xs
xsm
sm
md
lg

เปิดประวัตินมวัวแดง “ไทย-เดนมาร์ค” ที่ซื้อในนาม “เพนกวิน” ที่เรือนจำ พบเป็นหนึ่งในอาชีพพระราชทานจากในหลวง ร.๙

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดประวัตินมวัวแดง “ไทย-เดนมาร์ค” ที่ซื้อในนามเพนกวินที่เรือนจำ ระหว่างประท้วงอดข้าวเพราะติดคุกคดี 112 เปิดประวัติเป็นของ อ.ส.ค. ซึ่ง “ในหลวง รัชกาลที่ ๙” ทรงสนพระทัยกิจการโคนม ระหว่างเสด็จประพาสทวีปยุโรปพร้อมกับพระพันปีหลวงเมื่อปี 2503 กลายเป็นจุดเริ่มต้นอาชีพการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย

วันนี้ (17 มี.ค.) จากกรณีที่ในโลกโซเชียลฯ เผยแพร่ใบเสร็จรับเงิน ร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ระบุชื่อผู้รับ คือ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ แดน 5 ชื่อเล่นคือ เพนกวิน ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า คณะราษฎร 2563 ผู้ต้องขังในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยพบว่า เมื่อวันที่ 15 มี.ค. เพนกวินได้ซื้อนมไทย-เดนมาร์ค 1 กล่อง 13 บาท และวันที่ 17 มี.ค. ได้ซื้อนมไทย-เดนมาร์ค 2 กล่อง 26 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้ เพนกวินประกาศว่าจะอดอาหาร แต่ดื่มนม น้ำหวาน และเกลือแร่ แทน จนกว่าจะได้รับการประกันตัวออกมาต่อสู้คดี

สำหรับนมไทย-เดนมาร์ค หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า นมวัวแดง นั้น จำหน่ายโดยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ประวัติความเป็นมา คือ เดือนกันยายน 2503 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จประพาสทวีปยุโรป ในการเสด็จทรงประทับแรมอยู่ ณ ประเทศเดนมาร์ก ทรงให้ความสนพระทัยเกี่ยวกับกิจการการเลี้ยงโคนมของชาวเดนมาร์กเป็นอย่างมาก กลายเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ว่าด้วยการร่วมมือด้านวิชาการการเลี้ยงโคนมระหว่างไทย และ เดนมาร์ก

ก่อนหน้านั้นหนึ่งปี นายนิลส์ กุนน่าส์ ซอนเดอร์กอร์ด ชาวเดนมาร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตสุกร ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ผู้ซึ่งปฏิบัติงานร่วมกับกรมปศุสัตว์ระหว่างปี พ.ศ. 2498-2502 ได้สังเกตว่า คนไทยไม่รู้จักโคนมและดื่มนมในปริมาณน้อยมาก หลังจากกลับไปประเทศเดนมาร์ก ในปี พ.ศ. 2502 นายซอนเดอร์กอร์ด ได้จัดทำโครงการฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย เสนอต่อ Danish Agricultural Marketing board และต่อมาเดือนมกราคม 2504 ได้มีคณะผู้เชี่ยวชาญชาวเดนมาร์กได้มาศึกษาสำรวจพื้นที่ในการจัดตั้งฟาร์มโคนมสาธิต และศูนย์ฝึกอบรม ณ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นสถานที่เป็นหุบเขาสวยงาม มีแหล่งน้ำสะอาด และไม่ไกลจากตลาดกรุงเทพฯ

วันที่ 20 ตุลาคม 2504 ได้ลงนามสัญญาการให้ความร่วมมือช่วยเหลือทางวิชาการการเลี้ยงโคนม ระหว่างรัฐบาลเดนมาร์กกับรัฐบาลไทย โดย Danish Agricultural Marketing board จัดสรรเงินช่วยเหลือจำนวน 4.33 ล้านโครเนอร์ (หรือประมาณ 23.5 ล้านบาท ในสมัยนั้น) สำหรับดำเนินโครงการเป็นระยะเวลา 8 ปี รัฐบาลเดนมาร์กได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมดำเนินการในปี พ.ศ.  2509 พร้อมกับสนับสนุนเงินจำนวน 2.87 ล้านโครเนอร์ สำหรับดำเนินงานในช่วง 8 ปี อันเป็นการตอบสนองพระราชปณิธานและความสนพระทัยในอาชีพการเลี้ยงโคนม หลังจากเสด็จนิวัติประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระเจ้าเฟรดเดอริคที่ 9 แห่งประเทศเดนมาร์ก ได้ทรงประกอบพิธีเปิดฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์ค อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2505 จึงนับได้ว่าเป็นวันที่มีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ของการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 รัฐบาลไทยได้รับโอนกิจการฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนม ไทย-เดนมาร์ค จัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีชื่อว่า “องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)” เพื่อดำเนินบทบาทในการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมและพัฒนาอุตสาหกรรมนมต่อไป รัฐบาลไทยได้กำหนดให้วันที่ 17 มกราคม ของทุกปีเป็นวันโคนมแห่งชาติ

อ่านประกอบ : อดอาหารจริงไหม? เผยใบเสร็จ “เพนกวิน แดน 5” ตุนกาแฟ-มาม่า-นมวัวแดง-นมถั่วเหลือง แถมขนมกับปลากระป๋อง
กำลังโหลดความคิดเห็น