นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ โพสต์เฟซบุ๊กบอกเล่าผลกระทบโควิด-19 กับค้าปลีกอังกฤษ ชี้ยุคนี้ร้านค้ารายย่อยลด หันมาขายออนไลน์ พบที่ผ่านมา Debenhams ปิดกิจการ มาร์คแอนด์สเปนเซอร์ขายหน้าร้านเฉพาะอาหาร ช็อกโกแลต Thorntons หาซื้อยากเพราะปิดร้านเหลือ 61 สาขา แล้วกำลังจะปิดสาขาที่เหลือ คนอังกฤษจำนวนมากตกงาน 100%
วันนี้ (16 มี.ค.) เฟซบุ๊ก Dr. Nuch Tantisantiwong ของ รศ.ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ การเงินและการคลังและภาษี มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม เทรนต์ ประเทศอังกฤษ โพสต์ข้อความระบุว่า “โควิด-19 ไม่ได้มีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจการบินของโลกเท่านั้น แต่ธุรกิจค้าปลีกก็ได้รับผลกระทบมาก
ห้างหรือแหล่งชอปปิ้งที่เคยเต็มไปด้วยผู้คนเดินซื้อของ คนแน่น เบียดกันเดิน มีร้านค้าห้องเล็กๆ เรียงรายที่เหล่าเจ้าของร้านต้องจ่ายค่าเช่าที่ และเป็นโอกาสให้หลายคนได้เป็นเจ้าของกิจการของตัวเอง จนทำให้ประเทศไทยมีจำนวนเจ้าของกิจการในสัดส่วนต่อจำนวนประชากร ติดอันดับโลก
บัดนี้ สถานที่ชอปปิ้งเหล่านี้ราวกับแหล่งรวมผู้ประกอบการที่นั่งรอคอยว่าจะมีใครซักคนเดินผ่านมาที่ร้านซักคน หลายแห่งพยายามประนีประนอมค่าเช่าเพื่อช่วยเจ้าของร้าน แต่ในเมื่อจากรายได้วันละหลายหมื่นลดลงเหลือไม่กี่พัน จะมีซักกี่ร้านที่ยังทนดำเนินกิจการต่อไปได้
หลังโควิด เราอาจจะมีร้านค้ารายย่อยลดลง เพราะพ่อค้าแม่ค้าก็ต้องปรับตัว หันไปขายสินค้าผ่านออนไลน์แพลตฟอร์ม (Online Platform) แทน ซึ่งแน่นอนว่าความสำเร็จของกิจการไม่ใช่อยู่ที่ทำเลอีกต่อไป และไม่ใช่อยู่ที่ความหรูหราการตกแต่งของร้านอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต
แต่อยู่ที่ skill (ทักษะ) ในการเขียน การพูด การ present (นำเสนอ) การตัดต่อทำคลิป การจัดการโลจิสติกส์ (การขนส่งสินค้า) และการเลือกใช้ดีลิเวอรีเซอร์วิส (Delivery Service) ที่มีคุณภาพ ไม่ใช่เลือกที่ถูกที่สุด
ในอังกฤษนั้นต่างไป ธุรกิจค้าปลีกรายย่อยจะมีร้านอยู่บนถนน เป็นธุรกิจครัวเรือน ส่วนในห้างจะเป็นธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ที่มีเชน (Chain หรือร้านค้าเครือข่าย) เมื่อเปิดร้านไม่ได้เพราะล็อกดาวน์ หรือเปิดได้แต่ไม่ค่อยมีคนเดิน ประสบกับการขาดทุนมายาวนานเป็นปี และอาจจะลากยาวต่อไปอีกปี 2 ปี ร้านค้าปลีกสาขาต่างๆ ของเชนชื่อดัง หรือแม้แต่กิจการทั้งบริษัทค้าปลีกก็ต้องปิดตัวลง
เช่น Debenhams ปิดกิจการ มีการทำ Bankruptcy Filing (การฟ้องล้มละลาย) ทำให้แต้มสมาชิกที่เราเคยมีกลายเป็นไม่มีค่าใดๆ และหายสาบสูญไปจาก email inbox (กล่องจดหมายอีเมล) ของเรา
John Lewis ปิดสาขาและหันมาขายออนไลน์อย่างเดียว จากเดิมที่นักท่องเที่ยวไทยมักจะแวะห้างนี้เพื่อซื้อสินค้ากลับไทย ต่อไปก็คงทำได้แค่ซื้อออนไลน์และคงเลี่ยงไม่ได้กับการเสียภาษีนำเข้า
Mark and Spencer (M&S) หันมาขายออฟไลน์ (หน้าร้าน) เฉพาะในส่วนของ food supermarket (อาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต) แต่ส่วนอื่นๆ ของกิจการปิดและขายเฉพาะออนไลน์ และแน่นอนว่า M&S เป็นอีกห้างที่นักท่องเที่ยวไทยมักแวะเวียนไปซื้อของ ต่อไปก็คงต้องสั่งออนไลน์ เสียภาษีกันไปตามระเบียบ
Thorntons เป็นร้านช็อกโกแลต เป็นเชนชื่อดังที่คนไทยหลายคนมักจะเห็นตามห้าง สนามบิน แต่สำหรับคนอังกฤษ Thorntons ไม่ใช่ร้านช็อกโกแลตตามสถานที่หรูเท่านั้น เมื่อก่อน ในแต่ละเมืองจะมีสาขา Thorntons เป็นร้านห้องแถว ร้านมีขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง แล้วแต่ขนาดเมือง ขายช็อกโกแลตที่มีความหลากหลาย เข้าไปทีไรเลือกไม่ถูกว่าจะหยิบอะไรดี
หลังจากเจอคู่แข่งอย่าง Hotel Chocolat ที่มีความเข้าถึงง่ายมากกว่า มีความทันสมัยมากกว่า ยอดขายของ Thorntons ที่เคยเป็นเจ้าครองตลาดก็ลดลง จน Ferrero ช็อกโกแลตสัญชาติอิตาลีเข้ามาซื้อกิจการในปี 2015 ทำให้ Thorntons เปลี่ยนสัญชาติจากอังกฤษมาเป็นอิตาลีโดยปริยาย
สาขาของ Thorntons ถูกปิดทั่วเกาะ เริ่มตั้งแต่ 2011 จนเหลือแค่ 61 สาขา ทำให้ช็อกโกแลตยี่ห้อนี้หาซื้อตามร้านในเมืองและในห้างได้ยากขึ้น และแล้วไม่นานมานี้ก็มีประกาศปิด 61 สาขาที่เหลือ
รวมๆ แล้วปิดตัวไปกว่า 17,500 ร้านค้าทั่วประเทศในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา หรือเฉลี่ย 48 ร้านค้าต่อวัน และนั่นหมายถึงคนจำนวนมากในอังกฤษที่มักจะทำงานเป็นกะ เป็นชั่วโมง ได้ค่าจ้างไม่เต็มวันเต็มเดือนอยู่แล้ว ตกงานแบบ 100%”