xs
xsm
sm
md
lg

“แตงโมลง ปิยะพงษ์ยิง” คอนเทนต์ฟุตบอลโดยประสบการณ์ตรง ของสองพ่อลูกตระกูลผิวอ่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ด้วยประสบการณ์ตรงจากการค้าแข้งเล็กๆ และจากแวดวงพิธีกร นั่นจึงทำให้ แตงโม-พงษ์พิสุทธิ์ ผิวอ่อน ได้ตัดสินใจที่จะทำช่องรายการกีฬาฟุตบอลออนไลน์บนโซเชียลมีเดีย เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องของความชอบในกลิ่นสาปลูกหนัง แต่เมื่อต้องการกูรูโดยตรง นั่นจึงทำให้ เดอะตุ๊ก-ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ได้มาร่วมเป็นหนึ่งในตัวหลักอีกแรง ผลลัพธ์จึงทำให้ออกมาเป็นช่อง ‘แตงโมลง ปิยะพงษ์ยิง’ รายการฟุตบอลที่ว่าจึงได้เกิดขึ้น ซึ่ง ณ ตอนนี้ ผลตอบรับทุกช่องทางกว่า 5 แสนผู้ติดตาม เป็นคำตอบได้ว่า รายการนี้ก็ได้รับความนิยมในหมวดดังกล่าวนี้เช่นเดียวกัน


ที่มาที่ไปของช่อง “แตงโมลง ปิยะพงษ์ยิง” มันเริ่มมาจากอะไรครับ

พงษ์พิสุทธิ์ : ที่มาของช่องก็เริ่มต้นแบบง่ายๆ ก็คืออยากจะทำอะไรที่เกี่ยวกับครอบครัวของเรา และตัวของเราด้วยนะครับ ซึ่งผมก็ชื่นชอบกีฬาฟุตบอลอยู่แล้ว แต่ตอนแรกคุณพ่อก็ยังไม่ได้มาร่วมด้วย แต่ผมรู้สึกว่า ด้วยที่คุณพ่ออยู่กับวงการฟุตบอลไทยมานาน แล้วเราก็เติบโตมากับฟุตบอล ไปร่ำเรียนศาสตร์ลูกหนังถึงประเทศอังกฤษ กลับมาก็เคยติดทีมชาติ แต่เราก็ทำงานหลากหลายด้าน ทั้งทำงานในวงการบันเทิง เคยอ่านข่าว แต่ว่าถ้าเราอยากจะมีอะไรเป็นของเรา เราจะทำอะไรดี คอนเซปต์มันก็เลยเกิดว่า ถ้างั้นมันก็เป็นสิ่งที่ทั้งบ้านเราทุกคนชำนาญ แล้วก็เชี่ยวชาญเป็นอย่างดี นั่นก็คือฟุตบอล มันก็เลยเริ่มต้นแบบนี้


ปิยะพงษ์ : อย่างตัวผมเรียกว่าตกกระไดพลอยโจน เพราะว่าเราก็มีงานเยอะอยู่แล้ว และโลกโซเชียล ก็ไม่เคยคุ้นเคยมาก่อน แค่มีโทรศัพท์เอาไว้โทรเข้าโทรออก ถ่ายรูป เล่นไลน์ ดูไอจีเล่นเฟซบุ๊ค ก็ถือว่าโอเคแล้วสำหรับคนอายุ 60 อย่างผม แต่เมื่อแตงโมเขามีความมุ่งมั่นตั้งใจจะมานำเสนอในเรื่องของกีฬาซึ่งมีความหลากหลาย แล้วให้ผมมาเป็นส่วนหนึ่ง ก็เลยลองมาทำดู พอมาทำแล้วรู้สึกดี (ยิ้ม)


จากประสบการณ์ในการทำงานสื่อ พอมาเป็นแพลทฟอร์มแบบนี้ มันมีความแตกต่างจากที่ผ่านมายังไงบ้างครับ

พงษ์พิสุทธิ์ : คือจริงๆ ต้องบอกนะครับว่า เริ่มช่องมามันไม่มีอะไรง่ายจริงๆ นอกเหนือจากคุณเป็นจัสติน บีเบอร์ ผมว่าแค่เริ่มช่อง ก็มีคนตามในวันแรกถึง 1 ล้านคนนะครับ แต่ว่าเราก็ไม่ใช่ไง เพราะฉะนั้น มันเลยเริ่มจากศูนย์จริงๆ ใครที่บอกว่า มาทำตรงนี้มันง่าย เพราะว่าเป็นคนทำทีวีและมีชื่อเสียงมาก่อน ผมว่าไม่นะครับ ทุกคนเริ่มเท่ากัน เพราะวันแรก ยอดวิวของคลิปอยู่ที่ 10 คน แต่บ้านผมมี 7 คน ซึ่งพอมาเริ่มต้นแบบนี้ มันเลยยากครับ แต่ว่ามันก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำ ก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวที่สามารถบ่งบอกได้ว่าเราชอบสิ่งนี้จริงๆ เพราะว่า เมื่อก่อน เราออกทีวี คนก็เชื่อ แต่ว่าเดี๋ยวนี้มันเป็นโลกสมัยใหม่ที่ว่าต้องมีออนไลน์ ซึ่งถ้าใครไม่มีสิ่งนี้ ก็จะตามโลกไม่ทันได้ ไม่ว่าการขายของ ซึ่งผมก็ลองมาแล้ว ขายแบบมีหน้าร้าน ก็ขายดีครับ แต่ขายออนไลน์ ไม่เหนื่อย เราจะทำอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่มันบอกเราเลย ก็คือว่า เวลาโลกหมุน คุณต้องหมุนตามมัน ไม่ใช่ว่าคุณต้องยึดแต่สิ่งเดิมตลอด มันก็จะตามไม่ทันเขา มันก็เลยเป็นหนึ่งแรงบันดาลใจ เพราะว่าเห็นคนอื่นทำได้ แต่เราทำไม่ได้ เราเลยต้องก้าวพ้น comfort zone ซึ่งตอนแรกเราไม่อยากก้าวเลย เพราะเหมือนเราเริ่มทำมาเยอะ แล้วทำไมต้องไปเริ่มศูนย์ใหม่ แต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้ล้มเลิกจากยอดวิวนั้น ซึ่งสัปดาห์แรกก็ยังมีวิวที่หลักสิบคน แต่พอผ่านไปเดือนกว่าๆ คุณพ่อเห็นว่า คนดู 10 คน ก็ยังทำ ท่านก็เริ่มเข้ามาช่วยตรงนั้น

ปิยะพงษ์ : ก็มันเป็นอีกส่วนหนึ่งของโลกโซเชียลใบนี้ เพราะว่าในวงการทีวีเดี๋ยวนี้ ต้องยอมรับว่า พอโลกและเรื่องเทคโนโลยีเริ่มพัฒนาขึ้น ในเรื่องของเฟสบุ๊คและยูทูปต่างๆ ที่ทำให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น มันก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุค ตามสมัย ทั้งที่ผมมาร่วมกับแตงโม ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนมาเข้าถึงตัวเราได้ง่ายขึ้น อีกอย่าง ผมก็ชอบให้ความรู้คนอยู่แล้ว โดยเฉพาะศาสตร์ในเรื่องของฟุตบอล ซึ่งพอแตงโมเขามาชวน ตอนแรกก็ลังเลนิดหน่อย เพราะกลัวว่าจะไม่มีเวลา แล้วอีกอย่างหนึ่ง มาลองดูซิว่า เรามาให้ความรู้กับคนแล้ว จะมีความพึงพอใจขนาดไหน พอผมาให้แล้ว ก็รู้สึกว่า หลายๆ คน ต้องการเสพความรู้เกี่ยวกับฟุตบอลในหลายๆ มิติ ที่อยู่ในสมองผม จากการสะสมมา 40-50 ปี ก็เลยเดินต่อมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสอนฟุตบอล เทคนิคต่างๆ การวิเคราะห์วิจารณ์ หรือแม้กระทั่ง ในเรื่องของการพูดคุยเกี่ยวกับกีฬาว่าโลกใบนี้มันมีอะไรบ้าง

ก็เป็นสิ่งใหม่ๆ สำหรับคนอายุอย่างผมนะครับ แต่ว่าก็ต้องตามให้ทัน เพราะว่ามันไม่มีอะไรเกินกว่าแก่เกินเรียน และเผอิญเราชอบในทิศทางแบบนี้อยู่แล้ว ที่จะมามีส่วนร่วมกับแตงโม ซึ่งเป็นอะไรที่สนุกนะครับ แต่มันต้องทำการบ้านทุกวันเลย ต้องติดตามข่าวสารทั่วโลกทั้งภายในและต่างประเทศ คือถ้าเราตกข่าว แฟนๆ ที่เสพข่าวของเรา ก็จะตกข่าวไปด้วย เผลอๆ แฟนๆ เขาจะรู้ข่าวมากกว่าเราด้วยซ้ำไป ถ้าเราไม่มีความรู้กระจ่างแท้จริง ฉะนั้นเราต้องมีสิ่งนี้ด้วย ก็เป็นอะไรพัฒนาสมองดีครับ ในการทำช่องยูทูปขึ้นมา


เริ่มมาตั้งแต่ตอนไหนครับ

พงษ์พิสุทธิ์ : ถ้าเริ่มจริงๆ น่าจะเดือนกันยา ปี 2562 ซึ่งอาจจะมีคลิปที่มันลงก่อนหน้านั้น แต่มาทำแบบเต็มรูปแบบ ก็น่าจะเป็นเดือนตุลา ซึ่งผ่านมาปีกว่าๆ แล้ว ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีจากแฟนๆ แล้วสิ่งที่ทำช่องนี้แล้วดีอย่าง ก็คือ ตั้งแต่ผมเกิดมา ไม่เคยเห็นพ่อยิงประตูตอนค้าแข้ง ซึ่งตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าพ่อทำได้จริงหรือเปล่า เคยยิงทั้งเกสหลีใต้ และ ญี่ปุ่นได้ คือจริงๆ เราก็รู้แหละ แต่ก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า พ่อเรายิงประตูเหล่านั้นได้สวยหรือเปล่า นอกจากคนที่อายุประมาณ 50 ขึ้นไป แต่โชคดีที่มีแฟนๆ ทุกรุ่น เขาไปขุดหาทั้งภาพและคลิปการทำประตูที่ว่านี้ ทั้งไปเจอภาพที่ยิงญี่ปุ่น 3 ประตู ไปเจอภาพตอนเป็นดาวซัลโว เคลีค ครบ 12 ประตู รวมถึงการเป็นแชมป์พระราชทานประเภท ก. ซึ่งผมไม่เคยเห็นเลยตั้งแต่ที่เกิดมา แล้วก็ได้มาเห็นในทุกวันนี้ ก็ได้รู้ว่า สามารถพูดได้เต็มปากแล้วว่า ‘พ่อเราเก่งจริงๆ’

ปิยะพงษ์ : คือตัวผมเอง ถ้าไม่ได้ทำยูทูป ผมก็ยังไม่รู้ในเรื่องนี้ เพราะมันจำไม่ได้จริงๆ เนื่องจากยุคนั้น ยังไม่มีการถ่ายทอดสดในวงกว้างมากนัก แต่โชคดีที่มีแฟนๆ ทั้งรุ่นราวคราวเดียวกัน หรือวัยอื่นๆ ซึ่งเก็บคลิปเหล่านั้นไว้ แล้วก็ให้ความกรุณา พอเห็นแล้วก็ส่งมาให้เราเยอะแยะมากมาย และอีกอย่างคือ ก็เป็นการบอกเด็กรุ่นหลังๆ แล้วก็ทำให้พวกเขาได้รู้จักผมมากขึ้น อย่างคุณพ่อคุณแม่ ในวัย 45 ขึ้นไป อาจจะรู้จักเยอะ แต่ในวัยซัก 30 กลางๆ อาจจะรู้จักน้อยซะด้วยซ้ำ แต่พอมีช่องทางออนไลน์แล้ว ก็ทำให้ทุกคนทุกวัยได้รู้จักเรา เด็กๆ ซัก 8-9 ขวบ ก็เรียกเราทั้ง พี่ตุ๊กบ้าง ลุงตุ๊กบ้าง เราได้ยินแล้ว ก็ชื่นใจ ที่วัยลูกหลาน ได้ดูคลิปต่างๆ ที่มีคุณประโยชน์ แล้วก็เป็นการสอนในหลากหลายบทความ เราเห็นแล้วก็ปลื้มใจดีครับ แล้วเราทำก็สนุกด้วย

ตั้งแต่ทำช่องรายการมา คอนเทนต์ลักษณะไหนเยอะที่สุดครับ


พงษ์พิสุทธิ์ : จริงๆ ช่องของผมนั้น ไม่ได้อยากที่จะทำเป็นกีฬาแบบซีเรียสขนาดนั้น แต่เป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่มาจากใจเลย คือ ครอบครัว ทำยังไงก็ได้ที่จะให้คนกลุ่มนี้ มาดูช่องของเรา เพราะว่าเรามีทั้ง พ่อ ทั้งลูก จริงๆ ก็มีแม่ และพี่ชาย ก็จะสามารดึงมาเป็นครอบครัวกีฬา ซึ่งจริงๆ ตรงนี้ นอกจากคอนเซปต์ที่ว่า ครอบครัวเราแฮปปี้แล้ว ครอบครัวอื่นก็สามารถดูแล้วเอาไปทำเป็นกิจกรรมในบ้านได้ มีการพูดคุย ซึ่งช่องเราเป็นส่วนน้อยที่เป็นช่องที่พ่อกับลูกคุยกันนะครับ คุยกันในบ้านยังไงให้มีอรรถรสและสนุก ซึ่งบางบ้านอาจจะคุยกันแล้วทะเลาะกัน ผมก็เลยรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่มันเสแสร้งไม่ได้ เวลาที่ผมคุยกับพ่อยังไง มันก็เป็นแบบนั้นปกติ ซึ่งตรงนี้ ผมว่ามันเป็นครอบครัวมากกว่า แล้วก็โชคดีที่มีเรื่องกีฬาเข้ามา มันก็เลยกลายเป็น sport family แล้วที่สำคัญ เราเป้นคนวงการบันเทิงด้วย มันก็เลยรวมทุกอย่างมันไปเลย ให้มันอยู่ใน one stop service เลย ผมก็เลยอยากอยู่ในจุดที่รวมความบันเทิงแบบนี้ อยู่ในช่องๆ นี้ครับ


ในฐานะที่ทั้งคู่เคยอยู่ในวงการฟุตบอลมาก่อน เมื่อเทียบกับช่องออนไลน์ในหมวดเดียวกัน ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบมั้ยครับ

พงษ์พิสุทธิ์ : ผมว่ามันไม่มีความได้เปรียบ-เสียเปรียบหรอกครับ อย่างที่บอกว่า ในโลกออนไลน์ ทุกคนมีความเท่ากัน ทุกคนมีจุดดีและจุดแข็งที่ไม่เหมือนกัน บางช่องเก่งข่าว บางช่องเก่งรายงานผล แต่ช่องของเรา อาจจะไม่ได้เก่งอะไรมาก แต่โชคดี ตรงที่มีคุณพ่อมาช่วยกัน อาจจะเก่งในเรื่องขยันน่ะครับ (ปิยะพงษ์หัวเราะ) เน้นลงบ่อย บางคนอาจจะเห็นใจที่แบบ ลงบ่อยเหลือเกิน กดดูหน่อยละกัน ประมาณนี้

ปิยะพงษ์ :
ถ้าถามว่ามีช่องแบบเดียวกันมั้ย ผมไม่รู้นะครับ เพราะว่าดูแต่ช่องตัวเองอย่างเดียว (หัวเราะ) แตงโมให้ทำอะไรก็ทำ แล้วผมก็ชอบอยู่แล้วที่จะให้ความรู้คน ในการสนทนาต่างๆ แต่โดยรวมเราไม่รู้จริงๆ

พงษ์พิสุทธิ์ : แต่เอาจริงๆ ช่องต่างๆ ก็ไม่เคยมองใครเป็นคู่แข่งซะขนาดนั้น ผมว่ามันเป็นการรวมโมเดลให้ทุกคนมาเป็นครอบครัวเดียวกัน

ปิยะพงษ์ : เราสร้างความสุขมากกว่า ให้ทุกคนมีความสุข ดูในครอบครัวมีรอยยิ้ม กีฬาสร้างคน คนสร้างชาติ คือต้องการให้แต่ละครอบครัวในเมืองไทยมีความอบอุ่น ก็เน้นจุดตรงนี้มากกว่าครับ

การที่คุณแตงโมเคยบอกว่า ในการถามข้อมูลกับคุณพ่อในแต่ละครั้งแบบตรงๆ ถือว่าเป็นการได้ข้อมูลที่ลึกขึ้นมั้ยครับ

พงษ์พิสุทธิ์ : จริงๆ อะไรที่ถามคุณพ่อตรงๆ นั้น อย่าเรียกว่าข้อได้เปรียบเลย โอเค มันอาจจะเป็นการคุยประสาพ่อลูกนะครับ แต่บางคนอาจจะไม่กล้าถาม เพราะความเคารพคุณพ่อ แต่ถ้าผมไม่ถาม แล้วจะมีใครกล้าถาม ผมเลยถามแทนทุกคน เลยให้ผู้ชมถามมาละกันครับ เดี๋ยวทางผมจะเป็นตัวแทนถามให้ คือด้วยตามคอนเซปต์ช่องอย่างที่บอกมากกว่า

ปิยะพงษ์ : อย่างเวลาที่แฟนๆ ถามมาในแต่ละข้อนั้น เราก็ตอบในสิ่งที่สามารถที่จะตอบได้ ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคม คือทุกคำถามที่ถามมา ผมยินดีตอบให้อยู่แล้วครับ เพียงแต่ว่าตอบแล้วจะทำให้สังคมมีแต่ความเจริญ ถ้าตอบแล้วมีแต่การทำลายทั้งสังคมหรือผู้อื่น ผมจะไม่ตอบเด็ดขาด ตลอดชีวิตเราไม่เคยพาดพิงใคร สำหรับคำถามทุกคำถามนั้น เราจะตอบแบบสร้างสรรค์ ต้อวการพัฒนาสมองเด็ก ต้องการพัฒนาความรักของครอบครัว รวมถึงเรื่องกีฬาที่ให้เจริญรุ่งเรืองไป


ขณะเดียวกัน เมื่อเทียบกับ คอมเมนเตเตอร์ของต่างประเทศ ที่เคยเป็นนักฟุตบอลอาชีพมาก่อน การทำงานในช่องนี้ มีความใกล้เคียงหรือนำมาประยุกต์ใช้ยังไงบ้างครับ

พงษ์พิสุทธิ์ : ผมมองว่ามีความคล้ายกับต่างประเทศ ในเรื่องของการนำนักกีฬามาเป็นคอมเมนเนเตอร์ มาให้ความรู้ ผมว่าไม่ได้ต่างกันมากนะครับ เพียงแต่ว่า เขาพูดภาษาอังกฤษ เราพูดภาษาไทย แต่เราก็ดูเขา เพราะว่าเขามาก่อน เป็นศาสตร์ลูกหนังทางยุโรปก็ว่ากันไป ผมก็ดูเป็นตัวอย่าง แล้วก็ปรับใช้ให้เหมาะสมกับบ้านเรา เพราะว่าถ้าใช้แบบนั้น ก็คงนั่งด่าแบบ รอย คีน (อดีตนักฟุตบอลของ แมนฯ ยูไนเต็ด) มันก็ไม่เหมาะ

ปิยะพงษ์ : คือวัฒนธรรมของเมืองไทย มันต้องแยกจากของต่างประเทศ ทางฝั่งนั้น เขาอาจจะพูดแบบก้าวร้าวด้วยซ้ำไป มันอาจให้ความรู้สึกของคนดูที่นั่นมันชินชาธรรมดา แต่เรามีวัฒนธรรมประเพณีแบบไทยๆ ซึ่งเราก็มีวิธีการนำเสนอแบบมีกุศโลบาย ที่เด็กและผู้ใหญ่ก็ดูได้ เหมือนการวิเคราะห์ฟุตบอล สมมุติว่า แมนฯยู กับ ลิเวอร์พูล เจอกัน การที่เราจะบอกว่าทีมนี้ชนะเท่านี้ เราคงไม่พูดแบบนั้น เราจะวิเคราะห์ว่า ความน่าจะเป็นมันควรจะเป็นแบบไหน ผู้เล่นเขาคือใคร สถานการณ์เขาเป็นแบบไหน ลิเวอร์พูลสถานการณ์เป็นแบบไหน ทำไมสถานกาณณ์เป็นรองเพราะอะไร แล้วความน่าจะเป็นของเกมคู่นี้เป็นยังไง ถ้าวิเคราะห์แบบนี้ ถ้าเด็กๆ หรือ โค้ชดู คนดูก็จะได้ทั้งสมองและการพัมนาไปในตัวด้วย

แต่ช่วงหลังๆ นี้ จะมีคอมเมนเตเตอร์ แบบทั้ง แกรี่ เนวิลล์ กับ เจมี่ คาร์ราเกอร์ ที่มีลักษณะที่บลัฟไปมา ทั้งคู่มองยังไงครับ


พงษ์พิสุทธิ์ : ก็สนุกดีนะครับ มันเป็นวิถีทางของฟุตบอล ในการคอมเมนต์ให้เกิดรสชาติ ผมว่าแซวกันได้ สนุกกันได้ บันเทิงครับ ไม่ต้องไปเอาจริงจังมาก ว่าแซวไม่ได้ อันนี้ก็อยู่ที่แต่ละคนละครับว่าชอบแบบไหน สายฮาร์ดคอร์ก้ไปทางนั้น แต่ถ้าแบบดูเพื่อบันเทิง ก็ไม่มีอะไร

ปิยะพงษ์ : การบลัฟเป็นเรื่องธรรมชาตินะครับ มันเป็นเสน่ห์ของยูทูปมากกว่า ถ้าดูกันธรรมดา มันไม่สนุก การบลัฟคือการเติมเสน่ห์ สีสัน ให้กับหัวข้อนั้นๆ ให้มันมีอรรถรสมากขึ้น ส่วนถ้าประชาชนเสพไปแล้ว มุมมองแบบไหน มันก็เป้นอีกประเด็นหนึ่ง แต่มันเกิดความสนุก การบลัฟไม่ใช่สร้างความร้าวฉาน แต่มันคือความสนุก อย่างบางทีแตงโมกับผมเชียร์คนละทีมกัน ก้มีการบลัฟไปมา แต่ต้องมีเหตุและผลแต่ปนด้วยเสน่ห์ความสนุกสนาน ผมว่าปเป็นสิ่งที่ดีนะครับ ดูแล้วสนุกด้วยซ้ำไป


เรียกว่าไม่เครียดจนเกินไป

ปิยะพงษ์ : ทำยูทูปมันเครียดไม่ได้ครับ ถ้าเครียดไปก็หลับกันหมดครับ พระสวดมนต์ทุกวันนี้ยังเปลี่ยนวิธีการคาแรกเตอร์เลย ขนาดพระมหาสมปอง ยังเปลี่ยนวิธีการเทศน์หรือการสอนคนเลย ถ้าสอนแบบธรรมดา คงไม่มีใครดูน่ะครับ พระก็ต้องเปลี่ยน อย่างการทำในยูทูป มันก็เปลี่ยนเหมือนกัน เปลี่ยนให้ผู้ชมมีอรรถรสและมีสีสันมากขึ้น และแฝงจิตวิญญาณของความรอบรู้ไปในตัวด้วย คือทำสิ่งนี้มันเป็นศาสตร์ที่มาทำแล้วหลากหลายดีนะ ก็ต้องไปพัฒนาทุกวันเลย หยุดนิ่งไม่ได้แม้แต่วันเดียว

คือต้องทำการบ้านหนักพอสมควร แต่ละวันที่เราไลฟ์สดด้วย มันต้องมีองค์ความรู้ที่เต็ม เพราะคนเขาดูเราเยอะมาก ซึ่งถ้าเรามีการพูดผิดถูก มันก็ไม่น่าจะมีเสน่ห์ในองค์ความรู้ หรือเป็นคนที่มีประสบการณ์ที่จะเป็นกูรูเชื่อถือได้ เพราะฉะนั้นตัวผมเองจะทำการบ้านค่อนข้างเยอะ แต่ในตัวแตงโมก็จะเป็นอีกพาร์ทหนึ่ง เขาอาจจะไปเติมเสน่ห์ในลักษณะอื่น แต่ผม เรื่องของความถูกต้อง เรื่องข้อมูลต่างๆ ต้องแน่น แต่บางทีพออ่านเยอะๆ ก็ปวดหัวตามประสาคนแก่ แต่ก็สนุกดี

พงษ์พิสุทธิ์ : ส่วนในการทำการบ้านของผมมันเยอะมาก เรียกว่าเวลานอนมันน่าจะเลยตีหนึ่งทุกวัน เพราะว่าช่วงนี้จะมีการเตะช่วงเวลาที่ว่านี้แทบทุกวัน คือมันไม่เตะแบบปกติ อย่างเสาร์-อาทิตย์ ก็จะเป็นบอลไทย จบแล้วก้บอลลีกยุโรป เรียกว่ามีเยอะมาก มันทำให้เรามีการอัปเดตตลอด ซึ่งทีมงานเราก็ยังไม่ได้เยอะมากในการทำผลงาน ซึ่งมันก็ต้องใช้พลังเยอะ แถมข่าวก็ต้องตามเยอะ อย่างวันที่ไลฟ์สด ก็ต้องมีทั้งการเตรียมสคริปต์และเตรียมพากย์ รวมถึง เตรียมทุกอย่าง เราจะทำทั้งหมดในการไลฟ์สด ซึ่งตัดต่อคลิปด้วย เราพยายามทำให้เหมือนทีวีจริงๆ แต่ด้วยความบันเทิงเข้ามาผสมผสานด้วย เราไม่อยากทำแบบมานั่งพูดอย่างเดียว แล้วมันมีภาพ มันไม่สนุก ก็เลยพยายามทำให้ดี แต่การทำคนเดียวก็จะมีข้อจำกัดนิดนึง จะให้จ้างเพิ่มก็เหนื่อยอยู่นะครับ (ปิยะพงษ์หัวเราะ) เพราะว่ายังไม่มีสปอนเซอร์เลย ซึ่งถ้ามีที่ว่านี้ เราสามารถตอบโจทย์ได้มากกว่านี้ แต่ตอนนี้คือยังมีข้อจำกัดตรงนี้อยู่ เลยทำทุกอย่างให้มันสมดุล แต่ก้เป็นข้อท้าทายที่ ถ้าคุณทำได้ คุณก็ก้าวได้เร็วกว่าคนอื่น มองในแง่บวกไป ก็สนุกครับ (ยิ้ม)


จากการทำแพลทฟอร์มแบบนี้ คิดว่ายังมีสิ่งไหนที่อยากทำเพิ่มเติมในช่องต่อไปครับ

พงษ์พิสุทธิ์ : มีหลายอย่างมากนะครับ แต่อาจจะต้องใช้เวลา เช่น ละครสั้น ก็มีการพยายามทำกันอยู่ เป็นบทเล็กๆ พูดคุยเรื่องชีวิตครอบครัว ชีวิตกีฬา เป็นพาร์ทที่ไม่ต้องถ่ายอะไรยากมาก จบในเวลา 10 นาที ว่าเรื่องนี้เป็นยังไง ให้ทุกคนในบ้านเล่น ง่ายๆ บันเทิงคลายเครียดซักเดือนละตอน เพราะว่ามันสนุกนะ เลยรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เราทำได้ อาจจะเป็น Footballer Life หรือ Retied Coach มันก็สามารถทำได้ทั้งหมด โดยเฉพาะถ้ามีผู้สนับสนุนใจดี เราสามารถทำได้เลย แล้วก็รายการเกมโชว์เกี่ยวกับกีฬา ซึ่งถ้าใครอยากเห็นความบันเทิง ก็มาร่วมกันได้ครับ (หัวเราะ)

ความคาดหวังของช่อง ‘แตงโมลง ปิยะพงษ์ยิง’ ในภายภาคหน้าครับ


พงษ์พิสุทธิ์ : ตั้งแต่ที่ผมชวนพ่อมาทำ มีเป้าหมายเดียวและชัดมาก นั่นคือ ไปให้ถึง 1 ล้านผู้ติดตาม อันนี้คือเป้าหมายแรก ที่เหลือเดี๋ยวค่อยว่ากัน แต่ความคาดหวังที่ว่านี้ ก็คืออยากจะได้โลห์ 1 ล้านผู้ติดตามครับ ว่ามันเป็นยังไง

ปิยะพงษ์ :
ส่วนตัวผมก็ไม่ได้มีความคาดหวังอะไรนะครับ เพราะว่าอายุเยอะแล้ว เพียงแต่มาร่วมสนับสนุนในสิ่งที่แตงโมต้องการ ในทิศทางที่แฟนฟุตบอลชาวไทยต้องการ และในทิศทางที่แฟนๆ ช่องรายการต้องการ ก้มาให้ความรู้ ทั้งวิชาการ ทฤษฎี และปฎิบัติ รวมทั้งมีการวิเคราะห์วิจารณ์ รวมถึงนำอดีตนักฟุตบอลทีมชาติที่บางคนอาจจะไม่รู้จัก นำกลับมาให้ทุกคนรู้จักว่า คนที่ทำชื่อเสียงให้กับประเทศชาตินั้นมีใครบ้าง รวมทั้งนักวิชาการ และโค้ชต่างๆ และนักเตะรุ่นใหม่ๆ เราก็พยายามที่จะเอามาพูดคุย ก้เป็นแรงบันดาลใจให้กับ หนูๆ น้องๆ ในการพัฒนาฝีเท้าให้เจริญก้าวหน้า รวมทั้งบทความต่างๆ ที่จะลงในช่อง ผมพยายามจะสอดแทรกในเรื่องของการมีส่วนร่วมของสังคม หรือการช่วยเหลือสังคม อะไรพวกนี้ ถ้ามีกี่ร้อยคน แล้วแตงโมทำ ผมก็ทำกับเขาตลอดละครับ ส่วนตัวผมเองก็จะเป็นคนให้ความรู้มากกว่า (ยิ้ม)

เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ณัฐชนน หล้าแหล่ง และ ธนิดา อิ่มเอก



กำลังโหลดความคิดเห็น