xs
xsm
sm
md
lg

องคมนตรีประชุมติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนมีนาคม 2564

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“องคมนตรี” ร่วมประชุมติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนมีนาคม 2564 กับคณะกรรมการกลั่นกรองและขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่

วันนี้ (10 มี.ค.) เวลา 09.00 น. นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง และ พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองและขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ครั้งที่ 5/2564 ณ ห้องชัยพฤกษ์ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่

องคมนตรีได้รับฟังความก้าวหน้าการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน โดยในพื้นที่ของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเขตต้นน้ำที่สำคัญ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้นำระบบสมาร์ทไมโครกริด (Smart MicroGrid) ระบบไฟฟ้าชุมชนแบบอัจฉริยะที่ผสมผสานระหว่างไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง และไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมาใช้ในพื้นที่ โดยนำพลังงานน้ำจากน้ำตกสิริภูมิไปผลิตกระแสไฟฟ้า วัตถุประสงค์หลักเพื่อรองรับกรณีไฟฟ้าหลักเกิดปัญหา และยังรองรับงานพัฒนาส่งเสริมอาชีพของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ รวมทั้งผันน้ำไปใช้ในบ่อเลี้ยงปลาเทราต์ ปลาสเตอร์เจียน ในหน่วยวิจัยประมงที่สูงดอยอินทนนท์ โดยระบบสมาร์ทไมโครกริดนี้สามารถผลิตไฟฟ้าได้จำนวน 210 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้า 1,000,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงต่อปี จึงเป็นประโยชน์ต่อทั้งราษฎรในชุมชน และการพัฒนางานในพื้นที่

นอกจากนี้ องคมนตรียังได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินความช่วยเหลือราษฎรในเขตพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ อ.แม่ระมาด จ.ตาก ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสำคัญในรัชกาลปัจจุบัน ที่นำรูปแบบและแนวทางโครงการหลวงโมเดลซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ปัญหาการปลูกฝิ่น ความยากจน รวมทั้งการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอได้เร่งจัดทำแปลงสาธิตในพื้นที่ตั้งของศูนย์เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกร และเป็นจุดถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาอาชีพตามเป้าหมายได้โดยเร็ว และขณะนี้ได้มีการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อเป็นธนาคารอาหารชุมชนบนพื้นที่สูง ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง โดยการคัดเลือกชนิดพืชที่เหมาะสมต่อการปลูกฟื้นฟูแหล่งอาหาร เน้นขนิดพืชที่เป็นความต้องการของชุมชน พืชที่ใกล้สูญหาย และพืชที่มีศักยภาพในการต่อยอดเพื่อเสริมรายได้แก่ครัวเรือน ซึ่งมีจำนวนพืช 26 ชนิด เช่น เนียง มะขามป้อม สมอไทย สะตอ เต่าร้าง หวาย ลิงลาว ตองหอม เผือกหอม ที่จะจัดเตรียมต้นกล้าพันธุ์สนับสนุนการจัดทำแปลงตัวอย่างต่อไป

กลยุทธ์สำคัญที่นำสู่ความสำเร็จในการสร้างอาชีพของมูลนิธิโครงการหลวง คือ งานวิจัย เพื่อให้การผลิตพืชมีคุณภาพ เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ มูลนิธิโครงการหลวงจึงมุ่งเน้นงานวิจัยที่ตรงตามความต้องการ ความจำเป็น การประหยัด สามารถต่อยอดไปใช้ประโยชน์ได้จริง ตลอดจนเปิดโอกาสแก่นักวิจัยรุ่นใหม่ ขณะนี้มูลนิธิโครงการหลวงมุ่งวิจัยเพื่อการปรับปรุงพันธุ์พืช/สัตว์ให้เหมาะสมระบบภูมินิเวศบนพื้นที่สูง การวิจัยเทคโนโลยีการผลิตพืช/สัตว์ในระบบเกษตรแม่นยำ และ Smart Farm ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดทำ Guide line ชุมชนตามหลัก SDGs และคาร์บอนต่ำ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ สำหรับการศึกษาวิจัยและพัฒนากัญชง หรือเฮมป์ ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง มูลนิธิโครงการหลวงได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง พัฒนาพันธุ์กัญชงแล้ว จำนวน 4 พันธุ์ ซึ่งอยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนพันธุ์ และมีแผนปรับปรุงพันธุ์กัญชง เพื่อให้มีสาร CBD ที่มีสรรพคุณทางยาที่เหมาะสม พัฒนาระบบการปลูกที่เหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์ในการสกัดสาร CBD ตลอดจนศึกษาต้นทุนและความคุ้มค่าของการใช้ประโยชน์ และการแปรรูปกัญชง


















กำลังโหลดความคิดเห็น