ก่อนที่จะมีธนบัตรและเหรียญมาใช้ในระบบเงินตราในวันนี้ ไทยเราได้ใช้หอยเบี้ย ประกับ คือดินเผาที่มีตราประทับ เงินพดด้วง และปี้จากบ่อนการพนัน มาใช้ในการแลกเปลี่ยนมาก่อน
ในสมัยกรุงสุโขทัย ที่มีการค้าขายกว้างขวางกับอาณาจักรในลุ่มแม่น้ำเพระยาแล้ว ทางด้านเหนือยังไปถึงล้านช้าง ยูนนาน และน่านเจ้า ส่วนทางทะเลไปถึงจีน อินเดีย เปอร์เซีย และอาหรับ โดยผลิตเงินตราขึ้นมาใช้ในระบบเศรษฐกิจ คือ เงินพดด้วง และใช้หอยเบี้ยเป็นเงินปลีกสำหรับซื้อขายสินค้าราคาต่ำ
เงินพดด้วง ทำจากแท่งเงินทุบปลายให้งอเข้าหากัน แล้วตอกประทับตราประจำแผ่นดิน เนื่องจากมีรูปร่างกลมคล้ายตัวด้วง จึงเรียกกันว่าเงินพดด้วง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนเงินตราสกุลใดในโลก ซึ่งใช้กันในย่านนี้มาก่อนกรุงสุโขทัยแล้ว และใช้ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
เงินพดด้วงในสมัยกรุงสุโขทัย มีตราประทับอย่างน้อย ๒ ดวง เป็นรูปสัตว์ชั้นสูง เช่น วัว ควาย กระต่าย หอยสังข์ และราชสีห์ เป็นต้น
เงินพดด้วงในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีลักษณะคล้ายของกรุงสุโขทัย แต่ตรงปลายที่งอจดกันไม่แหลมเหมือนของกรุงสุโขทัย ตราที่ประทับส่วนใหญ่จะเป็นตราจักรและตราประจำรัชกาล เช่น ครุฑ ช้าง ราชวัตร พุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นต้น
ในกรุงธนบุรี ยังคงใช้เงินพดด้วงของกรุงศรีอยุธยา และผลิตขึ้นใช้เอง ๒ ชนิด คือประทับตราตรีศูล และตราทวีวุธ
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ยังคงใช้เงินพดด้วงต่อมา โดยประทับตราจักร ซึ่งเป็นตราประจำแผ่นดิน พร้อมกับตราประจำรัชกาล คือรัชกาลที่ ๑ เป็นตราบัวอุณาโลม รัชกาลที่ ๒ เป็นตราครุฑ รัชกาลที่ ๓ เป็นตราปราสาท รัชกาลที่ ๔ เป็นตรามงกุฎ รัชกาลที่ ๕ เป็นตราพระเกี้ยว
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อมีการเปิดประเทศด้วยสนธิสัญญาเบาริ่ง ทำให้การค้าขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว พ่อค้าต่างประเทศได้นำเงินเหรียญของตนมาแลกเงินพดด้วงกับรัฐบาล เพื่อเอาไปซื้อสินค้าจากประชาชน จนเงินพดด้วงซึ่งต้องผลิตด้วยมือไม่พอใช้ เกิดความไม่สะดวกในการค้าขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชดำริที่จะทำเงินเหรียญขึ้นมาใช้แทนเงินพดด้วง
ใน พ.ศ.๒๔๐๐ โปรดเกล้าฯให้คณะทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักอังกฤษ สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียได้จัดเครื่องทำเหรียญเงินขนาดเล็กเข้ามาถวายเป็นราชบรรณาการ จึงโปรดเกล้าฯให้ทำเหรียญกษาปณ์จากเครื่องนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่า “เหรียญเงินบรรณาการ” ขณะเดียวกันคณะทูตก็ได้สั่งซื้อเครื่องจักรทำเหรียญเงินจากบริษัทในอังกฤษเข้ามาในปลายปี ๒๔๐๑ จึงโปรดฯให้ตั้งโรงงานผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้นที่หน้าพระคลังมหาสมบัติ ในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานนามว่า “โรงกระสาปน์สิทธิการ” จึงถือว่ามีการใช้เงินเหรียญแบบสากลขึ้นป็นครั้งแรก แต่ก็ไม่ได้ประกาศเลิกใช้เงินพดด้วง เพียงแต่ไม่ทำเพิ่มขึ้นอีก
เหรียญกษาปณ์ที่ผลิตเป็นครั้งแรกนี้ เป็นเหรียญตราพระมหามงกุฎและช้างในวงจักร มี ๕ ชนิดราคา คือ บาท กึ่งบาท สลึง เฟื้อง และกึ่งเฟื้อง ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ.๒๔๐๓
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเงินครั้งสำคัญ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า มาตราการเงินของไทยที่ใช้อยู่ในขณะนั้น คือ ชั่ง ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง เป็นระบบที่ยากต่อการคำนวณและจัดทำบัญชี จึงโปรดเกล้าฯให้ปรับปรุงใหม่เป็น บาทและสตางค์ คือ ๑ บาท มี ๑๐๐ สตางค์ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๑ เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯให้นำพระบรมรูปของพระองค์และตราแผ่นดินประทับลงบนเหรียญ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการนำพระบรมรูปของกษัตริย์ประทับลงบนเหรียญกษาปณ์ไทย ทรงสั่งเครื่องจักรผลิตเหรียญแบบที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำเข้ามา เพื่อผลิตให้พอกับความต้องการ และสร้างโรงกษาปณ์ใหม่เป็นตึกใหญ่โอ่อ่าสถาปัตยกรรมตะวันตก ปัจุบันก็คือตึกพิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
หลังจากมีการพิมพ์เป็นธนบัตรขึ้นใช้แล้ว จึงโปรดเกล้าฯให้ประกาศเลิกใช้เงินพดด้วงตั้งแต่วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๔๔๗ เป็นต้นมา
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ในช่วงต้นรัชกาลยังคงใช้เหรียญที่ผลิตในสมัยรัชกาลที่ ๕ ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๕๖ จึงโปรดเกล้าฯผลิตเหรียญเงิน ๑ บาทประจำรัชกาล เป็นเหรียญตราพระบรมรูปและไอราพต
ในรัชกาลที่ ๗ ไม่มีการผลิตเหรียญออกมาใช้มากนักเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ เหรียญประจำรัชกาลที่ออกใช้เป็นเหรียญชนิด ๕๐ และ ๒๕สตางค์ ตราพระบรมรูปและช้างทรงเครื่อง
สมัยรัชกาลที่ ๘ เหรียญประจำรัชกาลเป็นเหรียญตราพระบรมรูปและพระครุฑพ่าห์ ชนิดราคา ๕๐, ๒๕, ๑๐, ๕, และ๑ สตางค์
รัชกาลที่ ๙ เหรียญกษาปณ์ที่ใช้หมุนเวียนในรัชกาลนี้ มี ๘ ชนิราคา คือ ๑, ๑๐, ๒๕, ๕๐ สตางค์ และ ๑, ๕ และ ๑๐ บาท นอกจากนี้ยังมีการจัดทำเหรียญกสาปณ์ที่ระลึกเพื่อบันทึกเหตุการณ์สำคัญอันเกี่ยวกับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ส่วนธนบัตรหรือเงินกระดาษนั้น เริ่มมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ซึ่งเงินพดด้วงไม่พอใช้ จึงมีคนทำปลอมขึ้นมามาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าจึงโปรดให้ทำเงินกระดาษขึ้น ประทับตราพระราชสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์จักรีรูปพระแสงจักรและพระราชลัญจกรประจำพระองค์รูปพระมหาพิชัยมงกุฎ เรียกว่า “หมาย” แต่ปรากฏว่าเป็นของใหม่ที่ราษฎรยังไม่รู้จัก จึงไม่มีการใช้อย่างแพร่หลายตามพระราชประสงค์
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ เกิดปัญหาเหรียญกษาปณ์ราคาต่ำที่ทำจากดีบุกและทองแดงขาดตลาด มีคนนำ “ปี้” ที่ใช้แทนเงินในบ่อนการพนันมาใช้แทนเงินตรา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ทำเงินกระดาษชนิดราคาต่ำมาใช้ เรียกว่า “อัฐกระดาษ” ใช้แทนเงินที่ขาดแคลน แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเช่นเดียวกับหมาย
ต่อมาธนาคารต่างประเทศที่มาเปิดสาขาในประเทศไทย ๓ ธนาคาร ได้ขออนุญาตนำบัตรธนาคารออกมาใช้แทนเงิน เพื่อให้ทันต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มีลักษณะเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินระหว่างธนาคารกับลูกค้า แม้จะใช้อยู่ในวงแคบ แต่ก็ทำให้คนไทยเคยชินกับการใช้กระดาษแทนเงินได้มากขึ้น และติดปากจนเรียกธนบัตรของรัฐบาลที่ออกมาใช้ในภายหลังว่า “แบงค์” ไปด้วย
รัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า บัตรที่ธนาคารออกมานี้ มีลักษณะเป็นเงินตราที่รัฐบาลน่าจะทำเสียเอง ใน พ.ศ.๒๔๓๓ จึงสั่งให้บริษัทที่เยอรมันพิมพ์มา ๘ ชนิดราคา เรียกว่า “เงินกระดาษหลวง” แต่เมื่อส่งมาถึงกรุงเทพในปี ๒๔๓๕ เนื่องจากความไม่พร้อมในการบริหารของรัฐบาล จึงไม่ได้นำเงินกระดาษหลวงออกมาใช้
จนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๔๕ จึงมีการตราพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ.๑๒๑ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน อีกทั้งจัดตั้ง “กรมธนบัตร” สังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ทำหน้าที่ออกธนบัตร เปิดให้ประชาชนนำเงินตราโลหะมาแลกเป็นธนบัตร จึงทำให้ธนบัตรมีบทบาทในระบบเงินตราของประเทศตั้งแต่นั้นมา
ปัจจุบันการออกธนบัตรเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีโรงพิมพ์อยู่ที่พุทธมลฑลสาย ๗ นครปฐม เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๐ ส่วนการผลิตเหรียญกษาปณ์ เป็นหน้าที่ของ กองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง มีโรงงานอยู่ที่ถนนพหลโยธิน รังสิต จังหวัดปทุมธานี เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๐
นี่ก็เป็นตำนานการเงินของไทย ตั้งแต่ใช้หอยเบี้ย เงินพดด้วง จนถึงธนบัตรและเหรียญในปัจจุบัน
(ข้อมูล กองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ และธนาคารแห่งประเทศไทย)