xs
xsm
sm
md
lg

“ถ้าเลือกได้ ก็อยากเลิกขายบริการ” เสียงจากเด็กชายขายบริการทางเพศในไทย ส่งต่อแนวทางแก้ไขสู่หน่วยงานรัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดงานวิจัยชิ้นใหม่ “รายงานวิจัย เพื่อศึกษาการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กชาย รายงานประเทศไทย” ของเอ็คแพท อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ชี้เสียงสะะท้อน “ถ้าเลือกได้ ก็อยากเลิกขายบริการ” หากมีทางเลือกอื่นแก้ปัญหาปากท้อง ส่งต่อแนวทางแก้ไขสู่หน่วยงานรัฐ


รายงานพิเศษ

“เราได้คุยกับเยาวชนชายไทย หรือจริงๆคือ เป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ 20 คน ที่อยู่ในวงการขายบริการทางเพศ และพบว่ามี 18 คนในกลุ่มนี้ ต้องการที่จะเลิกทำอาชีพนี้ หากมีทางเลือกอื่นที่ช่วยแก้ปัญหาปากท้องของพวกเขาได้”

นี่เป็นส่วนสำคัญของงานวิจัยชิ้นใหม่ที่มีชื่อว่า “รายงานวิจัย เพื่อศึกษาการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กชาย รายงานประเทศไทย” ถูกนำเสนอโดย เอ็คแพท อินเตอร์เนชั่นแนล (ECPAT International) โดยร่วมมือกับองค์กรที่มีส่วนร่วมสนับสนุนงานวิจัย คือ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)

โดยเปิดเผยผลวิจัยชิ้นนี้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2564 ในรูปแบบออนไลน์ พร้อมเชิญหน่วยงานของรัฐในประเทศไทยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้เข้ารับฟังเพื่อนำผลจากการวิจัยไปต่อยอด

มาร์ค คาเวนาห์
มาร์ค คาเวนาห์ (Mark Kavenagh) หัวหน้าฝ่ายวิจัยของเอ็คแพท นำเสนอบทสรุปของงานวิจัยที่ใช้เวลาศึกษากว่า 1 ปีครึ่ง ท่ามกลางความยากลำบาก เพราะมีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เข้ามาทำให้การลงพื้นที่เป็นไปได้ยาก

ในงานวิจัยชิ้นนี้ ได้สัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มผู้ให้บริการทางเพศที่เป็นเยาวชนชายในประเทศไทย ซึ่งขายบริการทางเพศอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และเชียงใหม่ รวม 20 คน อายุระหว่าง 15-24 ปี ซึ่งเรียกว่า “กลุ่มความหลากหลายทางเพศ SOGIE” (SOGIE ย่อมาจาก ‘Sexual Orientation, Gender Identity and Expression’ (เพศวิถี, อัตลักษณ์ทางเพศ และการแสดงออก)

ได้ผลออกมาว่า เยาวชนที่ให้สัมภาษณ์เกินกว่าครึ่ง เริ่มให้บริการแลกเปลี่ยนทางเพศกับสิ่งมีค่าครั้งแรกตั้งแต่ยังเป็นเด็ก โดยมีอายุน้อยที่สุดคือ 12 ปีเท่านั้น

โดยการแลกเปลี่ยนทางเพศนั้น บางครั้งเพียงเพื่อต้องการที่พักพิง ต้องการความปลอดภัย หรือเงินเพียงเล็กน้อย เพราะเหตุผลที่สำคัญที่พวกเขาเข้ามาสู่วงการนี้ คือ ปัญหาความยากจน ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และการถูกเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของความแตกต่างของรสนิยมทางเพศ


“ผมรู้สึกค่อนข้างกลัว ผมนั่งอยู่ตรงนั้นในขณะที่ลูกค้าขับรถผ่านมา แล้วเขาก็จอดรถและเดินเข้ามาหาผม เขาถามผมว่า ผมอยากไปกับเขามั้ย? แล้วเขาก็พูดอีกว่า พี่ขอเวลาแป๊บเดียวนะ แล้วพี่จะให้เงินน้องด้วย” เยาวชนที่เริ่มให้บริการทางเพศตั้งแต่อายุ 12 ปี เล่าเหตุการณ์การแลกเปลี่ยนทางเพศครั้งแรกของเขา ให้ทีมวิจัยฟัง

หัวหน้าฝ่ายวิจัยของเอ็คแพท ยังเปิดเผยผลการวิจัยจากการลงพื้นที่สัมภาษณ์กลุ่ม “ผู้ให้บริการส่วนหน้า” หรือ “เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ที่เข้าไปปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดกับเด็ก” จำนวน 65 คน จากพื้นที่หน้างาน คือ กรุงเทพฯ พัทยา และเชียงใหม่ ซึ่งพบว่า เจ้าหน้าที่ส่วนหน้ากลุ่มนี้ มีปัญหาในสร้างความไว้ใจเพื่อทำงานกับเด็กที่ให้บริการทางเพศซึ่งเป็นเด็กผู้ชาย

พบปัญหาต่อการเข้าถึงชุมชนของเด็ก พบปัญหาไม่สามารถให้คำปรึกษากับเด็กผู้ชายกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศได้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้จึงต้องการการอบรมเพิ่มเพื่อให้ทำงานนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

และที่สำคัญ คือ การพบว่า เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในส่วนหน้า อาจเผลอไปมีอคติกับเด็กกลุ่มนี้โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะทัศนคติที่คิดว่า “เด็กผู้ชายที่ให้บริการแลกเปลี่ยนทางเพศ ไม่ใช่เหยื่อที่ถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ” ซึ่งเป็นความคิดที่ที่ทำให้เด็กจะไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากกฎหมาย


“เด็กกลุ่มนี้ไม่ถูกมองว่า เป็นผู้ถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ เพราะอคติที่มองกลุ่มเด็กผู้ชายที่มีความหลากหลายทางเพศ ถูกใช้ไปตัดสินว่า เด็กมีความต้องการทางเพศเอง ทั้งที่จริงแล้ว เด็ก ต้องเป็นผู้เสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม ไม่ว่าจะถูกใช้บริการทางเพศด้วยเหตุผลใดก็ตาม และจากการสัมภาษณ์ ก็พบว่า มีเด็ก 18 คน จาก 20 คน ยืนยันว่าจะเลิกทำอาชีพนี้ ถ้าพวกเขามีทางเลือกอื่นในการหารายได้เพื่อดำรงชีพ” มาร์ค คาเวนาห์ กล่าว

ดังนั้นสิ่งที่เยาวชนกลุ่มนี้ต้องการ ก็คือ โอกาสที่จะเข้าถึงบริการสังคมอย่างเท่าเทียมทั้งเพศชาย หญิง และกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ซึ่งการทำให้พื้นที่อื่นๆ นอกจากเมืองใหญ่มีบริการทางสังคมที่เพียงพอ มีงานทำ มีการอบรมสร้างอาชีพมากขึ้น ก็จะช่วยไม่ให้เยาวชนกลุ่มนี้ต้องเข้ามาทำงานให้บริการทางเพศได้

ส่วนที่สามของรายงานชิ้นนี้ คือ ข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงกฎหมาย ซึ่งมาร์คระบุว่า กฎหมายไทยมีข้อดีที่ไม่แบ่งแยกเพศของเยาวชนที่ถูกกระทำ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชายก็มีผลทางกฎหมายแบบเดียวกัน ได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกัน

แต่มีข้อเสนอที่เห็นว่า กฎหมายยังเป็นปัญหา คือ เด็กที่เป็นผู้ถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ ยังสามารถถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหา “มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี” ได้ด้วย

ทั้งที่ควรจัดอยู่ในกลุ่มผู้เสียหาย และในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่เป็นข้อห้ามในการล่อลวงเด็กทางออนไลน์ หรือการไลฟ์สตรีมมิง (Live Streaming) รวมทั้งยังเสนอให้ยกเลิกการจำกัดอายุความสำหรับความผิดฐานแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก เพราะปัจจุบัน มีอายุความเพียง 15 ปี แต่มีหลายกรณีที่การเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ล่าช้ากว่าความเป็นจริงไปมาก

ดร.พิเศษ สอาดเย็น
ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ซึ่งเป็นองค์กรร่วมในการผลิตรายงานชิ้นนี้ ระบุว่า รายงานชิ้นนี้มีความน่าสนใจมาก เพราะมีมุมมองจากผู้ปฏิบัติงานจริงที่ทำงานในส่วนหน้า และเป็นการนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับผู้ถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศที่เป็น “เด็กผู้ชาย” ซึ่งมีความเปราะบางต่างจากเพศหญิงที่มักจะถูกพูดถึงมากกว่า

รายงานวิจัยชิ้นนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ประเทศไทยเข้าใจปัญหานี้ เพื่อออกแบบกระบวนการแก้ไขที่สามารถตอบโจทย์ของปัญหาที่แท้จริงได้มากขึ้น

ผู้อำนวยการ TIJ ยังย้ำว่า ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา หรือ UN Crime Congress 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีหลายข้อสรุปที่ให้ความสำคัญกับการทำให้กระบวนการยุติธรรมต้องรับมือกับภัยคุกคามใหม่ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ภัยคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นกับเด็กผ่านเทคโนโลยี

โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากในโลกยุคโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้ปัจจัยเสี่ยงต่อเด็กมีมากขึ้น เพราะเด็กอาจปรับตัวได้ไม่ดีพอกับโลกที่ต้องใช้เทคโนโลยีในยุคโควิด ทั้งยังมีปัญหาความยากจน ปัญหาเศรษฐกิจ และความรุนแรงในครอบครัว


จึงเชื่อว่า รายงานวิจัยชิ้นนี้ จะมีประโยชน์อย่างมาก เพราะเลือกหยิบยกกรณีศึกษาที่เป็นเด็กผู้ชายและเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศมานำเสนอ ซึ่งถือเป็นปัญหาที่พบมากในการล่วงละเมิดทางเพศผ่านสื่อออนไลน์ด้วย

มาเอีย เมาน์เชอร์
มาเอีย เมาน์เชอร์ (Maia Mounsher) จากมูลนิธิเออเบิร์น ไลท์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งองค์กรพันธมิตรที่ร่วมผลิตรายงานวิจัยชิ้นนี้ ได้ยกตัวอย่างกรณีของเด็กผู้ชายคนหนึ่ง ที่มีรูปร่างเล็กกว่าเด็กทั่วไป เป็นกลุ่มความหลากหลายทางเพศ และมีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว จนต้องออกไปอยู่บ้านพักเด็กกำพร้า ออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่อายุเพียง 12 ปี ถูกเพื่อนชักจูงไปดื่มเหล้าและใช้ยาเสพติด

เมื่อถูกจับได้ ก็โดนตำหนิอย่างรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ดูแลบ้านพัก ทำให้เด็กคนนี้ตัดสินใจหนีออกไปใช้ชีวิตคนเดียวในเมือง กลายเป็นเด็กเร่ร่อน จนต้องดำรงชีพและหาเงินมาซื้อยาเสพติดด้วยการแลกเปลี่ยนบริการทางเพศ

ซึ่งจะเห็นว่า แท้จริงแล้ว ผู้ใหญ่มีโอกาสที่จะป้องกันเด็กคนนี้ไว้ได้หลายครั้ง ทั้งผู้ปกครอง ครู หรือเจ้าหน้าที่ที่บ้านพัก แต่พวกเขาไม่มีเครื่องมือที่เหมาะสม และไม่เข้าใจความต้องการของเด็ก 


จึงเห็นว่า รายงานวิจัยชิ้นนี้ จะเป็นประโยชน์ตั้งแต่การถูกนำไปใช้เพื่อปกป้องเด็กผู้ชายและเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ ก่อนจะตกเป็นผู้ถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ เพราะมีแนวทางที่ชัดเจนที่จะช่วยยุติปัญหานี้ได้

สันทนี ดิษยบุตร
นางสันทนี ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักงาน เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ และอัยการคดีเยาวชนและครอบครัว ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า จากมายาคติทางเพศ ทำให้ที่ผ่านมา เด็กผู้ชาย มักถูกมองด้วยความห่วงใยน้อยกว่าเด็กผู้หญิงในปัญหาทางเพศมาโดยตลอด กลายเป็นปัญหาความเสมอภาคทางเพศอีกอย่างหนึ่งเช่นกัน

แม้ว่าคดีทางเพศที่เด็กผู้ชายตกเป็นเหยื่อในประเทศไทย จะมีจำนวนน้อยกว่าคดีของเด็กผู้หญิงมาก แต่ถ้ามองในแง่ความรุนแรง จะพบข้อมูลจากตำรวจสากลว่า กรณีของเด็กผู้ชายมีความรุนแรงมากกว่า

ดังนั้นจึงเห็นด้วยที่ในรายงานวิจัยชิ้นนี้ เสนอให้กฎหมายต้องถูกปรับปรุง เพราะมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ขององค์การสหประชาชาติ ทั้งการที่กฎหมายต้องให้ความคุ้มครองทุกเพศสภาพอย่างเท่าเทียมกัน กฎหมายต้องเน้นการปกป้องผู้เสียหายมากกว่าการลงโทษทางอาญา ต้องปรับทัศนคติของผู้ปฏิบัติการส่วนหน้าและผู้บังคับใช้กฎหมาย ให้ปฏิบัติโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก


ต้องมองเห็นว่า เด็กผู้ชาย หรือเด็กกลุ่มหลากหลายทางเพศ เป็นผู้เสียหายจากการถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ แม้ว่าจะกระทำโดยสมัครใจก็ตาม และต้องพยายามสร้างกระบวนการให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ รวมถึงใช้เทคโนโลยีมาเป็นช่องทางในการสื่อสารกับเด็กเหล่านี้ให้มากขึ้น เพราะภาพรวมของปัญหา คือ ความยากจน ความรุนแรงในครอบครัว ถูกบูลลี่จากความหลากหลายทางเพศ

ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงส์มณี
ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงส์มณี รองผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเป็นผู้ทำคดีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กมากว่า 15 ปี ได้กล่าวชื่นชมรายงานวิจัยชิ้นนี้ เพราะถ้านับเฉพาะคดีของดีเอสไอจะพบว่า ตัวเลขเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง และยังพบว่ามีสิ่งที่ตามมาคู่กันเสมอ คือ จะมีการขายภาพลามกอนาจารของเด็กผู้ชายผ่านโลกออนไลน์ไปด้วย

และข้อเท็จจริงที่ดีเอสไอพบตรงกับรายงานชิ้นนี้อีกประการหนึ่ง คือ เด็กผู้ชายมักจะมีแนวโน้มที่จะเล่าเรื่องหรือบอกต่อสิ่งที่เขาถูกกระทำต่อคนใกล้ชิดได้ยากกว่าเด็กผู้หญิง เพราะอับอาย กลัวถูกบูลลี่ ทำให้มีข้อเท็จจริงที่เหยื่อในคดีของดีเอสไอทุกคน ถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยที่ผู้ปกครองไม่รู้มาก่อนเลย และเด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการเจ็บป่วยทางจิตใจ มีโอกาสใช้ยาเสพติดสูง

ดังนั้นหากนำรายงานวิจัยชิ้นนี้มาขยายผล จะพบว่า ปัญหาเร่งด่วน คือ รัฐยังไม่มีหน่วยงานกลางที่จะบริหารจัดการคดีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กผู้ชายโดยเฉพาะ ทำให้ไม่มีระบบฐานข้อมูลของผู้เสียหาย เกิดการทำงานที่ซ้ำซ้อนกับผู้เสียหายรายเดิม และในอีกมุมหนึ่งก็ยังขาดทีมที่จะสามารถรับแจ้งเหตุการณ์เพื่อเข้าไปปกป้องเด็กได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งการที่ต้องมีกระบวนการเยียวยาให้เด็กก่อนกลับเข้าสู่สังคมด้วย

รายงานนี้จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย สำหรับการรวบรวมข้อมูล ได้ดำเนินการร่วมกับสมาคมฟ้าสีรุ้ง (Rainbow Sky Association of Thailand), Urban Light Foundation Thailand, SISTERS Foundation, CAREMAT และ V-power


อ่านและดาวน์โหลดรายงานวิจัยการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กชาย คลิกที่นี่

กำลังโหลดความคิดเห็น