มีรายงานข่าวจากฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง มีที่ตั้งอยู่ย่านพระราม 9 ว่า เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. วันที่ 21 เมษายน 2564 ฝ่ายข่าวได้รับแจ้งว่า ผู้บริหารระดับสูงที่มีหน้าที่กำกับดูแลฝ่ายข่าว ได้รับแจ้งผลว่า “ติดโควิด-19” แต่กลับมีเพียงการประกาศในกลุ่มไลน์บางกลุ่ม แต่ไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ
พนักงานในฝ่ายข่าวรายหนึ่ง แสดงความเห็นว่า เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่ผู้บริหารคนดังกล่าวยังคงเข้ามาร่วมการประชุมทิศทางข่าวในช่วงบ่ายวันเดียวกับที่กำลังรอผลตรวจว่าจะติดโควิดหรือไม่ และนั่นส่งผลให้มีบรรณาธิการข่าว และผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย อีกรวม 17 คน ที่ร่วมประชุมในช่วงบ่ายวันที่ 21 เมษายน ต้องกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง
แต่ในวันที่ 22 เมษายน 2564 พนักงานรายนี้ยืนยันว่า มีบรรณาธิการบางคนซึ่งอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง 17 คน ยังคงมาทำงานตามปกติ และยังไม่ได้ไปทำการตรวจ แม้จะรู้ผลตรวจของผู้บริหารที่ติดโควิด-19 ตั้งแต่คืนก่อนหน้านั้นแล้วก็ตาม
“เราสงสัยว่า หากผู้บริหารคนนี้ รู้ผลว่าติดเชื้อในคืนวันที่ 21 เมษายน ก็หมายความว่า ผู้บริหารคนนี้ต้องสงสัยว่าตัวเองถูกจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงจึงไปเข้ารับการตรวจ และหากนับจากเวลาที่รู้ผล คือ “สองทุ่ม” เวลาที่จะตรวจอย่างช้าที่สุด คือ เช้าวันที่ 21 เมษายน หรือตรวจในวันที่ 20 เมษายน แต่ในวันที่ 21 เมษายน กลับยังมาร่วมประชุมข่าวอีก และมีคำถามใหญ่ขึ้นไปอีกว่า ทำไมยังมีบรรณาธิการที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง เพราะร่วมประชุมกับผู้บริหารรายนี้ มาทำงานในวันที่ 22 เมษายนอีก ทั้งที่เราเป็นองค์กรข่าว ที่มีหน้าที่รับและส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องไปสู่ประชาชน” พนักงาน กล่าว
รวมทั้งยังมีข้อสงสัยว่า ทำไมผ่านมานานกว่า 1 วันแล้ว ทางหน่วยงานกลับยังไม่แจ้งไทม์ไลน์ของผู้บริหารคนนี้ ซึ่งแตกต่างจากวิธีปฏิบัติที่องค์กรใช้ในการประกาศว่า มีเจ้าหน้าที่ในสตูดิโอคนหนึ่งติดโควิด-19 ในวันเดียวกัน เพราะในระดับเจ้าหน้าที่ กลับทำประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ
“วันที่ 21 เมษายน มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งในสตูดิโอตรวจพบว่า ติดโควิด-19 ซึ่งองค์กรเราแสดงออกอย่างเต็มที่ว่าได้เปิดเผยข้อมูลทุกอย่าง ทั้งการออกแถลงการณ์ เปิดเผยไทม์ไลน์ ต่างจากวิธีการปฏิบัติเมื่อผู้บริหารติดเชื้อ กลับไม่ถูกเปิดเผยไทม์ไลน์ และนั่นทำให้พนักงานที่อยู่ในระดับปฏิบัติการเกิดความกังวลกันไปทั่วว่าจะได้รับผลกระทบหรือไม่”