1.“เพนกวิน” ลั่นอดข้าวจนกว่าได้ประกันตัว แต่ใบเสร็จว่อนสั่งอาหารตุนเพียบ ด้าน “ธนาธร” ปลุกมวลชนไปสนามหลวง!
ความคืบหน้ากรณีพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎรเป็นจำเลยกรณีร่วมกันชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง ที่มีการปักหมุดคระราษฎร 2563 ด้วย ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นฯ มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำลายโบราณสถานฯ ทำให้เสียทรัพย์ ฯลฯ โดยในส่วนของจำเลยที่ 1-3 คือ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกูล หรือรุ้ง, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน มีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย
ซึ่งต่อมา ศาลอนุญาตให้จำเลยประกันตัว ยกเว้น น.ส.ปนัสยา, นายภาณุพงศ์ และนายจตุภัทร์ ที่ไม่ให้ประกันตัว เนื่องจากพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ถ้าอนุญาตปล่อยตัว จำเลยจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้องหรือไปก่อเหตุอันตรายอื่นอีก จึงยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม ทางญาติและทนายได้พยายามขอประกันตัวจำเลยทั้งสาม รวมถึงนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ที่ยังไม่ได้รับการประกันตัวเช่นกัน แม้ทนายจะขนอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยศิลปากรบางคนมายืนยันต่อศาลเมื่อวันที่ 12 มี.ค.ว่า จำเลยอยู่ระหว่างช่วงสอบ จึงควรได้สิทธิประกันตัวเพื่อไปสอบก็ตาม แต่ศาลยืนยันไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
ต่อมา เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ศาลอาญาได้นัดตรวจพยานหลักฐานคดีชุมนุมปักหมุดท้องสนามหลวง ซึ่งภายหลัง นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง แกนนำเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี หนึ่งในจำเลย เผยว่า ภายในห้องพิจารณาคดี นายพริษฐ์ได้ขออนุญาตแถลงต่อศาลถึงความอึดอัดที่อยู่ในใจ แต่ศาลไม่อนุญาตให้พูดในที่เปิดเผย จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัว จึงเกิดความวุ่นวายขึ้น และว่า นายพริษฐ์ได้ประกาศขอประท้วงด้วยการอดข้าว ดื่มแต่น้ำ จนกว่าจะได้รับการประกันตัว ขณะที่มวลชนที่เข้าไปร่วมฟังการพิจารณาได้กรีดร้องและขว้างขวดน้ำลงพื้น เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวนายพริษฐ์และจำเลยลงไปควบคุมที่ห้องควบคุมจำเลย
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังนายพริษฐ์ประกาศจะอดข้าวประท้วงจนกว่าจะได้ประกันตัว ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 17 มี.ค. โลกโซเชียลได้มีการแพร่ภาพใบเสร็จการซื้อสินค้าของนายพริษฐ์ที่ซื้ออาหารและขนมต่างๆ หลายรายการเป็นเงินหลายร้อยบาทจากร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยมีทั้งใบเสร็จของวันที่ 17 มี.ค. และวันที่ 15 มี.ค. เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, โจ๊กคัพ, นม, น้ำอัดลม, ปลากระป๋อง, หอยลาย, หมูหยอง, กล้วยตาก ฯลฯ ส่งผลให้กระแสโซเชียลตั้งคำถามอย่างกว้างขวางว่า นี่หรือคือการอดข้าวประท้วง?
มีรายงานว่า หลังจากนายพริษฐ์ได้อ่านแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ประกาศอดอาหารที่ศาลยังไม่ให้ประกันตัว โดยเหยียบเก้าอี้อ่านแถลงการณ์ประท้วง ในห้องพิจารณาคดี 701 จนทำให้มวลชนกรีดร้องและขว้างขวดจนเกิดความวุ่นวายไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ซึ่งไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน ศาลอาญาได้ตั้งเรื่องเพื่อจะไต่สวนความผิดนายพริษฐ์ ฐานละเมิดอำนาจศาล กรณีประพฤติตนไม่เรียบร้อยในห้องพิจารณาคดี โดยนัดไต่สวนในวันจันทร์ที่ 22 มี.ค. นี้ เวลา 13.30 น. ซึ่งจะมีการเบิกตัวนายพริษฐ์ มาศาลเพื่อไต่สวนด้วย
ด้านกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “REDEM” แนวร่วมของเยาวชนปลดแอกได้นัดชุมนุมที่ท้องสนามหลวงในวันนี้ (20 มี.ค.) ตั้งแต่เวลา 18.00-21.00 น. ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ต้องนำอุปกรณ์ทั้งลวดหนามและตู้คอนเทนเนอร์มาตั้ง เนื่องจากอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง
เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้าจะถึงเวลาชุมนุม นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้ทวีตข้อความและภาพผ่านทวิตเตอร์ ปลุกประชาชนให้มารวมตัวกันที่สนามหลวง โดยภาพเป็นภาพนายธนาธรถือสเก็ตบอร์ตที่สกรีนคำว่า #SAVETHAIDEMOCRACY เผด็จการต้องจบที่รุ่นเรา ตัวการ์ตูนชู 3 นิ้ว โลโก้คณะก้าวหน้า ส่วนข้อความระบุว่า “ขอเชิญชวน “ราษเก็ต” ทั่วทุกหมู่เหล่า มารวมตัวกันเย็นนี้ที่สนามราษฎร์ หกโมงเย็นถึงสามทุ่ม ใช้เสรีภาพและศิลปะของเราวาดลวดลายแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ ส่งสารของพวกเราดังๆ ว่า “ปล่อยเพื่อนเรา” #คณะราษเก็ต #ม็อบ20มีนา"
2.สภาโหวตคว่ำร่างแก้ รธน.วาระ 3 ส.ส.-ส.ว.งดออกเสียง-ไม่ลงคะแนนเพียบ กลัวขัดคำวินิจฉัยศาล รธน.!
สถานการณ์การเมืองสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติก่อนว่า อยากจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หากต้องการให้มี เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้งว่าเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ปรากฏว่า ส.ส.พรรคต่างๆ และ ส.ว. ต่างตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปคนละทางว่า ควรทำอย่างไรกับการลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเข้าสภาในวันที่ 17 มี.ค.
ซึ่งเมื่อถึงกำหนด ได้มีประชุมร่วมรัฐสภา สมัยวิสามัญ โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเป็นประธาน ก่อนเปิดให้สมาชิกแสดงความเห็นว่า จะเดินหน้าต่ออย่างไรหลังรับทราบคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อภิปรายว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนออยู่ในสภา ศาลวินิจฉัยว่า นอกจากเป็นการร่างใหม่แล้ว ยังเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย จึงชัดเจนว่า การโหวตวาระ 3 เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 5 กระทำไม่ได้ ซึ่งฝ่ายกฎหมายของสภาก็มีความเห็นทำนองเดียวกัน ดังนั้น เมื่อรัฐสภาไม่สามารถลงมติวาระ 3 ได้ จะเก็บไว้ก็ไม่ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ถ้าจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เห็นว่าต้องเริ่มต้นโดยรัฐสภาเสนอญัตติขอจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อรัฐสภาเห็นชอบ จึงส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อออกเสียงประชามติ หากมีการดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าประชาชนออกเสียงให้จัดทำ รัฐสภาเท่านั้นมีอำนาจทำได้โดยตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา แต่ไม่สามารถตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาดำเนินการได้
ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.อภิปรายว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่สภามอบอำนาจเด็กขาดให้ ส.ส.ร.ไปจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยังไม่มีการทำประชามติก่อนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องตกไปโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะที่นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายว่า ไม่มีข้อความใดในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุไม่ให้ลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 สิ่งที่อ้างว่าลงมติวาระ 3 ไม่ได้ เป็นแค่ความเห็นของฝ่ายกฎหมาย ส.ส.และ ส.ว. ถ้าไม่อยากให้แก้ ก็บอกมาตรงๆ ว่าไม่อยากให้แก้
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายว่า เห็นควรให้รัฐสภามีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้งในประเด็นต่างๆ ซึ่งไม่ได้ต้องการเตะถ่วงหรือประวิงเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะจุดยืนของตนและพรรค ปชป.ต้องการเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ขณะที่นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา อภิปรายว่า ขอให้เลื่อนการลงมติ วาระ 3 หรือแขวนไว้ออกไปก่อน เพื่อความชัดเจน จากนั้นหาข้อสรุปเชิงข้อกฎหมายให้ชัดเจนว่า สถานะปัจจุบันของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร และต้องดำเนินการอย่างไร
หลังจากเปิดให้แสดงความคิดเห็นกันอย่างต่อเนื่อง ในที่สุด นายชวน กล่าวว่า ฝ่ายเลขาธิการสภาฯ รวบรวมญัตติเป็น 3 ญัตติ คือ 1.ญัตติของนายสมชายที่ขอให้ที่ประชุมมีมติว่า ไม่ให้มีการพิจารณาลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 เพราะขัดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 2.ญัตติของนายจุรินทร์ที่ขอให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา 3.ญัตติของนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.สงน่าน พรรคเพื่อไทย ที่ขอให้พิจารณาตามระเบียบวาระ คือ ลงมติวาระ 3
อย่างไรก็ตาม ได้เกิดข้อถกเถียงกันอีกครั้งว่า แต่ละญัตติสามารถลงมติได้หรือไม่ เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างที่อภิปรายแสดงความเห็นกันอยู่นั้น ได้เกิดเสียงสัญญาณเตือนไฟไหม้ดังไปทั่วอาคารรัฐสภา จนเกิดความแตกตื่น ซึ่ง ส.ส.หลายคนต่างลุกขึ้นยืนอย่างตื่นตระหนก ขณะที่นายชวน ได้พูดติดตลกว่า “สงสัยอภิปรายกันจนน้ำไหลไฟดับ” ซึ่งสัญญาณเตือนดังกล่าวดังอยู่ประมาณ 2 นาทีจึงหยุด จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ คาดว่า อาจเกิดจากมีคนสูบบุหรี่ใกล้เครื่องจับสัญญาณ ทำให้สัญญาณเตือนไฟไหม้ดังขึ้น
หลังที่ประชุมไม่สามารถหาข้อสรุปเรื่องการลงมติญัตติต่างๆ ได้ ได้มีการพักการประชุม และเมื่อกลับมาประชุมอีกครั้ง นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร.ได้เสนอญัตติใหม่ โดยให้ที่ประชุมดำเนินการตามระเบียบวาระเป็นเรื่องเร่งด่วน และมีผู้รับรองญัตติถูกต้อง ด้าน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ถ้าสภารับญัตติของนายไพบูลย์ จะทำให้ญัตติ 3 ข้อแรกนั้นตกไป นายชวนจึงให้ญัตตินายไพบูลย์ต่อท้ายจาก 3 ญัตติแรก แต่ นพ.ชลน่านยืนยันว่า ทำไม่ได้ เพราะต้องโหวตญัตตินายไพบูลย์
จากนั้นจึงเปิดให้ลงมติญัตตินายไพบูลย์ ผลปรากฏว่า มีผู้เห็นด้วยกับการรับญัตติของนายไพบูลย์ 473 เสียง ไม่เห็นด้วย 127 เสียง งดออกเสียง 39 เสียง ไม่ลงมติ 5 เสียง ทำให้นายชวน ต้องเปิดให้ลงคะแนนในวาระ 3 โดยการขานชื่อเป็นรายบุคคล หลังจากนั้น ส.ส.พรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา ได้วอล์กเอาต์
เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างขานชื่อเพื่อลงคะแนนต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 นอกจาก ส.ส.พรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาได้วอล์กเอาต์ ปรากฏว่า ส.ว.หลายคนก็ไม่ได้อยู่ร่วมโหวตในห้องประชุม ขณะที่ ส.ส.และ ส.ว.ที่อยู่ในห้องประชุมบางส่วนเลือกงดออกเสียง และไม่ประสงค์ลงคะแนนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเกรงว่า หากโหวตไป จะมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ซึ่งผลการลงมติ ปรากฏว่า มี ส.ส.เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระ 3 จำนวน 208 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง งดออกเสียง ส.ส.94 เสียง ไม่ประสงค์ลงคะแนน 136 เสียง เมื่อผู้เห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ 737 คน หรือ 369 คน จึงถือว่า รัฐสภาไม่เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ส่งผลให้ร่างดังกล่าวเป็นอันตกไป
3. ผู้ว่าฯ สมุทรสาครออกจาก รพ.แล้ว ขอบคุณทุกกำลังใจ พร้อมทำงานจากบ้านพัก จนกว่าจะหายดี ด้าน "บิ๊กตู่" ฉีดวัคซีนแล้ว!
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเกิดคลัสเตอร์ใหม่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ตลาดบางแค กทม. ซึ่งเป็นตลาดใหญ่และมีตลาดย่อยๆ 6 แห่งเรียงติดกัน ประกอบด้วย 1. ตลาดสิริเศรษฐนนท์ (แสงฟ้าเก่า) 2. ตลาดศูนย์การค้าบางแค 3. ตลาดกิตติ 4. ตลาดภาสม 5. ตลาดใหม่บางแค 6. ตลาดวันเดอร์ จึงได้มีการตรวจเชิงรุกที่ตลาดบางแค โดยแจ้งให้ผู้ที่เคยเดินทางไปตลาดบางแคทั้ง 6 ตลาดดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ.-13 มี.ค. ลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการตรวจว่าติดโควิด-19 หรือไม่
ด้าน พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แถลงเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ว่า ผู้ติดเชื้อรายแรกของตลาดบางแค เป็นชายอายุ 21 ปี มีแผงขายไก่และไข่ไก่ 4 แผงในตลาดวันเดอร์ เป็นเจ้ามือแชร์ จึงเดินไปรอบๆ ตลาดเพื่อเก็บเงิน มีอาการครั้งแรกวันที่ 1 มี.ค. มีไข้ ไอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส สำหรับตลาดวันเดอร์มี 2 ส่วนติดกัน โดยส่วนหนึ่งเชื่อมกับห้างสรรพสินค้าวันเดอร์ และมีทางออกเชื่อมตลาดใกล้เคียง 6 ตลาด
“จากการเข้าไปสอบสวนโรคพบว่า 6 ตลาดพื้นที่ติดกันมีความแออัดพอสมควร เฉพาะตลาดวันเดอร์มีมากถึง 1,000 แผงค้า พ่อค้าแม่ค้าลูกจ้าง 1,200 คน ในตลาด มีทางเข้าออกเชื่อมต่อหลายทาง มาตรการคัดกรองอุณหภูมิเข้าออกตลาดอาจย่อหย่อน พื้นที่ใต้ถุนภายใต้ห้างเป็นพื้นที่ค่อนข้างเตี้ย ไม่มีการระบายอากาศ พฤติกรรมคนในตลาดก็ชัดเจน ไม่มีการสวมหน้ากากหรือสวมผิดวิธี เคี้ยวหมาก ตะโกน บ้วนน้ำลายลงพื้นที่”
ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ได้นำรถพระราชทานไปให้บริการตรวจคัดกรองเชิงรุกหาเชื้อโควิด-19 ให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 6 ตลาดย่านบางแค และพื้นที่ใกล้เคียง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย บริเวณสวนสาธารณะข้างเดอะมอลล์บางแค โดยมีประชาชนไปรอรับการตรวจเป็นจำนวนมาก จึงขยายวันให้บริการไปจนถึงวันที่ 26 มี.ค.นี้
สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด จากการตรวจหาเชิงรุกในตลาดวันเดอร์ ตลาดคลองขวาง และชุมชนใกล้เคียง ในพื้นที่เขตบางแค ตั้งแต่วันที่ 11-18 มี.ค. จำนวน 12,371 ราย พบผู้ติดเชื้อทั้งหมดจำนวน 367 ราย ไม่ติดเชื้อ 9,569 ราย และรอผลตรวจอีก 2,435 ราย
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.ได้พิจารณาขยายกลุ่มการให้วัคซีนโควิด ซึ่งเดิมฉีดให้เฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคเรื้อรัง 7 โรคที่รักษาอยู่ใน รพ.พื้นที่เสี่ยงติดกับ จ.สมุทรสาคร 6 เขต ฯลฯ มาฉีดให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาด เช่น ที่ตลาดบางแค โดยฉีดตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.เป็นต้นไป จนกว่าจะหมดกลุ่มเสี่ยง โดยเตรียมวัคซีนไว้ 6,000 ราย
ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะรัฐมนตรี ได้เลื่อนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากวันที่ 12 มี.ค.ออกไปตามคำแนะนำของคณะแพทย์ หลังพบรายงานข่าวว่า ประเทศเดนมาร์ก และ 6 ประเทศในยุโรป สั่งระงับการฉีดวัคซีนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากพบว่ามีผู้รับวัคซีนเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันนั้น
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 16 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีบางคน ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแอสตร้าเซนเนก้าเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ที่ฉีดให้คือ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าครั้งแรกของไทย หลังจากที่องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า วัคซีนมีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนไทย
สำหรับรัฐมนตรีที่อายุมากกว่า 60 ปี จะฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ส่วนรัฐมนตรีที่อายุต่ำกว่า 60 ปี จะฉีดวัคซีนของซิโนแวค อย่างไรก็ตาม มีรัฐมนตรีหลายคนที่ประสงค์จะฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ โดยให้เหตุผลว่า “อายุมากแล้ว” ส่วน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เหตุผลว่า “กำลังเตรียมตัวจะมีบุตร”
ด้านประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 19 มี.ค. ได้มีมติขยายการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั่วประเทศ เพื่อควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ออกไปอีก 2 เดือน จากเดิมที่จะหมดอายุในวันที่ 31 มี.ค. เป็นวันที่ 31 พ.ค.
นอกจากนี้ ยังให้จัดเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ได้ตามประเพณีทางศาสนา การสรงน้ำพระ และการดน้ำดำหัวขอพระผู้ใหญ่ ตามประเพณีนิยม หรือตามรูปแบบที่กระทรวงวัฒนธรรมกำหนด ประชาชนสามารถเดินทางท่องเที่ยว และเดินทางข้ามจังหวัดได้ แต่ให้งดกิจกรรมรวมกลุ่มสาดน้ำ งดจัดคอนเสิร์ต งดกิจกรรมสัมผัสใกล้ชิด งดประแป้ง ปาร์ตี้โฟม ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ วันเดียวกัน (19 มี.ค.) ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล แถลงว่า หลังจากได้ให้การรักษานายวีระศักดิ์ วิจิตรแสงศรี ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ซึ่งติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค. 2563 จนอาการดีขึ้น ขณะนี้นายวีระศักดิ์สามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ โดยวันนี้คณะนายแพทย์จากศิริราชจะร่วมเดินทางไปส่งผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาครด้วย
เป็นที่น่าสังเกตว่า นายวีระศักดิ์ วิจิตรแสงศรี ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ได้เดินเข้ามายังห้องแถลงข่าวด้วยตัวเอง โดยเดินเซบ้าง และต้องมีแพทย์กับลูกสาวคอยช่วยเหลือบ้าง ก่อนกล่าวเปิดใจว่า การป่วยจากโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คิด โดยชีวิตอยู่ระหว่างความเป็นความตายในสภาพไม่รู้สึกตัวเลย 42 วัน กระทั่งอาการดีขึ้นมากจนตัวเองก็ยังแปลกใจ พร้อมขอบคุณทีมแพทย์พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน ที่ทุ่มเทรักษาจนหายดี ขอบคุณประชาชนทุกคน รวมทั้งภรรยาและลูกสาว ที่ให้กำลังใจ
หลังจากนี้ จะเดินทางกลับจังหวัดสมุทรสาคร และเริ่มต้นทำงานแก้ปัญหาโควิด-19 โดยจะทำงานจากที่บ้านพัก ทั้งที่ จ.สมุทรสาคร และที่บ้านเกิด จ.อ่างทอง จนกว่าร่างกายจะหายดี คาดว่า ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน น่าจะสามารถลงพื้นที่ได้ พร้อมขอให้อาการป่วยของตัวเองเป็นกรณีศึกษา เป็นบทเรียน โดยเฉพาะเรื่องของการสวมหน้ากากอนามัย เพราะตั้งแต่ที่ติดเชื้อและล้มป่วย มีเพียงภรรยาคนเดียวเท่านั้นที่รับเชื้อไป แต่คนใกล้ชิด เลขาฯ คนขับรถ หรือคนที่ทำงานใกล้ชิดกัน ไม่ได้รับเชื้อไปเลย
4. ศาลฎีกาพิพากษาประหาร “บังฟัต” กับพวกทั้ง 7 คน คดีฆ่าโหดยกครัว 8 ศพ ด้านญาติเตรียมถวายฎีกาขอลดโทษ!
ความคืบหน้าคดีนายซูริก์ฟัต บ้านนบวงศ์สกุล หรือบังฟัต อายุ 41 ปี พร้อมพวกรวม 8 คน แต่งกายคล้ายทหารบุกเข้าไปก่อเหตุสังหารโหด นายวรยุทธ สังหลัง หรือผู้ใหญ่บัติ อายุ 46 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.บ้านกลาง อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ พร้อมครอบครัวเสียชีวิตรวม 8 ศพ ที่บ้านเลขที่ 14/3 หมู่ 1 ต.บ้านกลาง เมื่อคืนวันที่ 10 ก.ค. 2560
ซึ่งต่อมา ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิตจำเลยที่ 1-6 คือ บังฟัต และพวกอีก 5 คน คือ นายประจักษ์ บุญทอย, นายธนชัย จำนอง, นายอรุณ ทองคำ, นายอับดุลเลาะ ดอเลาะ และนายคมสรรค์ เวียงนนท์ ส่วนนางชลิดา สังขโชติ ภรรยาบังฟัต จำเลยที่ 8 ถูกตัดสินจำคุก 12 เดือน ซึ่งทั้งหมดยื่นอุทธรณ์
ต่อมา ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และเพิ่มโทษนายธวัชชัย บุญคง จำเลยที่ 7 ในคดีให้รับโทษประหารชีวิตด้วยอีก 1 คน ต่อมาทนายฝ่ายจำเลยยื่นฎีกาให้กับจำเลยที่ 1-7 ส่วนจำเลยที่ 8 คือภรรยาบังฟัต ไม่ยื่นฎีกา เนื่องจากเจ้าตัวรับโทษครบตามกำหนดไปแล้วระหว่างการพิจารณาคดี
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาล จ.กระบี่ ได้นัดฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา โดยพนักงานอัยการ จ.กระบี่ พร้อมนายเกรียงศักดิ์ สาระภี ทนายฝ่ายจำเลย ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา โดยมีญาติๆ ของผู้เสียชีวิตในคดีนี้ มารอฟังผลการตัดสินที่ด้านหน้าศาลด้วย ส่วนจำเลยทั้ง 7 คน ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำ จ.นครศรีธรรมราช เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงสุด
หลังฟังคำพิพากษา นายเกรียงศักดิ์ ทนายฝ่ายจำเลย กล่าวว่า ศาลฎีกาพิพากษายืนคำตัดสินตามศาลอุทธรณ์ภาค 8 คือให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1-7 ส่วนกรณีของนางชลิดา ภรรยาของนายซูริก์ฟัต ไม่ได้ยื่นฎีกา เนื่องจากรับโทษครบตามคำสั่งศาลไปแล้ว หลังจากนี้จะมีการยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา เพื่อขอลดโทษประหาร ตามที่ญาติของจำเลยบางรายร้องขอมา ส่วนจำเลยที่เหลือ หากญาติแจ้งขอให้ช่วยทำเอกสารยื่นทูลเกล้าฯ ก็จะดำเนินการให้ตามขั้นตอน
ด้านนางอาส้า บุตรเติบ แม่ยายของผู้ใหญ่บัติ กล่าวว่า รู้สึกพอใจกับคำพิพากษา ขอบคุณศาลที่ให้ความยุติธรรมต่อครอบครัว เนื่องจากตลอดเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ทางครอบครัวต้องทนทุกข์ทรมานอย่างหนักทั้งจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปทั้งหมดถึง 8 คน และยังต้องแบกรับภาระหนี้สินที่เกิดจากการที่บังฟัตนำบ้านหลังที่เกิดเหตุและบ้านของพ่อตา ไปจำนองไว้กับธนาคาร จนกระทั่งทำให้บ้านทั้ง 2 หลัง ซึ่งเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายของครอบครัวถูกธนาคารยึด ทำให้คนในครอบต่างวิตกกังวลว่า จะไม่มีที่อาศัย จึงอยากวอนขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำหรับคำพิพากษาของศาลฎีกา ถือเป็นอันปิดฉากคดีสะเทือนขวัญครั้งใหญ่ นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนถึงวันที่ศาลฎีกาตัดสิน เป็นเวลา 3 ปี 8 เดือน
5. “สรยุทธ” พ้นคุกแล้ว หลังได้พักโทษกรณีพิเศษ ต้องติดกำไล EM ถึง พ.ค.ปีหน้า รายงานตัวถึง ก.ค. 66!
เมื่อวันที่ 14 มี.ค. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตพิธีกรรายการข่าว จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ขึ้นรถกรมราชทัณฑ์ไปติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ที่สำนักงานคุมประพฤติ กรุงเทพมหานคร เขต 7 หลักสี่ หลังจากที่ได้รับการพิจารณาพักโทษกรณีพิเศษ โดยครอบครัวและญาติของนายสรยุทธได้นำดอกไม้ธูปเทียนทำพิธีกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างรอการปล่อยตัวนายสรยุทธ
ต่อมา นายสรยุทธเผยหลังติดกำไล EM ว่า ขอบคุณทุกคนที่ให้ความสนใจ ดีใจที่ได้รับอิสรภาพ แม้จะยังไม่เต็ม 100% ซึ่งอยู่ภายใต้เงื่อนไขกรมคุมประพฤติ แต่อย่างน้อยก็ยังได้ออกจากเรือนจำ และว่า ระหว่างถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 1 ปีกว่า การกินอยู่นอนไม่สบายมากนัก แต่ก็ค่อยๆ ปรับตัวได้ ก็มีความทุกข์บ้าง แต่คดีก็ได้จบสิ้นเสียที
นายสรยุทธ กล่าวอีกว่า ช่วงโควิด-19 ระบาด มีกระแสข่าวในเรือนจำบุรีรัมย์มีผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด-19 ทำให้เกิดจลาจล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงมีนโยบายจัดรายการเรื่องเล่าชาวเรือนจำ เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ต้องขัง ซึ่งหลังจากที่ตนมีโอกาสได้จัดรายการ ซึ่งเป็นอาชีพที่ตนรัก ก็ทำให้วันเวลาในเรือนจำผ่านไปไวขึ้น และหลังจากนี้ มีโอกาสกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งในชีวิตใหม่อีกครั้ง
นายสรยุทธ ยังกล่าวโดยมีน้ำตาคลอว่า หลังออกจากเรือนจำ สิ่งแรกที่อยากจะทำ คือเดินทางไปไหว้รูปมารดา ส่วนการกลับมาจัดรายการข่าวนั้น จะขอใช้เวลาคิดสักระยะ เพราะตนว่างเว้นจากการทำข่าวมานานกว่า 5 ปี ตั้งแต่มีคดีความ และปัจจุบันมีรายการข่าวมากมาย ต้องขอเวลาปรับตัว แต่ยืนยันว่า หากจะกลับมาทำหน้าที่พิธีกรข่าว จะยังคงอยู่ที่ช่อง 3 เหมือนเดิม
ด้านว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่า การปล่อยตัวนายสรยุทธครั้งนี้ ไม่ใช่การปล่อยตัวนักโทษวีไอพี แต่เป็นการอำนวยความสะดวก เพราะเห็นว่านายสรยุทธเป็นบุคคลได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน รวมถึงเป็นที่รู้จักของคนในสังคม จึงจำเป็นต้องจัดระเบียบในทุกขั้นตอน เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว
ขณะที่นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า หลังจากติดกำไล EM แล้ว นายสรยุทธจะไม่สามารถกลับไปใกล้กับบริเวณเรือนจำได้ เพราะเป็นข้อห้าม เนื่องจากเกรงว่า จะมีการติดต่อกับนักโทษภายในเรือนจำ, ห้ามขึ้นเครื่องบิน แต่หากจะเดินทางต้องขออนุญาตก่อน, ห้ามเคลื่อนย้ายออกนอกสถานที่ที่ได้รับอนุญาต คือ พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ยกเว้นได้รับอนุญาต รวมถึงห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง เช่น เป็นพิธีกรให้กับพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง ยกเว้นการจัดรายการข่าวทั่วไป ซึ่งจะต้องนำเสนอข้อเท็จจริงของข่าวภายใต้จรรยาบรรณของสื่อมวลชน
ทั้งนี้ นายสรยุทธเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม ได้รับพระราชทานอภัยโทษ โดยการลดโทษมาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2563 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2563 กำหนดโทษหลังสุด 3 ปี 6 เดือน 20 วัน ซึ่งรับโทษจำคุกมาแล้ว 1 ปี 2 เดือน 6 วัน คงเหลือโทษจำคุก 2 ปี 4 เดือน 14 วัน โดยนายสรยุทธได้รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ และเหลือโทษที่ต้องได้รับต่อไปอีกไม่เกิน 5 ปี ถือว่าเป็นประโยชน์ของผู้ต้องขังตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 จึงมีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ และต้องติดกำไล EM เป็นระยะเวลา 14 เดือน ตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. 2564 ถึง 20 พ.ค. 2565 และต้องรายงานตัวจนกว่าจะพ้นโทษ คือ วันที่ 26 ก.ค. 2566 รวม 2 ปี 4 เดือน