xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จพระศรีสุริโยทัยหรือพระบรมดิลกกันแน่ ที่เป็นวีรสตรียุทธหัตถี!ประวัติศาสตร์แตกเป็น ๓ ทาง!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กษัตริย์พระองค์ที่ ๑๕ ของกรุงศรีอยุธยา นอกจากจะกระเดื่องพระเกียรติที่มีช้างเผือกมาสู่พระบารมีถึง ๗ ช้าง จนได้รับถวายพระนามว่าเป็น “พระเจ้าช้างเผือก” จึงเป็นที่อิจฉาของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ กษัตริย์หนุ่มแห่งกรุงหงสาวดี ซึ่งได้อ้างเรื่องการขอช้างเผือกที่ไม่มีใครยอมแบ่งให้ได้เป็นสาเหคุทำศึกถึงขั้นยุทธหัตถี แต่ผู้ที่สังเวยพระชนม์ให้กับกษัตริย์ผู้คะนองศึกครั้งนี้ กลับไม่ใช่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แต่เป็นพระอัครมเหสี หรือพระราชธิดา หรือทั้งสองพระองค์ ประวัติศาสตร์ช่วงนี้สับสนกล่าวไว้เป็น ๓ แนวทางที่ไม่ตรงกัน

“พระราชพงศาวดารกรุงสยาม” จากต้นฉบับที่กรมศิลปากรได้มาจากบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน กล่าวว่า

“...สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชก็ขับพระคชาธารเข้าชนช้างกองหน้าพระเจ้าหงสาวดี พระคชาธารเสียทีให้หลังข้าศึกเอาไว้ไม่อยู่ พระเจ้าแปรได้ท้ายข้าศึก ดังนั้นก็ขับพระคชาธารตามไล่ช้างพระมหาจักรพรรดิ พระสุริโยทัยเห็นพระราชสามีเสียทีไม่พ้นมือข้าศึก ทรงพระกตัญญูภาพก็ขับพระคชาธารพลายทรงพระสุริยกษัตริย์สะอึกออกรับ พระคชาธารพระเจ้าแปรได้ล่างแบกถนัด พระคชาธารพระสุริโยทัยแหงนหงายเสียที พระเจ้าแปรจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าวต้องพระอังสาพระสุริโยทัย ขาดกระทั่งถึงราวพระถันประเทศ พระรามเมศวรกับพระมหินทราธิราชก็ขับพระคชาธารถลันจะเข้าแก้พระราชมารดาไม่ทันที พอพระชนนีสิ้นพระชนม์กับคอช้าง พระพี่น้องทั้งสองพระองค์ถอยรอรับข้าศึก กันพระศพสมเด็จพระราชมารดาเข้าพระนครได้...”

ฉบับนี้กล่าวว่า วีรสตรีที่สิ้นพระชนม์คาคอช้าง ก็คือพระอัครมเหสี สมเด็จพระศรีสุริโยทัย

แต่ “คำให้การของชาวกรุงเก่า” เอกสารที่พม่าได้ให้เชลยศึกชาวกรุงศรีอยุธยาเรียบเรียงประวัติศาสตร์ของตัวเองบันทึกไว้ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ค่อนข้างละเอียดว่า

“ครั้งนั้นพระมหาจักรวรรดิกษัตริย์อยุธยาทรงประชวรหนัก ขณะที่กรุงทวารวดีทั้งสิ้นเกิดการโกลาหลอลหม่าน กษัตริย์อยุธยากับพระมเหสีปรึกษากันอยู่ แลว่าพระโอรสเราก็ยังเยาว์พระชันษา พระธิดาก็มีพระชนม์เพียง ๑๓ ขวบปี มหาบรมดิลกจึงกราบทูลว่า พระบิดาทรงมีนัดหมายสำคัญกับกษัตริย์พม่า แต่กลับมาทรงประชวรเสีย หากจะยั้งอยู่มิทรงพระคชาธารออกไปก็จะเสียการ และจะต้องตกเป็นเชลย ข้าผู้พระธิดาจะยอมสละชีวิตออกทำยุทธหัตถีกับกษัตริย์พม่า แม้ต้องตายไปตามวิบากกรรมก็ได้ชื่อว่าได้ทดแทนพระคุณ ย่อมเข้าสู่สุคติภพ หากถูกเขาเอาชัยไปโดยเรามิได้ออกสัประยุทธ์ ก็จะพากันตายโดยไร้เกียรติ ในบัดดลกษัตริย์อยุธยาตรัสห้ามครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าการนี้มิใช่ธุระของเจ้าเหล่าอิสตรี แต่ครั้นพระธิดากราบทูลซ้ำเป็นหลายคำรบจึงทรงอนุญาต ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว พระราชธิดาก็ทรงเครื่องทหารของเหล่าขุนทหาร แล้วเสร็จเข้าถวายบังคมลาพระราชบิดาพระราชมารดา ข้างพระราชบิดาและพระราชมารดาก็ทรงอำนวยพรว่า เจ้าเป็นพระธิดาผู้ทำประโยชน์แก่เหล่าอาณาประชาราษฎร์ สัตว์ทั้งหลาย แลบิดรมารดา ขอให้จงมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ขอให้เจริญด้วยอายุขัย ขอให้มีชัยเหนือกษัตริย์หงสาวดีแลเหล่าข้าศึกที่กรีธาทัพมาในครั้งนี้ด้วยเทอญ ครั้นแล้วพระธิดาก็ทรงช้างบรมฉัททันต์ซึ่งเมาด้วยฤทธิ์สุราอยู่ ทรงออกขอช้างทรงแวดล้อมด้วยฝูงไพร่พล เสด็จออกไปยังทุ่งมโนรมย์ ครั้นกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ตกทุ่งเสมอกัน ก็เอาผ้าหน้าร่าห์บังตาช้างทรงไว้ ครั้นได้เพลาก็ชักผ้าออก แลทำยุทธหัตถีแก่กัน ด้วยพระบรมดิลกทรงเป็นอิสตรี จึงมิอาจบังคับช้างได้ ช้างที่ทรงอยู่ก็เบนท้าย กษัตริย์หงสาวดีก็ฟาดเอาด้วยขอ พระบรมดิลกก็ตกจากช้างทรง เสียงร้องปรากฏเป็นเสียงอิสตรี พระเจ้าช้างเผือกมหาธรรมราชาจึงทรงรวมพลเสด็จกลับคืนสู่หงสาวดีด้วยละอายพระทัย เกรงเหล่ากษัตริย์สืบไปเบื้องหน้าจะลือว่าต่อรบด้วยอิสตรี นับเป็นชัยอันควรอัปยศ”

ฉบับนี้ว่า สมเด็จพระศรีสุริโยทัยไม่ได้ออกไปสนามรบด้วย มีแต่พระบรมดิลกทรงเครื่องทหารไปแทนพระราชบิดาที่ทรงประชวร

ส่วน “พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ” พงศาวดารสำคัญอีกฉบับ กล่าวว่า

“...แลครั้นเสวยราชสมบัดดิได้ ๗ เดือนพระยาหงษาปังเสวกี ยกพลมายังพระนครศรีอยุทธยาในเดือน ๔ นั้น เมื่อสมเด็จพระมหาจักพรรดิเจ้า เสด็จออกไปรบศึกหงษานั้น สมเด็จพระอรรคมเหษี แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรี เสด็จทรงช้างออกไปโดยเสด็จด้วย แลเมื่อได้รบศึกหงษานั้น ทัพหน้าแตกมาปะทัพหลวงเปนโกลาหลใหญ่ แลสมเด็จพระอรรคมเหษี แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีนั้นได้รบด้วยข้าเศิกเถิงสิ้นพระชนม์กับฅอช้างนั้น...”

เป็นอันว่าสิ้นพระชนม์ทั้งพระอัครมเหสีและพระราชบุตรี แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นพระราชบุตรีพระองค์ใด แต่ก็ปรากฎบันทึกไว้ว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิมีพระราชโอรสและพระราชธิดา ๕ องค์ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริโยทัย พระอัครมเหสี คือ พระราเมศวร พระมหินทรเทพ พระวิสุทธิกษัตรี พระบรมดิลก และพระเทพกษัตรี ซึ่งหลังจากยุทธหัตถีครั้งนี้แล้ว หลายพระองค์ก็ยังทรงปรากฏบทบาทอยู่ในประวัติศาสตร์ ขาดไปเพียง ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระศรีสุริโยทัยและพระบรมดิลก ซึ่งน่าจะวิเคราะห์ได้ว่าทรงเป็นวีรสตรีในยุทธหัตถีครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น