xs
xsm
sm
md
lg

“หมอแอร์” รีวิวฉีดวัคซีน “ซิโนแวค” แนะนอนให้พอ กินปกติ ดื่มน้ำเยอะๆ เลี่ยงกาแฟ-เหล้า คนเป็นไมเกรนให้ระวัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คุณหมอไตรกีฬา รีวิวประสบการณ์ฉีดวัคซีนซิโนแวค เผย ถ้าเป็นประชาชนทั่วไป ไม่มีเจาะเลือด ปั่นจมูก แนะนอนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเบาๆ โซน 2-3 กินอาหารปกติ ดื่มน้ำเยอะๆ เลี่ยงกาแฟ เลี่ยงเหล้า ใครเป็นไมเกรนระวังเป็นพิเศษ ชี้ ผลข้างเคียงมีได้ รอดูอาการ 30 นาที ก่อนกลับ แต่แบบรุนแรงน้อยมาก อย่ากลัวเกินไปจนไม่กล้าฉีด เพราะโควิดน่ากลัวกว่าเยอะ

วันนี้ (29 เม.ย.) ในโซเชียลมีเดีย มีการแชร์ข้อความจากเฟซบุ๊กส่วนตัว Akanis Srisukwattana ของ นพ.อกนิษฐ์ ศรีสุขวัฒนา หรือ หมอแอร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ นักกีฬาไตรกีฬา และเจ้าของธุรกิจร้านขายอุปกรณ์ไตรกีฬาที่ชื่อ Avarin ได้โพสต์ข้อความหัวข้อ “รีวิวการฉีดวัคซีน​ ฉบับประชาชน ข้อควรปฏิบัติ​ก่อนฉีด Sinovac” ซึ่งเป็นการให้คำแนะนำการฉีดวัคซีนซิโนแวคจากประเทศจีน สำหรับผู้ที่มีอายุ 18-59 ปี ระบุว่า

“เนื่องจากผมเป็นแพทย์ด่านหลัง ไม่ใช่ด่านหน้าที่ต้องเจอผู้ป่วย จึงเฝ้ารอคิวฉีดตามการจัดลำดับก่อนหลังของโรงพยาบาลที่ทำงาน และรัฐบาล ผมทำพาร์ตไทม์ 3 ที่ ที่โรงพยาบาลยันฮี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลสมิติเวช แต่ละที่ต้องจัดความสำคัญ ให้บุคลากรการแพทย์ด่านหน้าเหมือนกัน หมอที่ตรวจโควิดโดยตรง หมอโรคติดเชื้อ หมอห้องไอซียูทางเดินหายใจ พยาบาลที่อยู่ด่านหน้าเหล่านี้ เป็นด่านหน้าที่ต้องรับวัคซีน​ก่อน เพราะจะได้มีภูมิโดยเร็วที่สุด เพราะกลุ่มนี้เป็นกำลังหลักในการดูแลผู้ป่วย และต้องใกล้ชิดผู้ป่วยมาก มีโอกาสติดเชื้อง่ายมาก

ผมเฝ้ารอจนสัก 3 วันก่อน ได้ SMS จากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์​ ให้รับการฉีดวัคซีน​ เวลา 11.00-12.00 น. พร้อมแจ้งสถานที่ ต้องบอกว่าโรงพยาบาลจุฬาภรณ์​ เจ้าหน้าที่ แพทย์​ จะมีการตรวจคัดกรองโควิดเป็นระยะ แม้จะไม่มีอาการ ทางโรงพยาบาลคอยโทร. มาให้ผมไป SWAB (ตรวจโควิด-19 ผ่านการสอดไม้ที่โพรงจมูก) บ่อยๆ แต่ผมไม่ชอบการทำมาก หมอก็เหมือนคนทั่วไป ไม่ชอบให้ใครมาแยงจมูก ปั่นๆ ให้น้ำตาไหล ผมปฏิเสธการตรวจทุกครั้ง และงดการตรวจนักกีฬาไป บอกเจ้าหน้าที่รอให้การระบาดลดลง แล้วผมค่อยออกตรวจได้ เพราะไม่ได้เป็นเคสฉุกเฉิน และสามารถตรวจกับท่านอื่นได้ ยื้อเพื่อไม่อยากถูกปั่นจมูกโดยไม่จำเป็น

จนเมื่อ 3-4 วัน ก่อนได้รับ SMS ให้รับการฉีดวัคซีนวันนี้ หน้าที่ของเราเมื่อรู้ว่าต้องฉีดวัคซีน ไม่ใช่ถึงวันไปก็ไป แต่ต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมที่จะฉีดเสมอ

1. ท่านที่ฉีดวัคซีน​ไข้วัดใหญ่ ต้องทิ้งระยะอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์​ จึงฉีดวัคซีนโควิดได้
2. ทำร่างกายให้แข็งแรงที่สุด ออกกำลังสม่ำเสมอ โซนเบาๆ 2-3 วันละ 20-30 นาที ไม่เอาโหด ไม่อัด ไม่วิ่งยาว เดี๋ยวภูมิตก

3. เข้านอนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 7 ชั่วโมง
4. วันไปฉีด หาชุดเครื่องแต่งตัวที่ใส่สบาย เปิดแขนเสื้อได้ง่าย ถอดได้ง่าย เผื่อเกิดอาการไม่พึงประสงค์​จะได้ทำอะไรได้เร็วขึ้น
5. ใครรู้ว่าเป็นลมง่ายเวลาฉีดยา เจาะเลือด บอกเจ้าหน้าที่ไว้ก่อน ไม่ต้องอาย มันเป็นคล้ายๆ ภาวะระบบประสาทอัตโนมัติ​อย่างหนึ่ง อาจไม่หาย พยาบาลจะได้ระวังไว้ เดี๋ยวเป็นลมล้ม ช่วยไม่ทัน หัวแตก ผมก็เป็นเวลาเจาะเลือด จะมีอาการจะเป็นลม คลื่นไส้ แต่ฉีดยาสบายมาก

6. ไปก่อนเวลานัด พาบัดดี้ (เพื่อนที่สนิทกัน) ไปด้วย คนในครอบครัว เผื่อมีผลข้างเคียงเล็กน้อย จะได้มีคนพากลับบ้าน

เราทราบมาแล้วว่า วัคซีนซิโนแวคบางลอต มีผลข้างเคียงทำให้เกิด RCVS (Reversible Cerebral Vasoconstriction Syndrome หรือภาวะเส้นเลือดหดตัวผิดปกติ) คือ การที่เส้นเลือดหดเกร็งหลังฉีด โดยเฉพาะหลอดเลือดในสมอง ทำให้อาจเกิด การปวดหัวรุนแรง ชา หรือแขนขาอ่อนแรงชั่วคราวได้ ตามที่พบในข่าว

สิ่งที่เราจะช่วยลดการเกิดคือทำตัวเองให้พร้อมที่สุด เพื่ออย่างน้อยก็ลดการเกิด RCVS ซึ่งพบน้อยมาก แต่เรายังไม่เข้าใจสาเหตุที่แท้จริงอยู่ดีว่าจากอะไร เป็นแค่บางลอตไหม เพราะมักเจอที่เดียวกัน ลอตเดียวกัน ลอตที่ไม่เป็นก็ไม่เกิด ดังนั้น สิ่งที่ต้องเตรียมตัวกัน RCVS คือ

1. กินอาหารมาปกติ​ ไม่ต้องงดอาหาร อย่าให้ร่างกายเครียดจากการอดอาหาร อดน้ำ

2. ดื่มน้ำมาให้พอ อย่างน้อย 1 ลิตร

3. หลีกเลี่ยงกาแฟ​ เหล้า ก่อนฉีด

4. ระวังเป็นพิเศษในกลุ่มไมเกรน

กลุ่มที่กินยา vasoactive drugs (ยาที่มีผลต่อหลอดเลือด) เช่น cafergot (คาเฟอกอท) triptran (ทริปแทน) pseudoephedrine (ซูโดเอฟีดรีน), SSRI (ยาต้านเศร้าเอสเอสอาร์ไอ), ยาคลายเครียดบางตัว ปรึกษาแพทย์​ควรหยุดก่อน

5. ผู้หญิงในช่วงรอบประจำเดือน นอนมาให้พอ

สิ่งเหล่านี้ น่าจะช่วยลดการเกิดได้ ตามข้อมูลปัจจุบัน

การฉีดของแต่ละที่ต่างกันไปนะครับ ของจุฬาภรณ์​ก็แบบหนึ่ง ของรัฐบาลก็แบบหนึ่ง ปกติฉีดได้เลย ไม่ต้องเจาะเลือด และปั่นจมูก

มาถึงที่ เห็นมีคนนอนเตียง รีบเอาใส่รถโรงพยาบาลไป นึกในใจ ตายละ RCVS รึเปล่าลอตนี้ ถามเจ้าหน้าที่บอกคนนี้เป็นลม ตอนเจาะเลือด อ้อ แล้วไป

ของจุฬาภรณ์​คนที่ฉีด ต้องเข้าร่วมงานวิจัย เจาะเลือดดูภูมิ ปั่นจมูก ดูเชื้อ เซ็นใบยินยอม แล้วทำการฉีดวัคซีน ผมมาแบบเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลคนนึง ไม่มีคนรู้ว่าเป็นแพทย์

พอผมทราบว่าเจาะเลือด ผมถามเจ้าหน้าที่ ไม่เจาะได้ไหม เพราะผมเจาะเลือดแล้วมักมีอาการเป็นลมได้ เวียนหัว คลื่นไส้ ลมออกหู แต่ถ้าเห็นเลือดคนอื่น สวนหัวใจ ทำหัตถการ ผมปกติดีมาก มันเป็นอาการเฉพาะแบบของแต่ละคนที่​ไม่ต้องอายนะครับ บอกเจ้าหน้าที่ได้เลย

สรุปเจ้าหน้าที่บอกไม่ได้ ต้องเจาะ เอาก็เอาวะ มาถึงนี่แล้ว เจาะก็เจาะ เพราะหลังๆ เจาะเลือดก็ไม่มีอาการละ ทุกอย่างทำเป็นระบบ ใช้ระบบคอมวางไว้ ให้เราเข้าไปสเตชัน 1-8 ตั้งแต่ลงทะเบียนจนฉีดยา ใช้เวลา 1 ชั่วโมงพอดี จริงๆ 30 นาที แต่รอดูผลข้างเคียง 30 นาที

ทำตามขั้นตอนไปจนถึงจุดจะเลือด ก็ทำลืมๆ ไม่มองไป ยื่นแขน เจาะออกมาได้สบาย ไม่เจ็บ เจ็บก็ไม่กลัว นึกว่ารอดละ จบสวยๆ ปรากฏ​น้องบอก “ใช้เลือดเยอะหน่อยนะคะ 3 หลอดเต็มๆ ค่ะ” โอ้โห! จะบอกทำไม! หลอด 3 รู้เลย อาการเริ่มมา เริ่มวิงเวียน คลื่นไส้ ลมออกหู แต่รู้เลยว่าไม่ถึงเป็นลม หน้าไม่ซีด เจาะเสร็จ เจ้าหน้าที่บอกไปปั่นจมูกต่อได้ นึกในใจ ถ้าไปปั่นเลย เป็นลมแน่ๆ เลยทำฟอร์ม นั่งพัก ดูมือถือ อ่านไลน์จนหาย แล้วให้แฟนเอาน้ำมาให้ ดื่มน้ำช่วยได้เสมอนะครับ สักพักหาย แล้วก็ไปปั่นจมูกต่อ ถ้าใครเคยโดนคงรู้นะครับ เหมือนแยงเข้าทะลุสมอง น้ำตาคุณจะไหลออกมาเอง แถมเขาหมุนด้วยนะครับ แต่เคยมาละ เลยทนได้

ที่เหลือ ก็ฉีดยา ไม่เจ็บเข็มเล็กมาก ไม่ก็พยาบาลมือเบา ฉีดซิโนเวคตามกลุ่มอายุไป หลังฉีดให้นั่งรอ side effect RCVS (อาการข้างเคียง) และอื่นๆ 30 นาที ไม่มีกลับบ้านได้ ของผม 30 นาทีอันตราย สบายดี โล่ง กลับบ้านได้ ส่วนปวด ไข้ อาจมีตามมาแล้วแต่คน ประมาณ 10% ของจุฬาภรณ์​มี แต่ไม่มี RCVS เลย แล้วก็บอกวันนัดฉีดเข็ม 2 ต่อ

ของประชาชนทั่วไปไม่ต้องกลัวนะครับ ไม่มีเจาะเลือด ปั่นจมูก คิว เวลามากน้อยต่างกัน อยากให้ทุกคนฉีดวัคซีน​นะครับ ตอนนี้ วัคซีนเมืองไทย scarcity (ขาดแคลน) มาก คือจำนวนไม่พอ ถ้าได้รับโอกาส น่าจะฉีดครับ side effect (ผลข้างเคียง) เกิดได้ แต่แบบรุนแรงพบน้อยมาก ฉีด 1 เข็มซิโนแวค คุณก็จะไม่เป็นโรคแบบรุนแรงที่ทำให้เสียชีวิตแล้ว ฉีด 2 เข็ม อาจมีภูมิคุ้มกัน​ได้เลย พูดง่ายๆ คือ ดีทั้งตัวเราและสังคมรอบข้างครับ อย่าไปกลัวเกินไปจนไม่กล้าฉีด เพราะโควิดมันน่ากลัวกว่าเยอะครับ

หมอแอร์

ขอบคุณ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ​ที่ทำให้ผมทำงานตรวจ​นักกีฬา​ได้เต็มที่ครับ"


สำหรับเอกสารการประเมินภาวะสุขภาพผู้ขอรับบริการวัคซีนโควิด 19 สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ ประกอบด้วย

1. คุณอายุต่ำกว่า 18 ปีใช่หรือไม่

ถ้าใช่ : ห้ามฉีดวัคซีน

2. คุณเคยมีประวัติแพ้วัคซีน หรือแพ้ยา หรือส่วนประกอบของวัคซีนอย่างรุนแรง

ถ้าใช่ : ห้ามฉีดวัคซีน

3. คุณเคยได้รับการถ่ายเลือด พลาสมา ผลิตภัณฑ์จากเลือด ส่วนประกอบของเลือด อิมมูโนโกลบูลิน ยาต้านไวรัส หรือแอนติบอดีสำหรับการรักษาโควิด-19 ภายใน 90 วันที่ผ่านมา

ถ้าใช่ : ห้ามฉีดวัคซีน

4. คุณได้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา

ถ้าใช่ : ห้ามฉีดวัคซีน และแนะนำให้มารับวัคซีนโควิด 19 หลังจากการติดเชื้ออย่างน้อย 3 เดือน

5. คุณมีโรคประจำตัวที่อาการยังไม่คงที่ ไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก หอบ เหนื่อย ใจสั่น เป็นต้น

ถ้าใช่ : ให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

6. คุณมีอาการเกี่ยวกับสมอง หรือระบบประสาทอื่นๆ

ถ้าใช่ : ให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

7. คุณอยู่ระหว่างตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์หรือไม่?

ถ้าใช่ : ให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

8. ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน

ถ้าใช่ : โปรดปรึกษาแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยเป็นประจำ เพื่อพิจารณาก่อนฉีดวัคซีน

9. คุณมีภาวะเลือดออกง่ายหรือหยุดยาก เกล็ดเลือดต่ำ การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ หรือได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด

ถ้าใช่ : โปรดปรึกษาแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยเป็นประจำ เพื่อพิจารณาก่อนฉีดวัคซีน

10. คุณมีอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน หรือ นอนรักษาตัวและออกจากโรงพยาบาลไม่เกิน 14 วัน

ถ้าใช่ : ให้เลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน และโปรดปรึกษาแพทย์

11. คุณกำลังมีอาการป่วย เช่น มีไข้ หนาวสั่น หายใจลำบาก อ่อนเพลียกล้ามเนื้อ เป็นต้น

ถ้าใช่ : หากมีไข้หรือเจ็บป่วยควรเลื่อนการรับวัคซีนไปก่อน กรณีเป็นหวัดเล็กน้อยไม่มีไข้สามารถรับวัคซีนได้ หรือ โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาก่อนฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ เนื่้องจากเป็นวัคซีนชนิดใหม่ ยังมีข้อมูลและผลการศึกษาที่จำกัด ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ จึงขอให้เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลและคำแนะนำการใช้วัคซีนอย่างใกล้ชิด

หากมีอาการดังต่อไปนี้หลังได้รับวัคซีน ให้รีบพบแพทย์ ณ สถานพยาบาลใกล้บ้าน

- ไข้ หรือ ปวดศีรษะ
- ปวดบวมแดงร้อนบริเวณที่ฉีดวัคซีน
- อ่อนเพลีย / ไม่มีแรง
- ปวดเมื่อย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อาการอื่นๆ เช่น ท้องเสีย
กำลังโหลดความคิดเห็น