กรุงเทพฯได้ชื่อว่าเป็น “เวนิชตะวันออก” เช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยา เพราะมีคลองอยู่ทั่วไปในเมือง เมื่อเริ่มมีการตัดถนนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ ซึ่งใช้วิธีขุดคลองคู่ไปกับถนน เพื่อเอาดินมาถมเป็นถนนและยังได้คลองใช้ประโยชน์ทางเรือและใช้น้ำด้วย จึงมีการสร้างสะพานขึ้นเพื่อให้เชื่อมถนนโยงไยถึงกัน แต่เมื่อการใช้รถใช้ถนนได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งยังมีประปาเกิดขึ้นด้วย คลองก็หมดความหมาย คลองริมถนนจึงถูกถมเพื่อขยายพื้นผิวจราจรทางบก ส่วนคลองเล็กหลายคลองก็ถูกถมเป็นถนนด้วย สะพานข้ามคลองจึงถูกทุบทิ้งไปเป็นจำนวนมาก
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า วันเฉลิมพระชนมพรรษาที่ผ่านๆมา ทรงพระราชทานเงินเป็นทานเท่ากับวันในพระชนมายุวันละ ๑ สลึง แต่เงินที่พระราชทานนี้จะเป็นคุณเฉพาะผู้ได้รับพระราชทานเท่านั้น ไม่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม จึงเปลี่ยนเป็นพระราชทานเงินนี้ให้แก่กระทรวงนครบาล เพื่อเป็นทุนสร้างสะพานข้ามคลองในกรุงเทพฯให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป ถ้าเงินที่พระราชทานไม่เพียงพอกับการสร้าง ให้กระทรวงนครบาลจัดงบประมาณสมทบ โดยเริ่มตั้งแต่ปี ๒๔๓๘ เป็นต้นไป
สะพานพระราชทานนี้จะมีคำว่า “เฉลิม” นำหน้า ลงท้ายด้วยตัวเลขพระชนมายุในปีนั้น เรียกกันว่า “สะพานชุดเฉลิม” มีทั้งหมด ๑๗ สะพาน
สะพานแรกข้ามคลองบางขุนพรหมที่ถนนสามเสน เป็นสะพานขนาดใหญ่ ใช้เครื่องเหล็กหล่อสั่งนอก พระราชทานนามว่า “ตะพานเฉลิม ๔๒” ยังไม่มีชื่ออื่นอีกนอกจากตัวเลข มาเพิ่มชื่อขึ้นในปี ๒๔๔๔ เป็นต้นไป จนถึงสะพานสุดท้ายใน พ.ศ.๒๔๕๖ เชื่อมถนนพระอาทิตย์กับถนนราชินีที่ปากคลองคูเมืองเดิมด้านเหนือ แต่เสด็จสวรรคตเสียก่อนสร้าง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงสร้างตามพระราชดำริของพระบรมราชชนก และเสด็จพระราชดำเนินเปิดในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๖พระราชทานนามว่า “สะพานเฉลิมสวรรค์ ๕๘”
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงสืบทอดพระราชนิยมการสร้างสะพานวันเฉลิมพระชนมพรรษาเช่นเดียวกับพระบรมราชชนก แต่เปลี่ยนคำว่า “เฉลิม” เป็นคำว่า “เจริญ” เริ่มด้วย “สะพานเจริญรัช ๓๑” ข้ามคลองคูเมืองเดิมที่ปากคลองตลาด รวมมีแค่ ๖ สะพาน
นอกจากนี้ยังมีพระบรมวงศานุวงศ์สนองตามพระราชนิยม สร้างสะพานในวันประสูติขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก เพราะขณะนั้นสะพานเป็นสิ่งที่บ้านเมืองต้องการอย่างมาก
สะพานเหล่านี้ไม่ใช่สร้างเพื่อแค่ให้รถและคนข้ามได้เท่านั้น ยังออกแบบให้งดงาม มีสถาปนิกชาวตะวันตกที่เข้ามามากในยุคนั้น เป็นผู้ออกแบบไว้เป็นส่วนใหญ่ หลายสะพานราวสะพานเป็นเหล็กดัดลวดลายสวยงามสั่งทำมาจากยุโรป แม้แต่สะพานที่ก่ออิฐถือปูน พนักราวสะพานที่ติดชื่อสะพานและมีสัญลักษณ์ของท่านผู้สร้าง ก็ออกแบบไว้อย่างสวยงามเช่นกัน
แต่เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น คลองจึงหมดความหมาย แม้แต่คลองที่ประกาศไว้ให้เป็นคลองอนุรักษ์ อย่างคลองอรชร ก็ถูกถมเป็นถนนอังรีดูนังต์ สะพานข้ามคลองก็ถูกรื้อไปด้วย สะพานชุดเฉลิมหายไปเกือบทั้งหมด เหลือคงรูปเดิมเพียงสะพานเดียว คือ เฉลิมโลก ๕๕ ที่ประตูน้ำ ส่วนเฉลิมหล้า ๕๖ หรือที่เรียกกันว่า “สะพานหัวช้าง” ข้ามคลองแสนแสบที่ถนนพญาไท เหลือรูปแบบเดิมไว้ แต่ขยายกว้างออกไปตามถนน สะพานเฉลิมพันธ์ ๕๓ ที่หน้าวัดไตรมิตรถูกรื้อออกไปเพราะคลองวัดสามจีนถูกถม แต่ย้ายเอาไปใช้ใหม่ข้ามคลองสาธรที่ใต้สะพานสาธร นอกนั้นสาบสูญไป บางแห่งแม้คลองยังอยู่ แต่สะพานก็ถูกรื้อออก สร้างใหม่เป็นพื้นราบไปกับถนน
ส่วนสะพานชุดเจริญ ๖ สะพาน ขาดหายไปเพียงสะพานเดียว คือสะพานเจริญทัศน์ ๓๕ ข้ามคลองวัดสุทัศน์ที่ถนนบำรุงเมือง หายไปกับคลองด้วย
นอกจากนี้สะพานที่พระบรมวงศานุวงศ์ทรงสร้างอุทิศไว้ ก็หายไปด้วยเช่นกัน ซึ่งก็เป็นธรรมดาของยุคสมัยที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่ที่ไม่น่าธรรมดาก็คือ สะพานโบราณเหล่านี้นอกจากจะเป็นสมบัติของชาติแล้ว ยังเป็นศิลปะที่สวยงามและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สะพานพระราชทานในสมัยรัชกาลที่ ๕ ส่วนใหญ่เป็นเหล็กดัด ตรงกลางเป็นแผ่นเหล็กจารึกชื่อสะพานและพระปรมาภิไธย แม้จะรื้อออกไปตามความจำเป็น ก็ไม่น่าจะเป็นเศษเหล็กธรรมดา ส่วนพนักราวสะพานคอนกรีตก็เช่นกัน ไม่ใช่เศษอิฐเศษปูน
ที่อยากจะรู้กันก็คือ ตอนนี้อยู่ที่ไหน...
เคยมีข่าวว่า สะพานอุรุพงษ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงสร้างด้วยเงินส่วนพระองค์ อุทิศเป็นส่วนกุศลในวันประสูติของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช พระราชโอรส ที่เชิงสะพานมีพระรูปของพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภชแกะสลักด้วยหินอ่อนอยู่ทั้งสองฝั่ง เมื่อตอนที่ถูกรื้อกลายเป็นสี่แยกอุรุพงษ์ในขณะนี้ ทายาทในสายราชสกุลของพระองค์ได้ทำหนังสือขอส่วนต่างๆของสะพานไปเก็บไว้เป็นที่ระลึกของวงศ์ตระกูล ซึ่งกระทรวงมหาดไทยก็อนุญาต แต่นอกนั้นไร้ร่องรอย
เคยมีข่าวว่า กทม.จะนำสะพานเฉลิมสวรรค์ ๕๘ ซึ่งเคยอยู่ที่ปากคลองคูเมืองเดิมตอนใต้สะพานพระปิ่นเกล้าในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสะพานที่สวยงามมาก ไปสร้างใหม่ในสวนลุมพินี แต่แล้วก็เงียบหาย
หากนำสะพานที่ถูกรื้อเหล่านี้ไปเก็บรวบรวมไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ ก็จะเป็นประโยชน์ได้อีก ทำให้เกิดความภูมิใจในรากเหง้าของเราได้มาก
หวังว่าคงไม่เลวร้ายถึงกับขายเป็นเศษเหล็กและทุบเป็นเศษปูนไปหมดแล้ว