xs
xsm
sm
md
lg

“ยอน การะฝัด” ทูตฝรั่งยะโสปากเสีย! ข่มขู่ชวามลายูจนเคยตัว เจอไทยหงายเก๋ง!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค


ภาพทูตต่างประเทศเข้าเฝ้า ร.๔ เขียนโดย นคร หุราพันธ์
“นายการะฝัด” เป็นสำเนียงที่คนไทยเรียก นายจอห์น ครอเฟิร์ด ทูตอังกฤษที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในรัชกาลที่ ๒ โดยผู้สำเร็จราชการอินเดียได้แต่งตั้งให้เข้ามาเจรจากับไทย นอกจากจะมาขอให้ยกเลิกหรือลดหย่อนภาษีแล้ว ยังจะขอให้เจ้าพระยาไทรบุรีพ้นอำนาจปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชด้วย ทั้งนี้ก่อนหน้านั้น พม่าได้มีหนังสือไปชักชวนฝรั่ง ญวน และไทรบุรีซึ่งเป็นประเทศราชของสยาม ให้มาร่วมกันตีเมืองสยาม ฝ่ายไทยยึดหนังสือที่พม่ามีไปถึงพระยาไทรบุรีได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหน้านภาลัย จึงดำรัสสั่งให้เจ้าพระยานครยกทัพไปปราบไทรบุรีฐานเป็นกบฏ แล้วโปรดเกล้าฯให้บุตรเจ้าพระยานครไปปกครองเมืองไทรบุรี

ในพระราชสาร์นที่นายการะฝัดนำมาถวายในครั้งนี้มีใจความว่า มาร์ควิส เฮสติงส์ ผู้สำเร็จราชการอินเดียของอังกฤษ ขอทูลมายังพระเจ้ากรุงสยาม ด้วยประสงค์จะแสดงความเคารพนับถือของชาวอังกฤษที่มีต่อพระองค์ เพื่อจะบำรุงพระราชไมตรีและการไปมาหาสู่กันให้เจริญยิ่งขึ้น ด้วยอังกฤษมีอำนาจฝ่ายใต้ตั้งแต่สิงหลทวีป ตลอดขึ้นไปทางฝ่ายเหนือ จนจดเทือกเขาเขตแดนเมืองจีน ข้างตะวันออกตั้งแต่อังวะตลอดไปฝ่ายตะวันตกถึงประเทศเปอร์เซีย ประชาชนที่อยู่ในปกครองของอังกฤษมีกว่า ๙ โกฏิ เพราะฉะนั้นอังกฤษจึงไม่มีความประสงค์ที่จะแสวงหาอาณาเขตเพิ่มเติมอีก

อังกฤษเป็นมิตรไมตรีกับนานาประเทศที่เขตแดนติดต่อใกล้เคียงกัน เป็นต้นว่า พระเจ้าแผ่นดินเปอร์เซียฝ่ายตะวันออก พระเจ้าแผ่นดินเปอร์เซียฝ่ายตะวันตก บรรดาเจ้านายที่ปกครองแว่นแคว้นอาหรับ สุลต่านประเทศตุรกี และพระเจ้ากรุงจีน พระเจ้ากรุงอังกฤษขอโปรดให้ประชาชนในประเทศอินเดียได้ไปมาค้าขายถึงพระราชอาณาจักรสยามโดยสะดวก และขอเชิญประชาชนสยามมาค้าขายตามหัวเมืองท่า ค้าขายในประเทศแดนของอังกฤษอย่างเดียวกัน ถ้าหากคนที่อยู่ในบังคับอังกฤษไปมาค้าขายถึงราชอาณาจักรสยาม ก็ขอให้คุ้มครองป้องกันให้ด้วย บรรดากฎหมายอย่างธรรมเนียมใดที่ใช้อยู่ในราชอาณาจักรสยาม ก็ไม่ขอยกเว้นเป็นพิเศษ หากธรรมเนียมใดอันเนื่องด้วยการค้าขาย อันอาจเป็นเครื่องขัดขวางแก่การค้าขาย ก็หวังว่าจะได้รับการแก้ไขยกเว้น...

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯให้จัดพิธีต้อนรับทูตอังกฤษผู้นี้เข้าเฝ้าอย่างสมเกียรติ ซึ่งนายการะฝัดบันทึกในหนังสือที่พิมพ์เผยแพร่ในภายหลังว่า

“ภายในท้องพระโรงนั้นตกแต่งอย่างโอ่อ่า ยาวประมาณ ๘๐ ฟุต กว้างเป็นครึ่งหนึ่งของความยาวและสูง ๓๐ ฟุต มีเสาไม้เรียง ๒ แถว ทั้งหมด ๑๐ ต้น ประหนึ่งเป็นทางนำมาสู่พระแท่นราชบัลลังก์ซึ่งประดิษฐานอยู่ด้านในสุด
ผนังและเพดานเขียนภาพด้วยสีแดงสด บัวผนังปิดทอง ส่วนเพดานนั้นติดดาวทองงดงาม ระหว่างเสาห้อยโคมระย้าชั้นดีจากอังกฤษ ภายในล้วนตกแต่งอย่างมีรสนิยม ที่เสาติดตะเกียงแผ่นดีบุกอย่างดีที่นำเข้ามาจากปัตตาเวีย ทุกอย่างล้วนมีราคาแพงเพราะเป็นของเทศ

พระแท่นราชบัลลังก์ประดิษฐานอยู่ด้านหลังของท้องพระโรงทั้งหมด ปิดทอง สูงประมาณ ๑๕ ฟุต มีลักษณะซับซ้อน คล้ายมุขที่วิจิตร

พระวิสูตรยกทองห้อยยาวเรี่ยพื้นสีเหลือง ปิดบังด้านบนของท้องพระโรงทั้งหมด แหวกออกให้เห็นเฉพาะพระแท่นราชบัลลังก์ เมื่อไม่มีพระราชพิธีใดๆ พระวิสูตรก็จะปิดสนิท ด้านหน้าตั้งเครื่องสูงหลายขนาด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ในพระแท่นราชบัลลังก์ราวกับรูปจำหลัก ทรงฉลองพระองค์ครุยทอง แขนกว้าง ไม่ทรงพระมหามงกุฎ พระมาลาหรือเครื่องประดับอันใด ใกล้กันนั้นทอดคทาทองคำอยู่ด้วย

การตกแต่งของท้องพระโรง ภาพเหล่าขุนนางหมอบกราบ รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและความเงียบสงบนั้นช่างน่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง บรรยากาศชวนให้รู้สึกว่าเป็นศาสนพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ มากกว่าการเข้าเฝ้าฯกษัตริย์ในโลกมนุษย์เสียอีก”

และบันทึกกระแสรับสั่งไต่ถามนายการะฝัดไว้ว่า

“ท่านข้าหลวงแห่งอินเดีย (สยามใช้คำว่าเจ้าเมืองเบงกอล) ส่งท่านมาสยามด้วยกิจอันใด” เราจึงอธิบายวัตถุประสงค์ในการมาเยือนครั้งนี้โดยย่อ

“ในการมาครั้งนี้พระเจ้ากรุงบริเตนทรงทราบความหรือไม่”

เราตอบว่า บริเตนอยู่ไกลมาก และเรื่องการทูตในดินแดนตะวันออกนั้นขึ้นอยู่กับท่านข้าหลวงหรืออุปราชแห่งอินเดียเพียงคนเดียว

“ท่านข้าหลวงเป็นพระอนุชาของพระเจ้ากรุงบริเตนกระนั้นหรือ”

เราตอบว่าท่านข้าหลวงุเป็นพระสหายมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ไม่ใช่พระอนุชา จากนั้นก็มีคำถามว่า

“ท่านข้าหลวงมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพระเจ้ากรุงบริเตนหรือ”

“ท่านข้าหลวงมีสุขภาพดีอยู่หรือไม่”

“จากสยาม ท่านต้องการไปเมืองใด"

“ท่านต้องการไปเมืองเว้ ธานีแห่งอินโดจีน กระนั้นหรือ”

และหลังจากที่เราตอบคำถามเหล่านี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า

“เรายินดีที่ได้พบคณะทูตจากท่านข้าหลวงแห่งอินเดีย หากต้องการสิ่งใดจงเอ่ยกับเจ้าพระยาสุริวงษ์โกษา สิ่งที่เราต้องการจากท่านมากที่สุดคือปืนไฟ”

เมื่อมีพระราชดำรัสจบแล้ว เสียงกรับดังขึ้น เจ้าพนักงานลดพระวิสูตรทั้งสองข้าง นักดนตรีกลุ่มเดิมก็เป่าแตร”

การที่อังกฤษส่งทูตเข้ามาเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ก็น่าจะราบรื่นด้วยดี แต่แล้วก็ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า นายการะฝัดไม่ได้ข้อตกลงกลับไปแม้แต่ข้อเดียว ทั้งนี้ก็เพราะมีเหตุสำคัญหลายประการที่ทำให้ไม่สามารถเจรจากันได้

ข้อแรกก็คือ จุดมุ่งหมายที่อังกฤษส่งจอห์น ครอเฟิร์ดมาในครั้งนี้ ก็เพื่อจะขอลดภาษีปากเรือ และขอให้ไทรบุรีเป็นอิสระจากการปกครองของไทย เพราะอังกฤษแอบไปตีท้ายครัวขอเช่าเกาะปีนังกับพระยาไทรบุรีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ แล้ว ทั้งๆที่พระยาไทรบุรีไม่มีสิทธิไปเซ็นสัญญากับใครโดยพละการ ซึ่งเรื่องนี้ไทยก็รู้ แต่ยังไม่อยากเปิดศึกกับอังกฤษเลยทำเฉยไว้ก่อน อังกฤษจึงมาขอให้ไทรบุรีเป็นอิสระ จะได้เขมือบทั้งหมดได้อย่างคล่องคอ เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะให้กันได้ง่ายๆ

ในระหว่างพักอยู่ที่กรุงเทพฯนั้น นายการะฝัดยังได้ส่งคณะสำรวจไปทิ้งดิ่งวัดระดับน้ำจากปากอ่าวเจ้าพระยาเข้ามา ทำให้ชาวบ้านพากันตื่นกลัว ลือกันว่าอังกฤษเตรียมการจะบุกไทย

ที่สำคัญคือทั้งสองฝ่ายต่างมีความรู้สึกเหยียดหยามเกลียดชังซึ่งกันและกัน นายการะฝัดไม่เข้าใจชีวิตวิถีไทย จึงเหยียดหยามว่าขุนนางไทยออกรับแขกเมืองโดยไม่สวมเสื้อ ส่วนฝ่ายไทยก็ไม่พอใจท่าท่าเย่อหยิ่งข่มขู่ ซึ่งนายการะฝัดเคยชินที่ใช้กับคนชวาและมลายูเมืองขึ้นของอังกฤษมาแล้ว

ยิ่งกว่านั้นนายการฝัดยังปากเสีย พูดให้เข้าหูคนไทยว่า

“เมืองไทยเล็กนิดเดียว จีนมากกว่าไทยสิบส่วน ถ้าจะตีเอาเมือง กำปั่นรบสักสองลำสามลำก็จะได้ เอากระสุนเผาบ้านเรือนยิงเข้าไปก็จะไหม้หมด...มีป้อมก็ไม่มีปืน คนรักษาก็ไม่มี ปืนที่อยู่ก็มีสนิม จะใช้สู้รบใครได้”

พฤติกรรมและคำพูดของนายการะฝัดเหล่านี้ ถูกนำกราบบังคมทูนให้ทรางทราบ จึงมีพระราชดำรัสว่า

“มันจะไม่มาทำหนังสือสัญญาโดยสุจริต จึงว่ากล่าวติเตียนบ้านเมือง หยั่งน้ำ ทำแผนที่ จะเป็นไมตรีด้วยกันอย่างไรได้”

ในที่สุดการเจรจาก็ต้องเก็บฉาก นายการะฝัดต้องม้วนเสื่อลงเรือกลับไป แต่ธรรมเนียมไทยก็ไม่หักหาญใครจนเกินเหตุ จัดข้าวของพระราชทานให้นายการะฝัดเป็นส่วนตัวไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะน้ำตาลทรายซึ่งคนยุโรปต้องการกันมาก

แต่กระนั้น นายการะฝัดก็ยังไม่หมดลายง่ายๆ ออกจากปากอ่าวไปก็แวะขึ้นเกาะสีชัง วัดระดับน้ำและสำรวจภูมิประเทศของเกาะอีก

เมื่อผิดหวังจากไทยแล้ว นายการะฝัดก็ตรงไปเมืองญวนหวังจะเปิดสัมพันธไมตรี แต่ญวนเกลียดฝรั่งเข้าไส้อยู่แล้ว จึงไม่ยอมให้ขึ้นเหยียบแผ่นดิน

เมื่อนายการะฝัดกลับไปสิงคโปร์ ก็ได้รับตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการสิงคโปร์ต่อจากเซอร์แสตมฟอร์ด แรฟเฟิล ขณะนั้นอังกฤษเกิดวิวาทกับพม่า นายการะฝัดก็เลยหันมามีไมตรีกับไทย มีการค้าขายกันมากขึ้น แต่เชื่อกันว่า นายการะฝัดนี่เองที่เป็นผู้ส่ง นายโรเบิร์ท ฮันเตอร์ หรือนายหันแตร เข้ามาเปิดห้างฝรั่งห้างแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ นายหันแตรมีความใกล้ชิดกับขุนนางไทยมาก และเอาปืนคาบศิลาเข้ามาถวายถึง ๑,๐๐๐ กระบอก ได้รับโปรดเกล้าฯเป็น หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช แต่มีความยะโสโอหังยิ่งกว่านายการะฝัดเสียอีก จึงก่อความวุ่นวายไปทั่ว ทั้งยังแอบเอาฝิ่นเข้ามาขาย นายหันแตรคนนี้คือคนที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกลียดฝรั่งอย่างมาก รับสั่งว่าคนเดียวยังขนาดนี้ เข้ามามากจะวุ่นวายขนาดไหน จึงถูกเนรเทศออกไป ต่อมาก็เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า นายหันแตรนั้นก็คือสายลับของอังกฤษ

ในยุคก่อน อังกฤษนิยมใช้พ่อค้าเป็นสายลับ ส่วนฝรั่งเศสใช้บาทหลวง ยุคนี้อเมริกาใช้องค์กรช่วยเหลือ อาจารย์มหาวิทยาลัยก็มี เมื่อไม่กี่วันมานี้ก็เพิ่งไล่ไปคนหนึ่ง ยังไม่รู้ว่าเหลืออีกกี่คน

จะคบกับต่างชาติก็ต้องระวังเรื่องนี้ ไม่ว่าชาติไหน เขาก็ต้องทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติเขาทั้งนั้น ที่จัญไรก็คือคนในชาติเองไปรับใช้เขาทำลายชาติตัวเอง หวังว่าเขาจะให้เป็นใหญ่เมื่อทำลายชาติได้สำเร็จ อ่านประวัติศาสตร์เรื่องพระยาจักรีในสมัยกรุงศรีอยุธยาเสียบ้าง เปิดประตูเมืองให้พม่าจนต้องเสียกรุงครั้งที่ ๑ แต่เมื่อเสร็จศึกแล้วนึกว่าจะได้เป็นใหญ่ แต่พระเจ้าบุเรงนองให้เอาไปฆ่าเสีย เพราะชาติตัวเองมันยังทรยศได้ คนอย่างนี้จะเลี้ยงให้เชื่องได้อย่างไร จำใส่กบาลกันไว้บ้าง

นายการะฝัด

นายหันแตร

ห้างของนายหันแตรที่กุฎีจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น