หลังจากที่ห่างหายจากการร่วมงานกันไปนานโข อันเนื่องมาจากแยกย้ายกันไปตามที่ตนเองถนัด และแล้วในที่สุด คู่หูสองเพื่อน อย่าง เปิ้ล-นาคร ศิลาชัย และ เป้-นฤบดี เวชกรรม ก็กลับมาจอยกันอีกครั้ง ในรอบ 12 ปี นับตั้ง สาระแนห้าวเป้ง (2552) กับหนังไทยเรื่องใหม่จากค่ายสหมงคลฟิล์ม กับ ‘ห้าวเป้งจ๋าอย่าแกงน้อง’ ที่คนทั้งคู่รับหน้าที่ทั้งอำนวยการสร้าง โปรดิวเซอร์ นักแสดง และ ผู้กำกับการแสดง ตามลำดับ ซึ่งพวกเขาก็พร้อมแล้วที่จะมาสืบทอดการ ‘แกล้งเพราะความรัก’ อย่างที่คุ้นเคยกัน ให้กลับมาอีกครั้งใน พ.ศ. นี้
ที่มาที่ไปของหนังเรื่องนี้ มันเริ่มมาจากอะไรครับ
นฤบดี : คือเราได้มาเริ่มงานอีกครั้ง ตอนช่วงหนัง Low Season เราชวนเปิ้ลเขาไปเล่นหนัง แล้วเข้าไปในกอง แล้วรู้สึกว่าบรรยากาศกลิ่นเก่าๆ มันกลับมา ก็ชวนเปิ้ลทำหนัง แล้วไปเจอแกงค์ 48 กรุ๊ปไทย เราเลยรู้สึกว่าชีวิตของน้องๆ ไอดอล มันน่าสนใจดี เราเลยบอกว่า มาทำอะไรกับน้องๆ พวกนี้หน่อย เปิ้ลก็บอกว่าลองดู
นาคร : บอกว่ามึงอยากทำเหรอ เดี๋ยวกูจัดให้
นฤบดี : แต่เปิ้ลบอกว่า 48 กรุ๊ปไทย มันมีน้องใหม่ กำลังจะกำเนิดขึ้นมาที่เชียงใหม่ เราก็พอไปเห็นหน้าตาน้อง ก็คือมาจากลุคแบบใสๆ เลย เราก็เลยคิดว่า ถ้าตามติดชีวิตของน้อง ก็คิดว่าน่าสนใจ (นาคร : หน้าเหมือนลูกแมวเพิ่งคลอด) มาดูซิว่าเด็กๆ กลุ่มนี้ จะเป็นไอดอล มันจะเป็นยังไงวะ
นาคร : มันเกิดจากที่เราทำหนังกันมา เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ชื่อ ‘สาระแนห้าวเป้ง’ พอเวลาผ่านไป ต่างคนก็ต่างแยกย้าย เป้ก็ยังคงทำหนังอยู่ ล่าสุดก็ Low Season ที่เขากำกับ เราก็ออกจากวงการหนัง ไปทำธุรกิจเต็มตัวเลย แต่จู่ๆ ก็อย่างที่เขาเล่าเลยว่า 48 กรุ๊ปไทย น่าสนใจ เอามั้ยล่ะ เป้บอกว่าได้เหรอ ถ้าติดต่อได้ เราก็ ได้ดิ ก็ติดต่อจัดให้เลย หาไปหามา ก็มีน้องใหม่มาด้วย จุดติดเลย แต่ถ้าเราสองคนทำหนีงก็จะเป็นทางที่เราถนัดที่สุด ก็คือแนวแคนดิด แต่เราขอเรียกว่าเป็น ออแกนิค ฟิล์มดีกว่า เป็นหนังสดๆ ไม่มีบท เพราะถ้ามี ก็ต้องมีการเขียนบทเป็นเดือน ตรวจบทและแก้บทอีก รวม 4 เดือน ซึ่งกูไม่เอา กูจะเอาตอนนี้ เดือนหน้าเปิดกล้องเลย มึงคิดมา ขี้เกียจรอบท เสียเวลา ยุคนี้ไม่เอาแล้ว ซึ่งเขาก็ทำได้จริงๆ ฉะนั้น เราเลยกลับไปเป็นเหมือนเดิมที่เราเคยทำ จึงเกิดมาเป็นห้าวเป้ง ใน พ.ศ. นี้ขึ้นมา
พอมาทำหนังแคนดิดในยุคนี้ มันมีความยากง่าย จากภาคก่อนหน้านี้ยังไงบ้างครับ
นฤบดี : ตอนเรื่องก่อน เราแคนดิด สตาร์บัคส์ (พงศ์พิชญ์ ปรีชาบริสุทธิ์กุล) กับ หลังเลนส์ (เสกสรร รัตนพรพิศ) โดยใช้พี่ๆ ในวงการ เข้าไปฝึกงานน้อง แล้วทั้ง 2 คน ก็อยู่ในบริษัท ทำยังไงก็ได้ จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอดตรงนั้น แต่เรื่องนี้ เขาอยู่ไกลจากเรา คือเชียงใหม่ แล้วเขาก็มีองค์กรที่คอยปกปักรักษาน้องมาก มีข้อห้ามต่างๆ แล้ววิธีการคือ เราต้องทำเป็นความลับ แม้กระทั่งพี่เลี้ยงที่ดูแลน้องๆ ก้ห้ามบอก ไม่อย่างงั้นความลับรั่ว เพราะเขาอยู่ด้วยกันนานมาก อันนี้คือความยากขั้นแรก ความยากในขั้นต่อมาคือ น้องทั้ง 25 คน มันจะท้าทายยังไง นางเอกคือใคร จะเอาใครเป็นตัวนำ
นาคร : เอาตรงๆ ว่าหนังประเภทนี้มันยากทุกเรื่อง ไม่มีง่าย อย่างหนังทั่วไป เขียนบทเสร็จ ก็บีบมาเป็น sequence เป็นฉากๆ แล้วให้ทีมงานไปทำมาก็จบ ทำตามใบสั่ง แต่อันนี้มันไม่ใช่ เราไม่รู้ว่าเก้งกวางที่เรากำลังตามจับ จะวิ่งไปทางไหนของป่า เพราะฉะนั้น เราจะต้องมีทีมที่จะเข้าไปเจาะ ซึ่งก็ไม่ได้อีก เพราะว่ามีคนที่ดูแลฝูงเก้วกวางเหล่านี้อยู่ ซึ่งเราจะไปให้เขารู้ก็ไม่ได้ คนที่ดูแลน้องๆ ก็ไม่มีใครรู้นะว่าพวกเราแฝงตัวเข้าไปทำหนัง กำลังสร้างหนังอยู่ เวลา 1 ปี 3 เดือนนี่มันไม่ง่ายนะ ที่จะเข้าไปอยู่ตรงนั้น
คือเหมือนตำรวจไปสืบ ที่ไปอยู่ในวงพวกค้ายา ไปร่วมขบวนการโดยที่พวกนั้นไม่รู้ตัว เคยฟังสายตรวจคนนึงเล่าให้ฟังว่า ไปนั่งร่วมกับพวกค้ายาหลายเดือนเลย มันก็ไม่รู้ว่ากูเป็นตำรวจ แล้วมาวันนึง มันก็มองหน้ากูแล้วถามว่า ‘มึงเป็นตำรวจใช่มั้ย’ (หัวเราะ) ซึ่งสายตรวจคนนั้นบอกว่า กูแม่งเกือบตาย แล้วมันก็บอกว่าพูดเล่น (หัวเราะอีกครั้ง) ตรงนี้ก็เหมือนกัน การที่เราแฝงไปอยู่กับเด็กๆ แล้วถ้าวันดีคืนดี เด็กบอกว่า ‘เอ๊ะ มีใครแกล้งหรือซ่อนรึเปล่า’ ทีมงานก็ใจเต้นเหมือนกันนะ แบบ อะไรวะ กูซ่อนตัวมาเป็นปี กูกำลังจะถูกจับได้เหรอ มันมีความยากและตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา แล้วเราต้องขึ้นไปที่นั่น แถมสภาพแต่ละคนที่แก่ๆ อย่างงี้ ต้องไปซ่อนอยู่ตามห้องน้ำ ซอกหลืบ และที่ต่างๆ แล้วเด็กเดินผ่านแต่ละครั้ง เราต้องวิ่งจนหัวเข่าและล้มจนแตก คือเป็นอย่างงี้เป็นปีเลย แต่มีความสุขมาก
ถ้าจะให้อธิบายถึงศิลปะในการแกล้งคน พี่ๆ จะให้คำนิยามยังไงบ้างครับ
นาคร : มันก็มีฉากบางอย่างแฝงอยู่เนอะ ไม่ใช่ว่าเอาอะไรต่างๆ ไปปาใส่เขาแล้วแอบถ่ายและหัวเราะ จริงๆ มันไม่ใช่แค่นั้นไง จริงๆ มันมีลึกกว่านั้น เพราะว่า สังเกตว่ามีคนที่ทำเยอะแยะ แต่ทำแล้วก็เลิกหายไป แล้วยิ่งสมัยนี้ด้วย สังคมออนไลน์มันแรง ฉะนั้น การที่เราไปแกล้งคนอื่น บางทีมันก็จะเสียต่อการแบบว่า ‘มึงไปบูลลี่เขารึเปล่า’ ‘ใช่สิ ไม่ใช่พ่อมึงนี่’ ‘ถ้าเป็นลูกพี่เปิ้ลล่ะ พี่จะยอมเหรอ’ สมัยนี้จะมีพวกนี้ ที่ค่อนข้างจะยากกว่าในการทำสแนป แต่เรายังเชื่อในเทคนิคที่เรามี เชื่อในศาสตร์ของเรา ที่เฉลยออกมาแล้วทุกคนต้องรักและยอมรับในการที่เราไปทำแบบนั้น เพราะเรามีเพื่ออะไรบางอย่าง ทีมงานก็ต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่เหมือนคนอื่น ที่เราแอบใส่ลงไป เหมือนสูตรน้ำก๋วยเตี๋ยวเรือที่แอบใส่กัญชาลงไป (หัวเราะเบาๆ) ฉะนั้นทีมงานต้องมีแอบใส่สิ่งเหล่านี้แหละ มันจะแตกต่างกับคนอื่น พอทำออกมาแล้ว มันถึงจะทำให้คนไม่ด่าเราได้ ก็ง่ายๆ เลย ก่อนที่จะไปแกล้งเขา ถามทีมงานว่า มึงชอบเขามั้ย ถ้าไม่ชอบหรือหมั่นไส้เขา ก็อย่าไปแกล้ง ถอย ยกเลิก แต่ถ้ามึงชอบเขา โคตรรัก เลื่อมใส หรือปลื้ม มึงแกล้งเขาไปเลย แต่ขอให้เริ่มจากความรัก
นฤบดี : คนที่เราจะแกล้งเขา รักเขามั้ย ไม่ใช่หมั่นไส้แล้วไปแกล้งเขา ทำอะไรแล้วเขารู้สึกดี หลังจากนั้นพอเฉลยแล้ว เขาไม่รู้สึกว่า เฮ้ย จำจนตาย กูเกลียดมึงมากเลย แผนที่เราจะทำ มันต้องมีข้อมูลของเขา ค่อนข้างลึกพอสมควร เช่นเรื่องของคนใกล้ตัว
นาคร : เรื่องเยอะ ถ้าเรารู้จักคนนั้นไม่พอ แล้วไปแกล้ง ถือว่าเสี่ยง เสี่ยงที่ attitude จะออกมาแล้วเป็นลบ
เหมือนคล้ายๆ กับว่า พี่ๆ ต้องทำการค้นหาข้อมูลของคนๆ นั้น พอสมควร
นาคร : เยอะมาก อย่างกลุ่ม CGM48 เรามองหน้าพวกเขาแล้วรู้สึกว่า กลุ่มนี้โคตรน่าเอ็นดูเลย แล้วยิ่งไปศึกษาพบว่า เป้าหมายเขาชัดเจน ทุกคนมีเป้าที่เขาอยากจะไปเหมือนกันหมด และทุกคนมี attitude ที่เป็นบวกหมด อย่างงี้แหละน่านำเสนอ น่าเล่น ยิ่งแกล้งออกมาแล้วได้เห็นตัวตนที่แท้จริงของเด็กๆ นะ เราเชื่อว่าแฟนคลับวงนี้ จะ appreciate ในสิ่งที่เราทำด้วย
แต่มันก็มีผลกระทบในระหว่างทางที่แกล้งอยู่นะครับ
นฤบดี : คือทุกสิ่งมันก็ต้องแลกมาทั้งนั้น แต่ดูที่เจตนามากกว่า คือยังไงน้องก็ต้องเจออุปสรรค คิดว่าเด็กที่ขึ้นมาแลกกับความฝันของตัวเอง ยังไงก็ต้องแลกกับสิ่งที่ตัวเองเสียไป อย่างตอนที่เขามาเป็นไอดอล เขาก็ต้องแลกกับอิสระ จากที่เคยอยู่บ้าน เคยคบเพื่อนกลุ่มเดิม พอเขามาทำหน้าที่ตรงนี้ เขาก็ต้องตัดสิ่งเหล่านั้น แล้วการที่เราไปทำหนัง จากชีวิตเขา เขาก็ต้องเจออุปสรรคที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งมันอาจจะเป็นประสบการณ์ของเขา เขาอาจจะแลกด้วยน้ำตา หรือ ความรู้สึก แต่ไม่ใช่ว่าพอมันผ่านเวลาตรงนั้นไปแล้ว เขาจะจำเหตุการณ์ในปีที่ผ่านมา
นาคร : เป็นเรื่องธรรมชาติ (ตอบทันที) เพราะว่าเราเล่นกับอารมณ์อยู่แล้ว เราเล่นมาแล้วดูซิว่าจะโกรธมั้ย เหวอมั้ย ร้องไห้หัวเราะ หรือ จะตอบคำถามในสิ่งที่เราถามโง่ๆ ไป แล้วจะตอบมายังไง คือมันเป็นผลลัพธ์ที่มันไม่มีในบท หรือ สคริปต์ คือเราเตรียมใจไว้แล้วล่ะว่ามันจะเป็นบวกหรือลบ แค่นั้นเอง คือสุดท้าย ผลจะออกมายังไง พอเห็นหน้าเราแล้ว ค่อยว่ากัน (หัวเราะเบาๆ) โดนมาเยอะและ อาจจะแบบ ‘โห เชี่ย พี่เปิ้ล กูไม่เล่นพี่’ ‘พี่เอาผมมาขนาดนี้ ผมไม่แฮปปี้ว่ะ ผมไม่เล่นว่ะพี่ ตัดออก เลิก’ อาจจะเจอแบบนั้น ซึ่งไม่น่าจะเจอแบบนั้นนะ เพราะว่าเราศึกษานิสัยเขามาเรียบร้อยแล้ว แล้วอีกอย่าง มันก็เป็นคนที่เรารัก และมันก็รักเราด้วย พอเฉลยออกมา (ทำท่าตกใจ) สะใจ อะไรอย่างงี้ แต่ละคนเฉลยออกมาทุกคนแบบ ไม่รู้ว่าเข้าข้างตัวเองรึเปล่า แต่ทุกคนดีใจหมดเลย
นฤบดี : เขาไปพูดกับเมียเขาทีหลัง
นาคร : จะแบบพี่เปิ้ลเชี่ย แม่ง ให้ตังค์เท่าไหร่ แต่เรารู้สึกว่าทุกคนแฮปปี้ มีความสุข แต่เราต้องมีการศึกษาเขาแล้วนะ ไม่ใช่แบบสุ่มสี่สุ่มห้าไปเล่นกับคนที่ไม่รู้จัก หรือคนที่เรารู้สึกไม่ดีต่อกัน ไม่ต้องเฉลยหรอก มึงเตรียมไว้เลย เขาไม่เอากับมึงแน่นอน
นฤบดี : อันนี้เราทำรายการมา ช่วงเมื่อก่อน ไม่ใช่ว่าไม่เคย ก็ค้นคว้าจนเจอเหตุการณ์แบบนี้ คือมันผ่านมาจนเราอายุปูนนี้แล้ว เพราะฉะนั้นในการทำหนังเรื่องนี้ ประสบการณ์เหล่านั้นมันกลับมาว่าควรจะทำแบบไหน
นาคร : ก็คือง่ายๆ ไม่รักเขาก็อย่าไปแกงเขา จบ
แต่ประโยคที่ว่า แกล้งยังไงให้รัก กับ แกล้งยังไงให้เกลียด ทั้งคู่มีการสมดุลในตรงนี้ยังไงบ้างครับ
นาคร : ก็ศึกษาเขาเยอะๆ ไม่ต้องสร้างความสมดุลอะไรมาก แต่ถ้าไม่รู้จักเขาเลย มึงอย่าไปแกล้ง จะไปแกล้งเขาทำไม คือตอนแรกก็มีนะ ก่อนที่หนังเรื่องนี้จะเริ่ม เราก็คิดแบบการตลาดมาก่อน เอาตรงๆ เลย ว่าต้องเอาพระเอกคนไหนมา หนังถึงจะขายได้ นักร้องจะต้องเอาแบบเกาหลีมา พระเอกก็ต้องเป็นเบอร์หนึ่งเบอร์นี้ ออกมาเลยหน้าหนังได้ ราคาเท่าไหร่ แต่ไม่รู้จักเขาเลย มึงมีเงินแล้วไปจ้างเขามา แต่มันทำแบบนั้นไม่ได้นี่หว่า จนกระทั่งเป้ พูดมาคำนึงว่า เอาคนที่สนิทดีกว่ามั้ย เราไม่สนใจหรอกว่าเขาจะดังประมาณไหน หน้าหนังการตลาดเป็นไง ช่างแม่ง แต่เอาคนที่เราสนิทดีกว่ามั้ย คนที่เรารัก เราชอบดีกว่า มันก็เลยเกิดขบวนการแกง กับคนที่เรารักและสนิทหมดเลย แล้วบังเอิญที่เราเลือกมา ดันมาเป็นเบอร์ 1 ในตอนนี้ ในแต่ละสาขาแผนก ถือว่าโชคดีตรงนี้ เรามีน้องและเพื่อนที่เก่ง มีตัวที่มันเก่งๆ ทุกคน
นฤบดี : มันย้อนแย้งมั้ย พี่เปิ้ลพูดไปหมดแล้วล่ะ แต่แค่อยากจะเติมว่า ถ้าเราอยากจะแกล้งใครสมมุติว่าเป็นตัวเรา วันเกิดนี้เราอยากแกล้งพี่ชาย ถ้าทุกคนอยากจะแกล้งพี่ชายตัวเอง มันง่ายมั้ย เพราะว่าเราสนิทกับเขาไง แต่ถ้าเกิดว่า ถ้าเขาให้ไปแกล้งเพื่อนแล้วเขาจ้างเรา แต่เราไม่รู้จักเขาเลย เราจะรับงานมั้ยล่ะ เพราะทุกวันนี้ เวลาที่เห็นเขาแกล้งกันในคลิป เดินตลาดหรือเดินห้าง ไม่รู้จักกัน แล้วเขาพยายามทำ แล้วก็วิ่งหนี แล้วทำไม่รู้ไม่ชี้ อันนั้นจะงงๆ หน่อย ก้รู้สึกว่า เขากล้าทำเว้ย
ในมุมของการสร้างผลงาน การใช้ความคาดเดาไม่ได้ของนักแสดง ถ้าพูดถึงการควบคุม ถือว่าเป็นความยากด้วยมั้ยครับ
นฤบดี : ยากแน่นอนอยู่แล้ว เป็นงานที่โคตรยาก ตั้งแต่วันที่ชวนแล้วมองหน้ากัน ก็บอกว่า จะเหนื่อยกันอีกแล้วใช่มั้ย (หัวเราะเบาๆ) คือจริงๆ เราจะทำภาคนี้มาตั้งนานแล้วนะ แล้วทุกคนมันจะตาลอยหมดเลยว่า มันยาก เพราะ ‘สาระแนห้าวเป้ง’ มันก็เป้งไปแล้ว แล้วจะทำห้าวเป้งอีกครั้งแล้วมันยากว่ะ แต่พอจังหวะที่มาเจอน้อง มันเกิดความรู้สึกว่า เราลืมความยากแล้ว เราลืมความยากนั้นไป เพราะความรู้สึกว่ามันน่าสนใจ คำว่าน่าสนใจมันมาก่อน แล้วความรู้สึกเดิมมันกลับมา พอมันกลับมาปุ๊บ พอเราสนุกกับมัน มันไม่มีอะไรยากหรอก เวลาที่เราจะทำอะไรแล้วสนุกกับมัน ไม่ยาก แต่ถ้ามันไม่สนุก แล้วจำเป็นต้องทำ มันเหนื่อย คือมันยากหมดแหละ
นาคร : มันก็ยากทุกเรื่องนะ แต่อย่างที่พี่เป้บอก มันยากแต่สนุก พอสนุกปุ๊บ ความยากก็ไม่มีแล้ว คือตอนแรก จะทำยังไงดีวะ วันสุดท้ายของเขาคืออะไรวะ น้องเขาจะคัดตัว แล้วมันจะจบตรงไหนวะ
นฤบดี : มันมีหมด ในสิ่งที่เราต้องคำนวณ โดยที่ไม่มีบท
นาคร : เขามีการลงมาฝึกตรงนี้ กี่เดือนวะ จบหลักสูตรแล้วรับปริญญา แล้วคัดตัว แล้วได้ไปต่อวันไหน แล้วมันเป็นยังไง ไม่มีใครรู้อะไรเลย ทางต้นสังกัดของทาง 48 กรุ๊ปประเทศไทย ก็ยังไม่รู้ว่ามีการประกาศว่าเมื่อไหร่ยังไง ก็กลางๆ ปีค่ะ แต่แล้วโควิด-19 มา ทุกอย่างเลื่อน แล้วยังไงต่อ อย่างที่บอกคือมันสดมาก มันเป็น ออแกนิค ฟิล์ม แล้วตอนนี้เรารู้สึกภูมิใจนะ มันมีความตื่นเต้นในตอนทำ ตอนคิด แล้วตอนนี้คือตื่นเต้นจากคนดูว่า พวกเขาจะมีความรู้สึกเหมือนเรามั้ย ถ้ามีการพูดว่า ของเก่าแล้ว มันจะเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกับเราที่ยังเดินเข้าโรงหนังอยู่ ซึ่งมีไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่คนรุ่นใหม่ๆ ที่ยังไม่ทันได้ดูภาคแรก เรื่องนี้ น่าจะเป็นปรากฎการณ์สำหรับ เด็กวัย 20 ลงไป วงเล็บว่า ถ้าเขายังไม่เคยเห็นของเก่าก่อนนะ มันก็น่าจะเป็นอะไรใหม่ๆ แล้วเรามั่นใจว่า หนังเรื่องนี้ จบสวย รู้สึก ตลก สนุก หัวเราะ ซึ้ง รู้สึกดี ต้องไปดูจะมีความรู้สึกเดียวกับพวกเรามั้ย
ด้วยในปัจจุบันที่มีกลุ่มคนทำคลิปในลักษณะแคนดิด มาพอสมควร ในฐานะที่พี่ๆ เป็นผู้มาก่อนการ มองตรงนี้ยังไงบ้างครับ
นาคร : ตรงนี้มันเป็นเรื่องธรรมชาติ เหมือนข้าวขาหมู ใครๆ ก็อยากทำข้าวขาหมูขาย เพราะมันอร่อย หรือทำเมนูต่างๆ ถ้าอร่อย ก็ทำขายหมด การทำแคนดิดก็เหมือนกัน ถ้าแกล้งแล้วหัวเราะ ใครๆ ก็หัวเราะ แต่อยู่ที่สุดท้ายแล้วทำอร่อยหรือเปล่า กินแล้วปลอดภัยมั้ย ดูแล้วมันจรรโลงสังคมบ้างมั้ยนะ ไม่ใช่แบบ เอาขี้ปาแล้ววิ่งหนี ซึ่งอันนี้คนก็ทำเยอะนะ แต่ทางของเราที่อยู่มาได้ทุกวันนี้ คือมันจะมีอะไรบางอย่าง ภายใต้ที่เราวาดอยู่ เพราะเวลาที่ส่งอาจารย์ มึงวาดเละเทะขนาดไหน สุดท้ายว่า คอนเซปต์จะบอกอะไร นี่คือสิ่งที่เราได้จากเรียนศิลปกรรมมาตั้งแต่เด็กนะ เขาสอนมาอย่างงี้แหละ จะให้วาดเละยังไงก็ตามไม่รู้แหละ แต่สุดท้ายใต้ภาพที่เราวาดนั้นมันต้องการอะไร จะบอกอะไร นี่คือสิ่งที่เราแอบมีอยู่ คนอาจจะด่าว่า ไร้สาระก็ได้ เล่นแล้วได้อะไรวะก็มี แต่คนที่ได้อะไรไป คนคิดเป็นดูเป็น เขากลับไปก็จะ ‘เออว่ะ จริงอย่างที่ผู้กำกับแอบบอกมาทางนี้ว่ะ” หรือ ตลกประโยคเดียว อาจจะทำให้กูไปต่อได้ในชีวิต
แต่จริงๆ แล้วมันไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นศาสตร์ของตลก เขาเรียกว่า Fharce Comedy ตีหัวแล้ววิ่งหนีเลย ตลกทำยังไงก็ได้ให้ลื่นล้ม แกล้งอะไรก็ได้ ให้ฮาๆ เจ็บๆ วิ่งเอายาสระผมใส่หัว ขณะที่เขาสระผมอยู่ ไม่หมดซะที กับอีกสไตล์ คือ ชาลี แชปลิน (นักแสดงตลกระดับโลกชาวอังกฤษ) เป็นตลกแบบมีเรื่องราวและความลึก อย่างสิ่งที่เราทำ มันมีอะไรซ่อนอยู่เยอะแยะ มันคนละอย่างกัน วิธีการที่น้องๆ เล่นในสมัยนี้มันก็ได้ ซึ่งบางทีเราก็มีเล่นแบบนั้นนะ ก็เพลินดี ไม่ต้องคิดมาก แต่พอมาทำเป็นหนังแล้ว มันก็ต้องมีความสวยงามของความตลกอยู่ด้วย
นฤบดี : การแกล้งมันเป็นองค์ประกอบในการนำเสนอมากกว่า แต่พูดถึงแล้วมันก็มีเรื่องข้างใน ซ่อนไว้ เพื่อที่จะเอาไว้ยึดว่า เราทำไปแบบไม่ได้มั่ว ซึ่งกว่าที่จะได้มาจนวันนี้ มันก็ลองผิดลองถูกมาเยอะนะ แต่หนังเรื่องนี้ เรานำวิธีนั้น ที่เรามีประสบการณ์มาทำ เพราะฉะนั้น การทำหนัง มันก็มีเรื่องขององค์เนอะ จะว่ากันตามสูตร เห็นตัวอย่างที่เราทำ มันสะใจแค่คนแกล้ง คนดูมันก็ไม่ได้อินหรอก อันนั้นก็คือยังไม่ได้ดู แต่ในแง่ของคนทำหนัง หรือแม้ทีมงานที่ทำ ทุกคนก็แย้งเราเสมอนะ ว่าหนังมันต้องมีเส้นและองค์ของมัน ซึ่งเส้นหรือองค์พวกนี้มันไม่ได้หายไปไหนหรอก แม้กระทั่งตอนแกล้งโดยที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็มีการมองภาพนั้นอยู่ตลอดเวลาว่าตอนนี้เราถึงองค์ไหนแล้ว อะไรที่มันยังขาด เราต้องไปต่อองค์ไหน ซึ่งต้องไปดูว่ามันมีตรงไหน
ระหว่างการรักในการแกล้ง กับ แกล้งเพราะความรัก พี่ทั้งสองคน ให้คำนิยามตรงนี้ยังไง
นาคร : แกล้งเพราะความรัก (ตอบทันที) ประโยคแรกมันเป็นโดยสันดาน อย่างเราถ้ามีเวลาก็แกล้งลูกเล่น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทั้งหมด มันอยู่ที่เวลาที่เราแกล้ง เราเอ็นดู แกล้งลูกแกล้งเมีย โคตรสนุกเลย แต่ถ้าให้ไปแกล้งคนข้างบ้าน ไม่เอา ไม่รู้จัก เครียด (หัวเราะ)
นฤบดี : รักในการแกล้งมันเหนื่อย มันจะไปรักทำไม ประโยคหลังเหมือนกัน เพราะว่า อย่างหนังเรื่องนี้ คือแกล้งในความรัก เพราะเรารู้สึกว่า น้องๆ กลุ่มนี้ เขามีความรักที่จะเป็นไอดอล เราก็รักที่จะเฝ้าติดตามชีวิตเขา แต่เราก็แฝงวิธีการเล่าเรื่อง ใส่อุปสรรคเข้าไปในชีวิตน้องเขา
นาคร : แต่คือตอนนี้สรุปเลยละกันว่า หนังเรื่องนี้เราไม่ได้สร้างมาเพื่อสอนสังคมอะไร แต่จริงๆ สภาพของคนไทยและคนทั้งโลกกำลังดาวน์จากสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ตอนนี้ทุกคนกำลังดีขึ้นแล้ว เริ่มมีวัคซีน เริ่มมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันจากคนทั้งโลก เพราะฉะนั้น ‘ห้าวเป้งจ๋า อย่าแกงน้อง’ ก็ขอเป็นส่วนหนึ่งให้มาหัวเราะกับเรื่องนี้กัน อยากให้ทุกคนมีความสุขกัน นี่คือเป้าใหญ่ที่สุดของเรา
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ดรงค์ ฤทธิปัญญา