วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ เป็น “วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ” วิทยุกระจายเสียง “เคย” มีอิทธิพลอย่างสูงในสังคมไทยมาเป็นเวลาเกือบ ๑๐๐ ปี เป็นสื่อมวลชนที่ครองใจประชาชนทั่วทุกหัวระแหง เพราะไม่มีสื่อใดที่จะแพร่กระจายไปได้กว้างขวางเท่าวิทยุ แม้แต่ในป่าในเขา บนหลังควายกลางทุ่ง วิทยุก็ไปถึง ไม่ต้องตั้งจานดาวเทียมรับ อีกทั้งราคาเครื่องรับวิทยุก็มีราคาต่ำ คนทั่วไปสามารถหามาครอบครองได้ไม่ยาก ส่วนสถานีวิทยุก็ไม่ต้องใช้เงินมาก อุปกรณ์ราคาไม่สูงนัก ใช้คนทำงานก็น้อย หากได้รับอนุญาตตามกฎหมายก็ตั้งสถานีวิทยุได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณสูง สถานีวิทยุจึงจึงเกิดขึ้นเป็นร้อยๆสถานีทั่วประเทศ แม้แต่ห้างขายยาถ้าหาหน่วยราชการใดเปิดความสัมพันธ์กันได้ ก็สามารถสนับสนุนให้ตั้งสถานีวิทยุขึ้นแล้วเช่าช่วงดำเนินงานเอง
วิทยุกระจายเสียงจึงเป็นสื่อที่ให้ความรู้ ความบันเทิงแก่ประชาชนครอบคลุมได้ทั้งประเทศ ผิดกับหนังสือพิมพ์ที่ผู้อ่านส่วนใหญ่อยู่ในเมืองเท่านั้น วิทยุจึงมีอิทธิพลทั้งด้านการตลาดและการเมือง ในยุคที่เมืองไทยมีรัฐประหารกันบ่อย สถานีวิทยุจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายรัฐประหารจะต้องชิงกันยึดไว้ให้ได้มากกว่ากัน โดยเฉพาะสถานีวิทยุทหารที่แต่ละสถานียังมีเครือข่ายขยายไปอีกมาก
สถานีบางแห่งอยู่ในกรมกองทหารที่มีการป้องกันอย่างเข้มแข็ง อย่างในการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๒๘ ที่มีทั้งรถถัง รถไฟ รถเมล์ เจ้ามือแชร์ สามัคคีกันทำรัฐประหาร ฝ่ายรัฐบาลใช้สถานีวิทยุกองพลที่ ๑ เป็นหลัก สั่งให้ทุกสถานีถ่ายทอดเสียงจากสถานีนี้เพียงแห่งเดียว ฝ่ายรัฐประหารจึงส่งรถถังไปยึด แต่ได้รับตอบโต้อย่างหนัก ก็เลยใช้ปืนรถถังสอยจานถ่ายทอดของสถานีร่วงลงมา เสาอากาศ ๒ ต้นขาดกระจุย ทำให้สถานีแม่ข่ายของฝ่ายรัฐบาลต้องหยุดออกอากาศทันที
ในคราวรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๔ ที่เรียกกันว่า “กบฏเมษาฮาวาย” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ถอยไปตั้งหลักที่โคราช ฝ่าย “ยังเติร์กลูกป๋า” ทำรัฐประหารยึดกรุงเทพฯ ต่างฝ่ายต่างประกาศปลดฝ่ายตรงข้ามออกจากราชการ ประชาชนก็งงไป ไม่รู้ว่าใครคือผู้กุมอำนาจบ้านเมืองกันแน่ จึงต้องอดตาหลับขับตานอนคอยนับสถานีวิทยุของแต่ละฝ่าย ว่าฝ่ายไหนจะมีสถานีวิทยุมากกว่ากัน ปรากฏว่าสถานีของฝ่ายรัฐประหารหายไปทีละสถานีสองสถานี บางสถานีก็หยุดออกแถลงการณ์ของคณะรัฐประหารกลางคัน หันไปอออกแถลงการณ์ของฝ่ายรัฐบาลทันที ในที่สุดสถานีวิทยุของฝ่ายรัฐประหารก็เหลือศูนย์ ถึงตอนนี้แม้ฝ่ายรัฐบาลยังไม่ออกแถลงการณ์ประชาชนก็รู้แล้วว่าใครชนะ
บทบาทของวิทยุในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ได้สร้างเรื่องสะเทือนฟ้าสะเทือนใจ โดย “ชมรมวิทยุเสรี” ของกลุ่มขวาตกขอบ มองว่านักศึกษาหลัง ๑๔ ตุลาเป็นคอมมิวนิสต์ จึงรวมกลุ่มกันใช้วิทยุปล่อยทั้งข่าวจริงข่าวเท็จ ระดมกันปั่นหัวคนจนเกิดความบ้าหลัง ก่อให้เกิดภาพสะเทือนใจคนไปทั่วโลก และเป็นประวัติศาสตร์ที่ขมขื่นของชาติไทย
วิทยุกระจายเสียงเริ่มมีการทดลองในประเทศไทยในปี ๒๔๗๑ สมัยรัชกาลที่ ๗ เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบูรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพานิชย์และการคมนาคม ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งวงการวิทยุกระจายเสียงไทย” ทรงประกอบเครื่องส่งขนาด ๑ กิโลวัตต์ขึ้นตั้งสถานีที่ตำบลศาลาแดง
หลังจากนั้น ในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๓ ซึ่งตรงกับวันฉัตรมงคลในรัชกาลที่ ๗ จึงเริ่มเปิดสถานีออกอากาศอย่างเป็นทางการขึ้นที่วังพญาไท มีชื่อว่า “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ” กำลังส่ง ๒.๕ กิโลวัตต์ ทำพิธีเปิดสถานีโดยอัญเชิญกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจากพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย ถ่ายทอดตามสายไปออกอากาศที่วังพญาไทสู่พสกนิกร ในตอนหนึ่งของพระราชดำรัสมีความว่า
“...การวิทยุกระจายเสียงที่ได้เริ่มจัดตั้งขึ้น และทำการทดลองตลอดมานั้น ก็ด้วยความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการศึกษา การค้าขาย และการบันเทิงแก่พ่อค้าประชาชน...”
จึงถือว่าวันนี้เป็นวันกำเนิดวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทย
ในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๗๙ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง กองทัพบกต้องการใช้วังพญาไทสร้างโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จึงต้องย้ายสถานีวิทยุกรุงเทพฯไปรวมกับสถานีวิทยุศาลาแดง
ในวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๘๒ รัฐบาลได้ตั้งสำนักงานโฆษณาการขึ้น โอนสถานีวิทยุที่ขึ้นกับกรมไปรษณีย์โทรเลข ให้อยู่ในความควบคุมและดูแลของสำนักโฆษณาการ ซึ่งต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนเป็น “กรมโฆษณาการ” ขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี
ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๔ ซึ่งเริ่มใช้ปีใหม่ในเดือนมกราคมเป็นปีแรก กรมโฆษณาการได้เปลี่ยนชื่อ “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ” เป็น “สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย” ย้ายที่ตั้งจากวังพญาไทไปรวมกับสถานีวิทยุทดลองของกรมไปรษณีย์โทรเลขที่ศาลาแดง ส่งกระจายเสียงคลื่นสั้นควบคู่กับคลื่นยาว เพิ่มกำลังส่งเป็น ๑๐,๐๐๐ วัตต์
ในเดือนเมษายน ๒๔๘๘ โรงไฟฟ้าในกรุงเทพฯทั้งที่วัดเลียบและสามเสนถูกระเบิด ไม่สามารถ่ายกระแสไฟฟ้าได้ทั้ง ๒ โรง วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยไม่สามารถออกอากาศได้ ในวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๘๙ กรมไปรษณีย์โทรเลขจึงก่อตั้ง “สถาณีวิทยุ ๑ ป.ณ.” ขึ้น ที่อาคารหลังเก่าเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งพระนคร เพื่อสำรองใช้ในราชการหากสถานีวิทยุของกรมโฆษณาการไม่สามารถออกอากาศได้
๑๑ กันยายน ๒๔๙๔ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยย้ายไปออกอากาศที่ซอยอารีสัมพันธ์ ถนนพหลโยธิน เพิ่มกำลังส่งเป็น ๑๐ กิโลวัตต์ แต่ห้องส่งอยู่ที่กรมประชาสัมพันธ์ ถนนราชดำเนินกลาง
๒๔ มิถุนายน ๒๔๙๖ เริ่มออกอากาศเป็นภาษาต่างประเทศ ด้วยเครื่องส่ง ๕๐ กิโลวัตต์ และในปี ๒๔๙๙ จึงส่งกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม. เป็นครั้งแรก
๖ ธันวาคม ๒๕๐๘ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจึงเพิ่มกำลังส่งเป็น ๑๐๐ กิโลวัตต์ ย้ายที่ตั้งสถานีส่งไปอยู่ที่ตำบลศาลายา อำเภอนครไชยศรี จังหวัดนครปฐม แต่ห้องส่งยังอยู่ที่กรมประชาสัมพันธ์
๑๔ พฤษภาคม ๒๕๑๐ ออกอากาศคลื่นสั้นไปต่างประเทศด้วยกำลังส่ง ๑๐๐ กิโลวัตต์ เท่ากับคลื่นยาวในประเทศ ตั้งเครื่องส่งอยู่ที่ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
๓ พฤษภาคม ๒๕๒๕ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เปิดสถานีใหม่ ๑,๐๐๐ กิโลวัตต์ ที่ตำบลหนองโรง อำเภอหนองแค จังหวัดนครปฐม จังหวัดสระบุรี โดยมีพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นองค์ประธาน
๓ พฤษภาคม ๒๕๒๙ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเปิดสถานีใหม่อีกครั้งที่ถนนวิภาวดีรังสิต โดย ร.ต.ท.ชาญ มนูธรรม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ย้ายจากอาคารกรมประชาสัมพันธ์ไปออกอากาศที่นี่ทั้งหมด ออกอากาศตั้งแต่ ๐๕.๓๐ – ๒๓.๐๐ น. รวม ๗ ชั่งโมง ๓๐ นาที มีทั้งข่าวและความบันเทิงพร้อม
นี่ก็เป็นวิวัฒนาการของวิทยุกระจายเสียงของประเทศไทย แม้ทุกวันนี้จะมีโทรทัศน์และสื่อออนไลน์แย่งแฟนไปมากแล้ว แต่วิทยุกระจายเสียงก็ยังมีคนอีกหลายกลุ่มพึ่งพาอาศัยอยู่ ไม่หมดความหมายไปเหมือนวิทยุโทรเลข