80% ของนักโทษทั้งหมดในเรือนจำ (หรือมากกว่า 2.5 แสนคน)

ที่สำคัญ คือ มีการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ของนักโทษคดียาเสพติดที่อยู่ในเรือนจำเป็นเพียงผู้ค้ารายย่อย ถูกจับกุมด้วยการครอบครองยาเสพติดเพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะยาบ้า ส่วนหนึ่งมาจากการกำหนดอัตราโทษสูง ทำให้ผู้ค้ายารายย่อยต้องโทษจำคุกทั้งหมด ซึ่งกลายเป็นคำถามใหญ่ว่า เป็นนโยบายที่ถูกต้องหรือไม่

เพราะแทนที่คนกลุ่มนี้จะถูกส่งไปเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา มีกระบวนการในการค่อยๆทำให้เลิกใช้ยา พร้อมๆ ไปกับการหาอาชีพทางเลือกอื่นๆ แต่เมื่อทุกคนถูกส่งเข้าคุก กลับทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการรักษาฟื้นฟู กลายเป็นผู้ที่มีประวัติอาชญากร ออกไปประกอบอาชีพใหม่ไม่ได้ ถูกสังคมรังเกียจ กลับมาสู่วังวนของขบวนการยาเสพติด จนสุดท้ายก็กลับเข้าสู่เรือนจำอีก


ความสามารถในการแทรกซึมเข้าสู่เรือนจำของโรคระบาดอย่าง “โควิด-19” ได้สร้างโจทย์ใหญ่ให้กรมราชทัณฑ์ต้องเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยเร่งด่วน (เช่นเดียวกับอีกนับร้อยประเทศทั่วโลกที่กำลังเผชิญปัญหาโควิด-19 ระบาดในเรือนจำเช่นกัน) เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดให้ได้ หรืออาจต้องถึงขั้นที่พิจารณาการให้กลุ่มผู้ต้องขังเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับวัคซีนก่อนในลำดับต้นๆจากนี้ไปหรือไม่

แต่ในขณะเดียวกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำ ก็อาจเป็นโอกาสหนึ่งที่ชี้ให้กระบวนการยุติธรรมของไทยทั้งระบบ ต้องหันมาเร่งทบทวน “กระบวนการ ก่อนส่งคนเข่าสู่เรือนจำ” อย่างจริงจัง ทั้งเพื่อให้ลดความแออัดของเรือนจำ เพื่อให้เรือนจำเป็นที่คุมขังเฉพาะอาชญากรที่แท้จริง และเพื่อให้เรือนจำเป็นสถานที่ขัดเกลาฟื้นฟูเยียวยา คืนคนดีสู่สังคมได้อย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น