xs
xsm
sm
md
lg

“สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” ชวนชม ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก-ซูเปอร์ฟูลมูน 2 ปรากฏการณ์ส่งท้ายเดือน เม.ย.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” โพสต์ข้อความชวนติดตาม 2 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ส่งท้ายเดือนเมษายน 2564 “ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกรุงเทพมหานคร” ในวันที่ 26 เม.ย. เวลาประมาณ 12:16 น. และ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” คืนวันที่ 27 เม.ย. เวลา 22:25 น.

เมื่อวันที่ 20 เม.ย. เพจ “NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” โพสต์ชวนติดตาม 2 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ส่งท้ายเดือนเมษายน 2564 “ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกรุงเทพมหานคร” และ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” สำหรับปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกรุงเทพมหานคร ในวันจันทร์ที่ 26 เมษายน 2564 เวลาประมาณ 12:16 น. หากยืนกลางแดดในเวลาดังกล่าว เงาจะตกอยู่ใต้เท้าพอดี

ทั้งนี้ ดวงอาทิตย์จะโคจรอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับประเทศไทย ครั้งแรก ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม เริ่มจากใต้สุดของประเทศ ณ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา หลังจากนั้น ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่มาอยู่ในแนวตั้งฉากกับพื้นที่เหนือขึ้นไปเรื่อยๆ และจะตั้งฉากกับพื้นที่เหนือสุดของประเทศไทย ณ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 เวลาประมาณ 12.17 น. ข้อมูลการเกิดปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากทั้ง 77 จังหวัดในประเทศไทยติดตามได้ที่ คลิกอ่าน >>> ดวงอาทิตย์ตั้งฉากในประเทศไทย ปี 2564 เวลาของแต่ละจังหวัด

ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ระหว่างละติจูด 5-20 องศาเหนือ ส่งผลให้ในหนึ่งปี ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะ หรือตั้งฉากกับพื้นที่ดังกล่าวถึง 2 ครั้ง เมื่อยืนกลางแดดในวันและเวลาดังกล่าว จะสังเกตเห็นเงาของร่างกายทอดอยู่ใต้เท้าพอดี ไม่เฉียงไปด้านใดด้านหนึ่ง โดยจะมีคาบการโคจรพาดผ่านแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดของประเทศไทยจึงเห็นดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะไม่พร้อมกัน สำหรับดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับกรุงเทพฯ ครั้งต่อไป จะตรงกับวันที่ 16 สิงหาคม 2564 เวลาประมาณ 12:22 น.

การที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นโลกทำให้ได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์อย่างเต็มที่ แต่อุณหภูมิจะสูงที่สุดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปริมาณฝน เมฆ อิทธิพลจากมรสุม ความร้อนสะสมในบรรยากาศ ฯลฯ วันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากจึงอาจไม่ใช่วันที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดเสมอไป

ส่วนปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน วันอังคารที่ 27 เมษายน 2564 เวลา 22:25 น. ดวงจันทร์จะโคจรมาอยู่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะทาง 357,370 กิโลเมตร คืนดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย

ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี 1 รอบใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้น ในแต่ละเดือนจะมีตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ย 356,400 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุดเรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 406,700 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกเห็นดวงจันทร์ใหญ่กว่าปกติในคืนที่ดวงจันทร์เต็มดวง ไกลโลก นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์



กำลังโหลดความคิดเห็น