กรณี “ญาริศา” เพื่อนสาวคนสนิท “แอมมี่ เดอะ บอตทอม บูลส์” มีรายงานข่าวว่าจะเดินทางออกนอกประเทศแล้วขึ้น “Stop List” มาทำความรู้จักขั้นตอนเมื่อผู้โดยสารมีคดีและศาลสั่งห้ามออกนอกประเทศ ชี้หากศาลอนุญาตให้เดินทางแล้ว เอาเอกสารจากศาลไปยื่นให้ ตม.ทำใบปลดล็อกได้
วันนี้ (3 มี.ค.) จากกรณีที่มีรายงานข่าวว่า น.ส.ญาริศา (ขอสงวนนามสกุล) นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ถูกระบุว่าเป็นเพื่อนสาวคนสนิทของนายไชยอมร หรือแอมมี่ แก้ววิบูลพันธุ์ นักร้องนำวงเดอะ บอตทอม บูลส์ (The Bottom Blues) และร่วมก่อเหตุวางเพลิงเผาพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่หน้าเรือนจำกลางคลองเปรม ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา เดินทางมาที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น เมื่อยื่นเอกสารการเดินทางที่เคาน์เตอร์สายการบินแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าระบบขึ้น “Stop List” แจ้งเตือนห้ามเดินทาง น.ส.ญาริศาจึงได้รีบออกออกจากสนามบินทันที
อาจมีคนสงสัยว่าจะทราบได้อย่างไรว่าผู้โดยสารถูกแจ้งเตือนห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร?
โดยปกติแล้ว สำนักงานศาลยุติธรรม กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับคำสั่งห้ามออกนอกราชอาณาจักรโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในการส่งและรับข้อมูลคำสั่งศาลที่ห้ามผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งได้รับการปล่อยชั่วคราวเดินทางออกนอกราชอาณาจักร รวมถึงคำสั่งศาลที่อนุญาตให้ออกนอกราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราว และการเพิกถอนคำสั่งห้ามออกนอกราชอาณาจักร
โดยจะเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวจากระบบฐานข้อมูลของสำนักงานศาลยุติธรรม ผ่านระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network : GIN) ไปยังระบบฐานข้อมูลไบโอเมตริกส์ (BIOMETRICS) ของ สตม.
ระบบนี้จะทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่ประจำอยู่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองต่างๆ มีรายชื่อบุคคลที่ต้องห้ามออกนอกราชอาณาจักร รวมทั้งบุคคลที่ได้รับอนุญาตชั่วคราวให้ออกนอกราชอาณาจักร หรือศาลได้เพิกถอนคำสั่งห้ามออกนอกราชอาณาจักรแล้ว
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวที่เคยมีประสบการณ์ถูกขึ้นข้อความห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรรายหนึ่ง กล่าวกับ “ทีมข่าวโซเชียลมีเดีย MGR Online” ว่า เมื่อผู้โดยสารนำเอกสารการเดินทาง เช่น หนังสือเดินทาง (Passport) ยื่นต่อเคาน์เตอร์สายการบิน หากผู้โดยสารรายนั้นแจ้งเตือนห้ามให้เดินทาง หน้าจอจะขึ้น “สีแดง” ที่ชื่อผู้โดยสาร พร้อมรายละเอียดการห้ามออกนอกประเทศ
โดยผู้โดยสารจะไม่เห็นหน้าจอถ้าไม่ชะโงกดู แต่สีหน้าเจ้าหน้าที่จะทำหน้างงๆ คิ้วขมวด บางคนยิ้มเล็กน้อย กล่าวกับผู้โดยสารว่า “ให้รอสักครู่” แล้วโทรศัพท์ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สักพักเจ้าหน้าที่ ตม.ก็จะมาที่เคาน์เตอร์เช็กอินเพื่อพบกับผู้โดยสาร และเชิญตัวไปที่เคาน์เตอร์ ตม.ที่อยู่ในสนามบิน
ผู้โดยสารที่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ให้นำใบอนุญาตจากศาลมายื่นต่อเจ้าหน้าที่ ตม.เพื่อจัดทำใบปลดล็อก แล้วถึงจะอนุญาตให้ออกนอกราชอาณาจักรตามปกติ และเมื่อกลับมาก็ยื่นเอกสารอีกรอบ ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ ตม.จะทราบขั้นตอนเป็นอย่างดีและไม่เคยมีปัญหาติดขัดใดๆ
การขออนุญาตเดินทางออกนอกราชอาณาจักร สำหรับจำเลยที่ศาลมีคำสั่งห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลทุกคดีที่มีการปล่อยตัวชั่วคราวนั้น ให้เขียนคำร้องขอเดินทาง และต้องมาขออนุญาตที่ศาลด้วยตนเองทุกครั้ง และต้องกลับมารายงานตัวที่ศาลภายในกำหนด เอกสารที่ใช้ประกอบ ได้แก่
1. คำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักร
2. สำเนาตั๋วเครื่องบิน ไป-กลับ
3. สำเนาเอกสารการจองที่พัก
4. เอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานมีคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการ
5. บัตรประชาชนตัวจริง
นอกจากนี้ จำเลยจะต้องวางเงินประกันหรือหลักทรัพย์ เท่ากับที่เคยวางเงินประกันมาก่อน เช่น หากเคยได้รับการประกันตัว โดยศาลตีราคาประกันตัว 200,000 บาท ถ้าจะเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ก็ต้องนำเงินประกันหรือหลักทรัพย์ 200,000 บาท มายื่นในวันที่ขออนุญาตด้วย แต่ถ้ากลับถึงประเทศไทยแล้วรายงานตัว สามารถขอคืนเงินได้เฉพาะที่วางเงินประกันก่อนเดินทาง คือ 200,000 บาท แต่เงินหรือหลักทรัพย์ที่เคยประกันตัวยังอยู่เหมือนเดิม
สำหรับการเขียนคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักร บรรยายให้มีข้อมูลดังต่อไปนี้
- ศาลมีคำสั่งปล่อยชั่วคราวโดยมีเงื่อนไขห้ามเดินทาง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
- ขออนุญาตเดินทางไปประเทศใด ระหว่างวันที่ใด เพื่ออะไร และจะกลับมารายงานตัวเมื่อไหร่
หากมีการจองโรงแรมและตั๋วเครื่องบินแล้ว ให้บรรยายว่าเดินทางไปเที่ยวบิน (Flight) ใด เวลาใด และที่พักที่ใด
- บรรยายว่า หากศาลอนุญาต ขอคัดถ่ายหนังสืออนุญาตให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยให้เจ้าพนักงานรับรองสำเนาถูกต้อง จำนวน 2 ฉบับ