พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นกษัตริย์ในราชวงศ์จักรีเพียงพระองค์เดียวที่สละราชสมบัติ และต้องไปสิ้นพระชนม์ในต่างแดน ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ แม้จะทรงยินยอมสละพระราชอำนาจให้ราษฎร แต่อำนาจนั้นกลับไม่ถึงมือประชาชน มีคนกลุ่มหนึ่งนำอำนาจนั้นไปใช้โดยพละการ จึงไม่ขอมีส่วนร่วมกับใช้อำนาจนั้นด้วย ทรงสละราชสมบัติในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ โดยคำประกาศมีข้อความตอนหนึ่งว่า
“…ข้าพเจ้าเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร
บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าความประสงค์ของข้าพเจ้า ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิ์ออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าในฐานที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมมาก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์…”
ความจริงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯก็ทรงมีพระราชดำริจะพระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๗๕ อันเป็นวันครบรอบ ๑๕๐ ปีของพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยทรงมอบให้นายเรมอนด์ บี สตีเวนส์ ที่ปรึกษาชาวอเมริกันร่างไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ขุนนางบางท่านคัดค้านว่าประชาชนยังไม่พร้อม จึงทรงชะลอไว้ก่อน จนเกิดการยึดอำนาจขึ้นในวันที่ ๒๔ มิถุนายนต่อมา ซึ่งคณะราษฎรก็ทราบในเรื่องนี้ดี
เมื่อเกิดการยึดอำนาจ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯก็ทรงโอนอ่อนตามคณะราษฎร เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งถึงขั้นเกิดความรุนแรงกันขึ้น แต่เมื่อรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรไม่สอดคล้องกับแนวทางของพระองค์ ก็ทรงทักท้วงให้แก้ไข แต่ก็ไม่ได้รับการสนองตอบ ความขัดแย้งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการออกกฎหมาย เช่น
พระราชบัญญัติอากรมรดก ทรงไม่เห็นด้วยที่ระบุว่า มรดกทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ต้องเสียอากรมรดก ทรงเห็นว่าทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ต้องเสียภาษีเช่นเดียวกับราษฎรทั่วไปอยู่แล้ว จึงทรงส่งคืนไปให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาใหม่ แต่สภาผู้แทนกลับยืนยันตามมติเดิม
ส่วนพระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญก็มีปัญหาเหมือนกัน ทรงเห็นว่าขัดต่อหลักเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะในกรณี “กบฏบวรเดช” ซึ่งมีการตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาคดี โดยจำเลยไม่มีสิทธิตั้งทนายขึ้นต่อสู้คดีได้เลย ทรงขอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติฉบับนี้ไปเลย
แต่ความขัดแย้งเรื่องการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ ดูจะเป็นเรื่องรุนแรงกกว่าเรื่องอื่น ทรงเห็นว่าไม่ใช่วิถีทางของประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญของคณะราษฎรได้แบ่งสภาเป็น ๓ ยุคสมัย คือ สมัยแรก คณะราษฎรจะเป็นผู้จัดตั้งสมาชิกสภาผู้แทนขึ้นจำนวน ๗๐ คน มีอายุ ๖ เดือน เพื่อจัดการเลือกตั้ง
สมัยที่ ๒ กำหนดให้สมาชิกสภามี ๒ ประเภท ประเภทที่ ๑ มาจากการเลือกตั้งจากจังหวัดต่างๆ ส่วนประเภทที่ ๒ มาจากการแต่งตั้งโดยสมาชิกสมัยที่ ๑ ที่คณะราษฎรเป็นผู้แต่งตั้ง ซึ่งก็คือมาจากคณะราษฎรเช่นกัน และมีอายุจนกว่าจะจัดประเทศเป็นปกติเรียบร้อย
สมัยที่ ๓ เมื่อราษฎรสอบไล่วิชาประถมศึกษาได้เป็นจำนวนเกินครึ่ง และอย่างช้าต้องไม่เกิน ๑๐ ปี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
หมายความว่าในสภาผู้แทนราษฎรจะมีสมาชิกสภาประเภท ๒ ที่มาจากคณะราษฎรถึง ๑๐ ปี หรือจนกว่าประชาชนจะสอบประโยคประถมศึกษาได้เกินครึ่ง
ในพระราชบันทึกฉบับหนึ่ง ได้ทรงแสดงความเห็นเกี่ยวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ ว่า
“...ข้าพเจ้าเห็นว่าสมาชิกประเภทที่ ๒ นี้ ยังควรมีอยู่จริง แต่ควรกำหนดให้เป็นบุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๕ ปี และเป็นผู้ที่เคยชินกับการงานมาแล้ว...การเลือกตั้งนั้น อย่าให้เป็นบุคคลใดคนหนึ่งเลือกได้ก็จะดี เพราะจะป้องกันไม่ให้มีเสียงได้ว่าเลือกพวกพ้อง เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องให้ประชาชนเลือก หรือให้บุคคลที่เรียกว่ามีความรู้ Intelligentsia เลือก...”
และในพระราชหัตถเลขา ประกาศสละราชสมบัติ มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“...การที่ข้าพเจ้ายินยอมให้มีสมาชิก ๒ ประเภท ก็โดยหวังว่าสมาชิกประเภทที่ ๒ ที่ข้าพเจ้าตั้งนั้น จะเลือกจากบุคคลที่รอบรู้การงาน ...ไม่จำกัดว่าเป็นพวกใดคณะใด เพื่อจะได้ช่วยเหลือนำทางให้สมาชิกที่ราษฎรตั้งขึ้นมา แต่ครั้นเมื่อถึงเวลาที่จะตั้งสมาชิกประเภทที่ ๒ ขึ้น ข้าพเจ้าหาได้มีโอกาสแนะนำในการเลือกเลย และคณะรัฐบาลก็เลือกเอาแต่เฉพาะผู้ที่เป็นพวกของตนเกือบทั้งนั้น มิได้คำนึงถึงความชำนาญ...”
ในระยะหลังที่เสด็จไปรับการรักษาพระเนตรที่อังกฤษ ทรงมีโทรเลขมาถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นประจำ ซึ่งกรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงทำหนังสือไปถึงพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“…รัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยมากรู้สึกแน่ใจว่าไม่จำเป็นจะต้องประนีประนอมต่อพระองค์ไม่ว่าในเรื่องใดๆ พอใจที่จะขัดพระราชดำริเสียทุกอย่าง ถ้าหากรัฐบาลมีประสงค์จะประสานงานต่อพระองค์ด้วยดีแล้ว คงจะกราบบังคมทูลปรึกษาก่อนที่จะดำเนินการอันสำคัญไป ถ้าได้ทำดั่งนั้นความยุ่งยากอย่างหนึ่งอย่างใดก็จะไม่เกิดขึ้นได้ แต่รัฐบาลมิได้ทำดั่งนั้น การใดๆรัฐบาลทำไปจนถึงที่สุดเสร็จเสียแล้วจึงกราบบังคมทูลพระกรุณา ไม่มีทางที่จะทรงทักท้วงให้แก้ไขโดยกระแสพระราชดำริอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะมีอะไรเหลือนอกจากความขึ้งเคียดแก่กัน
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีความอึดอัดพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก และทรงเห็นว่ายิ่งนานไปก็ยิ่งจะมีแต่ความขึ้งเคียดแก่กันมากขึ้น จึงทรงเปิดโอกาสให้มีจัดตั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ โดยไม่ทรงแต่งตั้งรัชทายาท เพื่อให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรเลือกกันเองตามความพอใจ
นี่คือมูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ โดยเสด็จไปรับการรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษและไม่กลับมาประเทศไทย ส่งพระราชสาส์นประกาศสละราชสมบัติมาจากกรุงลอนดอน