“เมืองไทยควรจะมีบ่อนการพนันอย่างถูกกฎหมายได้หรือยัง?” ปัญหานี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาหลายสิบปีแล้วยังไม่จบ แม้ว่าเสนอขึ้นมาทีไรก็ถูกถล่มจนม้วนเสื่อแทบไม่ทันทุกที แต่วันดีคืนดีก็มีคนระรี้ระริกเสนอขึ้นมาอีก เพราะเป็นเรื่องของความเห็นต่าง เมื่อเกิดสถานการณ์อำนวยก็จะมีคนเสนอเรื่องนี้ขึ้นมา แล้วก็ต้องม้วนเสื่อไปทุกทีอีกเหมือนกัน เพราะคนส่วนใหญ่ยังเห็นว่าไม่ควรมี
ที่อ้างเสียงส่วนใหญ่นี้ไม่ใช่เรื่องแอบอ้างอย่างเลื่อนลอยนะครับ เพราะถ้าเป็นเสียงส่วนน้อยคัดต้าน ป่านนี้ก็คงมีบ่อนการพนันถูกกฎหมายไปแล้ว แต่ที่เป็นดอกเห็ดอยู่ตอนนี้ เป็นเห็ดเถื่อนหรือเห็ดพิษนะครับ ใครกินเข้าไปจะกระเด้งกระดอนได้ง่ายๆ
บ่อนการพนันแบบถูกกฎหมายใช่ว่าเมืองไทยจะไม่เคยมี มีมาหลายครั้งแล้ว อย่างรูปประกอบในเรื่องนี้ก็แสดงว่ากระทรวงการคลังลงมือเองเชียวแหละ
พงศาวดารกล่าวว่า บ่อนการพนันในเมืองไทยมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา รูปแบบการเล่นก็นิยมใช้สัตว์ตั้งแต่ขนาดเล็ก เช่น จิ้งหรีด ปลากัด ไปจนถึงสัตว์ใหญ่ เช่น วัว ควาย หรือช้าง ที่นิยมมากที่สุดเห็นจะเป็นไก่ชน
ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ทรงไม่เห็นด้วยที่จะให้เล่นการพนันหรือเล่นเบี้ยแบบกรุงศรีอยุธยากรุงธนบุรี แม้ยังทรงยอมให้มีบ่อนเบี้ยอยู่บ้างเพื่อเก็บอากรบำรุงแผ่นดิน แต่ก็ทรงห่วงใยเรื่องการพนันกับการดื่มสุรา ทรงออกพระราชกำหนดเมื่อปี ๒๓๒๕ ห้ามข้าราชการเข้าบ่อนเบี้ยและเสพสุรา
สมัยรัชกาลที่ ๒ บ่อนการพนันยังคงดำรงอยู่ และสามารถเก็บอากรบ่อนเบี้ยได้ถึงปีละ ๒๖๐,๐๐๐ บาท
สมัยรัชกาลที่ ๓ เปิดให้มีการประมูลขอตั้งบ่อนการพนันถั่วโป สามารถสร้างรายได้ให้แก่รัฐถึงปีละ ๔๐๐,๐๐๐ บาท
สมัยรัชกาลที่ ๔ ผลพวงจากการที่ไทยทำสัญญากับต่างประเทศ ทำให้มีการปรับปรุงภาษีอากรหลายประเภท ทำให้รายได้ของแผ่นดินลดลง จึงได้กำหนดภาษีการพนันเพิ่มขึ้นจนสามารถเก็บได้สูงถึงปีละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท
แน่นอนว่าเงินจำนวนนี้ รวมทั้งเงินกำไรที่ทำให้นายบ่อนร่ำรวยกันมหาศาล ก็มาจากเงินของนักพนันที่เสียไปในบ่อนนั่นเอง
น่าเล่นไหมล่ะแบบนี้...
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระปิยมหาราช ทรงเห็นว่า การที่ราษฎรมัวเมาในการพนันย่อมเป็นเหตุนำไปสู่ความวิบัติทั้งส่วนตัวและส่วนรวม จึงทรงประกาศให้ลดจำนวนบ่อนในตำบลต่างๆลงเรื่อยๆ โดยมิได้ทรงห่วงว่าเงินท้องพระคลังจะลดลงถึงปีละ ๖๐๐,๐๐๐ บาท จากจำนวนตำบลที่มีบ่อน ๔๐๓ ตำบล จึงเหลือเพียง ๙ ตำบลเท่านั้น
ในรัชกาลที่ ๖ จึงทรงประกาศพระราชบัญญัติให้เลิกการพนันทุกประเภททั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๖๐ เป็นต้นมา ทั้งยังทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทดแทนเงินอากรการพนันที่รัฐต้องสูญไปด้วย
จนกระทั่งในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อนายควง อภัยวงศ์ บุคคลในกลุ่มคณะราษฎรเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากจะแก้ปัญหาการเงินของประเทศด้วยการยกเลิกการใช้ธนบัตรใบละ ๑,๐๐๐ บาทแล้ว ยังอนุญาตให้ตั้งบ่อนกาสิโนอย่างถูกกฎหมายให้เล่นกันอย่างเปิดเผยขึ้นด้วย เพื่อเก็บภาษีเข้าแผ่นดิน แต่ไม่ได้เรียกว่า กาสิโน หรือ คาสิโน อย่างวันนี้ เรียกว่า “กาซิโน” ซึ่งก็น่าจะถูกต้องกับคำที่มามากกว่า เพราะ CASINO เป็นภาษาอิตาเลียน ออกเสียงว่า กาซีโน แปลว่าบ้านที่ใช้พักผ่อนหย่อนใจ
เหตุผลที่รัฐบาลให้เปิดบ่อนกาสิโนขึ้นในตอนนั้น ก็เพราะปัญหาข้าวยากหมากแพง รายได้ของรัฐบาลลดลงมาก จึงคิดวิธีหาเรายได้ด้วยการเปิดบ่อน โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการ จัดทำชิบแลกเงินเป็นเหรียญนิเกิล สั่งทำมาจากประเทศอังกฤษ มี ๔ ราคา คือ ๑, ๑๐, ๒๐, และ ๑๐๐ บาท ที่ขอบเหรียญระบุหมายเลขของเหรียญไว้ด้วย
บ่อนที่ตั้งกันในตอนนั้นไม่ได้โก้หรูหรือมิดชิดเหมือนบ่อนในสมัยนี้ แต่เป็นบ่อนห้องแถวเปิดโล่ง คนเดินที่ฟุตปาร์ตผ่านไปมาก็เห็นตั้งวงกัน ผู้เขียนจำได้ว่าห้องแถวตรงสี่แยกบางลำพูก็มีอยู่แห่งหนึ่ง ขนาด ๒ หรือ ๓ คูหา
แต่บ่อนที่จะหาเงินของรัฐบาลในยามยากนี้ ก็อายุสั้น แม้จะมีคนชอบการพนันไปซื้อความตื่นเต้นกันมาก แต่ก็ถูกคัดค้านจากทุกหย่อมหญ้า เพราะมีการลักเล็กขโมยน้อยเกิดขึ้นชุกชุมอย่างเห็นได้ชัด แม้แต่ในกลุ่มของรัฐบาลเองก็มีทั้งคัดค้านและกดดัน ในที่สุด “บ่อนกาซิโน” ซึ่งเปิดขึ้นในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๘ ก็ต้องปิดลงในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๘ มีอายุแค่ ๔ เดือน ๖ วันเท่านั้น อีกทั้งรัฐบาลยังประกาศห้ามเปิดร้านขายอาหารเกิน ๑๙.๐๐ น.ด้วย เพื่อให้ประชาชนใช้จ่ายอย่างประหยัด ไม่ออกเที่ยวในเวลากลางคืน
จากนั้นเป็นต้นมา บ่อนการพนันที่ถูกกฎหมายก็ปิดสนิท แต่ก็ยังมีคนเรียกร้องให้เปิดอีกเป็นระยะ พร้อมอ้างเหตุผลต่างๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องของความคิดต่าง ย่อมเสนอความเห็นได้ ไม่ผิดกติกาในระบอบประชาธิปไตย และเมื่อใดที่คนส่วนใหญ่เห็นว่า “ได้คุ้มเสีย” ก็อาจจะมีบ่อนถูกกฎหมายเปิดขึ้นมาอีกก็เป็นได้