เจ้าหน้าที่แจงกรณีที่โซเชียลฯ แชร์ต้นไม้รอบวัดโพธิ์กำลังป่วย ยันต้องการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณทางเท้าและต้นไม้มีปัญหาสุขภาพและความเสี่ยง จึงตัดโค่นออกทั้งหมด 52 ต้น และปลูกต้นไม้ใหม่เพิ่มเติมแล้วไป 70 ต้น
จากกรณีเฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ภาพต้นไม้ทางเท้าข้างวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ถูกตัดโค่นลงจำนวนมาก จึงทำให้โซเชียลฯ เกิดเสียงวิจารณ์และข้อคำถามถึงที่มาที่ไปเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าว
วันนี้ (10 ก.พ.) เฟซบุ๊ก “Mam Suteethorn” หรือ ดร.กนกวลี สุธีธร อาจารย์และคณะกรรมการหลักสูตรปริญญาตรี หัวหน้าทีมสำรวจและออกแบบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ชี้แจงกรณีดังกล่าว โดยเผยว่า “ต้นไม้รอบวัดโพธิ์กำลังป่วยจากกรณีที่มีการโพสต์ เรื่องการตัดต้นไม้ที่ทางเท้าข้างวัดพระเชตุพน ในฐานะหัวหน้าทีมสำรวจและออกแบบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขออนุญาตชี้แจงและเล่าถึงที่มาและกระบวนการในการทำงานเพื่อการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้าบริเวณนี้นะคะ
ทางทีมได้ตัดต้นไม้ที่มีปัญหาสุขภาพและความเสี่ยงออกทั้งหมด 52 ต้น และปลูกต้นไม้ใหม่ 70 ต้น
โดยได้มีการศึกษาเก็บข้อมูลของต้นไม้ทั้งหมดตั้งแต่กลางปี 2563 โดยได้ประเมินสุขภาพและความเสี่ยงของต้นไม้แต่ละต้นด้วยแบบฟอร์มที่ปรับปรุงจาก International Society of Arboriculture (ISA) และโรงเรียนต้นไม้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการลงพื้นที่สำรวจและประชุมร่วมกับสำนักงานเขตพระนคร กรมโยธา รฟม สจล TOT การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง กรุงเทพมหานคร ภูมิสถาปนิก ผู้รับเหมางานภูมิทัศน์ และ BIG Trees เพื่อประเมินความเสี่ยง ปัญหาที่เกิดขึ้นและอาจเกิดจากต้นไม้ ถนน และความเป็นไปได้ในการปลูกต้นไม้เพิ่ม และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณทางเท้าโดยรอบ โดยทางวัดพระเชตุพน ร่วมกับสำนักงานเขตและทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาและเสนอแผนการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้ารอบวัด เพื่อสร้างพื้นที่ที่มีความร่มรื่น มีพืชพรรณที่เหมาะสมกับพื้นที่และปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน
จากการสำรวจเก็บข้อมูลและประเมินผลพบว่า มีต้นไม้บนทางเท้าที่มีปัญหาทั้งหมด 52 ต้น (พญาสัตตบรรณ 48 ต้น ประดู่ 1 ต้น ปีบ 2 ต้น มะรุม 1 ต้น) โดยต้นไม้กลุ่มนี้มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ และอยู่ในตำแหน่งที่มีความเสี่ยงที่จะโค่นล้ม และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อโบราณสถาน ชีวิต และทรัพย์สินสาธารณะ ในเบื้องต้นได้ประสานงานกับทางเขตที่จะขุดล้อมต้นไม้บางส่วนที่มีขนาดใหญ่และมีสภาพดีพอสมควร เพื่อย้ายไปปลูกในพื้นที่ชานเมืองที่มีบริเวณกว้างและมีความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายน้อยกว่าบริเวณโบราณสถาน แต่เมื่อเริ่มทำการรื้อไม้พุ่มที่คลุมโคนต้นและขุดล้อม พบปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถย้ายต้นไม้ไปได้ เนื่องจากต้นไม้เกือบทั้งหมดคอผุจากความชื้น รากเปื่อยเป็นรา นอกเหนือจากบาดแผลที่ทรงพุ่มจากกิ่งหักหรือลมพายุ หลายต้นเอียง และมีความเสี่ยงที่จะโค่นล้ม มีรากรัดพันรอบคอต้น หลายต้นมีรากที่งัดพื้นทางเท้าและทำลายกำแพงวัด และรากพันระบบท่อใต้ดิน ทำให้ไม่สามารถขุดล้อมตุ้มดินออกได้ ต้นไม้ที่มีความจำเป็นต้องตัดออก คือ ต้นที่มีปัญหาสุขภาพ และมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอันตรายหากขาดการจัดการดูแล ที่มาของต้นไม้รอบวัดโพธิ์แต่เดิมทางเท้ารอบวัดโพธิ์ไม่มีต้นไม้ เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน มีการปลูกต้นหูกวางรอบวัด แต่เนื่องจากรากที่ชอนไชทำงานโครงสร้าง ใบขนาดใหญ่และลูกร่วงจำนวนมาก อีกทั้งขนาดลำต้นที่สูงใหญ่เสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเสียหาย จึงได้มีการตัดต้นหูกวางทั้งหมดออกและเปลี่ยนเป็นต้นทรงบาดาลที่มีขนาดเล็ก แต่เนื่องจากทรงบาดาลมีขนาดเล็ก ไม่ให้ร่มเงา เมื่อประมาณ 10 ปี ก่อนจึงได้การเปลี่ยนเป็นต้นพญาสัตตบรรณ โดยได้ปลูกพญาสัตตบรรณทั้งหมด 50 ต้น ต้นพญาสัตตบรรณเป็นไม้ป่า โตเร็ว สูงชะลูด จึงยากต่อการดูแลตัดแต่ง ต้นพญาสัตตบรรณมีดอกที่มีกลิ่นฉุนและเกสรร่วงเป็นจำนวนมาก ดอกใบและกิ่งร่วงบนหลังคาสร้างความเสียหายต่ออาคาร อีกทั้งยังมีรากที่ชอนไชทำลายโครงสร้างพื้น โบราณสถาน และระบบสาธารณูปโภคใต้ดินก่อให้เกิดปัญหา จากการสำรวจ พบว่า ต้นพญาสัตตบรรณจำนวน 48 ต้น มีปัญหาคอผุ รากรัดรอบลำต้น ทรงพุ่มไม่สมดุล มีบาดแผล ลำต้นเอียง และอยู่ในตำแหน่งที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายและความเสียหายต่อทรัพย์สินสาธารณะ จึงเสนอให้เปลี่ยนชนิดต้นไม้ใหม่ที่มีความเหมาะสมต่อสภาพพื้นที่
แนวคิดการเลือกและออกแบบต้นไม้ถนนวัตถุประสงค์ในการเลือกใช้ต้นไม้ถนนมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ แต่หลักการสำคัญ คือ การเลือกใช้ต้นไม้ที่มีความปลอดภัยต่อการสัญจรทั้งผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะและคนเดินเท้า ดูแลรักษาง่ายและเป็นต้นไม้ที่สามารถเจริญเติบโตได้ในพื้นที่เมืองที่มีสภาพแวดล้อมที่ยากต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ เนื่องจากดินที่อัดแน่น พื้นผิวคอนกรีต ความร้อนจากเมืองและถนนลาดยาง ปริมาณน้ำใต้ดินที่สูง และน้ำท่วมในฤดูฝนและการขาดน้ำเนื่องจากมีพื้นที่ผิวดินที่น้ำซึมได้จำกัดในฤดูแล้ง
การกำหนดแนวคิดการออกแบบเลือกชนิดพืชพันธุ์ ได้มีการประชุมหารือกับทางวัดและสำนักงานเขตพระนครที่เป็นผู้ดูแลต้นไม้ โดยได้เลือกชนิดพืชพันธุ์ที่มีความหลากหลายเพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพและสร้างระบบนิเวศที่ดีให้กับเมือง ลดความเสี่ยงต่อการกระจายขยายตัวของโรคแมลง เลือกต้นไม้ที่มีขนาดเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ไม่ใหญ่เกินไป แต่ให้ร่มเงากับผู้คนที่สัญจรไปมา ดูแลรักษาง่าย มีการใช้ไม้หายาก ไม้มงคล และไม้ที่สื่อถึงประวัติศาสตร์ หรือเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาในบางส่วน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างภูมิทัศน์ทางเท้าที่ร่มรื่น ปลอดภัยและมีความหลากหลายของพืชพันธุ์ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติให้กับทุกคน
ในเบื้องต้นเรามีพื้นที่ปลูกต้นไม้ใหม่ได้ 70 ต้น ได้ดำเนินการปลูกไปบางส่วนแล้ว การเลือกใช้ต้นไม้โดยมีการวางแผนการดูแลรักษาที่เหมาะสม เลือกชนิดที่มีขนาดเหมาะสมกับพื้นที่และสภาพแวดล้อม จะช่วยให้ต้นไม้ที่ปลูกใหม่นี้สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน”