ฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการร้านเหล้าข้างทาง ที่ได้รับผลกระทบหลังคำสั่ง ศบค. มีผลหลังเที่ยงคืนนี้ ระบุ มีค่าเท่ากับปิดร้าน ชี้ 1 ปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบตั้งแต่ระลอกแรกมาล่าสุด วอนเจ้าหน้าที่ช่วยมาดูร้านข้างทาง นอกจากกลุ่มผับ บาร์ เพื่อปรับปรุงมาตรการให้ทำมาหากินต่อไปได้โดยไม่เป็นภาระสังคม
รายงานพิเศษ
“ร้านผมไม่ถูกสั่งให้ปิดรอบนี้นะครับ แต่คำสั่งห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ร้าน ก็มีค่าเท่ากับปิดร้านครับ เพราะร้านผมเป็นร้านนั่งดื่ม เปิดโล่ง คนที่มาไม่ได้มากินข้าว เขามาดื่ม ดังนั้นเมื่อขายเหล้าไม่ได้ ก็ไม่มีคนมา และไม่เคยมีเงินมาเยียวยา”
จอห์น จากร้าน “บ้านสำราญ” หรือชื่อจริงคือ สุธิพงษ์ วงค์จันทร์ ผู้ทำธุรกิจที่เราอาจเรียกกันง่ายๆว่า “ร้านเหล้า” บอกกล่าวถึงผลกระทบอีกครั้งที่มากับโควิด-19 เพราะตั้งแต่หลังเที่ยงคืนนี้ (เสาร์ที่ 17 เม.ย.) ร้านของเขา จะอยู่ภายใต้คำสั่งห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านเป็นรอบที่ 3 แล้ว ซึ่งทำให้ร้านบ้านสำราญ ต้องอยู่ในสภาพที่เหมือนปิดร้านไปเลย เพราะสินค้าหลักของร้านนี้ คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
หากจะจำแนกความเดือดร้อนของผู้ประกอบการร้านอาหารออกมาให้ชัดๆ ก็จะแยกออกมาได้หลายประเภท
ประเภทแรก คือ ผับ บาร์ สถานบันเทิงทั้งหลายที่แออัด คนแน่น กลุ่มนี้ถูกปิดอย่างชัดเจนภายใต้คำสั่ง ศบค. เพราะที่ผ่านมาเป็นแหล่งแพร่เชื้อคลัสเตอร์ใหญ่ สภาพของพื้นที่และรูปแบบการให้บริการมีความสุ่มเสี่ยงสูง แต่การถูกสั่งปิด ก็ยังอาจทำให้ผู้ประกอบการ หรือ พนักงานที่ทำงานในกลุ่มนี้ เข้าข่ายที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในขั้นต่อไป
ประเภทที่สอง คือ ร้านอาหาร ซึ่งหมายถึง มีสินค้าหลักคือ อาหาร ไม่ว่าจะเป็นร้านข้าวต้ม ร้านอาหารอีสาน จิ้มจุ่ม หมูกระทะ ซีฟู้ด ร้านอาหารริมน้ำ ร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านอาหารเกาหลี ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมาลูกค้าจะนิยมมานั่งดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ร่วมไปด้วย แต่ร้านอาหารกลุ่มนี้ ก็ยังพอจะมีลูกค้ามากินอาหารเป็นกลุ่มครอบครัว เพื่อนฝูง จึงยังพอมีรายได้ในแต่ละวัน แม้จะไม่สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ และต้องปิดร้านเร็วขึ้น
ประเภทที่สาม นี่คือกลุ่มที่อาจเรียกง่ายๆว่า “ร้านเหล้า” ร้านนั่งดื่ม ร้านนั่งชิล หรืออะไรก็ตาม ซึ่งมีข้อบ่งชี้ชัดเจนว่า สินค้าหลัก คือ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ไม่ใช่ “อาหาร” เพราะอาหารที่ขายในร้านส่วนใหญ่จะเป็นเพียงกับแกล้ม ของกินเล่น ทำให้ร้านกลุ่มนี้ เมื่อไม่สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ก็ไม่มีลูกค้าเหลือเลย แม้จะไม่มี “คำสั่ง” จาก ศบค. ให้ต้องปิดร้านก็ตาม
“ร้านบ้านสำราญ” ของ จอห์น ย่อมจัดอยู่ในกลุ่มนี้
จอห์น เล่าว่า “ร้านเหล้า” ในแบบของเขา ได้รับผลกระทบหนักในทุกรอบตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา ภายใต้สถานการณ์ดควิด-19 ทำให้ธุรกิจของเขาย่ำแย่ รอบแรกที่ทุกอย่างหยุดลง เขาต้องแบกภาระของลูกน้อง 4 คน ด้วยความหวังว่า สถานการณ์จะฟื้นกลับคืนมาได้ จนได้กลับมาเริ่มเปิดร้าน กำลังจะกลับมาดีขึ้น ก็มาเจอการระบาดระลอกที่ 2 ในช่วงก่อนปีใหม่ (จากการลักลอบส่งคนเข้าเมือง และบ่อนการพนัน) ซึ่งมีคำสั่งห้ามจำหน่ายสุราแบบนั่งดื่มที่ร้านอีกครั้ง จนทำให้ต้องบอกให้ลูกน้องทุกคนไปหางานทำเอง เพราะไม่สามารถแบกรับไว้ได้แล้ว และยังต้องหารายได้เพิ่มด้วยการปรับรูปแบบร้านไปขาย “ข้าวซอย” ตั้งแต่ช่วงกลางวันไปจนดึก ควบคู่ไปกับการเปิดร้านเดิม เพื่อหารายได้มาประทังค่าใช้จ่ายที่ต้องมีในแต่ละเดือนให้พอ และเพิ่งกลับมาขายสุราได้เมื่อ 23 กุมภาพันธ์นี่เอง แต่ก็มีการระบาดระลอกที่ 3 อีก (จากผับ) จนไม่สามารถจำหน่ายสุราได้อีก ทำให้เขาเริ่มท้อ
“ชีวิตผมไม่เคยเป็นหนี้ ผมต้องมาเป็นหนี้ปีนี้ เราก็พยายามทำทุกทาง หารายได้เสริม ปรับไปขายข้าวซอยเพิ่ม เพื่อให้ร้านเรามันไม่หายไป พอเปิดร้านได้ ขายเหล้าเบียร์ได้ เราก็ทำตามมาตรการของรัฐทุกอย่าง และไม่เคยเห็นการแพร่ระบาดจากร้านที่เปิดโล่งอย่างเรานะ แต่พอมีคนอื่นทำให้ระบาด เราก็ได้รับผลกระทบด้วยทุกที และที่ผ่านมา เมื่อในคำสั่งปิดสถานบันเทิงทั้งหลาย มันไม่รวมร้านแบบผมไปด้วย ผมก็ไม่เคยได้รับความช่วยเหลืออะไรในฐานะผู้ประกอบการนะ ลูกน้องก็ไม่เข้าข่ายไปด้วย โครงการเดียวที่ผมเข้าถึงได้ คือ คนละครึ่ง” จอห์น กล่าว
จอห์น เล่าว่า ในภาวะปกติ ที่ร้านของเขาจะมีลูกค้าคืนละประมาณ 50 คน แต่พอมาในช่วงโควิด แม้จะอยู่ในช่วงที่จำหน่ายสุราได้ ก็จะเหลือลูกค้าลดลงมาเรื่อยๆ จาก 50 คน เป็น 30 คน จนมาเหลือประมาณ 10 คน แต่หากห้ามจำหน่ายสุราให้นั่งดื่มในร้าน ร้านแบบเขาก็จะไม่เหลือลูกค้าเลยแม้แต่คนเดียว แม้จะไม่มีคำสั่งปิดก็ตาม
“ผมก็ต้องสู้นะ ผมก็พยายามปรับรูปแบบการขาย ต้องหาเงินมาจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าที่ ต้นทุนต่างๆ อย่างน้อยก็ต้องหาให้ได้เดือนละ 2 หมื่นกว่าๆ แต่ตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา เข้าเนื้อทุกเดือน ผมจึงอยากขอให้เจ้าหน้าที่ที่ตัดสินใจออกมาตรการต่างๆ ช่วยมาดูร้านข้างถนนอย่างเราบ้าง ร้านโอเพนแอร์ (Open Air) คนกลางคืนที่ไม่ใช่กลุ่มผับ-บาร์ อย่างเราก็มี อาจจะช่วยบอกเราได้ว่า มีอะไรที่จะปรับปรุงมาตรการไปด้วยกันได้ ให้เราได้ทำมาหากินต่อไปได้ โดยไม่เป็นภาระให้สังคมด้วย”