xs
xsm
sm
md
lg

ถอดบทเรียน รื้อระบบจากเคส “อาม่า” ทำไมติดโควิด-19 ต้องรอจนเสียชีวิตที่บ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บุคลากรทางการแพทย์หลายคนสะท้อนปัญหาผู้ป่วยโควิด-19 รอรับการรักษาที่บ้านจนเสียชีวิต โดยเฉพาะกรณีอาม่า พบมีทั้งไม่มีเตียงในโรงพยาบาล คนที่ไปขอตรวจไม่ได้สวอปเพราะไม่มีเตียง บุคลากรทางการแพทย์ขาดหายไปเพราะถูกกักตัว และการรับ-ส่งผู้ป่วยที่ยังมีอุปสรรค นับจากนี้อาจมีเคสผู้ป่วยในลักษณะเช่นนี้ตามมาอีก


รายงานพิเศษ
เหตุสะเทือนใจจากกรณีที่โลกออนไลน์ พยายามช่วยกันส่งต่อข้อมูลจากติ๊กต๋อก (Tiktok) เพื่อขอความช่วยเหลือไปยัง หญิงชรา 3 คน ที่อาศัยอยู่ในซอยวัดไผ่เงิน เขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้ง 3 คน แต่ไม่มีใครมารับไปเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

โดยในคลิประบุว่า ทั้ง 3 คน ซึ่งเป็นพี่น้องกัน ไม่ได้กินข้าวมา 3-4 วันแล้ว เพราะอยู่กันตามลำพังเนื่องจากลูกหลานไปรับการรักษาโควิดในโรงพยาบาลหมด และเพื่อนบ้านก็ไม่กล้าเข้าไปช่วยเหลือเพราะเป็นผู้ติดเชื้อ

เมื่อตรวจสอบข้อมูลพบว่า หญิงชรา 3 คน ที่ถูกเรียกง่ายๆ ว่า “อาม่า” มีอายุ 85, 75 และ 70 ปี โดยคนที่อายุ 85 ปี เสียชีวิตลงที่บ้าน คนที่สองมีอาการไข้ และคนที่อายุ 70 ปี มีอาการป่วยทางสมองด้วย แต่ก็ต้องใช้เวลาอีก 6 ชั่วโมง จึงจะมีรถเจ้าหน้าที่กู้ชีพมานำร่างของ “อาม่าคนที่เสียชีวิต” ออกไป

เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดคำถามว่า “เกิดอะไรขึ้น” กับระบบการจัดการกับโควิด-19 ในขณะนี้ ทำไมจึงไม่มีรถมารับทั้ง 3 คนไปรักษา ทำไมจึงไม่มีรถมารับผู้เสียชีวิต ... ข้อมูลเหล่านี้ หน่วยงานรัฐ รับทราบหรือไม่ และคำถามที่สำคัญที่สุด คือ ยังมีกรณีแบบเดียวกับ “อาม่า” อยู่อีกเยอะหรือไม่?

MGR Online ได้สนทนากับบุคลากรทางการแพทย์หลายคนมาตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาแต่ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้ โดยพวกเขาพยายามสะท้อนว่าจะเกิดปัญหาเช่นนี้มาระยะหนึ่งแล้ว จึงมาเรียบเรียงเป็นข้อๆ

ข้อแรก “ไม่มีเตียงในโรงพยาบาล”

จากกรณีของ “อาม่า” มีคำตอบที่ชัดเจนแล้วว่า สาเหตุที่ยังไม่มีรถมารับผู้ป่วยหญิงชราทั้ง 3 คนไปยังโรงพยาบาล เป็นเพราะ “ยังไม่มีเตียงคนไข้ว่าง” เพราะอาการป่วยของทั้ง 3 คนนี้ ไม่สามารถทำเพียงการนำไปกักตัวในโรงพยาบาลสนามได้ แต่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ต้องใช้ห้องความดันลบ ซึ่งมีผู้ป่วยเดิมรักษาอยู่ และยังมีผู้ป่วยที่รอคิวรับการรักษาอยู่อีกด้วย

ดังนั้น ถึงจะมีรถมารับอาม่าทั้ง 3 คนไป ก็จะยังไม่มีเป้าหมายปลายทางอยู่ดี ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาจากการที่ “พื้นที่รองรับ” หรือเตียงที่มีสำหรับ “ผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ารับรักษา” ยังมีจำนวนเท่าเดิม แต่กลับมีผู้ป่วยกลุ่มที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล “เพิ่มมากขึ้น” ทุกวัน

บุคลากรทางการแพทย์คนหนึ่ง วิเคราะห์ด้วยว่า รูปแบบการติดเชื้อที่พบในช่วงหลัง หรือนับตั้งแต่วันหยุดยาวเป็นต้นมา จะพบกลุ่มผู้ติดเชื้อทั้งครอบครัวเพิ่มมากขึ้น หรืออาจจะเห็นการไปตรวจโควิด-19 โดยวิธีการสวอบ (Swab) ทั้งครอบครัวมากขึ้นด้วย

และนั่นเป็นสัญญาณอันตรายที่จะบ่งชี้ว่า เมื่อมีผู้สูงอายุติดเชื้อมากขึ้น หรือติดเชื้อกันในครอบครัวมากขึ้น เพิ่มทีละหลายๆ คน จะยิ่งมีกลุ่มที่จำเป็นต้อง “รับการรักษาในโรงพยาบาล” เพิ่มมากขึ้นอีก ซึ่งสวนทางกับศักยภาพที่โรงพยาบาลจะรับได้

“ผมยกตัวอย่างนะ ผู้ป่วยโควิด-19 เราเรียกว่า ผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เมื่อเข้ารับการรักษา เราจะต้องใช้ห้องไอซียู (ICU) และต้องเป็นห้องความดันลบด้วย เพราะต้องปรับอากาศให้รองรับผู้ป่วยโควิด จึงต้องมีอุปกรณ์ในการปรับระบบหายใจ ผู้ป่วยต้องนอนคว่ำหน้า (แบบเดียวกับน้าค่อม ชวนชื่น) ซึ่งในแต่ละโรงพยาบาลมีห้องแบบนี้ไม่มากนัก อย่าลืมว่าต้องแบ่งห้องไอซียูให้ผู้ป่วยอื่นที่ไม่ใช่โควิดด้วย โรงพยาบาลหนึ่งจึงเหลือเพียง 2-3 ห้อง หรือโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ ก็มีเหลือประมาณ 10 ห้องเป็นอย่างมาก แต่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกวันในหลักพันกว่าคน” เจ้าหน้าที่กล่าว

ข้อสอง “ไม่ได้ Swab เพราะไม่มีเตียง”

เป็นสิ่งที่สะท้อนต่อมาจากข้อแรก เพราะหลายคนที่ไปขอตรวจตามโรงพยาบาลเอกชนในช่วงนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไปกันเป็นครอบครัวมีทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ อาจจะถูกปฏิเสธการตรวจกลับมา คือ “ไม่เจอหมอ” ไม่ได้ตรวจ ทั้งที่ระบุได้ว่า มาขอตรวจเพราะเป็น “กลุ่มเสี่ยงสูง สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย”

เหตุที่ไม่ได้ตรวจ มาจากเหตุผลเดียวกับข้อแรกคือ “โรงพยาบาลไม่มีเตียงรองรับ” แต่มีข้อกำหนดไว้ว่า “ตรวจที่ไหนถ้าพบว่าติด ก็ต้องแอดมิทที่นั่น” เมื่อโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับเคสที่ต้องแอดมิททั้งหมดหลายคนได้ จึงต้องใช้วิธี “ปฏิเสธการตรวจ” แม้ว่าในช่วงนี้มีทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนหลายแห่ง ไปผูกสัญญากับโรงแรมเพื่อทำฮอสพิเทล (Hospitel) ไว้แล้ว แต่ก็รองรับได้เฉพาะกลุ่มผู้ติดเชื่อที่ไม่แสดงอาการเท่านั้น ไม่สามารถรับผู้ป่วยที่ต้องการรักษาได้

ข้อสาม “การขาดหายไปของบุคลากรทางการแพทย์”

ไม่ใช่แค่จำนวนเตียงในโรงพยาบาล ที่สวนทางกับจำนวนผู้ป่วย แต่จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ ก็สวนทางกับจำนวนผู้ป่วยเช่นกัน เพราะในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา มีกรณีที่แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลต้องกลายเป็นผู้ติดเชื้อ และต้องเข้ารับการกักตัวเป็นจำนวนมากๆ แม้จะไม่มีหน่วยงานไหนนำข้อมูลมาเปิดเผยว่า มีบุคคลากรทางการแพทย์กลายเป็นผู้ติดเชื้อ และต้องกักตัวไปมากเพียงใดแล้ว แต่มีข่าวเช่นนี้อยู่ทุกวัน

แม้แต่โรงพยาบาลของรัฐขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพมหานคร มีบุคลากรทางแพทย์บางคนต้องกักตัวไปแล้ว 3 รอบ บางวันมีเจ้าหน้าที่ประจำรถฉุกเฉินเหลือเพียงทีมเดียว เพราะที่เหลือถูกกักตัว และมีอีกจำนวนมากที่ไม่ปรากฎเป็นข่าว
 
“ไม่ใช่แค่ผู้ป่วยในเคสแบบเดียวกับอาม่า ที่กำลังอยู่ในสถาการณ์ย่ำแย่ แต่บุคลากรทางการแพทย์เองก็อยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายเช่นกัน โดยเฉพาะคนไข้ที่วอล์ก-อิน (Walk-in) มาที่โรงพยาบาล บางคนปกปิดข้อมูลกับพยาบาล มีเคสหนึ่งคนไข้ไอ เจ็บคอ ไป Swab อีกโรงพยาบาลหนึ่งมา แต่ยังไม่รู้ผล และไม่มีเตียง จึงมาแอดมิตเป็นผู้ป่วยปกติในอีกโรงพยาบาลหนึ่ง ผ่านไป 3 วัน จึงรู้ว่าติดเชื้อ ทำให้หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ 6 คน และผู้ป่วยอื่นอีก 7 คน ต้องกักตัว หรือพูดง่ายๆว่า ปิดทั้งวอร์ด (Ward หรือหอผู้ป่วย)

ซึ่งในระหว่างกักตัว เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้สูญเสียรายได้ไปไม่น้อยนะ แม้จะได้เงินเดือน แต่ค่าล่วงเวลาเขาหายไปเป็นเงินจำนวนมาก ก็ไม่มีค่าตอบแทนอะไรมาชดเชย และในบางโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ประจำห้องฉุกเฉินก็ไม่สามารถกักตัวได้แล้ว เพราะมีคนทำงานไม่พอ จึงต้องใช้วิธีใส่ชุดป้องกันขั้นสูงสุดแทน”
บุคลากรทางการแพทย์คนหนึ่ง เปิดเผย
 
มีคำถามอีกว่า “สามารถสร้างห้องไอซียูในโรงพยาบาลสนามเพิ่มได้หรือไม่” บุคลากรทางการแพทย์ ให้ข้อมูลเพิ่มว่า สามารถทำได้ถ้ามีงบประมาณและมีอุปกรณ์ เพราะการสร้างห้องความดันลบในสนาม ต้องใช้ตู้คอนเนอร์ 1 ตู้ มาติดตั้งอุปกรณ์สร้างระบบหายใจซึ่งมีราคาประมาณเครื่องละ 2 แสนบาท ยังไม่รวมอุปกรณ์อื่นๆ อีก

ข้อสี่ “การรับ-ส่ง ผู้ป่วยโควิด”

“ทำไมอาม่าที่เสียชีวิต ต้องรอถึง 6 ชั่วโมงจึงจะมีรถมารับศพ” ข้อนี้ผู้เขียนไม่สามารถตอบคำถามด้วยข้อเท็จจริงได้ เพราะไม่รู้ข้อเท็จจริงเช่นกัน แต่อาจมองได้ว่า นี่คือหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นในภาพรวมมาตลอดเกือบหนึ่งเดือน ที่โควิด-19 กลับมาระบาดในรอบนี้ คือ การจัดหาทีมงานและพาหนะไปรับผู้ติดเชื้อจากบ้านไปส่งที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือฮอสพิเทล ซึ่งจำเป็นต้องขึ้นอยู่กับการประเมินอาการของผู้ป่วยด้วย

แต่ที่ผ่านมา มีรายงานว่า การใช้รถฉุกเฉินที่มีศักยภาพสูง หรือรถอีเอ็มเอส (EMS) เป็นพาหนะหลักในการรับส่งผู้ป่วยโควิด ทำให้เกิดผลกระทบกับการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินในกรณีอื่นๆ ที่ไม่มีรถเช่นนี้ และการจะให้อาสาสมัครกู้ชีพที่สังกัดมูลนิธิต่างๆ ไปวิ่งรับเหตุฉุกเฉินหรือไปวิ่งรับเคสที่เป็นโควิด ก็กลายเป็นเรื่องเสี่ยงเกินไป เพราะอาสาสมัครเหล่าน้ะน ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวที่ดีพอ
 
แต่ก็ยังมีข้อถกถียงกันมากในประเด็นนี้ เพราะก่อนหน้านี้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้สร้างทีมที่มีชื่อว่า SCOT หรือ Special COVID-19 Operation Team เป็นทีมที่ใช้การอบรมให้กับอาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัยให้มีความรู้ในการเข้าทำงานในพื้นที่เสี่ยงโควิด เช่นการใส่และถอดชุดพีพีอี (PPE) แต่ในช่วงนี้กลับไม่ค่อยเห็นทีม SCOT ออกปฏิบัติหน้าที่ จนทำให้เกิดคำถามมากมายว่า บทบาทของทีม SCOT หายไปไหน
 
มีข้อเสนอด้วยว่า จริงๆแล้ว เคสของการรับส่งผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ อาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้รถ EMS ที่มีศักยภาพสูง สามารถใช้รถสองแถว รถทหาร หรือรถกระบะหลังคาสูงก็ได้ เพียงแค่มีที่กั้นที่มิดชิดระหว่างคนขับกับผู้ป่วย โดยคนขับไม่จำเป็นต้องลงจากรถ แค่มาจอดรอหน้าบ้าน โทรศัพท์บอกให้มาขึ้นรถ และพาผู้ป่วยไปส่งที่โรงพยาบาลสนาม ซึ่งอาจจะฝึกใส่และถอดชุด PPE เพิ่มเติมก็เพียงพอ ถ้าต้องการให้เกิดความมั่นใจ
 
“เคสของอาม่า” ที่มีหญิงชราหนึ่งคนเสียชีวิตที่บ้าน หญิงชราอีก 2 คน ยังต้องรอเตียงในโรงพยาบาล ได้สะท้อนให้เห็นว่า การระบาดของโควิด-19 ในรอบนี้ กำลังส่งผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่นับว่า อาจจะมีปัญหาเรื่องการสอบสวนโรคที่ทำได้ยากขึ้น เพราะผู้ป่วยเยอะจนไม่สามารถเปิดเผยไทม์ไลน์ (ลำดับเหตุการณ์) อย่างละเอียดได้อีก ซึ่งจะทำให้การติดตามไปถึงตัว “ผู้สัมผัสกลุ่มเสี่ยงสูง” ก็ทำได้ยากตามไปอีกด้วย จนเราเห็นว่าในช่วงนี้แม้แต่กลุ่มสี่ยงสูงก็ไม่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ให้ไปตรวจ จนต้องไปเสาะหาสถานที่ตรวจเอง
 
นั่นหมายความว่า นับจากนี้ไป เราอาจพบเคสของผู้ป่วยในลักษณะเดียวกับ “อาม่า” ได้บ่อยครั้งขึ้น อาจมี “อาม่า” คนต่อๆ ไปตามมาอีก นั่นคือ ผู้ที่ติดเชื้อ มีอาการ ต้องการรักษา แต่ไม่มีเตียง ไม่มีโรงพยาบาลรองรับ และต้องอยู่ในบ้านรอความหวังไปก่อน เพราะจำนวนผู้ป่วยยังพุ่งสูงขึ้น สวนทางกับศักยภาพของโรงพยาบาลและข้อจำกัดของบุคลากรทางการแพทย์อยู่เช่นนี้

“เราจะร่วมกันซ่อมแซมระบบที่กำลังวิกฤตอยู่นี้ได้อย่างไร?”
กำลังโหลดความคิดเห็น