xs
xsm
sm
md
lg

“หมอธีระวัฒน์” เผย 8 ข้อสังเกตผลข้างเคียงจากวัคซีนซิโนแวค คาดอาจเกิดขึ้นเฉพาะล็อต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย เผย 8 ข้อสังเกตผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค คาดไม่ใช่ทุกหลอดทำให้เกิดอาการ เป็นเฉพาะล็อต แนะให้หยุดใช้เฉพาะล็อตนั้นๆ และติดต่อผู้ผลิตให้ตรวจสอบ พร้อมกับแนะเตรียมการแก้ภาวะตั้งแต่แพ้ ความดันตก ช็อก หลอดลมตีบ ไปจนถึงอาการทางสมอง ตั้งแต่หลังฉีด 30 นาที ถึง 24 ชั่วโมง

วันนี้ (22 เม.ย.) เฟซบุ๊ก “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” ของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความระบุว่า “สถานการณ์ผลข้างเคียงจากวัคซีนซิโนแวค วันที่ 21 เม.ย. 2564 จากการประเมินผู้ป่วยโดยละเอียดของอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางสมองที่พบและตรวจรักษาผู้ป่วยเอง ที่เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้งหมอ พยาบาล เป็นต้น ทั้งที่จังหวัดระยอง 7 ราย อุบลราชธานี 1 ราย และที่โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา 1 ราย ตั้งแต่ 3 เม.ย. 2564 และมีผู้เชี่ยวชาญทางสมอง (3 คน) ทางโรคเลือด โรคติดเชื้อของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และจากสถาบันประสาทวิทยา รับทราบขัอมูลอย่างละเอียดและร่วมวิเคราะห์สาเหตุ (และมีรายงานจากที่ลำปาง อีก 7 ราย จากผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมประสาท โรงพยาบาลสงขลา อีก 1 ราย จากผู้เชี่ยวชาญทางสมอง อีก 1 ราย จากโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ และอีก 1 รายจากโรงเรียนแพทย์) อายุน้อยส่วนมาก จาก 20-30 ปี และมีที่อายุ 40-50 ปีกว่า

1. ไม่เป็นอาการของ Functional Neurologic Disorder (อาการผิดปกติของการทำงาน หรือการรับความรู้สึกของร่างกายส่วนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของจิตใจ) โดยเด็ดขาด อันที่เกิดจากความแปรปรวนจิดอารมณ์ และออกมาทางกาย ทั้งนี้ ไม่มีหลักฐานตรง และแวดล้อมที่ทำให้เป็นเช่นนั้น รวมทั้งการคาดเดาว่าเป็น “อุปาทาน”

2. อาการที่เป็น แขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก ถีงบางรายขยับไม่ได้ การมองเห็นผิดปกติหนึ่งช้างหรือครึ่งซีกของทั้งสองตา (Homonymous Hemianopsia) จากความผิดปกติของจอรับภาพ สมองท้ายทอย

3. บางรายร่วมกับ ปวดหัวท้ายทอยอย่างรุนแรง และ/หรือ เจ็บหน้าอก ชาที่ขาสองข้าง และความดันสูงผิดปกติ ผื่นขึ้น

4. อาการเกิดขึ้นในระยะนาที-ชั่วโมงหลังฉีดยา ปฎิเสธไม่ได้ถึงความเกี่ยวข้อง และเป็นอาการเข้ากับความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง และมีการให้ยาละลายลิ่มเลือด ชนิด rTPA อย่างน้อย 6 ราย และอาการดีขึ้น แต่มีที่กลับเป็นใหม่ข้างเดิมอีก 2 สัปดาห์ ไม่มีภาวะอื่นๆ ที่อธิบายอาการทางหลอดเลือดนี้ได้ ทั้งหัวใจเต้นผิดปกติ การใช้ฮอร์โมนซึ่งมี 1 ราย และรายอื่นหยุดไปนานมาก หรือมะเร็งที่สงบมานานหลายปี

5. ไม่พบความผิดปกติในการตรวจคอมพิวเตอร์ CT หรือ MRI และเมื่อร่วมกับลักษณะเฉียบพลัน อาจบ่งชี้ถึง การที่เสันเลือดสมองหดตัวเฉียบพลัน ซึ่งถ้าแก้ไขไม่ทัน อาจทำความเสียหายถาวรได้จากหลอดเลือดตันทำให้เลือดไม่ไปสมองส่วนนั้นๆ

ซึ่งทางผู้เชี่ยวชาญหลายท่านตั้งประเด็นดังกล่าว และแนะนำยาขยายหลอดเลือด เหมือนภาวะที่รู้จักกันดี ทางตา vasospastic amaurosis fugax และ reversible cerebral vasoconstriction syndrome (RCVS) ซึ่งมีลักษณะทับซ้อนกับ PRES posterior reversible encephalopathy syndrome และผนังหลอดเลือดในระยะต่อมารั่ว มีสมองบวม โดยที่ RCVS การตรวจ คอมพิวเตอร์สมองและหลอดเลือด อาจปกติได้ถึง 70% แล้วแต่ระยะเวลา และความรุนแรง ถ้าเนื้อสมองยังไม่ตาย

6. คล้ายมีความสัมพันธ์กับล็อตของวัคซีน โดยที่ไม่ใช่ทุกหลอดทำให้เกิดอาการ ในแต่ละกล่องมีหลายหลอด ซึ่งหลักการเพื่อความปลอดภัยสูงสุดจำต้องหยุดใช้วัคซีนในล็อตนั้นก่อน จนกว่าจะทำการสรุปสาเหตุได้ และต้องติดต่อผู้ผลิตให้ตรวจสอบโดยด่วน

7. การฉีดวัคซีนคงต้องกระทำต่อไปรีบด่วนและรอบคอบ เตรียมการแก้ภาวะตั้งแต่แพ้ ความดันตก ช็อก หลอดลมตีบ ไปจนถึงอาการทางสมองที่อาจมีหัวใจร่วม ตั้งแต่หลังฉีด 30 นาที และให้คำแนะนำเมื่อกลับบ้านจนถึง 24 ชั่วโมง

8. คอยติดตามระยะกลาง ของผลข้างเคียง จาก 1-4 สัปดาห์ อาจเกิดได้ในระบบต่างๆ

ทั้งนี้ ดูเหมือนวัคซีนแต่ละชนิด เช่น แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) และวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) จะเป็น VITT vaccine induced thrombotic thrombocytopenia หรือภาวะลิ่มเลือดและเกร็ดเลือดต่ำ (Sinovac อาจเกี่ยวกับ ลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด อีก 1 ราย) โรงพยาบาลต่างๆ ได้รายงานตั้งแต่วันแรกของผู้ป่วยทุกคนที่มีอาการทั้งสิ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น