ในประวัติศาสตร์อันขมขื่นของคนไทยในสมัยล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก คงไม่มีเหตุการณ์ใดที่จะสร้างความเจ็บซ้ำน้ำใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ เท่ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ หรือ ร.ศ.๑๑๒ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเสียพระราชหฤทัยจนถึงกับประชวร และไม่ยอมเสวยพระโอสถ ทรงรู้สึกว่าพระองค์ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณที่เกิดขึ้นนี้
หากเหมือนกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาที่ทำให้เสียเมือง
ในบ่ายวันนั้นได้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “วิกฤติการณ์ ร.ศ.๑๑๒” โดยเรือรบฝรั่งเศส ๒ ลำได้ฝ่าป้อมพระจุลจอมเกล้าที่ปากน้ำเจ้าพระยาเข้ามา เกิดการยิงต่อสู้กันทั้งที่ป้อมและเรือรบไทยในแม่น้ำ จนบาดเจ็บล้มตายกันทั้ง ๒ ฝ่าย แต่ฝรั่งเศสผู้บุกรุกกลับเรียกค่าเสียหายจากไทย โดยในวันที่ ๒๘ กรกฎาคมนั้นที่ประชุมรัฐสภาฝรั่งเศสได้มอบอำนาจให้รัฐมนตรีต่างประเทศยื่นคำขาดแก่รัฐบาลไทย ให้ตอบรับเงื่อนไขภายใน ๔๘ ชั่วโมง รวม ๖ ข้อ คือ
๑.ให้รัฐบาลสยามเคารพสิทธิของญวนและเขมรเหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเกาะต่างๆในลำน้ำนี้
๒.ให้ถอนทหารที่ตั้งบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้เสร็จสิ้นภายในเวลาไม่เกิน ๑ เดือน
๓.ให้สยามจัดการปัญหาทุ่งเชียงคำ เมืองคำม่วน และความเสียหายที่เรือรบฝรั่งเศสและชาวฝรั่งเศสได้รับจากการปะทะกันที่ปากน้ำเจ้าพระยาให้เรียบร้อย
๔.ให้จ่ายค่าทำขวัญแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต และลงโทษผู้กระทำความผิด
๕.ให้สยามชดใช้เงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังก์ (ประมาณ ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท) เป็นค่าปรับที่ทำความเสียหายต่างๆให้เกิดแก่คนในบังคับฝรั่งเศส
๖.ให้วางเงินประกันเป็นจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังก์ เพื่อมัดจำที่จะชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ และค่าทำขวัญ หรือถ้าไม่สามารถชำระได้ก็ต้องยอมให้ฝรั่งเศสเก็บภาษีในเมืองพระตะบองและเสียมราฐแทน
หากไม่ปฏิบัติตามคำขาดนี้ ฝรั่งเศสจะปิดอ่าวไทยรวมทั้งน่านน้ำไทยทันที
ไทยได้ให้ทูตในลอนดอนปรึกษากับกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ขณะนั้นอังกฤษมีการค้ากับไทยสูงกว่าทุกชาติ หากไทยถูกปิดอ่าวอังกฤษจะเสียหายยิ่งกว่าไทยอีก แต่อังกฤษกลับวางเฉย
เมื่อหวังพึ่งใครไม่ได้ ไทยจึงตอบฝรั่งเศสไปว่า จะโอนกรรมสิทธิ์ดินแดนในญวนและเขมรให้ หากแสดงให้เห็นโดยเด่นชัดว่ามีสิทธิอันชอบเหนือดินแดนเหล่านั้นอย่างไร และทหารไทยจะถอนกำลังออกมาภายใน ๓ เดือน ไทยจะจ่ายเงิน ๓ ล้านฟรังก์ทันที เพื่อเป็นเงินมัดจำในการชดใช้สินไหมและค่าทำขวัญ โดยที่ไทยเข้าใจว่าเงิน ๓ ล้านนี้เกินความเป็นจริง ไทยจึงควรได้เงินส่วนเกินคืน
ฝรั่งเศสไม่พอใจคำตอบที่มีข้อโต้แย้ง ไม่ปฏิบัติตาม “คำขาด”แต่โดยดี ในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ม.ปาวี ทูตฝรั่งเศส จึงออกคำสั่งให้ลดธงที่สถานทูตฝรั่งเศสลงครึ่งเสา แล้วพาคณะลงเรือรบ ถอนสมอออกไปที่เกาะสีชังทั้ง ๓ ลำ พร้อมกับเรียกเรือรบจากฐานทัพไซ่ง่อนมาสมทบอีก ๙ ลำ รวมทั้งเรือลาดตระเวนหุ้มเกราะ ซึ่งเป็นเรือธงของผู้บัญชาการฐานทัพ และในวันที่ ๒๗ กรกฎาคมก็ส่งทหารขึ้นบกยึดเกาะสีชัง
ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ไทยจึงแจ้งให้ฝรั่งเศสว่ายอมรับคำขาดของฝรั่งเศสโดยไม่ต่อรองใดๆ แต่กระนั้นฝรั่งเศสยังเรียกร้องเงื่อนไขเพิ่มอีกหลายข้อ ในฐานที่ไทยบิดพลิ้วไม่รับคำขาดแต่โดยดี
การกระทำของฝรั่งเศสครั้งนี้ เป็นเรื่องอื้อฉาวมากในยุโรป หลายประเทศพากันประณาม หนังสือพิมพ์พั้นช์ ของอังกฤษ ฉบับวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๔๓๖ ได้ตีพิมพ์ภาพการ์ตูนในชื่อ “หมาป่าฝรั่งเศสและลูกแกะสยาม” สะท้อนพฤติกรรมของฝรั่งเศส
ในที่สุดข้อตกลงที่มีปืนเรือบังคับ ก็ได้เซ็นสัญญากันในวันที่ ๓ ตุลาคม โดยไทยไม่มีสิทธิต่อรองอะไรได้เลย ฝรั่งเศสได้ทุกอย่างไปตามต้องการ คือ
๑.รัฐบาลสยามยอมสละกรรมสิทธิ์ทั้งหมดที่มีอยู่เหนือดินแดนบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และบรรดาเกาะทั้งหลายในแม่น้ำนั้นให้แก่ฝรั่งเศส
๒.เขตสงวนที่อยู่ในรัศมี ๒๕ กิโลเมตรบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง และพื้นที่ในกัมพูชาแถบนครวัดและเมืองพระตะบอง รัฐบาลสยามจะต้องไม่สร้างที่ตั้งทางการทหารใดๆ หรือค่ายทหารในเขตนี้ ส่วนกำลังตำรวจให้มีไว้ได้เท่าที่จำเป็น โดยใช้เจ้าพนักงานในท้องถิ่นนั้น นอกจากนี้ห้ามมิให้สยามใช้หรือให้เรือที่มีอาวุธแล่นเข้าไปในแม่น้ำโขงและทะเลสาบเขมร รวมถึงลำน้ำสาขาที่แยกมาจากแม่น้ำโขง
๓.ให้สยามจัดการชดใช้ความเสียหายแก่ฝรั่งเศสที่มีการล่วงละเมิดที่ทุ่งเชียงคำและเมืองท่าอุเทน
๔.พลเมืองทุกคนหรือผู้ที่อยู่ในบังคับฝรั่งเศสที่อยู่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง รวมทั้งผู้ซึ่งถูกกักขังอยู่นั้น รัฐบาลสยามจะต้องส่งมอบบุคคลเหล่านั้นกลับมายังภูมิลำเนาของเขาบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง พร้อมทั้งอนุญาตให้พวกเขากลับสู่ถิ่นฐานเดิมได้
๕.รัฐบาลฝรั่งเศสจะคงยึดเมืองจันทบุรีไว้จนกว่าสยามจะได้ปฏิบัติตามนัยแห่งสนธิสัญญานี้โดยตลอด
เมื่อรวบรวมเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่ฝรั่งเศสไปแล้ว ฝรั่งเศสขอให้กระทรวงต่างประเทศส่งเจ้าพนักงานไปทำพิธีมอบจันทบุรีให้ พอชาวจันทบุรีรู้ข่าวจึงเข้าประจำป้อมไพรีพินาศและป้อมพิฆาตข้าศึก พร้อมกับนำเรือใหญ่ไปจมไว้ในร่องน้ำ เพื่อป้องกันเรือรบฝรั่งเศส ตอนนั้นจันทบุรีก็มีกองทหารเรือประจำอยู่ แต่เป็นกองทหารเล็กๆ อาวุธที่ใช้ก็เป็นปืนเก่าๆที่ตกรุ่นไปหมดแล้ว จึงไม่มีสมรรถภาพ
เมื่อขบวนเรือฝรั่งเศสมาถึงปากแม่น้ำจันทบุรี ชาวจันทบุรีพากันตื่นเต้นไม่รู้จะทำอย่างไรดี ครั้นจะต่อสู้ก็ไม่มีอะไรจะสู้ แต่ฝรั่งเศสก็ยังไม่กล้าเข้ามาในแม่น้ำจันทบุรี ทอดสมออยู่ห่างฝั่ง ส่งข้าราชการไทยที่นำมาด้วยลงเรือเล็กนำข้อตกลงระหว่างรัฐบาลสยามกับฝรั่งเศสไปแจ้งกับผู้สำเร็จราชการเมือง และขอคนนำร่องให้เรือรบฝรั่งเศสด้วย
หลังจากนั้นฝรั่งเศสก็นำเรือรบ ๒ ลำเข้ามาในแม่น้ำจันทบุรี ฝ่ายไทยต้องถอนทหารไปรวมกันที่เมืองขลุง ซึ่งขณะนั้นเป็นจังหวัดแยกไปจากจันทบุรี ไม่ใช่เป็นอำเภออย่างทุกวันนี้ การถอนทหารไทยนั้นต้องทำอย่างรีบด่วน อาวุธยุทโธปกรณ์บางอย่างก็ขนไม่ทันต้องทิ้งไว้ มีปืนแก๊ป ปืนคาบศิลา ปืนใหญ่ชนิดใช้ชนวนจุดไม่มีล้อ ซึ่งทหารฝรั่งเศสเห็นเข้าก็ปลงอนิจจัง ความจริงอาจเป็นปืนที่ไทยเราไม่ใช้แล้วก็ได้ จึงไม่ได้ขนไป ฝรั่งเศสก็เอาไปทำรั้ว ประดับบ้านายทหาร บ้างก็ขนไปทิ้งแม่น้ำจันทบุรี
จนเมื่อการปักปันเขตแดนเสร็จ มอบดินแดนฝรั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ไปแล้ว ฝรั่งเศสก็ยังหน่วงเหนี่ยวประวิงเวลาที่จะถอนทหารออกจากจันทบุรีอีก และบีบคั้นให้ไทยเซ็นสัญญาอีกฉบับ จะเอาฝั่งขวาแม่น้ำโขงด้วย ขอเมืองหลวงพระบางฝั่งขวาและเมืองจำปาศักดิ์ โดยจะยอม “ผ่อนคลาย”สิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้ การผ่อนคลายนี้หมายถึงการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่คนเอเชียในบังคับของฝรั่งเศส แต่ยังไม่ยอมยกเลิกแก่คนฝรั่งเศส
ไทยก็ต้องยอมอยู่ดี เซ็นสัญญาตามที่ฝรั่งเศสเรียกร้องนี้เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๖ เพื่อแลกกับจันทบุรีกลับคืน
แต่แล้วชั้นเชิงหมาป่าก็ยังไม่สิ้น ฝรั่งเศสกลัวจะเสียหน้าที่ไปเดินล่าลายเซ็นเอาคนเข้ามาอยู่ในความคุ้มครองไว้มาก แล้วต้องถอยออกไป ทิ้งพวกเขาไว้กับไทย ฝรั่งเศสจึงขอแถมจังหวัดตราดด้วยรวมทั้งเกาะทั้งหลายตั้งแต่แหลมลิงในอำเภอแหลมงอบ และเกาะกงซึ่งขณะนั้นเป็นจังหวัดปัจจันตคีรีเขตของไทย เพื่อย้ายทหารจากจันทบุรีไปไว้ตราด และจะตั้งกงสุลฝรั่งเศสขึ้นที่จันทบุรี ชักธงฝรั่งเศสขึ้นที่ซึ่งเคยเป็นค่ายทหารเดิม ไม่ให้ธงฝรั่งเศสหายไปจากจันทบุรี
สรุปว่าฝรั่งเศสจะถอนทหารออกจากจันทบุรีได้ ไม่ใช่แค่ไทยต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๔๓๖ ตามที่อ้างแต่แรกเท่านั้น แต่จะต้องเอาฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง นครจำปาศักดิ์ จังหวัดตราด และจังหวัดปัจจันตคีรีเขตเข้าแลก ฝรั่งเศสจึงจะยอมถอนทหารออกจากจันทบุรีไปอยู่ตราด แล้วให้พวกกงสุลเข้าแทนทหารที่จันทบุรี ชักธงฝรั่งเศสไว้ที่เดิม
ตลอดเวลา ๑๐ ปีครึ่งที่ฝรั่งเศสยึดครองจันทบุรี ไทยเราต้องผจญความขมขื่นคับแค้นใจจากพฤติกรรมของทหารฝรั่งเศสเหล่านี้ อีกทั้งตอนนั้นไทยเราต้องยอมรับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต คนในบังคับฝรั่งเศสไม่ต้องขึ้นศาลไทยและไม่ต้องเป็นทหาร ทำให้คนจีน คนญวน คนเขมรในจันทบุรี สมัครเข้าอยู่ในบังคับฝรั่งเศสกันเป็นแถวเพื่อรับอภิสิทธิ์ บาทหลวงฝรั่งเศสถึงกับเดินแจกใบสมัครกันเลย แต่น่าภูมิใจที่ไม่มีคนไทยยอมสมัครแม้แต่คนเดียว เพราะรักศักดิ์ศรีความเป็นไทย คนในบังคับฝรั่งเศสเหล่านี้ได้ก่อปัญหาให้ไทยมาก ใช้อำนาจฝรั่งเศสเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายไทยและหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี บางทีก่อคดีขึ้นแล้วก็รีบไปจดทะเบียนอยู่ในบังคับของฝรั่งเศส ทำให้เจ้าหน้าของไทยยื่นมือเข้าไปไม่ได้
นี่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความขมขื่นในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่นักล่าอาณานิคมได้ทำไว้ วันนี้กลับชื่นชมฝรั่งกันดีนัก จำกันได้หรือเปล่าว่านี่คือพฤติกรรมของเขาในอดีต ถึงวันนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนนิสัย เพียงแต่เปลี่ยนวิธี ที่น่าเจ็บปวดยิ่งกว่าเดิมก็คือ ใช้คนที่มาอาศัยแผ่นดินไทยเกิด แต่ไม่สำนึกบุญคุณของแผ่นดิน หวังจะชิงอำนาจไปประเคนให้เขาเสียอีก