xs
xsm
sm
md
lg

ค่าความเค็ม “สำแล” แหล่งผลิตน้ำประปา กทม. ทุบสถิติสูงที่สุด มากกว่าปี 62 เสี่ยงต่อผู้ป่วยโรคไต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เผยค่าความเค็ม แหล่งผลิตน้ำประปาของ กทม. ที่ “สถานีสูบน้ำดิบสำแล” ปากคลองประปาทุบสถิติสูงที่สุด เมื่อคืนวันที่ 29 ม.ค. สูงถึง 2.21 กรัมต่อลิตร ทำลายสถิติเดิมปี 62 หวั่นกระทบต่อผู้ป่วยโรคไต


รายงานพิเศษ

จากการเปิดเผยข้อมูลสถานการณ์น้ำประจำวันของ “สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ” พบว่า ค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ สถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาหลักของกรุงเทพมหานคร พื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีค่าความเค็มสูงถึง 2.21 กรัมต่อลิตร ในช่วงเวลา 20.50 น. คืนวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา

สูงกว่าค่าความเค็มมาตรฐานที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา รวมทั้งสูงกว่าค่ามาตรฐานสำหรับน้ำที่ใช้ในการเกษตรด้วย

โดยในช่วงปลายเดือน ม.ค. เวลาเย็นถึงค่ำ จะเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงที่สุด ขณะที่น้ำจืดจากเขื่อนนั้นมีน้อย และอยู่ในภาวะภัยแล้ง

ค่าความเค็มดังกล่าว ถือว่า เป็นค่าที่สูงที่สุดที่เคยวัดได้ ทำลายสถิติเดิมที่เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2562 ซึ่งเคยวัดค่าความเค็มได้ 2.19 กรัมต่อลิตร

ส่วนค่าความเค็มสูงที่สุดก่อนหน้านั้น ต้องย้อนไปถึงวันที่ 15 ก.พ. 2557 วัดได้ 1.97 กรัมต่อลิตร


ที่น่ากังวลก็เพราะว่า ค่าความเค็มมาตรฐานที่ใช้สำหรับผลิตน้ำประปา คือ 0.25 กรัมต่อลิตรเท่านั้น แต่ยังพอผลิตได้ ยกเว้นจะนำน้ำไปใช้ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางชนิดไม่ได้

แต่ถ้าความเค็มเกิน 0.5 กรัมต่อลิตร จะมีผลกระทบทันทีต่อผู้ป่วยโรคไตทันที เพราะมีค่าคลอไรด์ในน้ำสูง ซึ่งมีรายงานจากผู้เชี่ยวชาญว่า น้ำส่วนใหญ่ที่อยู่ในระบบการผลิตน้ำประปาในขณะนี้ มีค่าเกิน 0.5 กรัมต่อลิตร

โดยข้อมูลชี้ให้เห็นว่า ในวันที่ 30 ม.ค. มีการจ่ายน้ำประปาที่มีค่าความเค็มเกินกว่า 0.5 กรัมต่อลิตร (ในวงกลมสีแดง) ถึงประมาณ 20 สถานี ในกรุงเทพมหานคร และ จ.นนทบุรี ที่อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา


ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำพระยา เช่น ตลิ่งชัน สายใต้ใหม่ ฝั่งธนบุรี บางใหญ่ บางบัวทอง จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะไม่ได้ใช้น้ำประปาจากแห่งผลิตของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ใช้จากแม่น้ำแม่กลอง ที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ซึ่งยังมีค่าความเค็มปกติ







ส่วนค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาที่วัดได้ในอีก 2 สถานี ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ ที่สถานีท่าน้ำนนทบุรี ตรงสะพานพระนั่งเกล้า คืนวันที่ 29 ม.ค. เช่นกัน เวลา 20.20 น. วัดได้สูงถึง 7.02 กรัมต่อลิตร ถึงจะไม่ใช่แหล่งผลิตน้ำประปา แต่ก็เป็นน้ำที่ถูกใช้เพื่อการเกษตร โดยเฉพาะสวนทุเรียนนนทบุรี ที่มีมูลค่ามหาศาล อาจได้รับผลกระทบ

ส่วนอีกจุดที่สถานีโรงพยาบาลศิริราช ใกล้กับสถานีสูบน้ำสามเสน วัดค่าความเค็มได้สูงมาก คือ 13.19 กรัมต่อลิตร น่าเป็นห่วง เพราะน้ำจากจุดนี้ จะมีผลไปถึงพื้นที่ปลูกผักแถบบางกอกน้อย ไปถึงคลองลัดมะยม ซึ่งมีรายงานมาว่า สวนผักจำนวนมากได้รับความเสียหายไปแล้ว




ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ด้วยว่า สถานการณ์ค่าความเค็มของน้ำในแม่เจ้าพระยา อาจจะมีค่าความเค็มเพิ่มสูงได้อีก และอาจจะทำลายสถิตินี้ได้อีกในเร็วๆ นี้ เพราะน้ำในเขื่อนหลักมีปริมาณไม่ต่างจากช่วงภัยแล้งในปีที่แล้ว 

แต่ในปีที่แล้ว (2563) มีการใช้น้ำน้อยลงในภาคอุตสาหกรรม จากการปิดกิจการช่วงสถานการณ์โควิด-19 และยังผันน้ำจากฝั่งตะวันตก คือแม่น้ำแม่กลองมาช่วยเสริมแม่น้ำเจ้าพระยาอีกกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนในปี 2564 นี้ กิจการต่างๆ ไม่ได้ถูกล็อกดาวน์ และแม่น้ำแม่กลองมีปริมาณน้อยกว่าเดิม ซึ่งจากการคำนวนแล้ว หากจะผันมาช่วยแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ก็จะผันมาได้ไม่เกิน 350 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น