xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เอาคุกหอใน! นิสิตจุฬาฯ ประท้วงกักตัวห้ามเข้า-ออก 14 วัน รองอธิการฯ ชี้เสี่ยงสูง หวังสังคมปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นิสิตจุฬาฯ โวยมาตรการหอใน ให้อยู่แต่ในหอพัก ห้ามเข้า-ออก 14 วัน หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในหอพัก 10 ราย โวยเปรียบเหมือนติดคุก อ้างกักตัวเป็นจิตสำนึก ไม่ใช่ข้อบังคับ ด้านรองอธิการบดีแจงห่วงใยนิสิต สังคมปลอดภัย ให้สิทธิอยู่หอหรือกลับบ้านก็ได้ ไม่ได้บังคับ ไม่ใช่คุก หากจะอยู่ที่หอก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด

วันนี้ (14 เม.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @farmphuphat ของนายภูภัชร พัฒนธารธาดา นิสิตคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา อดีตประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์วิดีโอคลิประบุว่า “นิสิตหอตะโกนปราศรัยประท้วงมาตรการกักตัวของหอพักนิสิตจุฬาฯ พร้อมโต้ตอบด้วยเสียง เคาะกะละมังและสิ่งของ นัดหมายรวมตัว 18.00 น. ข้างตึกพุดซ้อน #หอในจุฬาฯ” เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (13 เม.ย.) ที่หอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ขณะเดียวกัน ยังมีการเผยแพร่ภาพแผ่นกระดาษประท้วง ระบุข้อความว่า "นิสิต ไม่ใช่สัตว์ในฟาร์ม" "ห้ามนิสิตเข้าออก โควิดติดเฉพาะนิสิต?" "กักตัวเป็นจิตสำนึก ไม่ใช่ข้อบังคับ" "หอในอำนาจเหนือรัฐ สามารถสั่งล็อกดาวน์ได้" และคำว่า "ไม่เอาคุกหอใน" เป็นต้น"


สืบเนื่องมาจาก หอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกประกาศ เรื่อง แนวทางนิสิตหอพักในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ระบุว่า ตามที่หอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ว่า มีนิสิตหอพักได้รับการตรวจเชื้อโรค COVID-19 มีผลเป็นบวก จำนวน 10 คน เพื่อจำกัดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด หอพักนิสิตจึงขอแจ้งมาตรการดำเนินการของหอพักโดยปิดการเข้า-ออก หอพัก เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ของวันอังคารที่ 13 เมษายน 2564 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันจันทร์ที่ 26 เมษายน 2564 หอพักนิสิตจึงขอประกาศแนวปฏิบัติเพื่อดูแลนิสิตหอพัก ดังนี้

1. การพักอาศัยในพื้นที่หอพัก

1.1 นิสิตที่พำนักในหอพักช่วง วันอังคารที่ 13 เมษายน 2564 ถึงวันจันทร์ที่ 26 เมษายน 2564 นิสิตสามารถดำเนินชีวิตปกติภายในพื้นที่รั้วหอพักเท่านั้น โดยหอพักขอปิดพื้นที่ส่วนกลาง ได้แก่ ห้องคอมมอนในตึกพัก ห้องชมรม โรงยิม และสนามบาสเกตบอล

1.2 นิสิตสามารถซื้ออาหารในโรงอาหารและสามารถนั่งรับประทานในโรงอาหารได้ โดยเว้นระยะห่างตามที่หอพักจัดไว้หรือนำกลับไปรับประทานที่หอพักของตนเอง กรณีสั่งอาหารจากแหล่งอื่น หรือสิ่งของออนไลน์ หอพักกำหนดจุดรับส่งเฉพาะบริเวณหน้าประตูทางเข้าหอพัก ฝั่งถนนพญาไทเท่านั้น โดยนิสิตต้องไปรับของที่สั่งด้วยตนเอง

1.3 นิสิตสแกนนิ้วเข้าขออกตึกพักให้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากห้องพัก หมั่นล้างมือด้วยน้ำและฟอกสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์

1.4 หากนิสิตมีข้อสงสัย หรือมีอาการไข้ อุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ตัวร้อนปวดเนื้อปวดตัว หนาวสั่น มีอาการไอ จาม เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจลำบาก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้ติดต่อหมายเลขโทรศัพท์ 02 218 3649 ในวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00-17.00 น. วันเสาร์-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-17.00 น. หรือทางเพจของคณะกรรมการนิสิตหอพัก

2. กรณีนิสิตที่จะเดินทางกลับมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาเอาของ ระหว่างวันอังคารที่ 13 เมษายน 2564 ถึงวันจันทร์ที่ 26 เมษายน 2564

ขอความร่วมมือนิสิตงดเว้นการเดินทางมายังหอพักในช่วงดังกล่าว หากนิสิตมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะกลับมาเอาของที่หอพัก ให้แจ้งในเพจคณะกรรมการนิสิตหอพักล่วงหน้า 3 วัน และให้เพื่อนร่วมห้องเก็บของให้ หรือหากเพื่อนไม่อยู่ จะมีเจ้าหน้าที่ไปเอาของให้ (ทั้งนี้ ในช่วงวันดังกล่าวอาจมีเจ้าหน้าที่ที่จะให้บริการนิสิตไม่เพียงพอ) จึงขอพิจารณาเป็นรายๆ ไป

3. ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอก เข้า-ออกหอพักทุกกรณี ยกเว้นเจ้าหน้าที่บุคลากร หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหอพักที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอขอบคุณนิสิตหอพักทุกคนที่เข้าใจสถานการณ์และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีเพื่อความปลอดภัยของทุกคน ประกาศ ณ วันที่ 12 เมษายน 2564 ลงชื่อ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี ปฏิบัติการแทนอธิการบดี"

ภายหลัง ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาฯ ชี้แจงว่า เรื่องเด็กหอตามที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น จุฬาฯ ดำเนินการด้วยหลักการห่วงใยนิสิต สังคมปลอดภัย ไม่ได้บังคับ ไม่ใช่คุก เราให้สิทธินิสิตที่จะอยู่ที่หอหรือจะกลับบ้านก็ได้ หากจะกลับบ้าน เนื่องจากชาวหอ เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เพราะห้องน้ำรวมและนอนหลายคนต่อห้อง จุฬาฯ จึงขอตรวจเพื่อให้ชัวร์ว่าปลอดภัย เราห่วงใยอยากให้นิสิตปลอดภัยไม่ต้องการสร้างภาระความเสี่ยงกับสังคม

ทั้งนี้ การตรวจนั้น จุฬาฯ ดำเนินการให้นิสิตโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากจะอยู่ที่หอก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เช่น การซื้ออาหารเข้าไปรับประทานในห้อง การไม่ไปในที่สาธารณะ ทั้งนี้ เพราะหอพักนิสิตมีคนจำนวนมากกว่า 1,000 คน ต้องรับผิดชอบต่อชาวหอคนอื่นๆ

นอกจากนี้ ทาง จุฬาฯ ยังให้การช่วยเหลือด้านอื่นๆ เช่น การประกันโควิด สัญญาณอินเทอร์เน็ตและซิม เพื่อให้นิสิตยังเรียนรู้ได้มากที่สุด อุปกรณ์รักษาความปลอดภัย บริการทำความสะอาด บริการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา ที่พักแยกผู้มีความเสี่ยงสูง และการรักษาพยาบาลหากติดเชื้อ จึงขอให้มั่นใจในความดูแลของจุฬาฯ ขอเป็นกำลังใจ และอยากให้นิสิตทุกคนอดทนในช่วงวิกฤตโควิดนี้ เพื่อให้ตนและคนรอบข้างปลอดภัยไปด้วยกัน










กำลังโหลดความคิดเห็น