xs
xsm
sm
md
lg

เผยโฉม “โรงพยาบาลสนาม” ที่สมุทรสาคร สร้างเพิ่มแล้วเสร็จใน 20 วัน รองรับได้ 1,000 เตียง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายก อบต.พันท้ายนรสิงห์ เจ้าของโครงการวัฒนาแฟคตอรี่ จ.สมุทรสาคร เผยโฉมโรงพยาบาลสนาม บนที่ดิน 8 ไร่ รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ หรือมีเล็กน้อย อีก 1,000 เตียง เจ้าตัวเผย ผู้ว่าฯ ขอให้ช่วยหาพื้นที่ ระบุ “ถ้าไม่มีก็สู้ไม่ไหวแล้ว” ก่อนจะติดโควิด-19 เข้าโรงพยาบาล ลั่นทำให้ตามที่รับปากแล้ว

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ความคืบหน้าการก่อสร้างโรงพยาบาลสนาม ศูนย์ห่วงใยคนสาคร แห่งที่ 8 ส่วนเพิ่มเติม โครงการวัฒนาแฟคตอรี่ (2) ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จาก นายวัฒนา แตงมณี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพันท้ายนรสิงห์ ให้ใช้ที่ดินส่วนตัว และออกเงินค่าก่อสร้างเองทั้งหมด เพื่อหวังให้ชาวจังหวัดสมุทรสาคร และแรงงานข้ามชาติได้ใช้สถานที่ดังกล่าวสังเกตอาการและรักษาโควิด-19 ให้มีภูมิคุ้มกันและหายขาด พบว่า ก่อสร้างแล้วเสร็จ

โดยแบ่งออกเป็น 2 อาคาร สามารถรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้สูงสุด 1,000 คน โดยเตรียมพื้นที่เมื่อวันที่ 5 ม.ค. เริ่มก่อสร้างวันที่ 9 ม.ค. โดย บริษัท เสมาก่อสร้าง จำกัด ใช้เวลาก่อสร้าง 20 วัน ซึ่งในวันที่ 29 ม.ค. จะมีพิธีสงฆ์และพิธีส่งมอบศูนย์ห่วงใยคนสาคร (รพ.สนาม) ให้ทางจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อใช้รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร โดยมี นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธาน พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และ นายวุฒิพงษ์ สุภัควนิช หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมพิธี

นายวัฒนา เปิดเผยว่า สืบเนื่องมาจากตนได้รับการติดต่อจากนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ว่า อยากจะขอพื้นที่สวนน้ำพันท้ายนรสิงห์ ทำเป็นโรงพยาบาลสนาม ตนและหุ้นส่วนยินยอม แต่มีเสียงทักท้วงจากชาวบ้านว่าไม่ยอมให้ทำ เนื่องจากใกล้ศาลพันท้ายนรสิงห์ สถานที่ท่องเที่ยว ต่อมาได้ปรึกษากับนายธีรพัฒน์ ให้เปลี่ยนมาเป็นโครงการวัฒนาแฟคตอรี่ 2 อาคาร ที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ ยังไม่เปิดขาย ให้ทำเป็นศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 3 จำนวน 240 เตียง ซึ่งตนพร้อมที่จะยกให้ทางจังหวัดได้นำไปใช้ แบบไม่คิดค่าใช้จ่าย

ต่อมา ตนเห็นว่า ความต้องการของโรงพยาบาลสนามจังหวัดสมุทรสาคร ยังมีอีกมาก และเห็นความห่วงใยของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ก่อนจะเข้าโรงพยาบาลได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์ ว่า ขอให้ช่วยหาพื้นที่ทำเป็นโรงพยาบาลสนามให้อีก เพราะถ้าไม่มีโรงพยาบาลสนามก็สู้ไม่ไหวแล้ว จึงตัดสินใจสร้างโรงพยาบาลสนามขนาด 1,000 เตียง เพิ่มขึ้นอีกบนที่ดิน 8 ไร่ เป็นอาคารขนาด 2,400 ตารางเมตร จำนวน 2 อาคาร และออกเงินค่าก่อสร้างให้โดยไม่เกี่ยวข้องกับทางราชการ ถ้าไม่พอ ตนก็พร้อมที่จะให้สร้างอีก เพราะพื้นที่ในบริเวณวัฒนาแฟคตอรี่ ทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 100 ไร่ แต่หลังจากนั้น ไม่กี่วัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ก็เข้ารับการรักษาตัวด้วยอาการติดเชื้อโควิด-19

“อยากจะฝากไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่กำลังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ในขณะนี้ ว่า ได้ทำให้ตามที่รับปากแล้ว และพร้อมที่จะเปิดโรงพยาบาลสนาม 1,000 เตียงนี้แล้ว เพื่อให้สบายใจมากขึ้น มีแรงต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นอยู่ให้หายและกลับมาดังเดิม” นายวัฒนา ระบุ

ปัจจุบัน ศูนย์ห่วงใยคนสาคร หรือโรงพยาบาลสนาม ในจังหวัดสมุทรสาคร มีทั้งหมด 9 แห่ง ยังเหลือบริษัท วิท วอเตอร์ ซิสเต็ม ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท เดอะ มันนี่ จำกัด ในพื้นที่ ต.ท่าทราย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ที่กำลังดำเนินการ รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้สูงสุด 400 เตียง คาดว่า จะเปิดใช้งานต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งจะทำให้ศูนย์ห่วงใยคนสาครรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้สูงสุด 3,583 เตียง ส่วนศูนย์ห่วงใยแรงงานสาคร หรือสถานที่ควบคุมและป้องกันโรคในสถานประกอบการ (Factory Quarantine หรือ FQ) มีอยู่ 13 แห่ง รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้สูงสุดเกือบ 3,000 เตียง พร้อมใช้งานแล้ว 10 แห่ง กว่า 2,500 เตียง อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 3 แห่ง จำนวนกว่า 400 เตียง












กำลังโหลดความคิดเห็น