มุมมองด้านวิชาการกรณีปล่อยตัว “สรยุทธ” ยินดีที่จะได้รับอิสรภาพ หลังจะปล่อยตัวเดือนหน้า ชี้สังคมควรเข้าใจความจริงคดีไร่ส้ม เมื่อรับเงินไปแล้วปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ สังคมควรรับรู้และเข้าใจความจริงรอบด้าน อีกด้านหนึ่งพบหนุนให้ออกมาใช้ความสามารถทำประโยชน์ให้สังคม ตรงเจตนารมณ์การพักโทษ
วันนี้ (4 ก.พ.) จากกรณีที่นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตพิธีกรรายการเรื่องเล่าเช้านี้ และเจาะข่าวเด็น ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 จะได้รับการพักโทษจากเหตุพิเศษ หลังถูกศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2563 ให้จำคุก 6 ปี 24 เดือน ในคดียักยอกเงินค่าโฆษณารายการคุยคุ้ยข่าว ทางช่อง 9 อสมท ต่อมาได้รับการลดโทษตามสัดส่วนก่อนได้รับการพักโทษ โดยจะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 13 มี.ค. แต่ต้องต้องสวมกำไล EM เป็นระยะเวลา 2 ปี 4 เดือน และต้องรายงานตัวกับกรมคุมประพฤติตามกำหนดจนกว่าจะพ้นโทษ ขณะที่ หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย พิธีกรชื่อดังยืนยันว่านายสรยุทธจะมาทำงานที่นี่ ไม่ได้ไปไหน ตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล คณะกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) และอดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนชั่น โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “จักร์กฤษ เพิ่มพูล” ระบุว่า “เสียงตอบรับการคืนสู่สนามข่าวของคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา มีมากกว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์
มีการถามไถ่กันว่า ความจริงการที่คุณสรยุทธ ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกถึง 6 ปี จุดเริ่มต้นความผิดไม่ได้มาจากตัวเขา แต่มาจากบุคคลอื่น คุณสรยุทธไม่ได้มีเจตนาสนับสนุนพนักงาน อสมท ให้กระทำความผิดมาแต่ต้น
ความผิดนั้นก็ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำหน้าที่สื่อมวลชน คือการผลิตเนื้อหา นอกจากนั้น การยักยอกเงินค่าโฆษณา ก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่าใครๆ ก็ทำกัน เพียงแต่ครั้งนี้มีคนจงใจเอาความกับคุณสรยุทธเท่านั้นเอง
ดูเหมือนคุณสรยุทธ ก็มีความเข้าใจเช่นนี้ หลังจาก ป.ป.ช.มีมติเป็นเอกฉันท์ ชี้มูลความผิดว่า คุณสรยุทธ ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท ไร่ส้ม มีความผิดฐาน “สนับสนุนพนักงานกระทำความผิด”
“คดีความที่เกิดขึ้นเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจของบริษัท และไม่มีส่วนกระทบใดๆ ต่อการทำรายการของผม ซึ่งนำเสนอข้อมูลตามความเป็นจริงเพื่อประโยชน์ต่อสังคม โดยไม่บิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันเป็นจรรยาบรรณสำคัญ ในการนำเสนอที่ผมยึดถือมาตลอดชีวิตการทำงาน”
ในประเด็น “สารตั้งต้น” ของความผิด ไม่ว่าเจตนาจะเกิดขี้นในช่วงเวลาใด เมื่อเจตนาเกิดขึ้นแล้ว และบริษัท ไร่ส้ม ได้ไปซึ่งเงินอันควรเป็นผลประโยชน์ของรัฐ คุณสรยุทธก็ย่อมปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ และเมื่อเรียกการกระทำเช่นนี้ว่าเป็นความผิด ไม่ว่าก่อนหน้านั้นจะเคยมีใครทำความผิดเช่นนี้ แล้วไม่มีการจัดการ ก็ไม่ได้ทำให้คุณสรยุทธ พ้นความรับผิดได้
ที่สำคัญ การที่คุณสรยุทธมีบทบาทความเป็นเจ้าของ ผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจสื่อ ซ้อนทับกับบทบาทของสื่อ ซึ่งมีเป้าหมายแตกต่างกัน มองในแง่นักธุรกิจ การไหลตามน้ำเพื่อผลประโยชน์ของบริษัท ไร่ส้ม ก็คงพอเข้าใจได้ แต่ถ้ามองในแง่ความเป็นสื่อ ความเชื่อถือไว้วางใจเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่า แน่นอนว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับการผลิตเนื้อหา ไม่ใช่การบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร แต่เป็นเรื่องความเชื่อถือในความเป็นสื่อของคุณสรยุทธ
และยิ่งสถานะความเป็นสื่ออาวุโส ที่อาจเรียกว่าเป็นคนทำสื่อที่มีผู้ติดตาม และให้ความเชื่อถือศรัทธามากที่สุด ความคาดหวังในตัวคุณสรยุทธ ก็ย่อมมีมากเป็นเงาตามตัว ดังนั้น ศาลฎีกาจึงอธิบายเหตุผลในการลงโทษจำคุกคุณสรยุทธ ว่า
“..จำเลยเป็นสื่อมวลชนอาวุโส เป็นที่นับหน้าถือตาของบุคคลทั่วไป ต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สื่อมวลชน กลับอาศัยโอกาสช่องว่างทางกฎหมายและระเบียบปฏิบัติเอื้อประโยชน์แก่ตนมากระทำผิดเสียเอง ตามพฤติการณ์กระทำผิดของจำเลย จึงไม่เพียงพอให้ลงโทษสถานเบา”
เรายินดีที่คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา จะได้รับอิสรภาพครั้งนี้ แต่สังคมก็ควรได้รับรู้ และเข้าใจความจริงในเรื่องราวของคุณสรยุทธอย่างครบถ้วน และรอบด้านเช่นเดียวกัน”
ขณะที่เฟซบุ๊ก Warat Karuchit ของ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความระบุว่า "แม้ว่าผมจะเป็นคนหนึ่งที่เรียกร้องให้คุณสรยุทธหยุดอ่านข่าวตอนที่รอผลของคดี เพราะตอนนั้นเกิดความขัดกันของผลประโยชน์ คือตัวเองมาอ่านข่าวตัวเอง จะไม่มีอคติได้อย่างไร แต่ตอนนี้คุณสรยุทธรับโทษแล้ว ไม่มีเหตุผลอะไรที่ไม่ควรได้รับโอกาสใหม่ และนี่คือเจตนารมณ์ของนโยบายพักโทษ คือจองจำไปสังคมก็ไม่ได้อะไร ให้ออกมาใช้ความสามารถทำประโยชน์ให้สังคมดีกว่า ที่ผ่านมาคุณสรยุทธก็ได้ทำประโยชน์ให้สังคมหลายอย่าง ขอให้กำลังใจครับ"