xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพ ยสท.-ชาวไร่ยาสูบ ค้านขึ้นภาษีบุหรี่ขั้นต่ำราคา 75 บาท โวยข้อเสนอกลุ่มต้านบุหรี่ไม่ตอบโจทย์ชาวไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 นายสุเทพ ทิมศิลป์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการยาสูบ (สร.ย.)
สหภาพ ยสท. และภาคีชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทยประสานเสียงคัดค้านข้อเสนอของเครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ที่ให้ขึ้นภาษีบุหรี่แบบก้าวกระโดดและเสนอให้ราคาขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 75 บาท โวยข้อเสนอกลุ่มต้านบุหรี่ไม่ตอบโจทย์ชาวไร่ ช่วยบุหรี่เถื่อนเติบโต และจะทำอุตสาหกรรมยาสูบและชาวไร่ยาสูบพังทั้งระบบ

วันนี้ (9 มี.ค.) นายสุเทพ ทิมศิลป์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการยาสูบ (สร.ย.) เผยหลังทราบข่าวเครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่เสนอให้เก็บภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 เพื่อให้บุหรี่ขั้นต่ำราคา 75 บาทว่า “เราขอคัดค้านการเก็บภาษีบุหรี่ที่สูงจนเกินไป โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันที่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิดทั้งสองรอบ เพราะจะยิ่งทำให้การดำเนินธุรกิจของ ยสท.ประสบปัญหาถึงขั้นขาดทุนได้ บุหรี่ราคาต่ำสุดในตลาดตอนนี้คือ 60 บาท แต่กำไรต่อซองที่ ยสท.ได้เพียง 67 สตางค์ ซึ่งการแข่งขันในตลาดสูงมากต้องขายแข่งกับแบรนด์อื่นๆ ที่ตั้งราคาที่ 60 บาทเท่ากัน และยังต้องสู้กับบุหรี่เถื่อน ยาเส้น ที่ราคาถูกกว่ามาก ถ้าเพิ่มภาระภาษีเข้าไปอีก บุหรี่เถื่อนคงยิ้มร่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า การที่คนหันไปสูบสินค้าทดแทนพวกนี้ไม่เห็นจะช่วยให้การบริโภคบุหรี่ลดลงและดีต่อนโยบายสาธารณสุขอย่างไร แถมยังส่งผลกระทบต่อรายได้รัฐอย่างมากตามมาด้วย”
 
“ตั้งแต่มีการขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ปี 2560 และเก็บภาษีมหาดไทยและภาษีผู้สูงอายุอีกร้อยละ 12 ส่งผลให้บุหรี่ของ ยสท.มีการปรับขึ้นราคาในช่วงร้อยละ 9-20 จนส่งผลให้ผลประกอบการของ ยสท. แย่ลง ๆ ทุกปี จากปี 2562 เคยมีรายได้จากการขายบุหรี่ 5 หมื่นล้านบาท ก็ลดเหลือเพียง 4.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2563 จนต้องขอกู้โอดีเพื่อเพิ่มสภาพคล่องและสำรองเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแสตมป์บุหรี่ ต้นทุนวัตถุดิบในการผลิต เช่น การซื้อใบยาสูบจากชาวไร่ ถ้าขึ้นภาษีแบบก้าวกระโดดตามข้อเสนอของกลุ่มต่อต้านบุหรี่อีก ยสท.จะอยู่ไม่ได้ เดือดร้อนถึงพนักงานเกือบ 3,000 คนและนั่นหมายถึงชาวไร่ยาสูบก็ต้องต้องถูกลดโควตาลงอีกหรือถูกบังคับให้เลิกปลูกโดยไม่มีพืชทดแทน ดังนั้น อยากให้กรมสรรพสามิตยึดมั่นในแนวทางที่จะหาความสมดุลใน 4 ด้าน ได้แก่ 1. รายได้รัฐ 2. อุตสาหกรรมยาสูบ 3. สุขภาพ และ 4. บุหรี่เถื่อน ไม่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง ตามที่เคยได้ประกาศไว้”

นายกิตติทัศน์ ผาทอง ตัวแทนภาคีเครือข่าวชาวไร่ยาสูบ
ด้านนายกิตติทัศน์ ผาทอง ตัวแทนภาคีเครือข่าวชาวไร่ยาสูบ ให้ความเห็นในลักษณะเดียวกันว่า ปัญหาทั้งหมดของชาวไร่ยาสูบมาจากการปรับอัตราภาษีที่สูงจนเกินไปในคราวเดียว และถ้ามีการปรับภาษีอัตราเดียวได้อย่างเหมาะสม และทยอยขึ้นภาษี ไม่ขึ้นในอัตราที่สูงมากในครั้งเดียวก็จะไม่กระทบต่อชาวไร่ยาสูบและสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้อย่างตรงจุด “เราเพิ่งทำหนังสือถึงท่านอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เพื่อขอบคุณที่สละเวลาเข้าร่วมประชุม กมธ.แก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม ซึ่งในที่ประชุมวันนั้นมีการตำหนิโครงสร้างภาษีปี 2560 ที่แบ่งอัตราภาษีตามราคาเป็น 2 ชั้นจนก่อให้เกิดปัญหาในอุตสาหกรรมทำให้ชาวไร่เดือดร้อน หากจะมีการปรับโครงสร้างภาษีใหม่แล้วดันให้ภาษีและราคาบุหรี่ขึ้นสูงเกินไปนั้น จะยิ่งสร้างปัญหาซ้ำซ้อนให้กับทั้งอุตสาหกรรมยาสูบ โดยเฉพาะพวกเราชาวไร่ยาสูบ ที่ยังคงประสบความยากลำบากตั้งแต่ปี 2560 ต้องโดนตัดโควตารับซื้อใบยา แถมเงินชดเชยก็ยังไม่ได้รับ”

“ข้อเสนอของกลุ่มต่อต้านบุหรี่มีแต่ความสุดโต่ง อ้างประโยชน์ด้านสุขภาพอย่างเดียวโดยไม่สนใจถึงความเป็นจริง ความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ปากกัดตีนถีบ อ้างแต่จะช่วย ยสท. แต่ข้อเสนอที่ออกมากลับตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง เพราะการขึ้นภาษีจะทำให้ ยสท.ไม่สามารถอยู่รอดได้ ชาวไร่ก็ลำบากไปด้วย แต่คนไทยก็คงจะสูบบุหรี่อยู่ แต่เป็นบุหรี่เถื่อน ยาเส้น หรือบุหรี่นอกแทน พวกเราหวังว่ากระทรวงการคลังจะพิจารณาการขึ้นภาษีบุหรี่อย่างรอบคอบ และมองปัญหาโดยรวมอย่างสมดุล ไม่ใช่แค่ในมุมสาธารณสุขอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องของเกษตรกรด้วย ที่ผ่านมาก็เห็นชัดว่าการขึ้นภาษีแบบสูงๆ หรือกำหนดอัตราภาษีตามราคาแบบหลายขั้นเป็นนโยบายที่ผิดพลาด หวังว่าการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ครั้งนี้กระทรวงการคลังจะไม่ทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย”


กำลังโหลดความคิดเห็น