xs
xsm
sm
md
lg

“นิทานอีสป” นิทานคติเตือนใจ! ลูกกัดหูสอนแม่ ในเรื่อง “สอนลูกให้เป็นโจร”!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



คนในสมัยก่อนรู้จัก “นิทานอีสป” กันเป็นอย่างดี เป็นหนังสือส่งเสริมการอ่านระดับประถมการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นนิทานที่แพร่หลายไปทั่วโลก คำเปรียบเปรยในสำนวนไทยหลายคำก็มาจากนิทานอิสป เช่น ชาวนากับงูเห่า หมาหางด้วน เด็กเลี้ยงแกะ หมาป่ากับลูกแกะ ฯลฯ

อีสป (Aesop) เป็นชื่อของชายคนหนึ่งเกิดในดินแดนที่ทวีปเอเชียจดกับทวีปยุโรป ซึ่งเรียกว่าเอเชียไมเนอร์ ในยุคเมื่อ ๖๐๐ กว่าปีก่อนคริสตศักราช หรือก่อนพุทธกาล ประวัติของเขาจึงไม่ค่อยแน่ชัดนัก แต่มีบันทึกตรงกันว่าเขาเป็นทาสตั้งแต่เกิด ยุคนั้นเอเชียไมเนอร์เจริญรุ่งเรืองมาก เป็นที่รวมของพ่อค้าวาณิช นักการทูต และเป็นตลาดค้าทาส อีสปจึงมีโอกาสได้พบปะผู้คนมาก แม้เขาจะเป็นทาสที่มีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ จมูกบี้ ปากแบะ หลังค่อม ผิวดำสนิท แต่ก็เป็นคนที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เล่านิทานให้คนฟังประทับใจ นายทาสจึงให้เป็นครูสอนหนังสือให้ลูก และให้อิสรภาพแก่เขา

อีสปได้กลายเป็นนักเล่านิทานที่มีผู้คนชื่นชอบ ขณะเดียวกันอีสปก็ต้องการแสวงหาความรู้ด้วย จึงได้เดินทางเล่านิทานไปในดินแดนต่างๆ จนได้เข้าเป็นข้าราชสำนักของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง ซึ่งทรงมอบหมายให้เขาเป็นราชทูตไปเยี่ยมเยียนเมืองต่างๆที่อยู่ใต้การปกครองของพระองค์ อีสปได้ใช้นิทานให้ความรู้และคติสอนใจแก่กับชาวเมืองเหล่านั้น ทั้งคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งด้วยนิทานเช่นกัน อย่างเช่นเรื่อง “กบเลือกนาย”

แต่เมื่อมีเรื่องทองคำเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อกษัตริย์มอบหมายให้เขานำทองไปแจกกับชาวเมืองแห่งหนึ่ง คนเหล่านั้นเกิดความไม่พอใจที่อีสปไม่ทำตามคำเรียกร้องของพวกตน จึงได้รุมประหารเขา ความตายของอีสปทำให้ชาวเมืองนั้นได้รับโทษตอบแทนอย่างสาสมเช่นกัน จนเกิดคำว่า “The Blood of Aesop” หรือโลหิตอีสป ซึ่งหมายถึงการตัดสินโทษที่ไม่ได้พิจารณาอย่างยุติธรรม เช่นเดียวกับ “ดาบนี้คืนสนอง” ของศรีปราชญ์

ต่อมามีผู้รวบรวมนิทานที่อีสปเล่าไว้บันทึกเป็นภาษาลาติน และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆมากมาย จนเป็นนิทานคติสอนใจที่แพร่หลายที่สุดในโลก

ตอนนี้เกิดนึกถึงนิทานอีสปขึ้นมา เลยอยากจะนำมาเล่าสัก ๔-๕ เรื่อง

เรื่องแรกคือ “กบเลือกนาย”
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ บึงเล็กๆแห่งหนึ่งมีฝูงกบอาศัยอยู่ แม้จะเป็นบึงที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่กบเหล่านั้นก็ยังไม่พอใจ ต่างโทษว่าหัวหน้าฝูงของตนโง่เขลาเบาปัญญา ไม่สามารถหาสิ่งที่ดีกว่านี้มาให้พวกตนได้ จึงร้องต่อเทพเจ้าขอให้เปลี่ยนหัวหน้าฝูงใหม่และร้องกันไม่หยุดหย่อน แม้เทพเจ้าเลยประชดส่งขอนไม้ลงมาให้ กบทั้งหลายได้ใช้เป็นที่ขึ้นไปเกาะพักผ่อนหย่อนใจ อาศัยเป็นที่หาความสุขได้ไม่นานก็เกิดความเบื่อหน่ายที่ขอนไม้พูดอะไรไม่ได้ จึงร้องขอต่อเทพเจ้าอีก เทพเจ้าอยากจะสอนเหล่ากบให้รู้สำนึก จึงส่งนกกระสาลงมา นกกระสาได้จับกบกินเป็นอาหาร จนเหล่ากบต่างหวาดกลัวต้องอยู่อย่างหลบซ่อน ต่างสำนึกได้ว่า ที่พวกตนมีชีวิตอยู่แต่ก่อนนั้นก็สุขสบายดีแล้ว แต่ไม่รู้จักพอเอง จึงต้องมามีเคราะห์กรรมเช่นนี้

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การไม่ใช้ปัญญาพิจารณาถึงความเหมาะสมและความพอเพียง เรียกร้องเอาตามอยากของตัวเอง ระวังจะเจอเอานกกระสา
 
นิทานเรื่อง “สอนลูกให้เป็นโจร”
เด็กชายคนหนึ่งมีนิสัยลักขโมย มักจะขโมยของเล็กๆน้อยๆมาให้แม่ของเขาเสมอ แต่แม่ไม่เคยดุด่าว่ากล่าว กลับชื่นชมว่าลูกฉลาด กล้าหาญกว่าเด็กอื่นๆ ทำให้ลูกชายคิดว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นความถูกต้องดีงาม ในที่สุดก็ยึดการขโมยเป็นอาชีพ กลายเป็นโจรของบ้านเมือง
แน่นอนว่าเขาไม่พ้นที่จะถูกตำรวจจับไปขังคุก ทำให้แม่ของเขาเสียใจมาก และสำนึกได้ว่าเมื่อตอนเด็กควรอบรมสั่งสอนลูกอย่าให้เป็นขโมย ประพฤติตนเป็นคนดีของสังคม เมื่อลูกเห็นแม่เศร้าโศกจนน้ำตานองหน้า จึงบอกผู้คุมขอพูดกับแม่หน่อย เมื่อแม่เข้ามาใกล้ ลูกชายก็อ้าปากกัดหูแม่เต็มตำจนแม่ร้องลั่นด้วยความเจ็บปวด แล้วตวาดลูกด้วยความโกรธว่า

“ไอ้ลูกอกตัญญู ทำไมทำกับข้าอย่างนี้”

ลูกชายก็ตอบว่า

“เพื่อเตือนให้แม่รู้ว่า ถ้าแม่สั่งสอนดุด่าฉันเมื่อตอนเด็ก ให้รู้ว่าการเป็นขโมยนั้นไม่ดี ฉันก็คงไม่ได้รับผลกรรมในวันนี้ และแม่ก็คงไม่ต้องมาเสียใจเหมือนตอนนี้”

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การอบรมสั่งสอนชี้ทางที่ถูกต้องให้ลูก หรือประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีงามให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ หากละเลยสิ่งเหล่านี้จนอนาคตของลูกต้องย่อยยับ ก็ต้องถือว่าเป็นความผิดของพ่อแม่ด้วย

เรื่อง “ลากับหนังราชสีห์”
ลาตัวหนึ่ง บังเอิญเดินไปเจอหนังสิงโตที่นายพรานนำมาตากแดดไว้ จึงขโมยมาคลุมตัว แล้วเที่ยวเดินยืดอกทำทีว่าเป็นเจ้าป่าผู้ยิ่งใหญ่ บรรดาสัตว์ในป่าเห็นก็เข้าใจว่าเป็นสิงโต จึงพากันวิ่งหนีกระเจิดกระเจิง

ขณะเดียวกันมีหมาจิ้งจอกตัวหนึ่งเดินผ่านมา เจ้าลาที่สวมหนังสิงโตอยู่เห็นหมาจิ้งจอกไม่เกรงกลัวตน จึงคำรามเลียนเสียงสิงโตหวังให้หมาจิ้งจอกกลัวเหมือนกับสัตว์ตัวอื่นๆ แต่หมาจิ้งจอกมีสติไม่ขี้ขลาดเหมือนสัตว์ที่วิ่งหนีไปเหล่านั้น จึงจับได้ว่าเป็นเสียงของลา ไม่ใช่ราชสีห์ที่เอาหนังมาคลุม จึงร้องบอกว่า

“นี่ถ้าเจ้าไม่คำรามออกมาข้าก็คงนึกว่าเจ้าเป็นราชสีห์ แต่พอได้ยินเสียงเจ้า ข้าก็รู้ว่าเจ้าคือไอ้ลาโง่”

ว่าแล้วก็เดินหัวเราะจากไป

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ถ้าไม่รู้อะไรจริง ขืนพูดอวดฉลาดออกไป คนเขาก็เลยรู้ว่าเราเป็นคนโง่

นิทานเรื่อง “เด็กเลี้ยงแกะ”
ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีเด็กเลี้ยงแกะคนหนึ่งที่พ่อแม่ไม่สั่งสอน ชอบพูดแต่เรื่องโกหก วันหนึ่งขณะที่กำลังต้อนฝูงแกะไปกินหญ้าที่เนินเขา ไอ้เด็กมีปัญหาคนนั้นก็เกิดนึกสนุกขึ้นมา ทำเป็นหน้าตาตื่นวิ่งลงมาจากเนินเขาพลางตะโกนว่า

“ช่วยด้วย ช่วยด้วย หมาป่ามากินแกะแล้ว...”

ชาวบ้านได้ยินก็รีบคว้ามีดไม้วิ่งไปช่วยเด็กเลี้ยงแกะทันที แต่เมื่อไปถึงกลับไม่เห็นแม้แต่เงาของหมาป่า เห็นแต่เด็กเลี้ยงแกะหัวเราะชอบใจที่หลอกชาวบ้านได้

แต่แล้ววันหนึ่ง ขณะที่เด็กเลี้ยงแกะนั่งเฝ้าฝูงแกะกินหญ้าอยู่นั้น หมาป่าฝูงหนึ่งก็ปรากฎตัวขึ้น และไล่จับแกะกิน เด็กเลี้ยงแกะเห็นก็ตกใจ วิ่งหน้าตื่นตะโกนเรียกให้ชาวบ้านมาช่วย ชาวบ้านได้ยินก็ไม่มีใครสนใจ เพราะหมดความเชื่อถือกันไปแล้ว จึงพากันเฉยเสีย หมาป่าจึงกินแกะอย่างหนำใจจนหมดฝูง

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนที่ชอบโกหกหลอกคนเขาไปเรื่อยๆ พูดโดยไม่ต้องสนใจความจริง คิดว่าคนเขาจะโง่เชื่อไปตลอด วันหนึ่งก็จะได้รับบทเรียนเหมือนเด็กเลี้ยงแกะ

นิทานเรื่อง “หมาหางด้วน”
สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งทะเล่อทะล่าไปติดกับดักของนายพราน แม้จะดิ้นหลุดไปได้ แต่หางก็ขาดติดอยู่ที่กับดัก สุนัขจิ้งจอกตัวนั้นรู้สึกตัวว่าไม่สง่างามเหมือนสุนัขจิ้งจอกตัวอื่นๆที่มีหางเป็นพวงสวยงาม จึงไปหว่านล้อมสุนัขจิ้งจอกตัวอื่นๆว่า หางนั้นมันเกะกะถ่วงความเจริญ เมื่อตัดออกแล้วจะทำให้คล่องตัว วิ่งเร็วกว่าเก่ามาก พวกสุนัขจิ้งจอกหน้าโง่ก็หลงลม พากันไปตัดหางกลายเป็นหมาหางด้วนกันเป็นแถว

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนที่มีปมด้อย ก็อยากจะให้คนอื่นเขาเป็นเหมือนตัว เพื่อตัวจะได้หมดปมด้อย คนที่มีปัญญา จึงไม่ควรคล้อยตามคนอื่นเขาไปง่ายๆ

วันนี้ขอเล่าแค่นี้ก่อน ท่านผู้ใดสนใจไปเปิดหาอ่านได้ในออนไลน์ มีนิทานอีสปให้อ่านมากมายหลายสำนวน
(ขอขอบคุณภาพประกอบจาก “นิทานอีสป” ในออนไลน์)
กำลังโหลดความคิดเห็น