สถานเสาวภา สถานที่ผลิตวัคซีนและเซรุ่มป้องกันพิษสุนัขบ้า พิษงู และไข้ทรพิษ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของสภากาชาดไทย ได้ช่วยชีวิตคนไทยจากพิษร้ายเหล่านี้ไว้ได้มาก มีกำเนิดเนื่องมาจากหม่อมเจ้าหญิงธิดาองค์หนึ่งของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีผู้วางรากฐานกระทรวงมหาดไทย ต้องสละพระชนม์ชีพด้วยพิษร้ายจากสุนัขบ้า ขณะที่เมืองไทยยังไม่มีความรู้ในเรื่องนี้
ทั้งนี้ในปี ๒๔๕๕ ขณะที่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พร้อมกับครอบครัว ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไปประทับที่พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม วันหนึ่งมีหมาบ้าตัวหนึ่งวิ่งเข้ามาในบ้านพักขณะที่เด็กๆกำลังวิ่งเล่นกัน เด็กๆจึงพากันวิ่งหนี แต่หม่อมเจ้าหญิงบันลุศิริสาร หรือ “ท่านหญิงเภา” พระธิดาวัย ๑๓ ชันษาล้มลง ถูกหมาบ้ากัดมีรอยแผล ๒ เขี้ยวที่ขา ท่านหญิงไม่รู้สึกเจ็บเท่าใดนัก แต่ผู้ใหญ่ตกใจไปตามกัน จึงต้องวิ่งหาหมอที่ชำนาญในการรักษาพิษสุนัขบ้า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯรับสั่งให้ส่งไปรักษาที่สถานปาสเตอร์ เมืองไซ่ง่อน แต่พอติดต่อกับเรือก็ทราบว่าเรือเพิ่งออกไปเมื่อวาน ต้องรออีก ๑๕ วันจึงมีเที่ยวใหม่ เลยต้องให้หมอคนหนึ่งมารักษาตามวิธีของไทย กินยา ทายา ไม่กี่วันแผลก็หาย ท่านหญิงก็แจ่มใสเหมือนแต่ก่อน จนเชื่อกันว่ารักษาหายแล้ว
เมื่อกลับมากรุงเทพฯก็ปรกติดีมาสัก ๓ เดือน จนลืมเรื่องที่ถูกหมาบ้ากัดกันไปแล้ว อยู่มาวันหนึ่งท่านหญิงเภาเกิดตัวร้อนขึ้นมา ก็คิดกันว่าเป็นไข้ธรรมดา แต่มีอาการแปลกอย่างหนึ่งคือ เมื่อส่งถ้วยยาหรือถ้วยน้ำดื่ม ให้ถือ มือท่านหญิงที่จับถ้วยจะสั่นทั้งสองข้าง เมื่อวางแก้วจึงหาย แต่ก็ยังไม่เฉลียวใจนึกว่าเป็นไข้ธรรมดา แต่มือก็สั่นหนักขึ้นทุกทีจนตัวสั่น จึงได้ไปรับหมอปัว ซึ่งภายหลังได้เป็น พระยาอัศวินอำนวยเวช มาดู
พอหมอปัวมาเห็นเข้าก็หน้าเสีย แอบกระซิบกับกรมพระยาดำรงฯว่า เป็นโรคกลัวน้ำด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ไม่มีทางจะรักษาให้หายเสียแล้ว กรมดำรงฯก็ไม่อยากจะเชื่อ เพราะคนไข้แม้จะทรุดจนต้องนอนก็ยังพูดจาได้ แต่อาการมือสั่นก็ตรงตามตำราฝรั่งที่ว่าเป็นโรคกลัวน้ำ จึงต้องยอมเชื่อ บอกผู้ใกล้ชิดให้รู้กันว่าเป็นโรคกลัวน้ำจากพิษสุนัขบ้ากัด แต่ไม่ให้ใครรู้ว่าจะไม่รอด เพราะไม่อยากจะให้โศกศัลย์จนคนไข้ใจเสียไปด้วย
อาการของท่านหญิงเภาทรุดลงอย่างรวดเร็ว พอดึกของคืนนั้นก็สิ้นชีพิตักษัย หลังมีอาการครั้งสุดท้ายนี้ไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมง แต่ไม่มีอาการอย่างที่เล่ากันว่า คนที่ตายด้วยพิษสุนัขบ้า มักร้องเป็นเสียงเห่าหอน หรือน้ำลายฟูมปากอย่างสุนัข
ด้วยความโศกเศร้าที่ต้องเสียพระธิดาไปด้วยโรคที่คนไทยยังไม่มีความรู้จะรักษาชีวิตไว้ได้นี้ กรมพระยาดำรงฯจึงกราบบังคมทูนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯขอพระบรมราชานุญาตใช้ตึกหลวงที่ถนนบำรุงเมืองเป็นที่ผลิตและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ให้ชื่อว่า “ปาสตุรสภา” ตามชื่อ หลุยส์ ปาสเตอร์ นักเคมีชาวฝรั่งเศส ผู้ค้นพบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯก็มีทรงสนับสนุน และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดปาสตุรสภา เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๕๖
ในปี ๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงโปรดเกล้าฯให้โอนปาสตุรสภาจากกระทรวงมหาดไทย ไปขึ้นกับสภากาชาดไทย พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “สถานปาสเตอร์” ต่อมาในปี ๒๔๖๓ ได้ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่สภากาชาดไทย เพื่อจัดสร้างที่ทำการของสถานปาสเตอร์แห่งใหม่ขึ้นที่ถนนพระราม ๔ และพระราชทานนามว่า “สถานเสาวภา” เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์และเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๖๕ ซึ่งเป็นสถานที่ทำการของสถานเสาวภาและสภากาชาดไทยในปัจจุบัน
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ใน “นิทานโบราณคดี” เรื่อง “อนามัย” ตอนหนึ่งว่า
“...ที่สถานเสาวภา มีรูปหม่อมเจ้าหญิงบรรลุศิริสาร อย่างปั้นครึ่งตัวหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ตั้งอยู่รูปหนึ่ง เป็นอนุสรณ์ซึ่งเธอเป็นมูลเหตุให้เกิดสถานปาสเตอร์ในเมืองไทย ฉันไปเห็นรูปนั้นเมื่อใด ก็นึกว่าเธอคงไปสู่สุคติภูมิ เพราะชีวิตของเธอช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ในเมืองไทยได้มาก...”