xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 25 เม.ย.-1 พ.ค.2564

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1.แค่เดือนเดียว โควิดทำผู้ติดเชื้อในไทยพุ่ง 3.8 หมื่น ดับ 130 ราย รวม "น้าค่อม ชวนชื่น" หลังติดโควิดไม่ถึง 20 วัน!

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่มีแนวโน้มลดลง ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยที่เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน เริ่มจากเมื่อวันที่ 25 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 (ศบค.) แถลงว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,438 ราย มีผู้เสียชีวิต 11 ราย มีผู้ป่วยอาการหนัก 507 ราย ผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 138 ราย

วันต่อมา 26 เม.ย. 26 เม.ย. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,048 ราย มีผู้เสียชีวิต 8 ราย มีผู้ป่วยอาการหนัก 563 ราย ผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 150 ราย

วันต่อมา 27 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ แถลงว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,179 ราย มีผู้เสียชีวิต 15 ราย มีผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 169 ราย

วันต่อมา 28 เม.ย. พญ.อภิสมัย แถลงว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,893 ราย มีผู้เสียชีวิต 15 ราย มีผู้ป่วยอาการหนัก 695 ราย ผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 199 ราย เป็นที่น่าสังเกตว่า ในบรรดาผู้เสียชีวิต มี 1 ราย เสียชีวิตระหว่างรอคิวตรวจหาเชื้อเป็นเวลา 3 วัน เมื่อถึงวันที่จะได้ตรวจ พบว่าเสียชีวิต หลังจากนั้นมีการตรวจยืนยัน พบผลเป็นบวก ติดโควิด

วันต่อมา 29 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ แถลงว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,871 ราย มีผู้เสียชีวิต 10 ราย มีผู้ป่วยอาการหนัก 786 ราย ผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 230 ราย นพ.ทวีศิลป์ เผยด้วยว่า ผู้ป่วยที่เสียชีวิต ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ติดเชื้อจนถึงวันที่เสียชีวิต นานที่สุดคือ 16 วัน เร็วที่สุดเฉลี่ย 3 วัน และมีผู้เสียชีวิตก่อนทราบผลว่าติดเชื้อ 1 ราย จากข้อมูลพบว่า การเสียชีวิตมีระยะเวลาที่เร็วขึ้น

วันต่อมา 30 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ แถลงว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,583 ราย มีผู้เสียชีวิต 15 ราย มีผู้ป่วยอาการหนัก 871 ราย ผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 250 ราย

ล่าสุด 1 พ.ค. นพ.ทวีศิลป์ แถลงว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,891 ราย มีผู้เสียชีวิต 21 ราย มีผู้ป่วยอาการหนัก 829 ราย ผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 270 ราย สำหรับยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-1 พ.ค.2564 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 38,181 ราย เสียชีวิตสะสม 130 ราย

ทั้งนี้ ในบรรดาผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีบุคคลสำคัญในวงการตลกอย่าง "น้าค่อม ชวนชื่น" หรืออาคม ปรีดากุล รวมอยู่ด้วย โดยเสียชีวิตเมื่่อช่วงเช้าวันที่ 30 เม.ย. สำหรับไทม์ไลน์การติดเชื้อโควิดก่อนเสียชีวิตของน้าค่อม ตามที่ไอซ์ ณพัชรินทร์ ลูกสาวน้าค่อมได้โพสต์อัปเดตอาการ คือ วันที่ 10 เม.ย. บอล เชิญยิ้ม ติดโควิด ครอบครัวพาน้าค่อมตรวจโควิดทันที ทาง รพ. แจ้งว่า น้ำยาตรวจหมด วันที่ 11 เม.ย. รพ.แจ้งว่า พร้อมให้บริการ ทางครอบครัวทั้ง 11 คน ไปตรวจทันที วันที่ 12 เม.ย. ช่วงเย็น รพ. แจ้งผล น้าค่อม ติดโควิด หลังจากนั้นได้เข้ารักษาตัวใน รพ.

ต่อมา วันที่ 17 เม.ย. ปอดน้าค่อมเป็นฝ้าหนา ย้าย รพ. ไปห้อง ICU วันที่ 18 เม.ย. มีอาการเหนื่อย มีภาวะออกซิเจนต่ำ วันที่ 19 เม.ย. 64 พูดช้าลง มีอาการเหนื่อย ออกซิเจนต่ำ พาไปทำ CT สแกน วันที่ 20 เม.ย. น้าค่อม มีอาการเชื้อลงปอด ส่วนภรรยาของน้าค่อม (แม่เอ๋) ได้รับการยืนยันว่าติดโควิด-19 วันที่ 22 เม.ย. น้าค่อมมีอาการปอดอักเสบมาก อาการหนักลงไปอีก คือ ไตวาย วันที่ 29 เม.ย. อยู่ในภาวะโคม่า อวัยวะหลายอย่างล้มเหลว รวมถึงการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะชีพจรกับความดัน ร่างกายไม่ตอบสนองต่อยา มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น กระทั่งวันที่ 30 เม.ย. เวลาประมาณ 07.00 น. น้าค่อม เสียชีวิตลงอย่างสงบ

สำหรับ "น้าค่อม" ผู้ที่ทำให้คนไทยมีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เกิดวันที่ 5 ม.ค. 2501 อายุ 63 ปี เป็นชาว จ.พระนครศรีอยุธยา ยึดชีพตลกมานานกว่า 20 ปี เป็นอดีตสมาชิกตลกคณะชวนชื่น วงการบันเทิงมักเรียกติดปากว่า "น้าเหยิน" มีผลงานทั้งละคร และภาพยนตร์ไม่ต่ำกว่า 60 เรื่อง ผลงานที่สร้างชื่อเสียง ก็คือ “7 ประจัญบาน" ซึ่งทำรายได้กว่า 58 ล้านบาท สำหรับผลงานล่าสุดในปี 2564 คือ ภาพยนตร์เรื่อง “อีเรียมซิ่ง” ภาพยนตร์แอดเวนเจอร์คอมเมดี้ ทำรายได้กว่า 200 ล้านบาท บุคคลในแวดวงบันเทิงต่างชื่นชมว่า น้าค่อมเป็นคนที่ทำงานตรงต่อเวลา แม้อ่านหนังสือไม่ออก แต่ความจำดีเยี่ยม และแสดงได้เป็นธรรมชาติ นอกจากนี้น้าค่อมเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี และคอยเป็นห่วงเป็นใยทุกคนรอบข้างอยู่เสมอ เป็นที่รักของทุกคนทั้งในแวดวงตลก วงการบันเทิง และคนไทยที่ได้ชมผลงานของน้าค่อมมาโดยตลอด

2.ศบค. ยกระดับคุมโควิด 6 จังหวัดสีแดงเข้ม ห้ามนั่งกินในร้าน-งดออกนอกพื้นที่โดยไม่จำเป็น 14 วัน เริ่ม 1 พ.ค.!


เมื่อวันที่ 29 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) แถลงผลประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานว่า ที่ประชุมเห็นชอบการปรับระดับพื้นที่ทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือสีแดงเข้ม 6 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ

พื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือสีแดง จากเดิม 18 จังหวัด เพิ่มเป็น 45 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ เชียงราย ตาก ตรัง นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นราธิวาส น่าน ระจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ภูเก็ต มหาสารคาม ยะลา ร้อยเอ็ด ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สระแก้ว สงขลา สมุทรสาคร สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี อ่างทอง อุดรธานี อุบลราชธานี

พื้นที่ควบคุม หรือสีส้ม จากเดิม 59 จังหวัด ลดเหลือ 26 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่ กาฬสินธุ์ ชัยนาท ชุมพร ตราด นครนายก นครพนม หนองคาย บึงกาฬ บุรีรัมย์ พังงา พะเยา แพร่ มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร เลย สกลนคร สตูล สมุทรสงคราม สิงห์บุรี สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และอำนาจเจริญ

สำหรับการยกระดับมาตรการในแต่ละกลุ่มพื้นที่นั้น พื้นที่สีแดงเข้ม 6 จังหวัด ให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เมื่อออกนอกเคหะสถานหรืออยู่ในที่สาธารณะ ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 20 คน งดรับประทานอาหารในร้าน ให้ซื้อกลับบ้านเท่านั้น โดยร้านอาหารเปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง เปิดได้ตั้งแต่ 04.00-23.00 น. ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ส่วนศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า เปิดตามปกติไม่เกิน 21.00 น. โดยจำกัดจำนวนคน งดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ส่วนสถานศึกษาทุกระดับและสถาบันกวดวิชา ห้ามใช้อาคาร สถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน กิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมาก ปิดสถานที่เสี่ยงหรือมีกิจกรรมเสี่ยง ยกเว้นสถานที่เล่นกีฬากลางแจ้ง เปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. แข่งขันโดยไม่มีผู้ชม

นอกจากนี้ให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม งดเดินทางออกนอกพื้นที่โดยไม่มีเหตุจำเป็น เพื่อลดการเดินทางที่อาจเสี่ยงต่อการติดโรค ถ้ามีเหตุจำเป็นสามารถขออนุญาตเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ตั้งด่านอยู่ได้ ทั้งนี้ ศบค.ยืนยันว่า ไม่ใช่เคอร์ฟิว แต่เป็นการขอความร่วมมือ

ส่วนพื้นที่สีแดง 45 จังหวัด ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 50 คน บริโภคในร้านอาหารได้ไม่เกิน 21.00 น. สั่งอาหารกลับบ้านได้ไม่เกิน 23.00 น. แต่งดจำหน่ายและดื่มสุราในร้าน

ส่วนการลงโทษผู้ไม่สวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะที่ยังมีปัญหาเรื่องบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ยอมให้ปรับ และอ้างว่า ต้องให้ศาลเป็นผู้ปรับนั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้เสนอคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เพื่อออกระเบียบเปรียบเทียบปรับ ดำเนินการออกระเบียบ คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์จะได้ข้อกำหนดแนวทางใหม่ขึ้นมา ระหว่างนี้ให้ดำเนินการตามมาตรการที่เหมาะสมไปก่อน โดยก่อนเปรียบเทียบปรับ อาจให้มีมาตรการอื่น เช่น ตักเตือน หรือให้บำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม

นอกจากนี้ ศบค.ยังขอความร่วมมือหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการภาคเอกชน จัดให้มีการเวิร์กฟรอมโฮมอย่างน้อย 14 วัน เพื่อลดการเดินทาง ทั้งนี้ มาตรการต่างๆ ที่ออกมา จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป โดย ศบค.จะกำหนดมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการยกระดับครั้งนี้

ส่วนเรื่องวัคซีน ที่มีแผนฉีดให้ประชาชน 100 ล้านโดส หรือ 50 ล้านคน ขณะนี้ประเทศไทยจัดหาได้แล้ว 63 ล้านโดส ต้องจัดหาเพิ่มอีก 37 ล้านโดส หากสามารถจัดหาได้ 20 ล้านโดสต่อเดือน จะทำให้สามารถฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมตามแผนที่ตั้งไว้ภายในเดือน ธ.ค.2564

3. รัฐบาลเปิดให้ผู้สูงอายุ-ปชช. 7 กลุ่มโรค 16 ล้านคน ลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนโควิดแล้ว!


วันนี้ (1 พ.ค.) นับเป็นวันแรกที่รัฐบาลเปิดให้ประชาชนผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เชิญชวนประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และประชาชนที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคได้แก่ 1. โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง 2. โรคหัวใจและหลอดเลือด 3. โรคไตวายเรื้อรัง 4. โรคหลอดเลือดสมอง 5. โรคมะเร็ง 6. เบาหวาน 7. โรคอ้วน ลงทะเบียนเพื่อเตรียมรับการฉีดวัคซีนโควิด-19

โดยลงทะเบียนที่ Line Official Account "หมอพร้อม" เพื่อเลือกวัน เวลา และโรงพยาบาล รวมทั้งการติดตามผลภายหลังการเข้ารับการฉีดวัคซีนทั้งเข็ม 1 และเข็ม 2 โดยประชาชนที่เข้าข่ายได้รับวัคซีนครั้งนี้มีประมาณ 16 ล้านคน ประกอบด้วย กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 11.7 ล้าน และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรค อีก 4.3 ล้านคน เริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. เป็นต้นไป เพื่อนัดเวลาและสถานที่ในการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยจะเป็นการฉีดวัคซีนตามแผนระยะที่ 2 ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. และจะเริ่มให้บริการฉีดวัคซีนตามแผนระยะที่ 3 ตั้งแต่เดือน ส.ค. เป็นต้นไปสำหรับประชาชนทั่วไปที่มีอายุระหว่าง 18-59 ปี จำนวน 31 ล้านคน

ทั้งนี้ รัฐบาลจัดเตรียมความพร้อมการฉีดวัคซีน ด้วยความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนที่มีอยู่กว่า 1,100 แห่ง ซึ่งสามารถฉีดวัคซีนได้มากกว่า 5 แสนเข็มต่อวัน หรืออย่างน้อย 10 ล้านเข็มต่อเดือน ยังไม่รวมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่มีอยู่ทั่วประเทศ และสถานที่ที่ภาคเอกชนให้ความร่วมมือเสริมเพิ่มเติม จึงมั่นใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้กับคนไทย 50 ล้านคนได้ภายสิ้นปี 2564 นี้อย่างแน่นอน

ส่วนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 นั้น โฆษกรัฐบาล เผยว่า ในเดือน พ.ค.นี้ ไทยจะได้รับวัคซีน Sinovac เพิ่มเข้ามา ขณะที่ AstraZeneca จะทยอยส่งมอบได้ตั้งแต่เดือน มิ.ย. จำนวน 6 ล้านโดส และต่อเนื่องอีกเดือนละ 10 ล้านโดสจนถึงปลายปีนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรียังได้มอบแนวทางให้มีการจัดสำรองวัคซีนเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ 100 ล้านโดส โดยให้เป็นการทำงานเชิงรุกตรียมการสำรองวัคซีน เพื่อบริการฉีดประชาชนในปีต่อๆ ไป จนกว่าไวรัสโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่ควบคุมได้

ทั้งนี้ "หมอพร้อม v.2" ประกอบด้วย 12 ฟังก์ชันในการให้บริการวัคซีนโควิด 19 เริ่มจาก 1.การเพิ่มเพื่อนและการลงทะเบียนใช้งาน 2.เพิ่มบุคคลอื่น 3.ลงทะเบียนฉีดวัคซีน โควิด-19 4.จองคิวฉีดวัคซีน โควิด-19 5.เปลี่ยนการจองคิวฉีดวัคซีน โควิด-19 6.แจ้งเตือนฉีดวัคซีน โควิด-19 7.ยืนยันการฉีดวัคซีน โควิด-19 เข็มที่หนึ่ง .ประเมินอาการหลังฉีดวัพซีนเข็มที่หนึ่ง 9.แจ้งเตือนฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่สอง 10.ยืนยันการฉีดวัคซีน โควิด-19 เข็มที่สอง 11.ประเมินอาการหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง และ 12.การออกใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกจากนี้ยังมีเมนูอื่นที่ประชาชนสามารถเข้าไปติดตามข้อมูลข่าวสารทั้งการรายงานสถานการณ์ การค้นหาหน่วยตรวจโควิด 19 ผลการตรวจโควิด 19 เป็นต้น

สำหรับประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน สามารถลงทะเบียนเพื่อเตรียมรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านที่มีประวัติการรักษา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือแจ้งที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ได้

มีรายงานว่า ตัวเลขประชาชนที่ลงทะเบียนเพื่อจองฉีดวัคซีนตั้งแต่เช้าจนถึงเวลา 18.00 น. (1 พ.ค.) มีผู้ลงทะเบียนแล้วเกือบ 3 แสนคน

4. “แม่เพนกวิน” โกนหัวกดดันศาลให้ประกันตัวลูกชาย ด้านเรือนจำส่ง “เพนกวิน” รักษาที่ รพ.รามาฯ ยัน ยังไม่วิกฤต!


หลังจากแกนนำกลุ่มราษฎรบางส่วนยังไม่ได้รับการประกันตัว เมื่อวันที่ 29 เม.ย. นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นทนายความให้แกนนำกลุ่มราษฎร เผยว่า ได้เดินทางไปศาลอาญา เพื่อยื่นขอประกันตัวจำเลยทั้ง 7 คน ในคดีชุมนุมทางการเมืองที่ยังถูกคุมขัง ไม่ได้รับการประกันตัว ประกอบด้วย นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นายชูเกียรติ แสงวงค์ และนายปริญญา ชีวินกุลปฐม

ทั้งนี้ นายกฤษฎางค์ อ้างเหตุผลที่ต้องขอประกันตัวแกนนำดังกล่าวอีกครั้งว่า เพราะสถานการณ์ในเรือนจำไม่ดีมาก สอบถามเจ้าหน้าที่ในเรือนจำพบว่า มีผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 39 ราย ที่กำลังรักษาตัวอยู่ ส่วนนายพริษฐ์ หรือเพนกวิน นายกฤษฎางค์ อ้างว่า มีอาการป่วยชัดเจนและสาหัส ไม่สามารถพูดคุยหรือยืนได้ รวมทั้งนอนไม่หลับ ก่อนหน้าถ่ายเป็นชิ้นเนื้อ พยาบาลที่รักษาภายในเรือนจำให้คำแนะนำว่า อาการลักษณะนี้อันตราย ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม หลังศาลพิจารณาแล้วว่า ไม่อนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้ง 7 คน โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

วันเดียวกัน (29 เม.ย.) ด้านนายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และโฆษกกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงกรณีมีข่าวว่า นายพริษฐ์หรือเพนกวิน อาการทรุดหนักและถ่ายเป็นชิ้นเนื้อและเลือดว่า จากการตรวจร่างกายนายพริษฐ์ช่วงเช้าวันเดียวกัน ยังรู้สึกตัวดี คุยรู้เรื่อง มีอาการอ่อนเพลียเล็กน้อย ริมฝีปากแห้ง ไม่มีอาการเวียนศีรษะหรือวูบ สามารถลุกเดินและทำกิจวัตรประจำวันได้ “อาการนายพริษฐ์ไม่ได้ทรุดหนักตามกระแสข่าว และอยู่ในความดูแลของทีมแพทย์และพยาบาลที่เข้าตรวจร่างกายเป็นประจำทุกวัน พบเพียงอาการอ่อนเพลียจากการอดอาหาร โดยต้องเฝ้าระวังภาวะช็อกจากน้ำตาลต่ำ และอุบัติเหตุการหกล้มจากความอ่อนเพลีย หากนายพริษฐ์มีอาการอ่อนเพลียรุนแรงหรือมีภาวะไม่พึงประสงค์ ก็พร้อมส่งตัวเข้ารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ตลอด 24 ชั่วโมง”

นายธวัชชัย เผยด้วยว่า สถานการณ์ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม ผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงสูงทุกรายได้รับการตรวจหาเชื้อ ซึ่งผลเป็นลบและแยกกักตัวเพื่อสังเกตอาการ รอการตรวจหาเชื้อซ้ำเรียบร้อย โดยในกลุ่มแกนนำคณะราษฎร มีเพียงนายชูเกียรติ แสงวงค์ รายเดียวที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งอยู่ระหว่างรักษาตัวที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ส่วนแกนนำคนอื่นๆ ที่ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ คือ นายพริษฐ์ นายอานนท์ นายภาณุพงศ์ และนายไชยอมร ผลการตรวจหาเชื้อเป็นลบ ไม่พบการติดเชื้อแต่อย่างใด

ทั้งนี้ วันต่อมา (30 เม.ย.) นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของนายพริษฐ์ หรือเพนกวิน แกนนำกลุ่มราษฎร พร้อมทนายความ ได้เดินทางไปศาลอาญาเพื่อยื่นขอประกันตัวบุตรชายอีกครั้ง โดยให้เหตุผลที่ต้องขอประกันตัวว่า เกรงว่าลูกชายจะมีอันตรายถึงชีวิต และว่า หากไม่ได้รับความเป็นธรรม ตนจะแสดงออกถึงความไม่ยุติธรรม เช่นเดียวกับเพนกวินที่อดอาหารอยู่ภายในเรือนจำ โดยตนพร้อมจะสละสิ่งสำคัญสำหรับผู้หญิงคือความสวย ด้วยการโกนศีรษะ เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นเช่นกัน ซึ่งในเวลาต่อมา นางสุรีรัตน์ ได้ให้พรรคพวกที่มาชุมนุมประมาณ 30-40 คนช่วยกันโกนผมให้

ด้านนายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า การอ้างเหตุผลยื่นขอประกันตัวเพนกวินในครั้งนี้ จะเทียบเคียงตามเหตุผลของไผ่ ดาวดิน กับนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ได้รับการปล่อยตัวไปก่อนหน้านี้ คือ ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายใดๆ หลักประกันมีความน่าเชื่อถือ และการปล่อยตัวไม่กระทบกระเทือนกับการพิจารณาคดี จึงไม่มีเหตุผลที่จะไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว

เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่นายนรเศรษฐ์อ้างเหตุผลที่ศาลปล่อยตัวไผ่ ดาวดิน กับนายสมยศ ตามเหตุผลที่ระบุข้างต้นนั้น เป็นการให้ข้อเท็จจริงที่ไม่หมด เพราะเหตุผลสำคัญที่ทำให้ศาลอนุญาตให้ไผ่ ดาวดิน และนายสมยศ ประกันตัวได้ ก็คือ บุคคลทั้งสองรับปากว่า จะไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการพาดพิงหรือก้าวล่วงสถาบัน และไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นการก้าวล่วงสถาบันอีก ซึ่งกรณีนายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ยังไม่เคยรับปากแบบไผ่ ดาวดิน และนายสมยศ

ทั้งนี้ หลังนางสุรีรัตน์ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวบุตรชาย ปรากฏว่า วันเดียวัน มารดาของ น.ส.ปนัสยา หรือรุ้ง ได้ยื่นขอประกันลูกสาวเช่นกัน ด้านศาลได้นัดไต่สวนจำเลยทั้งสองในวันที่ 6 พ.ค.เวลา 10.00 น. พร้อมมีคำสั่งให้เบิกตัวจำเลยทั้งสองมาศาลในวันไต่สวน และให้แจ้งอัยการโจทก์ทราบด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า วันเดียวกัน (30 เม.ย.) นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ โฆษกกรมราชทัณฑ์ เผยว่า แม้ว่าจะยังไม่มีอาการบ่งชี้ว่า นายพริษฐ์อยู่ในภาวะวิกฤต แต่เนื่องจากนายพริษฐ์ได้อดอาหารเป็นเวลานาน จนร่างกายไม่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้ อีกทั้งนายพริษฐ์เริ่มดื่มน้ำเกลือแร่ได้น้อยลงและมีอาการปวดบริเวณที่ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ จึงต้องถอดสายน้ำเกลือไว้ก่อน แพทยกังวลว่า อาจเกิดภาวะช็อกได้ จึงเห็นควรส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ เพื่อรับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษที่โรงพยาบาลรามาธิบดี หากนายพริษฐ์อาการดีขึ้นแล้ว จะส่งตัวกลับเข้ารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ต่อไป

5. กรมการค้าภายในเตือนห้างอย่าโก่งราคาสินค้าช่วงโควิด ฝ่าฝืนเจอคุก 7 ปี ด้านโชห่วยวอนรัฐต่อ “คนละครึ่ง” เฟส 3 แบบได้สิทธิทุกคน!


เมื่อวันที่ 26 เม.ย. นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เผยว่า กรมได้ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าและปริมาณสินค้าอย่างใกล้ชิดร่วมกับผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งทั่วประเทศ ให้เตรียมพร้อมสต๊อกสินค้าเพิ่มขึ้นจากภาวะปกติ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ ของใช้จำเป็นในชีวิต ให้เพียงพอ เพิ่มความถี่ในการเติมสินค้าในชั้นวางอยู่เสมอ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

รวมทั้งเน้นย้ำไม่ให้ฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้า และต้องปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน โดยจัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบ ขณะที่การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ได้หารือผู้ประกอบการที่ให้บริการส่งสินค้าและสั่งซื้ออาหาร ไม่ปรับราคาค่าบริการและให้เข้มงวดด้านสุขอนามัยของพนักงานส่งสินค้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

นายวัฒนศักย์ กล่าวด้วยว่า “หากห้างค้าปลีก-ค้าส่งจำหน่ายสินค้าในราคาแพงเกินสมควร หรือมีการกักตุน หรือปฏิเสธการจำหน่าย จะมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีที่ไม่ปิดป้ายแสดงราคาจำหน่าย จะมีโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 10,000 บาท”

ด้านนายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ค้าปลีกไทย กล่าวถึงการระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ว่า ค้าปลีกขนาดเล็กหรือร้านโชห่วยทั่วไปเริ่มเงียบมาตั้งแต่หลังสงกรานต์ ซึ่งมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ เงินใช้จ่ายของประชาชนผ่านโครงการกระตุ้นภาครัฐเหลือไม่มากแล้ว จึงอยากเสนอให้ภาครัฐต่อโครงการคนละครึ่งแบบได้สิทธิทุกคน เพราะขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อสูง บางพื้นที่เจอมาตรการล็อกดาวน์หรือเคอร์ฟิว เลื่อนการเปิดปิดเวลาทำธุรกิจ ประชาชนกังวลต่อค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ

โดยจากการสอบถามสมาชิกค้าปลีกขนาดเล็กต่างกังวลว่า หลังไม่มีโครงการกระตุ้นภาครัฐ เชื่อว่ารายได้จะปกติหรือทรงตัว 1-2 เดือนจากนี้ จนกว่ารัฐจะออกมาตรการกระตุ้นอีกครั้ง คาดว่าตัวเลขความเสียดายจะมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 3-4 หมื่นล้านบาท จากเดิมอุตสาหกรรมค้าปลีกทั้งระบบสร้างเงินสะพัดเข้าระบบเศรษฐกิจไม่น่าจะน้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น