xs
xsm
sm
md
lg

เหตุเกิดในวันที่ ๘ มีนาคม! วันสตรีสากล-ขึ้นทะเบียนปราสาทแสงอาทิตย์ทะลุ-พระราชวังตากอากาศ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



๐ ๒๔๕๐ วันสตรีสากล
ในวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๕๐ กรรมกรสตรีในโรงงานทอผ้า เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกกดขี่ทารุณเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง โดยเห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน ให้ทำงานถึงวันละ ๑๒-๑๕ ชั่วโมง แต่ได้รับรายได้เพียงน้อยนิด และสตรีตั้งครรภ์มักถูกไล่ออก กรรมกรสตรีคนหนึ่งเชื้อสายเยอรมัน ชื่อ คลาร่า เซทคิน จึงเป็นผู้นำบรรดากรรมกรสตรีลุกขึ้นต่อสู้ด้วยวิธีนัดหยุดงาน และเดินขบวนเรียกร้องให้ลดเวลาทำงานลงเหลือ ๘ ชั่วโมงต่อวัน ให้ปรับปรุงสวัสดิการภายในโรงงาน และให้สตรีมีสิทธิในการเลือกตั้งด้วย แม้จะมีหลายร้อยคนถูกจับในการต่อสู้ครั้งนี้ แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากสตรีทั่วโลก

ต่อมาในวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๕๓ ได้มีตัวแทนสตรีจาก ๑๘ ประเทศเข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ ๒ ที่เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ค ที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี โดยให้ลดเวลาทำงานลงเหลือวันละ ๘ ชั่วโมง พักผ่อน ๘ ชั่วโมง ศึกษาหาความรู้ ๘ ชั่วโมง และกำหนดให้ค่าแรงสตรีเท่าเทียมกับค่าแรงชาย อีกทั้งให้คุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กด้วย นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับข้อเสนอของคลาร่า เซทคิน ประกาศให้วันที่ ๘ มีนาคม เป็นวันสตรีสากล โดยมีการจัดงานวันสตรีสากลขึ้นเป็นครั้งแรกในปีต่อมา ในประเทศออสเตรีย เดนมาร์ค เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ มีประชาชนทั้งชายหญิงเข้าร่วมงานกว่าล้านคน และในปีต่อๆมาก็มีประเทศต่างๆเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ

ต่อมาในปี ๒๕๐๐ สหประชาชาติได้เชิญชวนให้ทุกประเทศทั่วโลก กำหนดวันหนึ่งวันใดเป็นวันฉลองแห่งชาติ ว่าด้วยสิทธิสตรีและสันติภาพสากล โดยขึ้นกับสภาพทางประวัติศาสตร์และประเพณีของแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ได้กำหนดให้วันที่ ๘ มีนาคม เป็นวันสตรีสากล รวมทั้งประเทศไทยด้วย

๐ ๒๔๗๘ ขึ้นทะเบียนปราสาทหินพนมรุ้งเป็นโบราณสถานแห่งชาติ

ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นปราสาทหินแบบขอมอีกแห่งหนึ่งของภาคอีสาน ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างมาก ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับแล้วสูงประมาณ ๒๐๐ เมตรจากพื้นราบ และประมาณ ๓๕๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ ๗๗ กิโลเมตร สร้างขึ้นเป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดูที่นับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด เขาพนมรุ้งจึงเสมือนเขาไกรลาสที่ประทับของพระศิวะ ต่อมาพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งอาณาจักรขอม ได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงถูกดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา

เสน่ห์ของปราสาทพนมรุ้งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาชมอย่างแน่นขนัด ก็คือการออกแบบตามหลักดาราศาสตร์ ให้แสงอาทิตย์ส่องผ่านซุ้มประตูทั้ง ๑๕ ช่องได้อย่างมหัศจรรย์ โดยในรอบปีจะเกิดปรากฏการณ์นี้ถึง ๔ ครั้ง ช่วงพระอาทิตย์ขึ้น ๒ ครั้ง และตอนพระอาทิตย์ตกอีก ๒ ครั้ง คือ

ครั้งที่ ๑ ในวันที่ ๕-๗ มีนาคม ช่วงเวลาประมาณ ๑๘.๑๕ – ๑๘.๒๓ น.

ครั้งที่ ๒ ในวันที่ ๓-๕ เมษายน ช่วงเวลาประมาณ ๐๖.๐๕ – ๐๖.๑๓ น.

ครั้งที่ ๓ ในวันที่ ๕-๗ กันยายน ช่วงเวลาประมาณ ๐๖.๐๐ - ๐.๐๘ น.

ครั้งที่ ๔ ในวันที่ ๖-๘ ตุลาคม ช่วงเวลาประมาณ ๑๗.๕๐ – ๑๗.๕๘ น.

กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนปราสาทหินพนมรุ้งเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘

๐ ๒๔๗๘ ขึ้นทะเบียนพระราชวังตากอากาศแห่งแรกเป็นโบราณสถาน

เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๒ หรือเมื่อราว ๑๕๐ ปีที่แล้ว การเดินทางไปเมืองเพชรบุรีคงไม่สะดวกสบายเหมือนทุกวันนี้ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็โปรดให้สร้างพระราชวังสำหรับตากอากาศขึ้นบนยอดเขาวัง ซึ่งนับเป็นพระราชวังแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่สร้างขึ้นเพื่อแปรพระราชฐานในชนบท

ก่อนขึ้นครองราชย์ รัชกาลที่ ๔ ทรงผนวชอยู่ตลอดรัชกาลที่ ๓ เป็นเวลาถึง ๒๗ ปี และเสด็จธุดงค์ไปทั่ว เคยเสด็จไปบำเพ็ญสมณธรรมที่ถ้ำเขาย้อย เมืองเพชรบุรี และเคยประทับแรมที่วัดสมณารามที่เชิงเขาวังด้วย เมื่อขึ้นครองราชย์ในปี ๒๓๙๔ จึงโปรดให้สร้างพระราชวังขึ้นบนยอดเขาวังทั้ง ๓ ยอด พระราชทานนามว่า “พระราชวังพระนครคีรี” มีวัดประจำพระราชวังอยู่บนยอดเขาด้านทิศตะวันออก พระราชทานนามว่า “วัดพระแก้ว”

เขาวังเดิมมีชื่อว่า “เขาสมณ” หรือ “เขาสมน” (สะ-หมน) มี ๓ ยอดติดต่อกัน ยอดสูงที่สุดสูงเพียง ๙๕ เมตร ทางไหล่เขาด้านตะวันออกมีวัดอยู่ก่อนแล้ว ชื่อ “วัดสมณ” ซึ่งสร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในหมายรับสั่งรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๒ ทรงเรียกเขานี้ว่า “เขามหาสมน” ต่อมาจึงพระราชทานนามว่า “เขามหาสวรรค์” แต่เมื่อสร้างพระราชวังขึ้นแล้ว ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “เขาวัง” ตลอดมา

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็โปรดประทับที่พระนครคีรีเช่นกัน นอกจากใช้เป็นที่ว่าราชการเมื่อแปรพระราชฐานแล้ว พระราชวังแห่งนี้ยังเป็นที่รับรองแขกเมืองคนสำคัญหลายครั้ง

พระนครคีรี เป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าทั้งด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และเป็นพระบรมราชานุสรณ์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ กรมศิลปากรจึงประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ และเสนอเป็นโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ใน พ.ศ.๒๕๒๔ โดยเริ่มปรับปรุงซ่อมแซมอาคารต่างๆมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ จนแล้วเสร็จในปี ๒๕๓๐ เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ มีกระเช้าไฟฟ้าให้ขึ้นชม เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเด่นแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี

พระนครคีรี ยังมีหอชัชวาลเวียงชัย เปรียบเสมือนประภาคาร และเป็นสถานที่สำหรับทอดพระเนตรดาวพุธ โดยมีระบุในจดหมายเหตุของหมอบรัดเลย์ พระนครคีรีจึงเป็นพระราชวังที่แสดงถึงความทันสมัยและศิวิไลซ์เป็นอย่างยิ่ง นอกจากเป็นสถานที่เสด็จฯประทับแรมแล้ว ยังใช้รับรองพระราชอาคันตุกะเรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ใช้เป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะที่สำคัญ คือ ดยุกและดัชเชสโยฮันเบรต แห่งเมืองบรันทวีท เจ้าผู้ครองนครรัฐของเยอรมนี โดยตอนนั้นเป็นรัฐโยฮันเบรต

เขาวังยังเป็นเหตุให้ชาวเพชรบุรีมีฝีมือในการปรุงอาหารคาวหวานตำรับชาววังมาจนทุกวันนี้ ก็เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกบ้าฯ ซึ่งเป็นกษัตริย์ราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่เสด็จแปรพระราชฐานไปพักแรมในต่างจังหวัด และทรงโปรดปรานเมืองเพชรจนสร้างพระราชวังขึ้นนั้น เมื่อเสด็จไปประทับ แม่ครัวชาววังก็ให้ชาวเมืองเพชรมาเป็นลูกมือ คนเหล่านั้นจึงถ่ายทอดตำรับอาหารชาววังไปตามหมู่บ้านจนแพร่หลาย เช่นเดียวกับชาวเกาะเกร็ดที่จังหวัดนนทบุรีที่ ร.๕ เสด็จไปพระราชวังบางปะอิน และแวะพักเรือตามวัดต่างๆในเส้นทาง ทรงบูรณะวัดปากอ่าวที่เกาะเกร็ด เสด็จไปตรวจงานหลายครั้งก่อนจะบูรณะเสร็จ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดปรมัยยิกาวาส ชาวเกาะเกร็ดจึงมีฝีมือทางอาหารตำรับชาววังด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น