ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีชาวยุโรปหลายคนเข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทย และหลายคนได้โอนสัญชาติยึดเอาเมืองไทยเป็นเรือนตาย เป็นต้นตระกูลไทยหลายสกุล แต่มีรายหนึ่งโอนจนหมดเนื้อหมดตัวเกือบไม่เหลือความเป็นฝรั่ง
นอกจากโอนสัญชาติแล้ว ยังมีเมียไทย ศึกษาภาษาไทยจนแตกฉานถึงขั้นแต่งกลอนสุภาษิต หันมานับถือศาสนาพุทธ ถวายผ้าไตร และร่วมกับเมียสร้างวัด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปเป็นประธานตัดลูกนิมิตให้ด้วยพระหัตถ์ และพระราชทานชื่อวัด
ฝรั่งผู้นี้มีชื่อว่า เออร์วิน มูลเลอร์ (Erwin Müller) เป็นชาวออสเตรีย เข้ามาเมืองไทยเมื่อใดไม่ปรากฏ มามีชื่ออยู่ในห้าง ดี.เบเกอร์ตี ซึ่งขายของใช้ต่างๆ ต่อมาได้รับรับหน้าที่เป็นผู้จัดการห้าง บี.กริมแอนด์โก ซึ่งเป็นห้างของชาวเยอรมัน ที่ปากคลองตลาด ชอบคบหาสมาคมกับขุนนางข้าราชการการและพระบรมวงศานุวงศ์ มาเริ่มปรากฏชื่อในประวัติศาสตร์ไทยเมื่อมีการปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ขยายพื้นที่ทำนาเพื่อรองรับตลาดโลกที่มีความต้องการข้าวไทยอย่างมาก พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ จึงกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสนอโครงการบุกเบิกทุ่งหลวงซึ่งเป็นพื้นที่ป่าด้านเหนือของกรุงเทพฯให้เป็นทุ่งนาอันกว้างใหญ่ไพศาลโดยไม่ต้องใช้เงินหลวง ด้วยวิธีให้บริษัทเอกชนขุดคลองผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่เหนือตำบลเกาะเกร็ดไปทะลุแม่น้ำนครนายก แล้วซอยเป็นคลองแยกออกไปตลอดทั้ง ๒ ฝั่ง จัดสรรให้ราษฎรเช่าซื้อทำนา
เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเห็นชอบ พระองค์เจ้าสายฯจึงจัดตั้ง “บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม จำกัด” ขึ้นในปี ๒๔๓๑ หุ้นส่วนของบริษัทมีทั้งคนไทยและนายโจอาคิม แกรซี วิศวกรชาวอิตาเลียนในบังคับฝรั่งเศส นายห้างรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งกรอกในสัญญาว่าเป็นคนในบังคับสยาม โดยจะขอโอนสัญชาติเป็นไทยในภายหลัง เพราะบริษัทที่รับงานนี้ต้องเป็นบริษัทไทย เงินทุนไทย แต่เมื่อเซ็นสัญญาแล้วนายโจอาคิมก็บ่ายเบี่ยงที่จะโอนสัญชาติ และยังทำหน้าที่ในศาลกงสุลฝรั่งเศสซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับไทยในขณะนั้น จนในปี ๒๔๓๕ บริษัทขุดคลองแลคูนาสยามจึงขอเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วน นายโจอาคิมได้ขายหุ้นให้กับนายเออร์วิน มูลเลอร์ เข้ามารับเป็นผู้จัดการบริษัทแทน แสดงว่านายห้าง บี.กริม ผู้นี้ได้โอนสัญชาติเป็นไทยแล้ว และมีความเกี่ยวข้องกับทางราชการ ตอนนั้นก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงปฏิบัติราชประสงค์ แล้ว
งานขุดคลองรังสิตได้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เป็นที่พอพระราชหฤทัยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงอย่างมาก ทรงพระมหากรุณาธิคุณเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้ หลวงปฏิบัติราชประสงค์ ขึ้นเป็น พระปฏิบัติราชประสงค์
นอกจากโอนสัญชาติเป็นไทยแล้ว นายเออร์วิน มูลเลอร์ยังหันมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เมื่อครั้งที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงผนวชเป็นสามเณรเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๔๓๔ ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวันส่วนพระองค์ว่า “หลวงปฏิบัติราชประสงค์ เป็นคนฝรั่งก็ถวายผ้าไตรบวช...”
ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ นายเออร์วิน มูลเลอร์และภรรยาได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นที่ริมคลองรังสิตที่เพิ่งขุดขึ้น ใกล้ปากคลอง ๕ ฝั่งใต้ เรียกกันว่า “วัดคลองห้า” สิ้นค่าก่อสร้างไป ๒๔,๘๕๐ บาท พระปฏิบัติราชประสงค์ได้ทำหนังสือขอถวายเป็นพระอารมหลวง แต่พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่าวัดหลวงมีอยู่มากแล้ว มีภาระที่จะต้องดูแลรักษา รัฐบาลไม่อยากให้รับ แต่ในวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้เสด็จพระราชดำเนินไปเปิดเมืองธัญบุรี จากนั้นได้เสด็จโดยเรือพระที่นั่งไปประทับในพระอุโบสถวัดคลองห้า พร้อมพระราชาคณะและพระอันดับคณะรามัญ ได้กระทำสังฆกรรมผูกพัทธสีมา บำเพ็ญพระราชกุศลปิดทองลูกนิมิต และทรงเป็นประธานตัดลูกนิมิตด้วยพระหัตถ์ ซึ่งปกติจะทรงทำพิธีเช่นนี้เฉพาะวัดหลวงเท่านั้น พระราชทานนามว่า “วัดมูลจินดาราม” จากชื่อของนายมูลเลอร์กับภรรยาที่ชื่อจีน
นายมูลเลอร์ยังเป็นนักเลงกลอนมีชื่อคนหนึ่งในยุคนั้น ในหนังสือ “วชิรญาณสุภาษิต” ซึ่งรวบรวมสุภาษิตคำกลอน ยังคัดเลือกบทประพันธ์ของนายมูลเลอร์เมื่อครั้งยังเป็นหลวงปฏิบัติราชประสงค์มารวมไว้ด้วย คือ
๐ เป็นผู้น้อยทั้งอำนาจวาสนา
คำโบราณท่านกล่าวเป็นตำรา
เหล่าเมธาควรจะจำแล้วทำตาม
เห็นผู้ใหญ่ท่านดีมียศมาก
เราควรพากเพียรเคารพด้วยเหตุสาม
หนึ่งเจ้าก้าสองประนมก้มกราบงาม
ข้อที่สามคอยฟังคำสั่งการ
เรื่องหาทรัพย์เหมือนแก่งกำแพงรั้ว
ใครอวดตัวโดดข้ามด้วยความหาญ
บางคนตกจมรั้วตัววายปราณ
ต่อมานานจึงข้ามได้ดังใจนึก
เหมือนนักปราชญ์ที่ฉลาดความคิดต้น
ต้องอับจนเสียเพราะปองไม่ตรองตึก
เพราะฉิบหายวายชีวิตเพราะคิดลึก
คนที่ศึกษาชำนาญการหากิน
ค่อยๆเดินตามหนทางอย่างเรียบร้อย
ถึงได้น้อยก็พอสมอารมณ์ถวิล
ถึงปะรั้วกั้นหน้าไม่ราคิน
ต่อยขุดดินมุดคลอดตลอดไป
ถึงจะช้าสักเท่าใดคงได้ถึง
ดีกว่าปึงปังอย่างว่ากว่าไหนไหน
ไม่เดือดร้อนนอนเป็นสุขไม่ทุกข์ใจ
หากำไรทีละน้อยค่อยประทัง
อันสามีนี่เขากล่าวว่าเท้าหน้า
ถ้าพลาดท่าแล้วต้องเล่นเป็นเท้าหลัง
เสมอกันแล้วอย่างไรคงไม่ฟัง
คงจะตั้งแต่วิวาทจนขาดกัน
อนึ่งชาติเมธาปัญญาฉลาด
จึงสามารถรู้ว่าเขาเขล่าเป็นมั่น
โง่ต่อโง่ที่จะดูรู้จักกัน
รู้ไม่ทันกันเป็นแน่เที่ยงแท้เอย ฯ
หลวงปฏิบัติราชประสงค์
เรื่องราวของนายเออร์วิน มูลเลอร์ หลังจากเสร็จภารกิจขุดคลองรังสิตแล้ว ปรากฏอยู่ในประวัติของพลตรีพระยาอานุภาพไตรภพ (จำรัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เมื่อครั้งที่ไปเรียนวิชาทหารที่ประเทศเยอรมัน เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๕ ได้พบพระปฏิบัติราชประสงค์ที่โรงแรมซาวอยในประเทศอิตาลี และเล่าไว้ว่า
“...พอโผล่เข้าไปในห้องรับประทานอาหาร ก็พบฝรั่งคนหนึ่งหนวดเคราดำ กับเด็กไทยคนหนึ่งอายุไม่เกิน ๑๐ ขวบ นายฝรั่งคนนั้นลุกขึ้นมาต้อนรับและถามนายจำรัสว่า เป็นคนไทยใช่ไหม แล้วก็แนะนำตัวว่า เขาคือพระปฏิบัติราชประสงค์ เคยเป็นนายห้าง บี. กริม ที่ปากคลองตลาด กรุงเทพฯ บัดนี้เป็นกงสุลไทยอยู่ที่เวียนนา ส่วนเด็กชายนั้นเป็นบุตรของเขา แม่ของเด็กเป็นหญิงไทย...”
จึงได้ทราบว่า หลังจากขุดคลองรังสิตสำเร็จแล้ว พระปฏิบัติราชประสงค์ได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นกงสุลไทยประจำกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย บ้านเกิด
ในปี ๒๔๖๐ เมื่อไทยประกาศสงครามกับเยอรมัน ออสเตรีย และฮังการี เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ คนทั้ง ๓ ชาตินี้ต้องตกเป็น “ชนชาติศัตรู” ถูกจับเข้าควบตุมในค่ายเชลยศึกทั้งหมด รวมทั้งคนที่โอนสัญชาติเป็นไทย และรับราชการได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ ฝ่ายสัมพันธมิตรก็บีบให้รัฐบาลไทยคืนสัญชาติและจับเข้าค่ายเหมือนกัน เพราะไม่เป็นที่ไว้วางใจ กลายเป็นคนไร้สัญชาติ พระปฏิบัติราชประสงค์ก็ต้องเข้าหลักเกณฑ์นี้ไปด้วย แต่เนื่องจากยุคนั้นไทยกับเยอรมันมีความสัมพันธ์อันดี คนเยอรมันเข้ามารับราชการไทยอยู่หลายคน อีกทั้งคนไทยก็นิยมเยอรมันเป็นอันมาก เชลยศึกกลุ่มนี้จึงได้รับการปฏิบัติด้วยดี เข้าพำนักที่โรงพยาบาลทหาร ขณะนั้นมีพระบรมวงศานุวงศ์ ๘ พระองค์และสามัญชนอีก ๑ กำลังศึกษาอยู่ในเยอรมัน ซึ่งรัฐบาลเยอรมันก็ปฏิบัติเป็นพิเศษเช่นกัน นำตัวไปพักในปราสาทและยังสามารถไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยได้ตามปกติ เมื่อสงครามสงบเชลยศึกที่เคยมีสัญชาติไทยก็ได้รับการคืนสัญชาติพร้อมบรรดาศักดิ์ และทรัพย์สินที่ถูกยึดไว้ทั้งหมด กลับคืนสู่สถานะเดิม
จากนั้นก็ไม่มีข่าวคราวของ นายเออร์วิน มูลเลอร์ อีก หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ คงมีแต่คลองรังสิตและวัดมูลจินดาราม เป็นที่ระลึกถึงฝรั่งนักเลงกลอน ผู้สร้างวัด...พระปฏิบัติราชประสงค์คนนั้น