สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ส่ง 3 นวัตกรรม แก้ปัญหาไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ ทั้งแอปพลิเคชัน Smoke Watch แจ้งเตือนและเฝ้าระวังไฟป่า แอปพลิเคชัน Dr. Barrier ช่วยตัดสินใจชิงเผาเพื่อลดปัญหาไฟป่า และเครื่องอัดวัสดุชีวมวลแบบเคลื่อนที่ได้ เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงตั้งต้นของการเกิดไฟป่าและหมอกควัน
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า ได้จับมือภาคเอกชน มหาวิทยาลัย หน่วยงานท้องถิ่น ชุมชน และกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม พัฒนา 3 นวัตกรรมแก้ปัญหาไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ หลังจากที่ปัญหาไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสร้างความเสียหายแล้วกว่า 65,542 ไร่ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่ป่า สิ่งแวดล้อม และกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ ปัจจุบันปัญหาภัยพิบัติทั้งจากธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้นนั้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของคนในสังคมทั้งระยะสั้นและระยะยาว จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือโดยอาศัยนวัตกรรมการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติ ทั้งการป้องกันและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการรับมือและตอบสนองต่อสถานการณ์ได้ทันท่วงที เพื่อบรรเทาทุกข์และให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นไปจนถึงการฟื้นฟูให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ
สถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในภาคเหนือเป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่ทำให้พื้นที่ตอนบนของประเทศไทยประสบกับปัญหาการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเผาเพื่อทำไร่ และการเผาเพื่อหาของป่าของชาวบ้านในพื้นที่ ประกอบกับขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่หน้าร้อนอย่างเต็มรูปแบบทำให้เกิดไฟไหม้ป่าได้ง่ายขึ้น
จากปัญหาดังกล่าว NIA จึงได้ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น มหาวิทยาลัย ชุมชน และกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม สนับสนุนและส่งเสริมนวัตกรรมที่จะเข้ามาแก้ไขและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวได้รับการบรรเทาอย่างเป็นรูปธรรม NIA จึงได้ร่วมกับนักพัฒนานวัตกรรมภาคเอกชนและหน่วยงานท้องถิ่นนำร่องใช้ 3 นวัตกรรมเพื่อป้องกันบรรเทาภัยพิบัติ ได้แก่
1. “Smoke Watch” แอปพลิเคชันแจ้งเตือนและเฝ้าระวังไฟป่าจากการเผาในที่โล่ง ผลงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และหน่วยงานท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย พัฒนา แอปพลิเคชันที่ช่วยบริหารจัดการกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าควบคุมไฟป่าอันเนื่องมาจากการเผาในภาคการเกษตร โดยระบบที่นำมาใช้เป็นการตรวจสอบจุดความร้อน หรือ Hotspot ผ่านดาวเทียม
แบ่งการทำงานออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. ระบบแจ้งเตือนไฟป่าซึ่งจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใช้งานได้ และหากมีรางวัลนำจับก็สามารถใช้ข้อมูลการแจ้งเตือนที่อยู่ในระบบเป็นหลักฐานในการรับรางวัล ส่วนประชาชนที่ไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูลก็จะมีการรักษาความลับของข้อมูลไม่ให้ถูกเผยแพร่ออกไป 2. ระบบประมวลผลจากข้อมูลการแจ้งเตือนมาจากภาคประชาชน ควบคู่กับพิกัดของพื้นที่และความเสี่ยงในการเกิดเหตุก่อนจะส่งไปยังเจ้าหน้าที่เพื่อลดภาระการคัดกรองข้อมูลเท็จ
และ 3. ระบบการรายงานข้อมูลเทียบกับภูมิศาสตร์ของพื้นที่เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่บริหารจัดการไฟป่าได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ทั้งนี้ การนำเอาระบบดังกล่าวเข้ามาใช้นั้นสามารถลดปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนลงได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเริ่มใช้จริงแล้วในพื้นที่จังหวัดเชียงรายครอบคลุมพื้นที่ป่าประมาณ 2 ล้านกว่าไร่
2. “Dr. Barrier” แอปพลิเคชันช่วยตัดสินใจชิงเผาเพื่อลดปัญหาไฟป่า แนวคิดการชิงเผาป่านั้นเป็นแนวคิดที่ต่างประเทศใช้ในการบริหารจัดการไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยเป็นการเผาใบไม้ในช่วงเริ่มผลัดใบ ซึ่งการเผาในระยะนี้จะทำให้เกิดควันและความรุนแรงน้อยกว่าการเผาในหน้าร้อน อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวจะทำงานผ่านแอปพลิเคชันชิงเผาตั้งแต่การประเมินความเสี่ยง ปริมาณการสะสมของเชื้อเพลิง สภาพอากาศ และสภาพภูมิประเทศ เพื่อกำหนดวันชิงเผาให้เหมาะสม
นอกจากระบบดังกล่าวจะช่วยป้องกันการเกิดไฟป่าที่รุนแรง และแนะนำวิธีการจัดการเผาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนวิธีการชิงเผา ทางโครงการและชาวบ้านได้ดำเนินการตามแนวทางของกรมอุทยานแห่งชาติฯ คือ สามารถเผาได้ 1 ตารางกิโลเมตรต่อครั้ง จัดทำแนวกันไฟ และผลจากการการชิงเผา สามารถลดอัตราการเกิดไฟไหม้ระดับรุนแรงได้มากกว่าร้อยละ 60-70 สำหรับนวัตกรรมนี้ได้เริ่มทดลองใช้แล้ว ที่ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ครอบคลุมพื้นที่ป่าประมาณ 100 ไร่ ภายใต้ความร่วมมือของห้างหุ้นส่วนจำกัด พีพีเค.ทรัพย์อุดม และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
3. นวัตกรรมเครื่องอัดวัสดุชีวมวลแบบเคลื่อนที่ได้ เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงตั้งต้นของการเกิดไฟป่าและหมอกควัน ด้วยการเปลี่ยนใบไม้ให้เป็นชีวมวลอัดเม็ด ชาวบ้านในพื้นที่จะนำเครื่องอัดวัสดุชีวมวลเข้าไปเก็บรวบรวมใบไม้ในพื้นที่ป่าชุมชน เพื่อนำมาบดเป็นผงและเข้าสู่กระบวนอัดเม็ด จากนั้นจึงนำไปจำหน่ายให้แก่โรงไฟฟ้าชีวมวล หรือภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการเชื้อเพลิงสำหรับให้ความร้อน นอกจากนี้ ใบไม้ที่มีสภาพสมบูรณ์ยังสามารถนำมาอัดขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนกระถางต้นไม้ได้
ปัจจุบันเครือข่ายธุรกิจบิสคลับพะเยาร่วมกับกลุ่มผู้นำชุมชนเริ่มนำไปทดลองใช้ในพื้นที่ตำบลท่าวังทอง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ซึ่งมีพื้นที่ป่าชุมชนจำนวน 500 ไร่ พบว่าการเก็บใบไม้มาทำเป็นชีวมวลอัดเม็ดและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ช่วยลดอัตราการเกิดไฟป่าและหมอกควันที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้จากการเพิ่มมูลค่าให้กับเศษใบไม้อีกด้วย นอกจากนี้ เมื่อไม่มีไฟป่า ในพื้นที่ยังสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่สำคัญของจังหวัดพะเยาได้ต่อไป