xs
xsm
sm
md
lg

ศัพท์แผลงในสมัย ร.๕ ! บางคำความหมายตรงข้ามกับปัจจุบัน เป็นที่มา “กลอนไดอรีซึมทราบ”!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



ศัพท์แผลง หรือ คำแสลง มีอยู่ทุกยุคทุกสมัย บางคำใช้กันมาแต่โบราณและยังใช้กันจนถึงวันนี้ก็มีหลายคำ บางคำไม่มีใครใช้ก็จางหายไปเอง อย่างเช่น

คำว่า โคมลอย คือโคมไฟที่จุดแล้วปล่อยลอยไปในอากาศ แต่คำแผลงหมายความว่า เหลวไหล ไม่มีข้อมูล พูดเรื่อยเปื่อยไม่มีหลักฐาน เช่น พูดโคมลอย หรือ ข่าวโคมลอย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายถึงที่มาและความหมายในพระราชหัตถเลขาที่มีไปถึงสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ มีความว่า

“...เกิดจากหนังสือพิมพ์อังกฤษฉบับหนึ่ง ชื่อฟัน มีรูปโคมลอยอยู่ชื่อหน้าต้นของหนังสือนั้น และหนังสือพิมพ์นี้มักมีความซึ่งกล่าวตามอย่างตลกๆในภาษาอังกฤษ ดูไม่ใคร่จะเข้ากับเรื่อง...”

ศัพท์แสลงคำว่าโคมลอยในสมัยนี้ไม่คอยได้ยินแล้ว แต่พฤติกรรมกลับมากกว่าสมัยก่อนเยอะ

ศัพท์แผลงบางคำความหมายในปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างตรงข้ามกับสมัยก่อนก็มี อย่างคำว่า “ซึมทราบ”

ซึมทราบ ในสมัยนี้หมายถึง รู้ละเอียด รู้ซึ้ง แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ หมายถึง ไม่รู้จริง ว่าไปเรื่อยเปื่อย อย่างบางคนรู้แค่คำสัมผัสของกลอน แต่ไม่มีความรู้ในสุนทรียรสของภาษา ทั้งยังเขียนคำผิดๆ แต่ก็ยังขยันแต่งกลอนออกมาให้คนอ่าน จึงมีคำแผลงเรียกกลอนประเภทนี้ว่า “กลอนซึมทราบ”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯคงจะทรงขัดพระอารมณ์กับกลอนประเภทนี้ เลยทรงแกล้งนิพนธ์กลอนประเภทซึมทราบล้อพวกที่ใช้ภาษาผิดๆนั้นบ้าง และทรงพระราชนิพนธ์อย่างยาวในไดอารีของพระองค์ ในชื่อ “กลอนไดอรีซึมทราบ” ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายที่มาของพระราชนิพนธ์ “กลอนไดอรีซึมทราบ” ไว้ว่า

“...เกิดแต่ทรงเบื่อหน่ายหนังสือชนิด ๑ ซึ่งเจ้านายเรียกกันว่าอย่าง “ซึมทราบ” คือผู้แต่งไม่รู้จักถ้อยคำไม่รู้จักอักษร รู้จักแต่กลอนก็แต่งไป แต่ยังมีคนพอใจอ่าน จึงทรงแต่งบทกลอนอย่างซึมทราบล้อเล่นบ้าง...”

“กลอนไดอรีซึมทราบ” นี้ แม้จะไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าเป็นพระราชนิพนธ์ เป็นเหมือนข้าราชการฝ่ายในเป็นผู้แต่ง แต่เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเป็นพระอารมณ์ขันของพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงใช้ภาษาอย่างสนุกสนาน เหน็บแนมผู้ใช้ภาษาไม่ถูกต้อง

กลอนไดอรีซึมทราบ เริ่มด้วยความว่า
๐ ขอคำรบบนหัดอัดทิถาน
องพระพุดรัดกำจัดมานโปรดประทานพระสะทันอันอุดม
หนึ่งคำนับในพระทำอันล้ำเลิดแสนประเสิดส่องทางข้างสยม
อีกไหว้อริยสงวงบอรมด้วยชื่นชมโสมนัดมัดสกาน
ขอบังคมพระไม้ตรีสีอานเจ้าอันยังเนาในดุสิตทิดสถาน
อีกไหว้ครูอุปัดชาองอาจานอีกกราบกรานทั้งชนกชนละนี
อีกอินพรมยมเรดวิเสดสักฝูงอารักเทวาทุกราสี
เดชะข้าอภิวันอันชุลีขออย่ามีโรกไพอันใดพาน
จะจดจำทำไดอรีใหม่แต่ล้วนใช้กาบกลอนอักสอนสาน
สำหรับฝูงนารีที่ชำนานจะได้อ่านซึมซาบอาบอุรา
ขอเริ่มบทพจนังตั้งกำหนดจะจดจำเรื่องราวลายเลขา
แต่ต้นเดือนสิบสองไปไม่เคลื่อนคาเริ่มทิวาอาทิดสิดทิไชย
อันนามปีนี้ชวดสำริดทิสกไม่ปิดปกสักราดประกาดไข
พันสองร้อยห้าสิบแสดงไว้ได้นับไปเปนต้นยุบนกลอน

วันที่ ๑ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒
ในวันนี้มีการพยุหยาดชลมาดนาวามาสลอน
เรือกระบวนรูปสัดอัดสาคอนทั้งเรือมอนเรือยวนท่วนทุกกรม
อันเรือหงทรงไกรพระกระถินดูดังบินโยนยาวฉาวขรม
กลองชะนะแกรสังดังรงมน่าชื่นชมเรือที่นั่งบันลังทรง
ชื่ออนันนาคราชผงาดเงื้อมแลละเลื่อมบุดสบกกระนกรหง
ที่ประทับลอยเด่นเหนพระองล้วนคันทงรายไสววิไลยตา
ที่นั่งรองเรือพลับพลาหลังคาสีพายตามที่ระยะย่านขนานหน้า
เรือตำหรวดเรือเจ้านายพายต่อมาทั้งเรือข้าราชกิดติดกระบวน
ประทับท่าวัดอรุนสุนทเรดเสรจประเวดขึ้นทางหว่างฉนวน
ขุนนางพร้อมน้อมเกล้าเฝ้าตามควนเสรจด่วนขึ้นเกยเลยทรงยาน
ตำหรวดนำสองข้างย่างขยับเสียงกุบกับเข้าไปในวิหาน
ประทานกระถินสังคาสาทุกานแล้วสวดกรานตามอย่างทางวิไน
ครั้นสำเหรดเสรจจากวัดแจ้งนั้นล่องผายผันตามมหาชลาไหล
มาเข้าคลองบางหลวงล่วงเข้าไปถึงวัดในท้ายตลาดสะอาดงาม
ประทานกระถินวัดนี้เปนที่สองแลถัดรองไปวัดหงทรงที่สาม
แต่วัดพลับนับเปนที่สี่อารามตกอยู่ยามสุริยันตะวันชาย

กลอนไดอรีซึมทราบบทนี้ ไปจบที่วันที่ ๑๒ ขึ้น ๑๒ เดือน ๑๒ ซึ่งลงท้ายว่า

ถ้านารีมีปันยาอีกสามาดฉลาดรู้อักสอนสีดีกว่าฉัน
ช่วยแก้ถูกให้หมดได้ทั้งนั้นฉันจะให้รังวันช่างหนึ่งเอยฯ

กลอนไดอรีซึมทราบนี้ได้สร้างความสนุกสนานให้นักอ่านในยุคนั้นมาก และคงช่วยให้นักกลอนที่ไม่ค่อยรู้ภาษา ได้พัฒนาความรู้ของตนขึ้นอีกมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น