ศาลากลางจังหวัด ก็คือศูนย์บัญชาการปกครองของรัฐในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งก็เป็นสถานที่ไม่น่าจะเป็นพิษภัยสร้างความเดือดร้อนให้ใคร แต่ที่ผ่านมา ศาลากลางจังหวัดกลับเป็นที่ถูกวางระเบิดและวางเพลิงเผาจนวายวอดไปหลายต่อหลายครั้ง และคนเผาก็มีทั้งฝ่ายคนทำลายชาติและคนรักชาติ อย่างเช่น
เมื่อเช้าวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๒๕ เวลา ๐๘.๔๕ น.ขณะที่ประชาชนเริ่มมาติดต่อกับทางราชการที่ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็ได้เกิดระเบิดขึ้นเสียงดังฟ้าถล่มไปทั้งเมือง เศษอิฐเศษปูนของอาคารตึก ๒ ชั้นของศาลากลางปลิ่วว่อน จากนั้นก็เกิดไฟไหม้ขึ้นท่วมอาคารด้านปีกซ้าย ซึ่งชั้นบนเป็นห้องทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าฯ และปลัดจังหวัด ส่วนชั้นล่างเป็นสำนักงานอัยการจังหวัดและประชาสงเคราะห์จังหวัด มีเสียงผู้คนที่ได้รับบาดเจ็บร้องกันโอดโอย
นายไสว ศิริมงคล ผู้ราชการจังหวัด ซึ่งมาทำงานก่อนเวลา ๘.๓๐ น.ทุกวันไม่เคยพลาด แต่ในวันนั้นนายอำเภอเมืองไปขอปรึกษาข้อราชการที่จวน จึงทำให้ออกมาช้า พอรถผู้ว่าเลี้ยวเข้าประตูศาลากลางเสียงระเบิดก็ดังขึ้น จึงรอดตายหวุดหวิด ส่วนนายเฉลิม พรหมเลิศ รองผู้ว่าฯ ซึ่งต่อมามีฉายาว่า “ป๋าเหลิม” ก็ถูก พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ รมต.มหาดไทย เรียกไปสัมมนาที่กรุงเทพฯ นายสมพงษ์ ศรียะพันธ์ ปลัดจังหวัด ผู้เป็นมือปราบ ผกค.ก็ป่วย นอนอยู่ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด คนที่คาดว่าจะเป็นเป้าหมายจึงรอดหมดทุกคน มี ข้าราชการและราษฎรที่มาติดต่อราชการต้องเสียชีวิตไป ๖ คน บาดเจ็บต้องเข้าโรงพยาบาลอีก ๙๑ คนจนเลือดไม่พอต้องขอบริจาค และยังมีบาดเจ็บเล็กน้อยอีกมาก
จากการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุพบว่า คนร้ายใช้รถเก๋งยี่ห้อฟอร์ด รุ่นเก่า ติดทะเบียนปลอม บรรทุกดินระเบิดชนิดที่ใช้กันตามเหมือง ๗๐-๘๐ ปอนด์ มาจอดตรงใกล้ห้องอัยการ ซึ่งตรงกับห้องผู้ว่าฯที่อยู่ชั้นบน แล้วจุดชนวนระเบิดด้วยไฟฟ้า มีพยานเห็นขณะคนร้ายจุดระเบิดแล้ววิ่งขึ้นมอเตอร์ไซด์หนีไป
ทางจังหวัดได้รายงานให้นายพิศาล มูลศาสตร์สาธร ปลัดกระทรวงมหาดไทยทราบ คาดว่าเป็นการกระทำของ ผกค. เพื่อตอบโต้กองกำลังแห่งชาติที่เข้าโจมตีและยึดค่าย ผกค.ที่ช่องช้างได้ และรัฐบาลได้ออกแถลงการตามที่ทางจังหวัดและปลัดกระทรวงมหาดไทยรายงาน
ต่อมาในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. หรือคนเสื้อแดง กระจายไปในหลายจังหวัดในภาคอีสาน ผู้ชุมนุมถูกแกนนำปลุกเร้าให้ฮึกเหิม จากนั้นก็มุ่งไปกันที่ศาลากลางจังหวัดตามแผน คนที่ถูกปลุกเร้าจนบ้าคลั่งก็บุกเข้าไปในศาลากลางพร้อมกันในวันเดียวถึง ๔จังหวัด คือ อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น และมุกดาหาร โดยมีทั้งยางรถยนต์และขวดน้ำมันเตรียมไว้ให้พร้อม และจุดไฟจนศาลากลางจังหวัดวอดไปทั้ง ๔ แห่ง
การเผาทำลายสถานที่ราชการซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการปกครองของรัฐเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ผู้ลงมือกระทำจึงถูกตามจับมาได้เกือบทั้งหมดโดยมีภาพถ่ายเป็นหลักฐานสำคัญ บางรายก็หนีการจับกุมไปได้ แต่หลายสิบคนต้องคอตกขึ้นศาล และถูกพิพากษาโดนโทษหนักตั้งแต่ถึงขั้นประหารชีวิต แต่ศาลก็ปราณีลดให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต จากนั้นก็ลดหลั่นกันลงมาตามพฤติกรรม แต่ก็ต้องติดคุกกันคนหลายปีทั้งนั้น คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็น่าสงสารเพราะถูกปลุกปั่นจนขาดสติ พ่อแม่ลูกเมียต่างร่ำไห้ แต่แกนนำและคนที่วางแผนไม่มีใครที่ได้รับโทษด้วย มีแต่ได้รับเงินกันไป
แต่ศาลากลางจังหวัดที่ถูกเผาด้วยมือคนรักชาติรักแผ่นดินก็มีเหมือนกัน ในปี ๒๔๘๒ เมื่อควันสงครามได้คุขึ้นที่ยุโรปโดยอังกฤษฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมัน ไทยเราก็คาดการณ์ว่าสงครามครั้งนี้อาจจะลามเป็นสงครามโลกอีกครั้ง จึงมีประกาศเป็นพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ ๕ กันยายนนั้นว่า จะรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดและเที่ยงธรรม
แต่ในปี ๒๔๘๔ สถานการณ์ได้ขยายตัวกว้างออกไปมากยิ่งขึ้น ญี่ปุ่นซึ่งยึดจีนทางแถบชายฝั่งทะเลไว้ได้หมดแล้ว กลับถอนทหาร ๒๕ กองพลออกจากจีน และส่งทหารเข้ามาในอินโดจีนโดยฝรั่งเศสผู้ปกครองไม่กล้าขัดขวาง ไทยก็คาดการณ์ว่าญี่ปุ่นจะต้องเปิดศึกใหญ่ และอาจส่งทหารเข้ามาในไทยเช่นเดียวกับที่ทำกับอินโดจีน จึงเตรียมการที่จะรับมือในเรื่องนี้
ในวันที่ ๘ กันยายน ๒๔๘๔ ได้มีพระราชบัญญัติ “กำหนดหน้าที่ของคนไทยในเวลารบ” มีใจความว่า เมื่อประเทศไทยต้องทำการรบกับประเทศหนึ่งประเทศใด ประชาชนชาวไทยทั้งมวลมีหน้าที่ต้องปฏิบัติในทุกๆ ทางที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศไทย และขัดต่อประโยชน์ของประเทศที่ทำการรบกับไทย ต้องต่อสู้ข้าศึกทุกวิถีทาง ถ้าไม่สามารถต่อต้านไว้ได้ก็ให้ขัดขวางไม่ให้ข้าศึกได้รับความสะดวก และทำลายเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องอุปโภค บริโภค บ้านเรือนที่อยู่อาศัย สัตว์พาหนะ และสิ่งของต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของตนเอง ของผู้อื่น หรือของทางราชการ อันจะอำนวยประโยชน์ให้ข้าศึก
หมายความว่าให้สู้ถึงที่สุด ถ้าสู้ไม่ได้ก็ให้ทำลาย เผาให้ราบ แม้แต่สถานที่ราชการก็อย่าให้ข้าศึกเอาไปใช้ประโยชน์ได้
ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นส่งทหารเข้าไทยโดยไม่ทันให้รู้ตัว ประชนในท้องที่จึงลุกขึ้นสู้ทหารญี่ปุ่นทุกวิถีทาง แม้กำลังจะน้อยกว่ามาก แต่คำขวัญที่ปลุกใจในยามนั้นก็คือ
“ถ้าแม้จะปราชัยแก่ไพรี ก็ให้ได้แต่ปฐพีไม่มีคน”
ที่สุราษฎร์ธานี ญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นที่บ้านดอน ๓ จุด และจัดขบวนเดินเดินไปตามถนนเพื่อมุ่งสู่ศาลากลางจังหวัด สุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดที่ไม่มีกองทหารประจำ คงมีแต่ตำรวจ และมีตำรวจสนามจากอุบลราชธานีมาช่วยราชการอยู่พอดี จึงได้รวบรวมข้าราชการ ยุวชนทหาร ครู ลูกเสือ กระจายกำลังออกไปขวางเป็นแนวตามคูเมือง ทุกคนมีอาวุธแค่ปืนเล็กยาวแบบ ๘๓ และปืนพระราม ๖
ก่อนการต่อสู้ได้เริ่มขึ้น เมื่อทหารญี่ปุ่นได้เดินทางไปถึงบริเวณสะพานคูเมืองที่ฝ่ายไทยเตรียมรับมืออยู่ โดยมีหลวงสฤษฎ์สาราลักษณ์ ข้าหลวงประจำจังหวัด มาบัญชาการเอง ท่านข้าหลวงได้ส่ง พ.ต.ต.หลวงประภัศร์เมฆะวิภาต และ ร.ต.อ.ขุนวารินทร์สัญจร ออกไปเจรจาก่อน ฝ่ายญี่ปุ่นแจ้งว่าขอเดินทัพผ่านไทยเพื่อไปตีพม่าและอินเดีย แต่ฝ่ายไทยอ้างว่ายังไม่ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลจึงไม่สามารถอนุญาตให้ผ่านไปได้ เมื่อการเจรจาไม่เป็นผล การสู้รบจึงเริ่มขึ้นเมื่อเวลาประมาณ ๐๘.๓๐ น. พ.ต.ต.หลวงประภัศร์ฯ ถูกยิงล้มลง ร.ต.อ.ขุนวารินทร์ฯ ถูกยิงที่ขา ตำรวจที่คุมเชิงอยู่จึงสาดกระสุนเข้าใส่ทหารญี่ปุ่น ชิงตัวผู้บังคับบัญชาทั้ง ๒ คนไปส่งสุขศาลาได้
ทางด้านศาลากลางก็มีการปะทะกันเกิดขึ้น และมีการสู้รบที่รุนแรงอีกหลายแห่ง จน ๑๐.๐๐ น.สถานการณ์ฝ่ายไทยไม่ค่อยดี เพราะกำลังญี่ปุ่นโหมเข้ามาก แต่เมื่อเรียกประชุมกันแล้วก็ลงมติว่าจะสู้ไม่ยอมวางอาวุธ และร้องขอกำลังทหารจากชุมพรและนครศรีธรรมราชมาช่วย แต่ก็ไม่มีใครมาได้ เพราะติดพันอยู่กับการต่อสู้ญี่ปุ่นเหมือนกัน ระหว่างการสู้รบ เครื่องบินญี่ปุ่นมาบินเหนือบริเวณที่มีการต่อสู้เป็นการข่มขวัญ ฝ่ายไทยชักจะรับมือญี่ปุ่นไม่อยู่ เมื่อเห็นว่าไม่สามารถป้องกันศาลากลางจังหวัดไว้ได้แล้ว จึงได้เผาศาลากลางจังหวัด เพื่อไม่ให้ข้าศึกได้ใช้ประโยชน์ ตามคำประกาศของทางราชการ
ในวันนั้น นอกจากจะมีการเผาศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้ว สถานที่ราชการอีกหลายแห่งก็ถูกเผาโดยฝีมือคนรักชาติด้วย อย่างที่กองบินน้อยที่ ๕ ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อถูกญี่ปุ่นยึดแนวโรงเก็บเครื่องบินและกองรักษาการณ์ไว้ได้ในเวลา ๗.๐๐ น. ผู้บังคับกองบินจึงสั่งเผาอาคารคอนกรีต ๒ ชั้นยาว ๔๐ เมตรซึ่งเป็นกองบังคับการกองบิน สโมสรนายทหาร คลังอุปกรณ์การบิน และห้องพักนักบินกับที่พักของกองราบอากาศ ส่วนหมวดเสนารักษ์เมื่อเห็นว่าอาคารบังคับการกองบินไหม้แล้ว ก็เลยเผาอาคารของหมวดและห้องพักคนไข้ด้วย พากันอพยพไปหลบอยู่ที่เชิงเขาล้อมหมวก หุงหาอาหารส่งไปช่วยแนวหน้า จนกระทั่ง ๑๐.๐๐ น.ผู้บังคับการกองบินได้ปรึกษากับบรรดานายทหาร เห็นว่าไม่มีทางจะสู้กับกองทัพญี่ปุ่นได้ เพราะกำลังน้อยกว่ากันมาก และยังถูกล้อมอยู่ในที่จำกัด รอความช่วยเหลือจากภายนอกก็ไม่เห็นวี่แวว จึงสั่งให้นายทหารเหลือกระสุนสำหรับตัวเองไว้คนละนัด และให้เผาคลังน้ำมันที่ตั้งอยู่เชิงเขาล้อมหมวกด้านอ่าวประจวบเสีย
นี่ก็เป็นเหตุการณ์หน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่เป็นทั้งเรื่องที่น่าภูมิใจและเศร้าใจ