xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 7-13 มี.ค.2564

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1.“เพนกวิน-รุ้ง-ไผ่” นอนคุกต่อ ศาลไม่ให้ประกัน แม้ทนายขนอาจารย์ยืนยันอยู่ระหว่างช่วงสอบ!

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎรเป็นจำเลยจำนวน 18 คนต่อศาลอาญา กรณีร่วมกันชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง ที่มีการปักหมุดคณะราษฎร 2563 ด้วย ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปฯ, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กีดขวางทางสาธารณะ, ทำลายโบราณสถานฯ ทำให้เสียทรัพย์ ฯลฯ

สำหรับจำเลยประกอบด้วย 1.น.ส.ปนัสยา สิทธจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง 2.นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ 3.นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน 4.นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ 5.นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนา หรือแอม 6.นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบร์ท 7.นายธนชัย เอื้อฤชา หรือหอย 8.นายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือจัสติน 9.น.ส.สุวรรณา ตาลเหล็ก 10.นายธานี สะสม 11.นายณัฐชนน ไพโรจน์ 12.นายภัทรพงศ์ น้อยผาง 13.นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ เดอะบอททอมบลูส์ 14.นายดิศักดิ์ สมบัติคำ 15.นายสิทธิ์ทัศน์ จินดารัตน์ 16.นายณัทพัช อัคฮาด 17.นายธนพ อัมพะวัต 18.นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือฟอร์ด เส้นทางสีแดง

ทั้งนี้ ในส่วนของ น.ส.ปนัสยา, นายภาณุพงศ์ และนายจตุภัทร์ มีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย

หลังศาลรับคำฟ้อง ได้สอบคำให้การจำเลยทั้งหมด รวมทั้งนายไชยอมร หรือแอมมี่ จำเลยที่ 13 ซึ่งถูกควบคุมตัวระหว่างฝากขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ในคดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์ที่หน้าเรือนจำกลางคลองเปรม โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี ศาลจึงนัดพร้อมเพื่อตรวจหลักฐานทั้งสองฝ่ายในวันที่ 15 มี.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

หลังจากนั้นทนายความได้ขอยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวจำเลย ด้านศาลพิจารณาแล้ว อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 4-18 โดยมีนายไชยอมร หรือแอมมี่ รวมอยู่ด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ มีข่าวว่า มารดานายไชยอมรพยายามขอประกันตัว โดยอ้างว่า ลูกชายต้องรักษาอาการป่วยโรคตา ส่วนจำเลยอีก 3 คน คือ น.ส.ปนัสยา, นายภาณุพงศ์ และนายจตุภัทร์ ศาลไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ถ้าอนุญาตปล่อยตัว จำเลยจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้องหรือไปก่อเหตุอันตรายอื่นอีก จึงยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัว น.ส.ปนัสยา ไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ส่วนนายภาณุพงศ์ และนายจตุภัทร์ นำไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่ภายหลังมีการย้ายไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรี เพื่อลดความแออัดที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

วันเดียวกัน พนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ได้ยื่นคำร้องขอศาลฝากขังนายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ กับพวกรวม 15 คน ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่ม Wevo เป็นเวลา 12 วัน ระหว่างวันที่ 8-29 มี.ค. ในความผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ฯลฯ

ทั้งนี้ นายปิยรัฐกับพวก ถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมระหว่างรวมกลุ่มอยู่ที่ลานจอดรถห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านรัชโยธินเมื่อวันที่ 6 มี.ค.พร้อมอุปกรณ์ที่อาจนำไปก่อเหตุหลายรายการ เช่น หนังสติ๊ก 15 อัน, หัวนอต 50 ชิ้น, ลูกแก้ว 300 ลูก, ระเบิดควัน 30 ลูก, ถุงน้ำปลาร้า 30 ถุง, หมวกกันกระแทก 13 ใบ, เสื้อเกราะ 37 ตัว, ท่อเก็บแก๊สน้ำตา 1 อัน, ค้อนเหล็ก 1 อัน และโล่ 1 อัน แต่หลังจากเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวนายปิยรัฐกับพวก 4 คน ขึ้นรถยนต์เพื่อไปคุมตัวที่ บก.ตชด.ภ.1 ปรากฏว่า กลุ่มการ์ด Wevo ได้เข้าขัดขวางการขนย้ายผู้ต้องหาของตำรวจ โดยขว้างปาสิ่งของใส่รถ และชิงตัวผู้ต้องหาหลบหนี นอกจากนี้ยังมีการทำร้ายเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ ซึ่งต่อมา เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ทั้งหมด

ระหว่างขอศาลฝากขัง พนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเกรงว่า หากปล่อยตัวออกไป ผู้ต้องหาจะหลบหนี อีกทั้งผู้ต้องหายังมีพฤติการณ์กระทำความผิดก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนายปิยรัฐ มีพฤติการณ์เป็นผู้นำกลุ่มผู้ชุมนุม ยังอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดลักษณะเดียวกันในท้องที่อื่นอีกหลายคดี แต่หากศาลจะอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้ง 15 ราย ขอศาลได้โปรดกำหนดเงื่อนไขห้ามเข้าร่วมชุมนุมหรือยุยงหรือสนับสนุนการชุมนุมไม่ว่ากรณีใดๆ หรือห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

ด้านศาลพิจารณาแล้ว อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา 14 คน โดยตีราคาประกันคนละ 45,000 บาท ยกเว้นนายปิยรัฐไม่ได้รับการประกันตัว

ต่อมา เมื่อวันที่ 12 มี.ค. นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความกลุ่มคณะราษฎร พร้อมอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดลบางคน ได้เดินทางไปศาลอาญาเพื่อยื่นขอประกันตัวนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, น.ส.ปนัสยา หรือรุ้ง และนายจตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน ที่ไม่ได้รับการประกันตัวคดีชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยอ้างว่า ทั้งสามอยู่ในช่วงของการสอบ โดยเพนกวินและรุ้งเป็นนักศึกษาปริญญาตรี ม.ธรรมศาสตร์ ส่วนไผ่เป็นนักศึกษาปริญญาโท ม.มหิดล

ทั้งนี้ วันเดียวกัน ทนายความยังได้ยื่นขอประกันตัวนายปิยรัฐ หรือโตโต้ แกนนำกลุ่ม Wevo ด้วย

ด้านศาลพิจารณาพิจารณาแล้ว มีคำสั่งยกคำร้องการขอประกันตัวบุคคลทั้งสี่คน โดยระบุว่า “คดียังไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมให้ยกคำร้อง”

2.ศาล รธน.มีมติ 8 : 1 ชี้ รัฐสภามีอำนาจจัดทำ รธน.ใหม่ได้ แต่ต้องทำประชามติก่อน-หลัง 2 รอบ!


เมื่อวันที่ 11 มี.ค. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ได้ประชุมและลงมติกรณีประธานรัฐสภาขอให้ศาลฯ วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1)
ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง วินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

วันเดียวกัน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ต้องรอรายละเอียดของคำวินิจฉัยก่อน เพราะเจ้าหน้าที่ศาลฯ ส่งคำวินิจฉัยมาให้เพียบ 4-5 บรรทัด ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นนี้ รัฐสภาจะสามารถโหวตแก้รัฐธรรมนูญในวาระสามต่อได้หรือไม่ นายชวนกล่าวว่า ได้สั่งบรรจุระเบียบวาระการประชุมในวันที่ 17 มี.ค.นี้ ก่อนที่ศาลฯ จะมีคำวินิจฉัยออกมา

เมื่อถามว่า การโหวตรัฐธรรมนูญในวาระสองที่ผ่านไปแล้ว เป็นโมฆะหรือไม่ นายชวนกล่าวว่า ไม่เป็น เพราะวาระสองผ่านไปโดยเรียบร้อย ระเบียบวาระไม่ได้มีปัญหาอะไร ส่วนวาระสามจะโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบนั้น เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า โหวตผ่านวาระสองแล้ว ให้ทิ้งเวลา 15 วัน แล้วจึงโหวตวาระสาม ขณะนี้วาระสองได้พ้น 15 วันแล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาดังกล่าว ความเห็นของ ส.ส. และ ส.ว.ยังตีความคำวินิจฉัยแตกต่างกัน เช่น นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.กล่าวว่า ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เชื่อว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่รับสภาผ่านวาระสอง และรอโหวตในวาระสามในวันที่ 17 มี.ค.นี้ จะตกไปทันที เพราะการดำเนินการของรัฐสภาได้เลยขั้นตอนที่ศาลฯ ได้วินิจฉัยมาแล้ว การที่ศาลฯ ชี้ให้ทำประชามติถามประชาชน 2 ครั้ง เท่ากับว่า ก่อนที่รัฐสภาจะเริ่มกระบวนการในวาระแรก ต้องได้ไฟเขียวจากประชาชนก่อน 1 ครั้ง และหลังจากรัฐสภาผ่านวาระสามอีก 1 ครั้ง ดังนั้น ขั้นตอนที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีการทำประชามติถามประชาชนเลย การดำเนินการที่ผ่านมาจึงมิชอบต่อคำวินิจฉัย ถ้ามีการโหวตวาระสามในวันที่ 17 มี.ค. เชื่อว่าไม่สามารถใช้ได้ และขัดต่อคำวินิจฉัยนี้

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า วันที่ 17 มี.ค. ที่ประชุมร่วมรัฐสภาต้องถกเถียงความหมายของคำวินิจฉัยว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อไปกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ส่วนตัวเชื่อว่า รัฐสภาไม่สามารถลงมติวาระสามได้ เพราะรัฐสภาได้ทำเกินไปกว่าที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุ

เมื่อถามย้ำว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นถือว่าโมฆะใช่หรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า ใช่ เพราะต้องไปถามประชาชนก่อน และถามประชาชนได้เพียงว่า ประสงค์จะให้แก้ทั้งฉบับหรือไม่ โดยไม่สามารถนำเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พ้นวาระสองไปถามพ่วงประชามติได้

ขณะที่นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังรอโหวตวาระสามนั้น สอดคล้องและเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เพราะเป็นการแก้ไขเพียงมาตราเดียว มีการแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนแรก เปลี่ยนมาใช้เสียงของรัฐสภา ในวาระ 1 และ 3 เป็น 3 ใน 5 เสียงของรัฐสภา แทนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับเดิม และตอนที่สอง เป็นการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 โดยให้ ส.ส.ร.เป็นผู้ดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญ

นายนิกร กล่าวอีกว่า “หลังจากมีมติในวาระสามแล้ว ให้ทำประชามติสอบถามประชาชนว่า เห็นชอบหรือไม่กับการจัดทำใหม่ทั้งฉบับโดยใช้ ส.ส.ร. ...เมื่อมีการเลือก ส.ส.ร. และยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่แล้วเสร็จ ให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าพิจารณาในรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติ จากนั้นให้ประชาชนลงประชามติว่าเห็นชอบกับร่างฉบับใหม่นั้นหรือไม่ ถือเป็นการสอบถามประชาชนเป็นครั้งที่ 2 ตามคำวินิจฉัย”

ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มองคล้ายๆ กับนายนิกร จำนง คือ รัฐสภาโหวตวาระสามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วจึงไปทำประชามติถามประชาชนว่า เห็นชอบให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าเห็นชอบก็ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม แล้วเลือก ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยกร่างเสร็จ ไปทำประชามติถามประชาชนอีกครั้ง

3. สธ.แจงเหตุเลื่อนฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้ “นายกฯ-ครม.” รอประเมินความปลอดภัย หลังหลายชาติสั่งระงับ พบลิ่มเลือดอุดตัน!



เมื่อช่วงเช้าวันที่ 12 มี.ค. ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และอาจารย์แพทย์หลายท่านได้ประชุมด่วนที่กระทรวงสาธารณสุข ก่อนมีการแถลงในเวลาต่อมา โดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะรัฐมนตรี เลื่อนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ หลังพบรายงานข่าวว่าประเทศเดนมาร์ก และ 6 ประเทศในยุโรป สั่งระงับการฉีดวัคซีนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากพบว่ามีผู้รับวัคซีนเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

ดังนั้น คณะแพทย์จึงสรุปตรงกันว่า ควรชะลอการฉีดวัคซีนโควิดของแอสตร้าเซนเนก้าออกไปก่อน เพื่อทำการตรวจสอบให้แน่ชัดถึงความปลอดภัยในการนำมาฉีดให้กับประชาชนต่อไป

ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร กล่าวว่า เมื่อคืน (11 มี.ค.) มีประกาศจากเดนมาร์ก และออสเตรเลีย ไปฉีดเป็นล้านๆ โดส เจอผลข้างเคียง ทำให้เลือดแข็งตัวในหลอดเลือดดำ ทำให้มีผลไม่พึงประสงค์ ทำให้เดนมาร์กประกาศชะลอการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ทำให้ต้องมีการเร่งพิจารณาโดยเร่งด่วน วัคซีนต้องปลอดภัยที่สุดสำหรับประชาชน ไม่จำเป็นต้องรีบฉีด เพื่อดูผลการสืบค้นจากเดนมาร์กก่อนว่า เป็นผลข้างเคียงจากวัคซีนหรือไม่ โดยคาดว่าการตรวจสอบในยุโรปจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์

ขณะที่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า วัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ที่ฉีดแล้วเกิดผลข้างเคียงและอาการไม่พึงประสงค์ เป็นล็อตการผลิตที่ ABB 5300 ซึ่งแอสตร้าเซนเนก้าส่งให้แก่ 17 ประเทศในสหภาพยุโรป จำนวน 1 ล้านโดส พบว่า ประเทศเดนมาร์กมีผู้เสียชีวิต 1 ราย และมีผู้ป่วยหลายรายที่ลิ่มเลือดเกิดขึ้นทางหลอดเลือดต่างๆ ทางรัฐบาลของเดนมาร์กจึงประกาศชะลอการฉีดเบื้องต้นเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้นประเทศไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์ได้ประกาศยุติการใช้ตามมาเพื่อความปลอดภัย และรอผลการสืบค้นขององค์การด้านการแพทย์ของยุโรป

สำหรับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ไทยนำเข้าล็อตแรกจำนวน 117,300 โดส และส่งถึงไทยเมื่อวันที่ 24 ก.พ. เป็นล็อตที่ผลิตจากประเทศเกาหลีใต้ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพิ่งรับรองคุณภาพและความปลอดภัยของวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเมื่อ 11 มี.ค. แต่ยังไม่มีการฉีดให้คนไทย "ผมคิดว่าเพื่อความปลอดภัย ไม่เฉพาะวัคซีนแต่ยาอะไรก็แล้วแต่ที่เกิดมีการรายงานแบบนี้เราจะหยุดการใช้ก่อน ชะลอการใช้ก่อน แล้วก็ไปสืบค้น พอทุกอย่างเรียบร้อยก็จะกลับมาใช้"

ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งตามกำหนดเดิมจะเป็นผู้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงกรณีมีข้อมูลว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิดของแอสตร้าเซนเนก้า 3 ล้านคน พบผู้ป่วยที่เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ 22 ราย เสียชีวิต 1 ราย คิดเป็นโอกาสในการเกิด 7 รายใน 1 ล้านราย "ต้องมีการสอบสวนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นในภาวะปกติ ในคนธรรมดาที่ถึงแม้ไม่ได้ฉีดวัคซีนก็เกิดหรือไม่ เท่ากันหรือเปล่า ถ้าบอกว่าฉีดวัคซีนแล้วเกิดมากกว่าในภาวะปกติ ก็ต้องไปหาสาเหตุว่าวัคซีนไปทำให้เกิดอะไร ถึงจะทำให้ลิ่มเลือดแข็งตัวได้ง่าย"

ศ.นพ.ยง กล่าวด้วยว่า "การที่เราเลื่อนครั้งนี้ เราไม่ได้บอกว่าวัคซีนไม่ดี ไม่ได้บอกเลยว่าวัคซีนอันนี้จะมีปัญหาอะไรต่าง ๆ เป็นการเลื่อนเพื่อดูสถานการณ์ให้เขาพิสูจน์กันว่า เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้อง" และว่า การที่ไทยชะลอการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าออกไปเล็กน้อย จะไม่ส่งผลกระทบต่อการควบคุมการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มีความเสี่ยงที่สูงในการระบาด

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงการเลื่อนฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าให้ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า เป็นไปตามการวินิจฉัยของคณะแพทย์ ซึ่งได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์เมื่อคืนวันที่ 11 มี.ค. จึงต้องรอผลการสอบสวนและสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า คณะแพทย์ยืนยันว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย และได้รับมาตรฐานจากองค์การอนามัยโลก ฉีดไปแล้วมากกว่า 30 ล้านโดส และมีการสั่งซื้อมากกว่า 3,000 ล้านโดส แต่คณะแพทย์ยึดหลักความปลอดภัยของประชาชน จึงให้ชะลอไว้ก่อน แม้ว่าวัคซีนที่ใช้ในยุโรปกับวัคซีนที่ส่งมาประเทศไทยจะเป็นคนละล็อต มาจากคนละโรงงาน และยังไม่มีการยืนยันว่า อาการไม่พึงประสงค์เป็นผลจากวัคซีนโดยตรงก็ตาม

4. “กลุ่มขอนแก่นปกป้องสถาบัน” สุดทน เตรียมบุก ม.ขอนแก่น จี้ตอบยังเทิดทูนสถาบันอยู่ไหม หลังปล่อยซ่องสุมพวกล้มเจ้า!



วันนี้ (13 มี.ค.) ชาวขอนแก่นที่รวมตัวกันในนามกลุ่มคนขอนแก่นปกป้องสถาบันฯ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่โรงแรมโฆษะ ประกาศท่าทีจะไม่ยอมให้ม็อบที่จ้องล้มล้างสถาบัน รวมถึงบรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นบางคน เคลื่อนไหวจาบจ้วงหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์อีกต่อไป

นายวีระศักดิ์ สายทอง ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มคนขอนแก่นปกป้องสถาบันฯ อ่านแถลงการณ์ โดยความตอนหนึ่งระบุว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า หลายปีที่ผ่านมา ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีอาจารย์ที่มีแนวคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ฝังตัวอยู่ มีทั้งตัวอาจารย์บางคนที่ยังสอนอยู่ และอาจารย์บางคนที่เกษียณไปแล้ว ยังคงใช้เวทีทางวิชาการปลูกฝังแนวคิดล้มล้างสถาบันฯ และยุยงนักศึกษาในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้มีแนวคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ที่ผ่านมาคนขอนแก่นต้องอดทน อดกลั้น ต่อการกระทำของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” ที่บังอาจใส่ร้ายและจาบจ้วงล่วงเกินสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ด้วยถ้อยคำที่หยาบคายรุนแรงมานาน บัดนี้คนขอนแก่นในนาม “คนขอนแก่นปกป้องสถาบัน” ขอประกาศเป็นตัวแทนในนามชาวขอนแก่นทุกคน ขอประกาศว่า “พวกเราจะไม่ยอมนิ่งเฉย จะไม่อดทนต่อขบวนการล้มเจ้าที่ฝังตัวอยู่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะไม่ยอมให้ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นถูกใช้เป็นศูนย์รวมของกลุ่มคนคิดล้มเจ้า”

พวกเราจะเดินหน้าทำทุกวิถีทางให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการใดๆ ที่จะไม่ให้มีการใช้มหาวิทยาลัยขอนแก่นของกลุ่มคนที่คิดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อไป

เราขอให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่นแสดงจุดยืนที่ชัดเชน และหวังว่าผู้มีอำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ ทำการกวาดล้างคณาจารย์และกลุ่มบุคคลที่คิดล้มล้างสถาบันฯ ออกไปให้พ้นจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้หมด อย่าให้เหลือเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินอีกต่อไป อย่าให้ขบวนการล้มเจ้าปั่นหัวนักศึกษารุ่นต่อรุ่น อย่าให้ขบวนการล้มเจ้าฝังรากลึกจนยากที่จะถอน

ด้านนายธรรมรัตน์ เสงี่ยมศรี หนึ่งในภาคีเครือข่ายคนขอนแก่นปกป้องสถาบันฯ กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ว่า เพราะหมดความอดทนที่เห็นกลุ่มม็อบที่อ้างเป็นคนรุ่นใหม่ทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมใน จ.ขอนแก่นบ่อยครั้ง ทั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือที่อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือแม้แต่ภายใน ม.ขอนแก่นเอง กลุ่มคนพวกนี้ย่ามใจถึงกับปลดธงชาติไทยลงจากเสาธง และชักธงปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นแทนที่หน้าตึกอธิการบดี ม.ขอนแก่น (หลังเก่า)

นายธรรมรัตน์ เผยด้วยว่า ล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มนักศึกษา ม.ขอนแก่น ได้ร่วมกับทีมงานเว็บเพจอีสานเรคคอร์ด พากันนำผ้าไปคลุมรูปปั้นอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ พร้อมกับเขียนข้อความที่หยาบคายมาก สะท้อนให้เห็นถึงความดิบหยาบในจิตสำนึก ไม่มีพ่อแม่ครูบาอาจารย์สั่งสอนอบรม

นายธรรมรัตน์ กล่าวอีกว่า กลุ่มอาจารย์นอกรีตไม่เอาสถาบันฯ ใน ม.ขอนแก่นเองก็เคลื่อนไหวควบคู่ไปกับนักศึกษา เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา วิทยาลัยปกครองท้องถิ่นก็เชิญนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลมาบรรยายให้นักศึกษาฟัง ถัดจากนั้นอีก 2 วัน คณะมนุษย์ศาสตร์ฯ ก็เชิญ ทราย เจริญปุระ มาบรรยายในประเด็นพลังคนรุ่นใหม่กับประชาธิปไตยช่วงเปลี่ยนผ่าน “ทุกครั้งที่ม็อบพวกนี้ทำกิจกรรม จะเน้นย้ำข้อเรียกร้อง 3 ข้อของกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งคนไทยทั้งประเทศทราบดีว่า เป้าหมายสูงสุดคือการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ดังนั้น ในวันที่ 16 มี.ค.นี้ ทางกลุ่มจะส่งตัวแทนไปพบกับ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี ม.ขอนแก่น เพื่อถามไถ่ถึงจุดยืนของมหาวิทยาลัยว่า ยังเทิดทูนศรัทธาสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของสถาบันหลักของชาติอยู่หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยเห็นทางฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยออกมาปรามหรือออกประกาศเตือนสติม็อบนักศึกษาที่จวบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันเบื้องสูงเลยแม้แต่ครั้งเดียว หลังจากนั้นวันที่ 18 มี.ค. ทางกลุ่มจะไปพบกับนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าฯ ขอนแก่น เพื่อถามไถ่ในประเด็นเดียวกัน

5. ปปง.แถลงยึดทรัพย์ “หลงจู๊สมชาย-เสี่ยโป้” 1,200 ล้าน ด้าน “สันธนะ” ขู่ฟ้องแทนเสี่ยโป้ ชี้ ปปง.ไร้หลักฐานยึดทรัพย์!



เมื่อวันที่ 11 มี.ค. พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. ได้แถลงผลงานการยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในภาพรวมตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 ถึงปัจจุบัน โดยมีการยึดอายัดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 47,469 ล้านบาท

พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง กล่าวว่า ในช่วง 5 ปี มีคดีสำคัญๆ ได้แก่ การกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริต รวมมูลค่าประมาณ 23,034 ล้านบาท เช่น คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวแบบรัฐต่อรัฐ คดีทุจริตโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียตำบลคลองด่าน จ.สมุทรปราการ คดีกรณีการใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ด้านพืช)

นอกจากนี้ ยังมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนกว่า 10 คดี เช่น คดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด, คดี Forex-3D, คดีแชร์แม่มณี, คดี บจก.เอนเนอร์จี ดีดักชั่น, คดีฉ้อโกงขายหน้ากากอนามัย, อีกทั้งยังมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการพนัน ได้แก่ คดีเครือข่ายหลงจู๊ หรือนายสมชาย จุติกิติ์เดชา กับพวก คดีนายเสี่ยโป้ โป้อานนท์ และ น.ส.บานเย็น ชาญนรา ซึ่งเป็นมารดา กับพวก รวมถึงคดีเครือข่ายพนันออนไลน์ จ.พระนครศรีอยุธยา

พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ กล่าวอีกว่า "การดำเนินการในคดีอื่นๆ ยังมีคดีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เช่น คดีเครือข่ายนายไซซะนะ แก้วพิมพา กับพวก การกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ เช่น คดีสถานบริการอาบอบนวดนาตารี คดีสถานบริการธารทิพย์อาบอบนวด คดีทัวร์ศูนย์เหรียญ คดีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ได้แก่ คดีนายเจ้า หราน (สัญชาติจีน) กับพวก คดีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสารสิทธิและลักทรัพย์เป็นปกติธุระ ได้แก่ คดีทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด"

พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง กล่าวด้วยว่า คดีหลงจู๊ หรือนายสมชาย จุติกิติ์เดชา กับพวก และนายเสี่ยโป้ โป้อานนท์ กับ น.ส.บานเย็น ชาญนรา มารดาและพวก ได้มีการยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดมูลฐาน รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบุคคลดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 430 รายการ รวมราคาประเมินทั้งสิ้นประมาณ 1,200 ล้านบาท พร้อมดอกผล เช่น เงินในบัญชี เงินฝากธนาคาร เครื่องประดับ ทองรูปพรรณ ยานพาหนะ ห้องชุด ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น

เมื่อสำนักงาน ปปง. ตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว จะเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการธุรกรรม เพื่อพิจารณาส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ ยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต่อไป และสำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีมากกว่า 100 ราย

พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ เผยด้วยว่า "ล่าสุดยังตรวจพบว่า เส้นทางการเงินของนายเสี่ยโป้และนายสมชายมีความเชื่อมโยงกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ หากธุรกรรมมีความเชื่อมโยงกัน หรือเชื่อมโยงกับผู้ใด อาจเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน ซึ่งมีโทษหนักจำคุก 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท"

ด้าน พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล กล่าวว่า ปปง.ให้ผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการยึดอายัดทรัพย์สินในคดีดังกล่าว ยื่นเรื่องเพื่อชี้แจงได้ภายใน 90 วัน ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ยืนยัน ดำเนินงานของ ปปง.เป็นไปตามกฎหมายทุกอย่าง ถ้าผู้ได้รับผลกระทบเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถใช้สิทธิ์ฟ้องได้ เรายินดีพิสูจน์ทุกเรื่อง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างที่มีการแถลงข่าวนั้น นายสันธนะ ประยูรรัตน์ อดีตนายตำรวจสันติบาล ได้เดินทางมาร่วมฟังการแถลงด้วย หลังจบการแถลงของ ปปง. นายสันธนะได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ตนได้รับมอบอำนาจมาติดตามคดีนายเสี่ยโป้ อานนท์ หลังถูกยึดอายัดทรัพย์คดีบ่อนการพนัน โดย ปปง. แถลงผลยึดอายัดทรัพย์สินรวม 430 รายการ แต่ไม่มีหลักฐานมาชี้แจงรายละเอียดให้รับทราบว่า มีที่มาอย่างไรบ้าง เส้นทางการเงินมาจากไหน และไม่แสดงรายการทรัพย์สินของนายเสี่ยโป้ เพราะทรัพย์สินบางบัญชีเจ้าตัวยังไม่ทราบด้วยว่า เป็นของใครโอนมา หากนายเสี่ยโป้โอนเงินให้เพื่อนคนรู้จักหรือคนในครอบครัวก็จะถูกตรวจสอบด้วยหรือไม่ เหมือนเป็นการใช้กฎหมายละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล

นายสันธนะ กล่าวอีกว่า "ยอมรับว่านายเสี่ยโป้เป็นคนชอบเล่นการพนัน ทั้งออนไลน์และบ่อนในกรุงเทพฯ มีความสัมพันธ์รู้จักกับนายสมชาย หรือหลงจู๊ บางครั้งได้โทรศัพท์ขอยืมเงินกันบ้าง แต่ก็คืนนายสมชายทุกครั้ง อย่างไรก็ตามจะยื่นฟ้องต่อศาลกับเจ้าหน้าที่ ปปง.ที่เกี่ยวข้องกับคดีเสี่ยโป้อีกทาง เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของนายเสี่ยโป้และครอบครัว"


กำลังโหลดความคิดเห็น