xs
xsm
sm
md
lg

อุทยานฯ เผยภาพน่ารัก “เจ้าขุนไกร” ลูกเลียงผาพลัดหลงแม่ แข็งแรงอยู่ในเกณฑ์ปกติ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุทยานฯ เผยความคืบหน้าการดูแล​ “เจ้าขุนไกร” ลูกเลียงผาพลัดหลง ระบุพฤติกรรมการกินนมยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ยังไม่ถึงระดับดีมาก อาจจากสภาพอากาศที่ร้อนรจัด เตรียมคัดเลือกแม่แพะที่กำลังตั้งท้องใกล้คลอดมาตรวจสุขภาพเตรียมตัวเป็นแม่เลี้ยงลูกเลียงผาต่อไป

จากกรณี เจ้าหน้าที่พบลูกเลียงผาเพศผู้พลัดหลงแม่ถูกพบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้าราม บริเวณป่าห้วยบึงบอน จึงได้เฝ้าระวังความปลอดภัยเพื่อรอแม่เลียงผากลับมารับ แต่แม่เลียงผาไม่กลับมา และลูกเลียงผามีความเชื่องเดินตามเจ้าหน้าที่ กลับมาจนถึงหน่วยพิทักษ์ป่าวังชมภู ต.กลางดง อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ปรึกษาสัตวแพทย์สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่​ 14 (ตาก) ซึ่งสัตวแพทย์เห็นควรให้นำมาอนุบาลต่อที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้ารามก่อน เพื่อเตรียมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ​ ต่อมา นายวิรุฬ พรรณเทวี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ได้เข้าตรวจเยี่ยมลูกเลียงผาพร้อมสอบถามการดูแลจากเจ้าหน้าที่ โดยได้ตั้งชื่อลูกเลียงผาว่า “ขุนไกร” ตามที่เคยนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

วันนี้ (24 มี.ค.) เพจ “ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” ได้โพสต์ระบุว่า “สพ.ญ.สุภกานต์ แก้วโชติ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ประจำ สบอ.14 (ตาก) เปิดเผยถึงการดูแลลูกเลียงผาพลัดหลง ว่า​ “ขุนไกร” ลูกเลียงผาปัจจุบันน้ำหนักอยู่ที่​ 6​ กิโลกรัม​ จากเดิมหนัก​ 4.7 กิโลกรัม​ ในตอนกลางวันอากาศร้อนจัด เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้าราม ได้ดำเนินการติดสปริงเกอร์เพื่อรดบนหลังคาและพื้นดินระหว่างวันเพื่อลดอุณหภูมิ และปรับสะแลนให้อากาศถ่ายเทได้มากขึ้น ซึ่งช่วยให้อุณหภูมิภายในคอกดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในคอก และเพิ่มถาดน้ำยาฆ่าเชื้อจุ่มเท้าก่อนเข้าคอกทุกครั้ง เน้นการทำความสะอาดขวดนมและจุกนมด้วยการนึ่งฆ่าเชื้อทุกครั้ง และกำชับไม่ให้ใช้นมแพะที่เปิดกระป๋องนานกว่า 3 ชม. โดยให้กินนมปริมาณขั้นต่ำ 1500-1600 ml/วัน โดยป้อนทุกๆ 4-5 ชม. และกระตุ้นให้ขับถ่ายทุกครั้งหลังกินนม และให้มีการจดบันทึกการกินนม การขับถ่าย อุณหภูมิร่างกายของลูกเลียงผาทุกวันและส่งรายงานให้สัตวแพทย์ช่วยประเมินในการดูแลทุกๆ เช้าของวันถัดไป หากสภาพอากาศร้อนจัด ถ้าวัดอุณหภูมิร่างกายได้มากกว่า 39 องศาเซลเซียส ให้ดำเนินการเช็ดตัว และทำอ่างแช่ได้ไม่เกิน 15-30 นาที ทั้งนี้ จากพฤติกรรมการกินนมยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ยังไม่ถึงระดับดีมาก อาจเนื่องมาจากสภาพอากาศที่ร้อนระหว่างวัน

ในส่วนของการคัดเลือกแม่แพะ ได้ดำเนินการสอบถามฟาร์มเลี้ยงแพะในพื้นที่เพิ่มเติมอีก 2 ฟาร์ม ซึ่งเกษตรกรได้แจ้งว่าพฤติกรรมของแม่แพะมักจะไม่เลี้ยงลูกที่ไม่ใช่ลูกตัวเอง อาจจะต้องทำการเลือกแม่ที่กำลังตั้งท้องใกล้คลอดมาตรวจสุขภาพเตรียมตัวเป็นแม่เลี้ยงลูกเลียงผา ซึ่งการเลือกแม่แพะจะเลือกในฟาร์มที่มีการจัดการที่ดี มีการทำวัคซีนและถ่ายพยาธิภายในฟาร์ม โดยจะเตรียมเลือกแม่แพะมาตรวจโรค ถ้าผลเลือดผ่านจะนำมาเตรียมดูแลภายในพื้นที่ ขสป. (คาดว่าใช้เวลาไม่เกินหนึ่งเดือนครึ่ง)

สำหรับ การวางแผนเลี้ยงดูลูกเลียงผาจะดูแลจนกว่าลูกเลียงผาจะเริ่มกินอาหารหยาบ เช่น ยอดไม้ ใบไม้ ได้เอง น่าจะประมาณ​ 5-6 เดือน แล้วจะพิจารณาปล่อยในพื้นที่ ขสป.ถ้ำเจ้าราม ที่เหมาะสมต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น