และแล้วประเทศไทยก็ต้องต้อนรับเพื่อนบ้านผู้ประสบเคราะห์กรรมอันแสนเข็ญอีก เนื่องจากนักการเมืองในประเทศของตนแย่งชิงอำนาจทางการเมืองกัน ยุยงปลุกปั่นให้แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายจนเกิดการเข่นฆ่ากันเอง เป็นสงครามกลางเมือง ลูกเด็กเล็กแดงและประชาชนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรด้วยก็ต้องพากันหนีตายออกนอกประเทศ และประเทศที่จะบ่ายหน้าไปพึ่งพาอาศัยได้ก็มีอยู่แห่งเดียว คือประเทศไทย ดินแดนแห่งความสงบร่มเย็นและอุดมด้วยข้าวปลาอาหาร ทั้งยังมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์
ฉะนั้นไม่ว่าเขมร ลาว หรือพม่า แม้แต่เวียดนามเมื่อไซ่ง่อนแตก ก็ต้องมุ่งมาไทยทุกครั้งเมื่อเกิดความไม่สงบ
เหตุการณ์ “เขมรแตก” เมื่อ ๔๐ กว่าปีที่แล้วมา ซึ่งเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นโดยพรรคมคอมมิวนิสต์กัมพูชา หรือ “เขมรแดง” ที่มีพรรคคอมมิวนิสต์จีนสนับสนุน กับรัฐบาลสาธารณรัฐเขมรที่มีอเมริกาเป็นลูกพี่ สู้รบกัน ๕ ปีฝ่ายสาธารณรัฐเขมรพ่าย เขมรแดงตั้งประเทศเป็น “กัมพูชาประชาธิปไตย” ประชาชนเรือนแสนก็หนีคอมมิวนิสต์เข้าไทย ต่อมาก็เกิดความอดอยาก ทั้งยังถูกฝ่ายคอมมูนิสต์ด้วยกันจากการสนับสนุนของกองทัพเวียดนามเข้าชิงอำนาจยึดพนมเปญได้
เรื่องสลดใจที่สุดของกัมพูชาในยุคนั้นก็คือ “ทุ่งสังหาร” หรือ “Killing Field” ซึ่งมีมากกว่า ๓๐๐ แห่ง ซึ่งกองกำลังเขมรแดงของ พอลพต ได้ปิดโรงเรียนและธุรกิจทั้งหลาย รวมทั้งโรงพยาบาลและสถานีตำรวจ บังคับให้ทุกคนในเมืองไม่ว่าชาย หญิง หรือเด็กออกจากเมือง แยกครอบครัว แล้วส่งไปคนละทิศคนละทาง ไปใช้แรงงานทำงานอย่างหนักทั้งวันทั้งคืนโดยไม่ได้พักผ่อน จนหมดแรงตายคางานเป็นจำนวนกว่า ๓ ล้านคน จากประชากรกัมพูชา ๘ ล้านคน เป็นเรื่องโด่งดังไปทั่วโลกและถูกสร้างเป็นหนังฮอลลีวูด
เมื่อชาวเขมรอพยพหนีภัยสงครามกลางเมืองหลั่งไหลเข้ามาประเทศไทย ในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๒๒ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในฐานะองค์ประธานสภากาชาดไทย ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชาวเขมรอพยพที่บ้านเขาล้าน ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ทอดพระเนตรเห็นสภาพความอเนจอนาถของชาวเขมรที่ต้องนอนกับพื้นดิน สิ่งปฏิกูลที่ขับถ่ายออกมาเกลื่อนไปทั่ว หลายคนเจ็บป่วยอยู่ในสภาพนอนรอความตาย จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้จัดสร้าง “ศูนย์สภากาชาดไทย” ขึ้นที่บริเวณเขาล้าน พระราชทานความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์
ต่อมาในวันที่ ๑ สิงหาคม สมเด็จพระนางเจ้าฯ พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมศูนย์สภากาชาดเขาล้านอีกครั้ง และทั้งสองพระองค์ยังทรงเสด็จไปอีกหลายครั้งเพื่อติดตามงานของศูนย์สภากาดชาดไทยแห่งนี้ด้วยทรงห่วงใย
ในช่วงสงครามชิงอำนาจในเขมรติดต่อกันหลายปี ได้มีชาวเขมรอพยพเข้ามาในเขตประเทศไทยไม่ขาดสาย ขณะเดียวกันที่ลาวก็ไม่สงบเช่นกัน เกิดสงครามในประเทศระหว่างขบวนการปเทดลาวกับรัฐบาลฝ่ายขวาในการสนับสนุนจาก ซีไอเอ.ของอเมริกา ชายแดนของประเทศไทยที่ติดต่อกับประเทศลาวและเขมรจึงมีคนหนีตายเข้ามาตลอดชายแดนตั้งแต่ภาคเหนือ อีสาน จนสุดภาคตะวันออก แม้จะมีการวางกับระเบิด ทุ่นระเบิดนับแสนลูกตามแนวชายแดนด้านเขมรเพื่อมิให้ชาวเขมรหนีออกนอกประเทศ แต่ก็ไม่อาจขัดขวางคนหนีตายได้ ทุกวันนี้ก็ยังต้องเก็บกู้กันอยู่
รัฐบาลเขมรเฮง สัมรินยังเรียกร้องมายังรัฐบาลไทยให้ปิดชายแดนไม่ให้คนเขมรหนีเข้ามา แต่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งไปเยี่ยมเขมรอพยพที่บ้านคลองหว้า ต.ทับพริก อ.อรัญประเทศได้ตอบนักข่าวว่า เราเป็นประเทศเอกราช ใครจะสั่งมาไม่ได้ เมื่อนักข่าวถามว่าเขาขู่จะตอบโต้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ตอบว่า การเมืองนั้นจะพูดอะไรก็ได้ เราก็โต้ได้เหมือนกัน อย่างเวียดนามเรียกทูตเราไปต่อว่าและอ่านแถลงการณ์โจมตีเรา เราก็เรียกทูตเขามายื่นประท้วงไปเหมือนกัน ส่วนที่เฮง สัมรินกล่าวเตือนมาว่า ไทยอย่าคิดเล่นกับไฟ นายกฯเกรียงศักดิ์ก็บอกว่า “ผมก็บอกเขาว่า ไฟอย่าคิดเล่นกับน้ำก็แล้วกัน”
สภาพค่ายอพยพที่อรัญประเทศก็ไม่ต่างกับที่เขาล้าน จังหวัดตราด คละคลุ้งไปด้วยกลิ่นอุจจาระและปัสสาวะทั่วไปหมด เนื่องจากผู้อพยพปล่อยทั้งทุกข์หนักทุกข์เบาไล่เลือกที่ เจ้าหน้าที่ของศูนย์ได้รายงานนายกรัฐมนตรีว่า ได้สร้างส้วมให้แล้ว แต่ชาวเขมรไม่ยอมเข้า ถนัดแต่ “ไปทุ่ง” เรี่ยราดตามใจตัวเอง เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด นายกรัฐมนตรีจึงสั่งให้ประกาศบังคับทุกคนให้ใช้ส้วมและทิ้งขยะให้เป็นที่ เพื่อสุขภาพของผู้อยู่เอง ถ้าจะใช้วิธีไปทุ่งก็ขอให้ขุดหลุมกลบ และสั่งให้แจกเสียมประจำไว้ทุกครอบครัว ทั้งยังให้รับเด็กที่ไม่มีพ่อแม่เข้ามาดูแลที่กรุงเทพฯด้วย
ตลอดชายแดนไทยตอนนั้นจึงเกลื่อนไปด้วยค่ายอพยพ ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่แถวบ้านโนนหมากมุ่น บ้านหนองจาน บ้านโนนสูง บ้านอ่างศิลา ฯลฯ จากข้อมูลของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และองค์กรบรรเทาทุกข์อื่น การหนีภัยสงครามของชาวกัมพูชาตั้งแต่ปี ๒๕๑๘-๒๕๒๗ มีค่ายผู้อพยพหลักและค่ายย่อยไม่น้อยกว่า ๖๐ แห่งตลอดแนวชายแดนที่ติดกับกัมพูชา ค่ายที่ถูกกล่าวถึงมากสุดคือ เขาอีด่าง ต.ตาพระยา อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ซึ่งแบกรับเขมรอพยพไว้กว่า ๒ แสนคน เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลสนามที่องค์การระหว่างประเทศรวมทั้งกาชาดสากลให้การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย และต้องดูแลกันนานร่วม ๑๐ ปี ก่อนจะมีประเทศที่ ๓ ช่วยรับไปต่อหรือส่งกลับไปประเทศของตัวเมื่อเหตุการณ์สงบ
นี่ก็เป็นเรื่องที่เราต้องแบกรับเพื่อมนุษยธรรม ไม่สามารถแล้งน้ำใจที่จะปฏิเสธได้ ตอนนี้ก็ต้องรับอีกจากพม่า ตั้งแต่โควิด ๑๙ เป็นต้นเหตุจนถึงสงครามกลางเมือง
แต่ก็โชคดี ยังไม่มีเหตุการณ์ที่คนไทยต้องอพยพหนีตายออกนอกประเทศ แต่ไม่ใช่เพราะการเมืองของเรามีแต่คนดี ไม่มีคนมักใหญ่ใฝ่สูงที่คิดแย่งอำนาจเพื่อหวังกอบโกย เรามีการเผาบ้านเผาเมืองเหมือนบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแปมาแล้ว แต่คนส่วนใหญ่ยังมีปัญญาแยกแยะความดีความชั่วได้ออก มีสติไม่หลงไปกับการถูกปั่นหัว คนที่ต้องหนีออกจากประเทศไทยจึงมีแต่คนโกงและคนเห็นผิดเป็นชอบเท่านั้น