xs
xsm
sm
md
lg

นักกฎหมายลังกา เข้ามาเป็นพระยาต้นตระกูล “คุณะดิลก”! ได้ลูกเขยเป็นนายกรัฐมนตรีไทย!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ ซึ่งสยามได้ปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่รับอารยธรรมตะวันตก และเพื่อให้การปฏิรูปได้ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว นอกจากส่งคนหนุ่มออกไปศึกษาในยุโรปแล้ว ยังใช้วิธีว่าจ้างชาวต่างประเทศที่มีความชำนาญในสาขาต่างๆให้เข้ามาวางรากฐาน ก่อนคนหนุ่มที่ส่งไปศึกษาจะกลับมารับดำเนินการต่อ ชาวต่างประเทศเหล่านี้หลายคนเกิดความพึงพอใจกับชีวิตไทย ขอโอนสัญชาติเป็นไทย และเป็นต้นสกุลไทยหลายสกุล ซึ่งส่วนมากแล้วท่านเหล่านี้จะเป็นชาวยุโรป แต่ก็มีนักกฎหมายชาวลังกาคนหนึ่งเข้ามารับราชการไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ว่าความในคดีสำคัญของชาติในเวลานั้น คือคดี “พระยอดเมืองขวาง” มึความดีความชอบโปรดเกล้าฯให้เข้ารับราชการในกรมอัยการ ในรัชกาลที่ ๖ ได้ขึ้นเป็นอธิบดีกรมอัยการ ทั้งยังได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นองคมนตรี ต่อมาได้พระราชทานนามสกุลว่า “คุณะดิดก”
.
นักกฎหมายชาวสิงหลท่านนี้คือ นายวิลเลียม อัลเฟรด คุณะดิละกะ ซึ่งอยู่ในตระกูลขุนนางชั้นสูงของลังกา จบการศึกษากฎหมายจากมหาวิทยาลัยกัลกัตตาที่อินเดีย และเนติบัณฑิตซีลอน เปิดรับว่าความและได้รับเลือกเป็นมนตรีในนคราภิบาลเมืองแคนดี ทั้งยังได้เป็นตุลาการนคราภิบาลด้วย ทำงานให้เมืองแคนดีได้ ๖ ปีก็ได้ทราบถึงการปฏิรูปของเมืองสยาม แต่ยังไม่มีผู้รู้กฎหมายตะวันตกและกฎหมายระหว่างประเทศมากนัก จึงเดินทางเข้ามารับว่าความที่สยามในปี ๒๔๓๓ ขณะอายุได้ ๓๐ ปี
.
ต่อมาเกิดคดีใหญ่เมื่อพระยอดเมืองขวาง เจ้าเมืองคำม่วน เกิดประทะกับทหารนักล่าอาณานิคม ฝรั่งเศสถือว่าคนเอเซียที่กล้าสู้ยิงนายทหารฝรั่งเศสตาย จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ต้องเอาลงไปลงโทษในดินแดนของตนให้เข็ดหราบกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯก็ยอมไม่ได้ที่จะให้ข้าราชการไทยที่ปกป้องศักดิ์ศรีของชาติต้องถูกลงโทษ เมื่อเรื่องสู่ศาลผสม ๒ ฝ่าย วิลเลียม อัลเฟรด คุณะดิละกะได้เข้าร่วมทีมทนายไทยด้วย และโต้ด้วยข้อที่จะนำตัวพระยอดเมืองขวางไปลงโทษที่ต่างประเทศนั้น ถือว่าเป็นการเนรเทศจำเลยด้วย ซึ่งไม่มีกฎหมายข้อใดบัญญัติให้ทำได้ ในที่สุดศาลก็ตัดสินให้ฝ่ายไทยเป็นผู้ลงโทษพระยอดเมืองขวางเอง ทำให้คนไทยดีใจกันทั้งประเทศ ชื่อเสียงของวิลเลียม อัลเฟรด ตุณะดิละกะ ได้รับความชื่นชมจากคนไทยไปทั่ว ต่อมาในปี ๒๔๓๙ จึงเข้ารับราชการในกรมอัยการ มีตำแหน่งพนักงานว่าความในศาลกงสุลต่างประเทศ และยังช่วยเหลือในกิจการอีกหลายอย่าง เช่น ร่วมก่อตั้งบริษัทปูนซีเมนต์ไทย กรรมการบริษัทรถรางไทย  บริษัมรถไฟสายปากน้ำ ประธานกรรมการราชตฤณมัยสมาคม และยังออกหนังสือพิมพ์ “สยามออปเซอร์เวย์” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษฉบับแรกของไทยด้วย
.
ต่อมาในปี ๒๔๔๙ วิลเลียมจึงได้ร่วมกับนายราล์ฟ กิบบิน นักกฎหมายชาวอังกฤษ ผู้เป็นที่ปรึกษากฎหมายของกระทรวงยุติธรรม เปิดบริษัทหฎหมาย “ดิลลิกีแอนด์กิบบิน” เป็นบริษัทกฎหมายแห่งแรกของไทย และยังดำเนินกิจการอยู่จนถึงปัจจุบัน
.
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ นายวิลเลียมได้ขอโอนสัญชาติมาเป็นไทยเมื่อปี ๒๔๕๓ ซึ่งเป็นปีแรกที่ครองราชย์ โปรดเกล้าฯให้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระอรรถการประสิทธิ์ ในปีต่อมาก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาอรรถการประสิทธิ์ ในปี ๒๔๕๕ ได้ขึ้นเป็นอธิบดีกรมอัยการ และได้รับพระราชทานพานทองด้วย ในปี ๒๔๕๘ จึงได้รับโปรดเกล้าให้เป็นองคมนตรี และในวันจักรี ปี ๒๔๖๐ นั้น พระยาอรรถกาประสิทธิ์อยู่ในรายการที่จะได้รับโปรดเกล้าฯเป็นเจ้าพระยาด้วย แต่ท่านได้เสียชีวิตในวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๓๖๐ เมื่ออายุได้ ๕๗ ปี จึงพลาดที่จะได้เป็นเจ้าพระยา
.
ในปั ๒๔๕๖ พระยาอรรถการประสิทธิ์ได้ขอพระราชทานนามสกุล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ พระราชทานว่า “คุณะดิลก” โดยแปลงจากนามสกุลในภาษาสิงหล ทรงมีหมายกำกับไว้ในทะเบียนนามสกุลพระราชทานว่า
.
“เขาชื่อเช่นนี้มาแต่เดิมแล้ว แต่ต้องการได้รับการอนุมัติ จึงตกลงให้เขียนว่า “คุณะดิลก” เช่นนี้ เพื่อให้เป็นไทย เดิมเขียนว่า “คุณะดิละกะ” (ตัวโรมัน Guna Tilleke)”
.
พระยาอรรถการประสิทธิ์สมรสกับคุณหญิงพัว มีบุตรธิดา ๒ คน คนแรกเป็นชาย ชื่อ แดง คุณะดิลก เป็นคนหนึ่งในคณะเสรีไทย คนที่ ๒ ชื่อ เจน เล็ก คุณะดิลก ซึ่งก็คือ คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ ภรรยานายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ ๔ ของไทย
.
พระยาอรรถการประสิทธิ์ไม่ได้เข้ามารับราชการไทยและโอนสัญชาติจากบังคับอังกฤษมาเป็นไทยเพียงคนเดียว แต่น้องชายอีก ๒ คนก็ตามพี่ชายเข้ามาด้วย อาเธอร์ แฟรนซิส คุณะดิละกะ เข้ามารับราชการเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมเจ้าท่า ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสิงหฬสาคร และโรเบิร์ท เอ็ดวิน คุณะดิละกะ รับราชการเป็นศัลยแพทย์ประจำพระองค์และแพทย์ใหญ่วชิรพยาบาล ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวิรัชเวชกิจ ทั้งสองคนได้โอนสัญชาติเป็นไทย และใช้นามสกุลคุณะดิลกเช่นกัน
.
นี่ก็เป็นคนต่างชาติอีกครอบครัวหนึ่งที่โอนใจมาเป็นไทย ความเป็นคนไทยในวันนี้ จึงไม่ใช่เฉพาะคนที่มีเชื้อชาติไทยเท่านั้น แต่ไม่ว่าเชื้อชาติใดภาษาใด ถ้ามีความรักประเทศนี้ มีความภูมิใจในความเป็นไทย มีความกตัญญูต่อแผ่นดินนี้ เราก็คือคนไทยที่จะปกป้องความผาสุกของแผ่นดินนี้ร่วมกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น