xs
xsm
sm
md
lg

คำถามจากทนายกะเหรี่ยงบางกลอย “กีดกันไม่ให้เจอหน้าลูกความ จะรู้ได้ยังไงว่าไม่ถูกบิดเบือน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ตั้งคำถามถึงการทำคดีกะเหรี่ยงบางกลอย ระบุเจ้าหน้าที่กีดกันไม่ให้ทนายเจอหน้าลูกความ แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าคำให้การไม่ถูกบิดเบือน


รายงานพิเศษ


“เจ้าหน้าที่อุทยานฯแก่งกระจาน และพนักงานสอบสวนไม่ให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย - ไจแผ่นดิน พบทนายความของพวกเขา อ้างว่าจัดหาทนายความมาให้แล้ว เราก็กลัวว่าคำให้การจะถูกบิดเบือน”

วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เปิดเผยถึงความกังวลและความประหลาดใจที่ทีมทนายความของสมาคมฯไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปพบชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ที่ถูกจับกุมตัวลงมาจากบ้านบางกลอยบน – ใจแผ่นดิน เมื่อวานนี้ ทั้งที่ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้เป็น “ลูกความ” ของสมาคมฯ โดยมีคำอธิบายจากเจ้าหน้าที่อุทยานอ้างว่าได้จัดหาทนายความไว้ให้แล้ว มาจากการประสานกับสภาทนายความ จ.เพชรบุรี


“ทนายความที่ทำคดีของชาวกะเหรี่ยง ควรมีความเข้าใจวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐ อ้างว่าจัดหาทนายความไว้ให้แล้ว ก็ต้องถามว่า ทีมทนายความที่รัฐจัดมามีความเข้าใจวิถีชาวกะเหรี่ยงแค่ไหน ถ้าไม่เข้าใจ อาจทำให้สรุปคำให้การของพี่น้องกะเหรี่ยงผิดพลาดหรืออาจถูกบิดเบือนก็ได้ เราจะรู้ได้ยังไงว่าคำให้การถูกต้อง เมื่อเจ้าหน้าที่กีดกันไม่ให้เราได้มีโอกาสเข้าไปเจอพวกเขาเลย


ที่สำคัญ คือ ชาวกะเหรี่ยงมีทนายความอยู่แล้ว มีหลักฐานการรับเรื่องเป็นเอกสาร ดังนั้น รัฐ ไม่จำเป็นต้องจัดหาทนายความจากที่อื่นหามาให้พวกเขา”


วราภรณ์ ยังอ้างถึงหลักฐานเป็นเอกสารฉบับหนึ่งซึ่งชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน ส่งถึงสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2564 มีเนื้อหาว่า

“พวกเราชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมบางกลอย – ใจแผ่นดิน ที่ต่องการกลับบ้านที่ชุมชนบางกลอย – ใจแผ่นดิน เพื่อใช้ชีวิตตามวิถีดั้งเดิมของพวกเรา ด้วยกหารทำไร่หมุนเวียน แต่เจ้าหน้าที่หน่วยงานของอุทยาน หน่วยงานของรัฐอื่นได้สนธิกำลังจับกุม บังคับให้พวกเราออกจากพื้นที่


พวกเราจึงต้องการความช่วยเหลือ ขอให้สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ให้ความช่วยเหลือในด้านกฎหมายแก่พวกเราด้วย


พวกเราขอขอบคุณอย่างสูง ... ลงชื่อ นายอภิสิทธิ์ เจริญสุข, นายตะพาบ ทองเกิด ตัวแทนชุมชนชาวบ้านบางกลอย – ใจแผ่นดิน”

จากนั้นสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จึงประทับตรารับเรื่องร้องเรียน และจัดตั้งทีมทนายความเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้ไปแล้ว เป็นหลักฐานว่า ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย - ใจแผ่นดิน มีทนายความของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องต้องให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐจัดหาทนายความให้


วราภรณ์ ยังเล่าเหตุการณ์เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 5 มี.ค. ซึ่งชาวกะเหรี่ยงถูกควบคุมตัวอยู่ที่สำนักงานของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และในเวลาประมาณ 14.00 น. มีทนายความ 1 คน จากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนไปถึงแล้ว เมื่อไปแสดงตัว ก็ถูกกีดกันจากเจ้าหน้าที่ ไม่ให้พบชาวกะเหรี่ยงแม้แต่คนเดียว

จึงตั้งคำถามถึงความโปร่งใส เพราะทีมทนายความและชาวบ้านคนอื่นที่ไปตรวจสอบ ไม่มีสิทธิรู้เลยว่าพนักงานสอบสวนพูดคุยอะไรกับชาวกะเหรี่ยงที่ถูกจับกุมบ้าง

ส่วนทนายความที่รัฐหามาให้ก็ไม่มีชาวบ้านคนไหนรู้จักมาก่อน และเมื่อชาวบ้านและทีมสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พยายามจะขอเข้าไปพบผู้ต้องหา กลับถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาวางกำลังโอบล้อม โดยใช้ทั้งกำลังเจ้าหน้าที่อุทยาน ตำรวจตระเวนชายแดน และกำลังทหาร

วราภรณ์ อุทัยรังษี เป็นหนึ่งในทีมทนายความของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นผู้ที่อาสาเข้ามาช่วยชาวกะเหรี่ยงบางกลอย - ใจแผ่นดิน ทำคดีฟ้องร้องต่ออุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมา 10 ปีแล้ว ตั้งแต่กรณีเผาบ้านชาวกะเหรี่ยงในอุทยานตะนาวศรีตั้งแต่ปี 2554 เป็นผู้รับมอบอำนาจแทนปู่คออี้ หรือ นายโคอิ มีมิ ในการแจ้งความร้องทุกข์ในคดีนี้

เป็นทนายความในคดีการหายตัวไปและการฆาตกรรม “บิลลี่” นายพอละจี รักจงเจริญ หลายชายของปู่คออี้ และล่าสุด ทำคดีที่ชาวบ้านบางกลอย - ใจแผ่นดิน ถูกอุทยานฯ ดำเนินคดีเมื่อปี 2562

สำหรับการจับกุมชาวกะเหรี่ยงบางกลอย - ใจแผ่นดิน เมื่อวันที่ 5 มี.ค. เป็นการดำเนินการตามหมายจับที่ออกร่วมกันโดยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน โดยนำตัวลงมาจากพื้นที่บางกลอย - ใจแผ่นดิน 83 คน มาจับที่อุทยาน 1 คน และจับระหว่างล่องแพลงมาอีก 1 คน รวมเป็น 85 คน

จาก 85 คน เจ้าหน้าที่ปล่อยเด็กแยกกลับบ้าน 36 คน เปรียบเทียบปรับ 27 คน ในข้อหาเข้าเขตอุทยานฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนอีก 22 คน ที่ถูกจับกุมตัวคาดว่าจะถูกตั้งข้อหาแผ้วถางบุกรุกอุทยานฯ และส่งไปฝากขังในเรือนจำแล้ว โดยที่ยังไม่มีโอกาสได้พบทีมทนายความเลย รวมทั้ง “หน่อแอะ มีมิ” บุตรชายของปู่คออี้ ที่พิการเดินไม่ได้ก็ถูกจับกุมในกลุ่มนี้ด้วย

“ทีมทนายความคาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่ามีโอกาสสูงที่พี่น้องชาวกะเหรี่ยงบางกลอย - ใจแผ่นดิน จะถูกจับกุม และได้เตรียมข้อมูลไว้สำหรับการต่อสู้ทางกฎหมายมาตลอด แต่เราก็คิดไม่ถึงว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะใช้วิธีกีดกันไม่ให้ทีมทนายความได้เจอลูกความ โดยไปอ้างสิทธิตั้งทนายมาเอง

จึงมีคำถามว่า วิธีการที่เจ้าหน้าที่รัฐกำลังทำอยู่ จะเข้าข่ายการกีดกันสิทธิของผู้ต้องหาที่เขาควรได้รับตามกระบวนการยุติธรรมหรือไม่”
วราภรณ์ ตั้งคำถาม








กำลังโหลดความคิดเห็น