เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์จักรีเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๓๒๕ ต่อมาในวันที่ ๒๑ เมษายนปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาอยู่ฝั่งตะวันออก แล้วจัดพิธียกเสาหลักเมืองขึ้นในวันนั้น เวลา ๐๖.๕๔ นาที
การฝังเสาหลักเมืองได้ทำตามพระตำราที่เรียกว่า “พระราชพิธีนครฐาน” ใช้ไม้ชัยพฤกษ์ทำเป็นเสาหลักเมือง ประกับด้านนอกด้วยไม้แก่นจันทน์ มีเส้นผ่าศูนย์กลางวัดที่โคนเสา ๒๙ เซนติเมตร สูง ๑๘๗ นิ้ว อยู่พ้นดิน ๑๐๘ นิ้ว ฝังลงในดินลึก ๗๙ นิ้ว มีเม็ดยอดรูปบัวตูม สวมลงบนเสาหลัก ลงรักปิดทอง ล้วงภายในไว้เป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชะตาเมือง
พร้อมทั้งพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า
“กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยามหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”
ต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปลงสร้อยที่ว่า “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์”
เมื่อเขียนเป็นภาษาอังกฤษแล้วจะมีอักษรถึง ๑๖๙ ตัว กินเนสบุ๊คจึงจดบันทึกว่าเป็นชื่อยาวกว่าชื่อทั้งหลายในโลก
มีความหมายว่า “พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร อันเป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นนครที่ไม่มีใครสามารถรบชนะ มีความงามอันมั่นคงและเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้ว ๙ ประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้”
นพรัตนราชธานี ที่หมายถึงมีแก้ว ๙ ประการก็คือ เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน ไพลิน มุกดาหาร เพทาย และไพฑูรย์ โดยมีคำคล้องจองที่ท่องกันมาว่า
“เพชรดี มณีแดง เขียวใสแสงมรกต เหลืองใสสดบุษราคัม แดงแก่ก่ำโกเมนเอก สีหมอกเมฆนิลกาฬ มุกดาหารหมอกมัว แดงสลัวเพทาย สังวาลย์สายไพฑูรย์”
อัญมณีเหล่านี้ ประเทศในเอเชียต่างนับถือตรงกันมาแต่ครั้งบุรพกาลว่าเป็นอัญมณีแห่งสิริมงคล นอกจากใช้ประดับตกแต่งกายแล้ว ยังเชื่อว่าเป็นเครื่องรางของขลังด้วย และมีคุณสมบัติในทางมงคลแตกต่างกันไปดังนี้
เพชรยิ่งใหญ่ไพรีไม่มีกล้ำ ทับทิมนำอายุยืนเพิ่มพูนผล
อุดมลาภยศศักดิ์ประจักษ์ดล มรกตกันภัยพ้นผองเล็บงา
บุษราคัมฉาบเสน่ห์ไม่เสแสร้ง โกเมนแจ้งแคล้วพาลภัยใจสุขา
ไพลินย้ำความร่ำรวยช่วยนำพา มุกดาหารเสน่หาน่าเมียงมอง
อันเพทายช่วยกันโทษที่โฉดเขลา ไพฑูรย์เล่ากันฟอนไฟภัยทั้งผอง
ดลบันดาลให้เทวามาคุ้มครอง สบสนองคุณค่าแจ้งแห่งนพรัตน์
เมื่อสร้างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเรียบร้อยแล้ว ในวันที่ ๗ มีนาคม ๒๓๗๗ จึงมีพิธีอัญเชิญพระแก้วมรกตจากกรุงธนบุรี ข้ามฟากมาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๑๔ รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้รวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี เข้าด้วยกัน เป็น “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” ต่อมาในปี ๒๕๑๕ จึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อเป็น “กรุงเทพมหานคร”
ส่วนเหตุที่หลักเมืองมี ๒ เสาเคียงคู่กันในปัจจุบันก็คือ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า เสาหลักเมืองชำรุดทรุดโทรมลงมาก ไม่ได้ซอมแซมมาหลายรัชกาลแล้ว โปรดให้ขุดเสาหลักเมืองเดิมออก และจัดสร้างศาลหลักเมืองขึ้นใหม่เป็นอาคารมียอดปรางค์ตามแบบอย่างศาลหลักเมืองของกรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งสร้างเสาหลักเมืองใหม่ขึ้นอีกต้นหนึ่ง เป็นเสาไม้สัก ประกับด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ๖ แผ่น สูง ๑๐๘ นิ้ว ฐานเป็นแท่นกว้าง ๗๐ นิ้ว บรรจุดวงเมืองในยอดเสาทรงมัณฑ์ที่มีความสูงกว่า ๕ เมตร อัญเชิญเสาหลักเมืองเดิมและเสาใหม่ประดิษฐานในอาคารศาลหลักเมืองใหม่เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๓๙๕ เวลา ๐๔.๔๘ น.
ศาลหลักเมืองได้รับการปฏิสังขรณ์ต่อมาอีกหลายครั้ง ในปี ๒๕๒๓ จึงมีการบูรณะครั้งใหญ่เพื่อเตรียมการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปีในปี ๒๕๒๕
ศาลหลักเมืองใหม่ซึ่งเป็นศาลหลักเมืองในปัจจุบัน เป็นอาคารเครื่องปูน ทรงยอดปรางค์ มีมุขยื่นทั้ง ๔ ด้าน แต่ละด้านมีหลังคาซ้อน ๒ ชั้น และมีมุขลดอีกด้านละ ๑ ชั้น มีหลังคากันสาดโดยรอบ เครื่องมุงประดับกระเบื้องเคลือบตามลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา ออกแบบโดย พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะสถาปัตย์ และเป็น ๑ ใน ๙ สถาปัตย์ศิลป์ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาอดุลยเดชมหารราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในการออกแบบด้วย
อีกทั้งทางด้านทิศเหนือ ยังจัดสร้างซุ้มประดิษฐานเทพารักษ์ทั้ง ๕ ผู้รักษาความร่มเย็นแก่บ้านเมือง ได้แก่ เจ้าพ่อหอกลอง เจ้าพ่อเจตคุปต์ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และพระกาฬไชยศรี มีการจัดศาลาสำหรับละครรำ ละครชาตรี ให้ผู้ต้องการบูชาบูชาศาลหลักเมืองว่าจ้างแสดงอยู่ด้านข้าง
มีเรื่องน่าพิศวงในพิธีฝังเสาหลักเมืองเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ เล่ากันมาว่า เมื่อถึงพระฤกษ์ โหราจารย์ย่ำฆ้องบอกกำหนดเริ่มพระราชพิธีอัญเชิญเสาหลักเมืองลงสู่ก้นหลุม เพื่อวางไว้บนแผ่นศิลายันต์ ทันใดนั้นก็ปรากฏการณ์ว่ามีงูเล็ก ๔ ตัวปาฏิหาริย์ลงไปอยู่ในหลุมตั้งแต่เมื่อใดไม่มีใครเห็น มาเห็นก็ต่อเมื่อเสาหลักเมืองได้เคลื่อนลงสู่หลุมแล้ว จะยั้งไว้ก็มิได้ เพราะขั้นตอนพิธีทุกอย่างต้องเป็นไป
ตามพระฤกษ์ จึงต้องเลยตามเลย ปล่อยเสาลงก้นหลุมแล้วกลบดินทับงูทั้ง ๔ ตัวไว้ในหลุมหลักเมืองนั้นด้วย
เหตุการณ์นี้ได้ยังพระปริวิตกให้แก่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นอันมาก ทรงเรียกประชุมเหล่าราชบัณฑิต ปุโรหิต โหราจารย์และพระราชาคณะ ตลอดจนผู้รู้ทั้งหลาย มาร่วมวิพากษ์วิจารณ์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าจะดีร้ายประการใด ที่ประชุมได้ถวายความเห็นสอดคล้องกันว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้นับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี คือ เป็นอวมงคลนิมิต แต่ก็ไม่มีผู้ใดบ่งชี้ได้ว่าอวมงคลที่ว่าจะปรากฏผลอย่างใด บอกแต่เพียงว่างูเล็กทั้ง ๔ ตัวนั้นจะเป็นเหตุที่นำความเสื่อมเสียไม่ดีมาสู่
มีผู้ทำนายว่า ราชวงศ์จักรีจะดำรงอยู่ได้เพียง ๑๕๐ ปี แต่ก็ไม่มีรายละเอียดที่ทำให้น่าเชื่อถือได้ว่า งูเล็กทั้ง ๔ ตัวนี้เกี่ยวข้องอะไรกับราชวงศ์จักรี และเกี่ยวกับตัวเลข ๑๕๐ ปีอย่างไร
อย่างไรก็ตาม งูเล็กในหลุมหลักเมืองของกรุงเทพฯ ก็ได้สร้างความวิตกกังวลให้ผู้คนตลอดมา โดยเฉพาะคนที่เชื่อถือในเรื่องไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๓๙๕ คือ ๗๐ ปีต่อมา ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเชี่ยวชาญในเรื่องของโหราศาสตร์ จึงโปรดเกล้าฯให้ทำพิธีสร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่อีกเสาหนึ่งคู่กับเสาเก่า พร้อมทั้งปรับปรุงเปลี่ยนแปลงศาลหลักเมืองจากของเดิมที่เป็นไม้ มาเป็นก่ออิฐถือปูนฉาบสีขาว มุงหลังคาด้วยกระเบื้อง ทั้งยังทรงจะให้แก้เคล็ดในเรื่องนี้ด้วยการสร้างสะพานเชื่อม ๒ ฝั่งเจ้าพระยาให้ติดต่อถึงกัน ระหว่างเมืองเก่าหลวงและเมืองหลวงใหม่ แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างได้ในขณะนั้น
จนกระทั่งในปี ๒๔๗๐ ซึ่งมีการวางแผนที่จะจัดงานเฉลิมฉลองอย่างเอิกเกริก ในโอกาสที่กรุงเทพฯจะมีอายุครบ ๑๕๐ ปีใน พ.ศ.๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำริที่จะให้สร้างอนุสรณ์สถานในพิธีนี้ด้วย และทรงให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีผู้ให้กำเนิดกรุงเทพมหานคร พร้อมกันก็ให้สร้างสะพานเชื่อม ๒ ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนที่จะไปมาหาสู่กัน โดยทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๔๗๒ และเปิดใช้ได้ในวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๗๕ ทันพิธีเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๕๐ ปีพอดี
นอกจากนี้เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นหลักของแผ่นดิน ซึ่งประสูติในปีมะเส็ง ราศีงูเล็ก ๔ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินทร สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ร่วมกันทำบุญสร้างตึกคนไข้หลังหนึ่งให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พระราชทานชื่อตึกหลังนี้ว่า “ตึกสี่มะเส็ง”
๒๑ เมษายน ปีนี้ กรุงเทพมหานครมีอายุ ๒๓๙ ปีแล้ว เติบโตจนติดอันดับมหานครของโลก กษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ก็ได้รับความเคารพรักเทิดทูนจากประชาชนชาวไทยเหนือเกล้า ทั้งยังทรงได้รับความชื่นชมศรัทธาจากชาวโลก และเชื่อมั่นได้ว่าจะยืนยงสถาพรตลอดไป
โดยเฉพาะในปีนี้นางสงกรานต์เป็นนางยักษ์รูปงามแต่ดื่มเลือดเป็นภักษาหาร นอนหลับเนตรมาบนหลังหมู ทำนายว่าพระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรือง ฉะนั้นงูเล็ก ๔ ตัวทีแบนอยู่ในหลุมหลักเมืองอาจจะเป็นพวกล้มเจ้าก็ได้นะ
(ภาพประกอบ จากภาพยนตร์ข่าวพิธีฉลองกรุงเทพมหานคร ๑๕๐ ปี โดยบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง)