xs
xsm
sm
md
lg

ผช.รมว.ยธ.เร่งช่วยเหลือเหยื่อแชร์ลูกโซ่ จ.สงขลา เสียหายกว่า 800 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ผช.รมว.ยธ.” เร่งช่วยเหลือเหยื่อแชร์ลูกโซ่ จ.สงขลา เสียหายกว่า 800 ล้านบาท ย้ำอย่าหลงเชื่อคนแอบอ้างระดมทุนผลตอบแทนสูงเกินจริง ระวังถูกหลอก

วันนี้ (18 ก.พ.) นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการแลบ้านแลเมือง ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ม.อ.หาดใหญ่ F. M. 88 Mhz. ดำเนินรายการโดย คุณอรุณรัตน์ แสงละออง ในกรณีประชาชนใน อ.สิงหนคร อ.สะทิงพระ และ อ.เมือง จ.สงขลา จำนวนประมาณ 500 คน ถูกหลอกลวงให้ร่วมลงทุนในลักษณะออมแชร์ในชื่อกลุ่มบ้านออมเบสท์ เพื่อหวังผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้น แต่ต่อมาไม่สามารถติดต่อผู้ชักชวนให้ลงทุนได้ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 800 ล้านบาท ตนได้รับการประสานเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนดังกล่าวจึงได้มอบหมายให้สำนักงานยุติธรรมจังหวัดสงขลาลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้น โดยขณะนี้ประชาชนได้แจ้งความดำเนินคดีแล้ว

การออมเงิน หรือ การออมทองผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊กมีโอกาสถูกหลอกลวง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าจะรู้ตัวว่าถูกหลอกเมื่อใดไม่มีผู้ใดสามารถตอบได้ บางคนก็รู้ตัวในระยะเวลาสั้นๆ บางคนกว่าจะรู้ตัวก็ถูกหลอกเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน แต่เมื่อถูกหลอกแล้วจะต้องทำอย่างไร

ส่วนผู้เสียหายควรดำเนินการในอันดับแรก คือ การรวบรวมพยานหลักฐาน เช่น หลักฐานการโอนเงิน หลักฐานการชักชวนให้ร่วมลงทุนไม่ว่าจะเป็นข้อความทางไลน์ ทางเฟซบุ๊กและการคำนวณมูลค่าความเสียหายที่ได้รับ ซึ่งจะต้องหักลบส่วนที่ได้รับปันผลไปแล้วด้วย

การรวบรวมพยานหลักฐานเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเมื่อเราแจ้งความดำเนินคดีในท้องที่ที่ความเสียหายเกิดขึ้น พนักงานสอบสวนจะรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้พนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องคดีไปยังศาลแล้วศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีให้จำเลยชดใช้เงินคืนในผู้เสียหายพร้อมดอกเบี้ย

ข้อสังเกตคือ บุคคลใดหรือองค์การใดก็ตามที่มาชักชวนให้เราออมเงินโดยอ้างว่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยธนาคารพึงจ่ายได้ทั้งที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจใดๆ การกระทำดังกล่าวนี้ เข้าองค์ประกอบความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 หรือที่เรามักเรียกว่า กฎหมายแชร์ลูกโซ่ ทั้งยังเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ซึ่งว่าด้วย การกระทำการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนแล้วได้ไปซึ่งทรัพย์สินของประชาชน มีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ ตรงนี้สามารถนำไปสู่การยึดทรัพย์สินที่จากการหลอกลวงได้ สิ่งสำคัญคือผู้เสียหายทุกคนล้วนต้องการได้เงินลงทุนคืนแต่ปัญหาคือจะได้คืนหรือไม่

การกระทำผิดดังกล่าวเป็นอาญาแผ่นดินสามารถนำกฎหมายฟอกเงินมาดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งความผิดมูลฐานฉ้อโกงประชาชนเป็น 1 ใน 26 มูลฐานความผิดฐานฟอกเงิน หมายความว่า เมื่อผู้ต้องหายักย้ายถ่ายโอนทรัพย์สินไปให้ผู้อื่นก็สามารถติดตามยึดอายัดทรัพย์สินคืนกลับมาได้แล้วสุดท้ายก็จะนำไปเฉลี่ยคืนให้กับผู้เสียหายทุกคนดังนั้น ถ้าผู้เสียหายไม่แจ้งความดำเนินคดีก็จะไม่ก็รับเงินคืน

สิ่งสำคัญที่ต้องการเน้นย้ำพี่น้องประชาชน คือ การแจ้งความดำเนินคดีเพราะส่วนใหญ่ผู้เสียหายมักจะไม่แจ้งความดำเนินคดี เพราะคิดว่าต้องใช้ระยะเวลานานและต้องรวบรวมหลักฐานจำนวนมาก จึงมักจะปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป และเมื่อมีการดำเนินคดีไปแล้วผู้เสียหายที่ไม่ได้แจ้งความดำเนินคดี ก็ไม่สามารถขอรับสิทธิ์ขอเฉลี่ยทรัพยคืนได้เพราะถือว่าไม่ใช่ผู้เสียหายในสำนวนคดี โดยส่วนตัวแล้วผมไม่อยาก ให้ผู้เสียหายปล่อยปะละเลยการดำเนินคดีเพราะเท่ากับว่าเป็นการปล่อยให้อาชญากรลอยนวลไปและกลับสร้างความเดือดร้อนไปหลอกลวงผู้อื่นอีก

เมื่อผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีแล้ว ก็จะได้ทราบเลขที่คดีอาญา ซึ่งสามารถติดตามสอบถามความคืบหน้าคดีกับพนักงานสอบสวนได้ และพนักงานสอบสวนเองก็มีหน้าที่รายงานความคืบหน้าให้ผู้เสียหายทราบ โดยคดีฉ้อโกงประชาชนมีอายุความ 20 ปี ส่วนคดีฟอกเงินไม่มีอายุความ หมายความว่า เมื่อตรวจสอบแล้วพบทรัพย์สินเมื่อใด ก็สามารถยึดทรัพย์ได้ทันที และหากยึดทรัพย์สินได้มากกว่าจำนวนความเสียหายผู้เสียหายก็จะได้รับเงินคืนเต็มจำนวน ในทางตรงกันข้ามหากยึดทรัพย์สินได้น้อยกว่าความเสียหายก็จะต้องเฉลี่ยทรัพย์สินคืนตามสัดส่วน

สำหรับแนวทางการป้องกันแชร์ลูกโซ่นั้น ต้องยอมรับว่าในทุกประเทศทั่วโลกก็มีการหลอกลวงประเภทแชร์ลูกโซ่ด้วยกันทั้งสิ้น แต่มีข้อสังเกตที่สำคัญ คือ การดำเนินคดีที่ระยะเวลานานจะทำให้อาชญากรหลั่งไหลมาหลอกลวงในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ผลักดันให้ปัญหาแชร์ลูกโซ่เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2560 ซึ่งหลายหน่วยงานได้พยายามหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันอย่างยั่งยืน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ประชาชนต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบเห็นการชักชวนให้ร่วมลงทุนที่อ้างว่าให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้นก็อย่าเข้าไปติดกับดัก ให้นึกถึงกรณีที่ถูกหลอกด้วยกลอุบายต่างๆ เป็นอุทาหรณ์แล้วอย่าไปหลงเชื่อกลอุบายหลอกลวง

อย่างไรก็ตาม หากผู้เสียหายมีความวิตกกังวลว่าจะไม่ได้รับคามเป็นธรรม หรือเกรงว่าคดีจะล่าช้าจนเกิดความเสียหายลุกลาม สามารถติดต่อกระทรวงยุติธรรมโดยตรงได้ ตามนโยบายของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยธ. ในการอำนวยความยุติธรรมเชิงรุก สร้างสุขให้กับประชาชน มีสายด่วน โทร.ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง โทร.1111 กด 77


กำลังโหลดความคิดเห็น