xs
xsm
sm
md
lg

“สารวัตรเอก” โพสต์ภาพเศร้า จับแม่ค้ายา ลูกเกาะขาแน่น ถาม ผมควรมีความรู้สึกยังไง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สารวัตรเอก หรือ พ.ต.ท.เอกราช หุ่นงาม รองผู้กำกับสืบ สภ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ แชร์ภาพปวดใจ แม่ถูกจับยา 2 ลูกน้อยกอดขาแน่น ทำตนเองเสียความรู้สึก ด้านชาวเน็ตแห่ให้กำลังใจ ระบุ แม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. สารวัตรเอก หรือ พ.ต.ท.เอกราช หุ่นงาม รองผู้กำกับสืบ สภ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้เผยแพร่ภาพ ของแม่รายหนึ่ง ที่ถูกจับจากคดียาเสพติด โดยมีลูกน้อย 2 คน ยืนอยู่ใกล้ๆ ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “สารวัตรเอก หุ่นงาม” โดยเจ้าตัว ได้ระบุข้อความอธิบายความรู้สึกต่อเหตุการณ์ที่ได้พบเจอในครั้งนี้ว่า

“ทำไมผมต้องมาเจอความรู้สึกแบบนี้นะ มันรู้สึกเจ็บปวดจริงๆ โมโห เศร้าใจ เจ็บปวดกับสภาพที่เห็น จับยาบ้ายาไอซ์แม่ ลูกสองคนกอดกันเกาะขาแม่ไว้ ที่เจ็บปวดคือ ลูกคนเล็กอายุ 6 เดือน เท่าหลานผม ปล่อยก็ไม่ได้ เพราะทำมานานยังไงก็ไม่เลิก ผมควรมีความรู้สึกยังไง? ช่วยบอกผมที! กับแม่ผมเฉยๆ แต่พอมองหน้าเด็ก 6 เดือน ทีไรผมต้องหันหน้าหนี ทำใจหนักมาก เสียความรู้สึกจริงๆ คุณทำผิดผมไม่ว่าแต่ทำไมต้องทำร้ายความรู้สึกของผมด้วย”

อย่างไรก็ตาม พบว่า มีชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาโพสต์คอมเมนต์ให้กำลังใจ สารวัตรเอก เป็นจำนวนมาก ที่ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ และเป็นการทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว นอกจากนี้ ยังมีชาวเน็ตแสดงความคิดเห็นว่า การที่เด็กไม่ได้อยู่กับแม่ อาจจะทำให้ชีวิตเด็กดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่หากไปอยู่ในสถานเลี้ยงเด็กของหน่วยงานภาครัฐคุณภาพเด็กก็จะดีขึ้นไปด้วยได้สิ่งแวดล้อมที่มีกติกาและได้เรียนหนังสือ ส่วนผู้เป็นแม่ก็ต้องรับผิดตามกฎหมายต่อไป

สำหรับความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การมีไว้ในครอบครอง เสพ และจำหน่ายสารเสพติดที่กฎหมายกำหนดห้ามไว้ เป็นความผิดตามกฎหมายไทย โดยความผิดดังกล่าวถือเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาและจะเป็นคดีให้ศาลอาญาพิจารณาต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม นักโทษคดียาเสพติดอาจได้รับการพิจารณาให้รับการรักษาในสถานบำบัดแทนการติดคุกก็ได้
สารเสพติดให้โทษที่ทำให้เกิดความผิดตามที่กฎหมายไทย มีการกำหนดไว้ 5 ประเภทด้วยกัน ดังต่อไปนี้


ประเภทที่ 1 - เฮโรอีน, แอมเฟตามีน, เมทแอมเฟตามีน (หรือยาบ้า, ยาไอซ์) ผู้ที่กระทำความผิดโดยการครอบครองเพื่อเสพ หรือเสพสารเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 นี้มีโทษตามกฎหมาย คือ โทษจำคุกอย่างสูง 10 ปี และโทษปรับสูงสุด 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในกรณีที่มีการครอบครองสารเสพติดให้โทษในประเภทนี้เกินกว่า 20 กรัมกฎหมายให้ถือว่าเป็นการครอบครองไว้เพื่อจำหน่าย ซึ่งโทษขั้นสูงสุดคือ ประหารชีวิต


ประเภทที่ 2 - มอร์ฟีน, โคเคน, เคตามีน, โคดีน, ฝิ่น, สารสกัดจากฝิ่น, เมทธาโดน การครอบครองสารเสพติดในประเภทที่ 2 นี้อาจทำได้โดยถูกกฎหมายหากเป็นการครอบครองเพื่อวัตถุประสงค์และในจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ถ้าเป็นการครอบครองที่ขัดต่อข้อกำหนดของกฎหมายแล้วนั้นย่อมเป็นความผิด และมีโทษคือ โทษจำคุกขั้นสูง 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ประเภทที่ 3 - วัตถุที่ทำให้เกิดความมึนเมา สารที่สกัดได้จากฝิ่น และสารที่มีส่วนประกอบของสารเสพติดในประเภทที่ 2 ที่ใช้ในทางการแพทย์ อาจมีไว้ในครอบครองได้ตามกฎหมาย ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายเช่นกัน


ประเภทที่ 4 - สารที่ใช้ประกอบเป็นสารเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ผู้ที่มีไว้ในครอบครอง มีความผิด โทษจำคุก 5 ปี และปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ประเภทที่ 5 - วัตถุที่ทำให้เกิดความมึนเมา สารเสพติดอื่นที่ไม่ได้ระบุไว้ใน 4 ประเภทก่อน ประกอบด้วย กัญชา และเห็ดเมา
ผู้ครอบครอง หรือเสพสารเสพติดในประเภทนี้ มีความผิดและมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในประเทศไทยพระราชบัญญัติ วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ เป็นกฎหมายหลักสองฉบับที่กำหนดลักษณะการกระทำที่เป็นความผิดและโทษจากกการทำความผิดเกี่ยวกับสารเสพติด รวมทั้งกำหนดตัวเจ้าหน้าที่ที่จะรับผิดชอบไว้โดยเฉพาะ แต่ไม่ใช่ว่าจะมีเพียงกฎหมายสองฉบับนี้เท่านั้นในประเทศไทยยังมีกฎหมายอื่นๆที่กำหนดโทษเรื่องยาเสพติดไว้อีกด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น